ตามรอย “พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙” และ “แม่ของคนไทย” บนผืนป่าต้นน้ำและสายธารน้ำตกใน “โรงเรียนห้วยสวายวิทยา”
*ผู้เขียนถือโอกาสเรียบเรียงบทความนี้ขึ้น เนื่องในโอกาสครบ ๑๑ ปีห้วยสวาย ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสขึ้นมาสัมผัสวิถีชาวค่าย ๒ ครั้ง ได้รับประสบการณ์มากมาย บางสิ่งได้เรียนรู้พร้อม ๆ กับนักศึกษา ขอบคุณ อ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล หรือ “พี่โบ๊ะ” ที่ให้โอกาสผู้เขียนมาร่วมขึ้นค่ายถึง ๓ วัน ๒ คืน ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา และยังมีโอกาสให้ข้อเสนอแนะกับเด็กชาวค่ายในหลาย ๆ ครั้ง
“ห้วยสวาย มีหลากหลาย มีมากมาย ป่าไพรสายน้ำ
มีภูเขา มีป่าไม้ สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ได้อยู่ได้กิน
โอ่ลันเล ลันลันลา โอ่ลันเล ลันลันลา
โอ่ลันเล ลันลันลา โอ่ลันเล ลาลาลาลา
พวกเราเป็น นักศึกษา เดินทางมาจากในเมือง
มาเรียนรู้ มาศึกษา เพื่อพัฒนา ปัญญาของเรา
โอ่ลันเล ลันลันลา โอ่ลันเล ลันลันลา
โอ่ลันเล ลันลันลา โอ่ลันเล ลาลาลาลา
โอ่ลันเล ลันลันลา โอ่ลันเล ลันลันลา
โอ่ลันเล ลันลันลา
เพื่อพัฒนาปัญญาของเรา
เพื่อพัฒนา……..ปัญญาของเรา”
(เนื้อเพลงค่ายห้วยสวาย)
เสียงร้องขับขานในเนื้อเพลงดังกล่าวจะเริ่มดังขึ้นเป็นระยะ ๆ เมื่อช่วงใกล้ปิดภาคการศึกษาทั้งปิดเทอมระหว่างภาค และปิดเทอมเมื่อสิ้นปีการศึกษาของนักศึกษาอาสาสมัครในทุกคณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษในราวเดือนพฤษภาคมและตุลาคมของทุกปี ทุกคนจะต้องร้องเพลงนี้ได้ และทำโค้ดมือโค้ดค่ายได้ โดยเนื้อเพลงจะมีความสอดรับกับสภาพความต้องการของนักศึกษาที่ต้องการขึ้นค่ายเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกห้องเรียน มีการซ้อมอย่างเอาจริงเอาจังเป็นแรมเดือนในแต่ละคณะ ทั้งเพลงประจำค่ายและการแสดงละครชุดใหญ่ของแต่ละคณะ เพื่อแสดงศักยภาพ ในการขึ้นค่ายแต่ละครั้ง มีการทำเสื้อที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละคณะด้วย การขึ้นค่ายจะตกคณะละประมาณ ๕๐ คน ในหนึ่งปีจะมีการขึ้นค่ายรวม ๒ ครั้ง มีระยะเวลาสามวันสองคืน ทั้งนี้ก่อนขึ้นค่ายจะมาพิสูจน์ความเข้มแข็งของจิตใจของชาวค่าย โดยให้ไปเดินและทำบุญในสุสานสุขาวดีบริเวณทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ค่ายนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ค่ายศิลป์รักษ์ป่า” (ห้วยสวาย) จัดขึ้นโดยสาขาสาธารณชุมชน วิทยาศาสตร์การอาหาร ชมรมศิลป์สัมพันธ์ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม และมีอนุกรรมการสโมสรคณะ ๔ คณะ ๑ วิทยาลัย ๑ องค์การและสภานักศึกษา รวมถึงเครือข่ายนักเรียนจากโรงเรียนกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย เข้าร่วมโครงการค่ายศิลป์รักษ์ป่า Nature Hug Art Camp ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสวาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การควบคุมดูแลของ อ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กรักษาป่าต้นน้ำ ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมเดินกล่องรับบริจาคตามสถานที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และการสนับสนุนของศูนย์ศรีสะเกษศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ศิษย์เก่า คณาจารย์ และหน่วยงานอื่นๆ
เยาวชนที่ได้ร่วมกิจกรรมจะได้ไปพบกับอ้อมกอดแห่งธรรมชาติ สัมผัสป่าต้นน้ำแห่งสุดท้ายของจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมกับเรียนรู้คุณค่าความหลากหลายของพืชพันธุ์และสรรพชีวิตในป่าใหญ่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ของเยาวชนตามหลัก “ปลูกป่าในใจคน”
“เส้นทางศึกษาธรรมชาติ” ประตูสู่ฐานทางธรรมชาติเลียบสายธารน้ำตก ขึ้นไปสู่ป่าต้นน้ำชั้นบนสุดของภูเขาราว ๓ – ๔ กิโลเมตร ที่ชาวค่ายต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่ม
บริเวณด้านหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสวาย
ภายในระยะเวลาสามวันสองคืนนี้ จะมีกิจกรรมสันทนาการ การฝึกการอยู่ร่วมกัน การละลายพฤติกรรม กิจกรรมวาดภาพที่น้อมนำเรื่องของศาสตร์พระราชาเข้าไปประยุกต์ใช้ เป็นการบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชา “วิถีไทย” และ “สุนทรียภาพของชีวิต” ในมิติศิลปะและวัฒนธรรม มีกิจกรรมเข้าฐานที่ถูกกำหนดจุดไว้ภายในป่าและบริเวณพื้นที่น้ำตกในระดับต่าง ๆ การใช้ชีวิตแบบชาวค่ายที่ไม่ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายมากนัก ทั้งห้องน้ำและไฟฟ้าที่ไม่สะดวกเหมือนกับการที่นักศึกษาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ภายในที่พักของตน การรับประทานอาหารร่วมกันตามประสาชาวป่าชาวค่าย การนำเสนอผลงาน การแสดงละครที่ความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ ๙ พระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๑๐ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ การทำกิจกรรมโดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และคนในท้องถิ่นเข้ามาร่วม
มีการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกต่อป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ โดยจะมีการค้างแรมในป่าเพื่อฝึกการใช้ชีวิตในป่าอีกด้วย มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ และสัมผัสกับธรรมชาติและป่าไม้ของไทย มาเดินป่าและสัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าอย่างเข้าใจ เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสรรค์สร้างโครงงานกลุ่มและนำเสนอร่วมกับเพื่อน ๆ มีการสรุปและถอดเรียนภายหลังจากลงค่าย พิธีไหว้ศาลปู่ตาป่าต้นน้ำ พิธีเทียน พิธีบายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ มีการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์เรื่องป่าไม้มาให้ความรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังฝึกให้ชาวค่ายรู้จักรักษาความสะอาด รู้จักการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ห้วยสวาย ไม่ใช่ชื่อโรงเรียนสังกัด สพฐ. อบจ. อบต. หรือ เอกชน ไม่ได้สอน “วิชาการ” แต่สอน “วิชาคน” “วิชาชีวิต” แต่ห้วยสวายเป็นชื่อน้ำตกและชื่อหน่วยพิทักษ์ป่าทางตอนใต้ของจังหวัดศรีสะเกษ แต่มูลเหตุที่ชาวค่ายเรียกขานกันว่า “โรงเรียนห้วยสวายวิทยา” นั้น คงเป็นเพราะสถานที่แห่งนี้สร้างคนมานักต่อนัก เป็นโรงเรียนอยู่กลางผืนป่า ซึ่งจะดูคล้าย ๆ กับภาพยนตร์เรื่อง “คิดถึงวิทยา” ในปี ๒๕๕๕ โดย “สอง” (บี้ – สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) อดีตนักกีฬามวยปล้ำตกอับต้องผันตัวเองมาเป็นครูยังโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กว่าจะไปถึงต้องออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด ขึ้นรถผ่านผืนป่า ลงเรือฝ่าผืนน้ำหลายชั่วโมง โรงเรียนซึ่งตั้งอยู่กลางเขื่อน โอบล้อมด้วยภูเขาและผืนน้ำอันกว้างใหญ่ “โรงเรียนบ้านแก่งวิทยา สาขาเรือนแพ” โรงเรียนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ ลูกชาวประมงที่ไม่มีโอกาสออกไปนอกเขื่อนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ โรงเรียนห้วยสวายวิทยามีความคล้ายคลึงกับโรงเรียนบ้านแก่งวิทยา สาขาเรือนแพอยู่มาก
บรรยากาศการเข้าฐานที่บริเวณสายธารน้ำตก
น้ำตกห้วยสวาย ตั้งอยู่ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสวาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยศาลา ในท้องที่ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ บริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก ทางตอนใต้จังหวัดศรีสะเกษ เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม บรรยากาศแวดล้อมด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว จะมีน้ำไหลผ่านผลาญหิน โขดหิน สูงต่ำลดหลั่นกันไป ให้ความรู้สึกเย็นสดชื่น ชุ่มช่ำ เป็นแหล่งที่มีผีเสื้อป่าที่สวยงาม น่าหลงใหลและหาชมได้ยาก มีบริเวณพื้นที่สำหรับกางเต็นท์พักแรมศึกษาธรรมชาติ ศูนย์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสวายให้บริการและดูแลความปลอดภัย
นอกจากความเป็นค่ายศิลป์รักษ์ป่าแล้ว ผมมองว่าค่ายห้วยสวายนี้มีลักษณะของความเป็น “ค่ายอาสา” ได้อีกทางหนึ่ง คือ การจัดค่ายพักแรมสำหรับผู้ที่มีจิตอาสา มีใจพัฒนา และช่วยเหลือผู้ที่ลำบากยากไร้ หรือขาดแคลนในส่วนต่าง ๆ เป็นค่ายที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาสถานที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศวิทยาป่าต้นน้ำ พัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม พัฒนาปัญญา พัฒนาทักษะความเป็นคนและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข หรือความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เห็นจากผู้ประกอบการที่ขึ้นมาจำหน่ายสินค้าบริเวณค่าย ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยผู้เข้าร่วมจะเป็นบุคคลที่เป็นอาสาสมัครต้องมีการช่วยเหลือผู้คนโดยไม่หวังผลตอบแทน
เหตุที่ต้องพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำในชนบท เพราะในชนบทนั้น ยังมีอีกหลายสถานที่ อีกหลายกลุ่มสังคมที่ด้อยการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ มากมาย อาจเป็นเพราะห่างไกลความเจริญ พื้นที่ห่างไกลผู้คน หรือไม่ได้รับสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ทำให้เกิดความลำบาก ขัดสน หรือใช้ชีวิตอยู่ตามสถานภาพที่ต่างจากความเป็นอยู่ในเมืองมาก จึงเป็นเหตุให้ต้องไปพัฒนาในชนบท โดยเน้นการพัฒนาสถานที่ อาจจะเป็นการทำความสะอาด ดูแลรักษาห้องน้ำ อาหารการกิน ขยะมูลฝอย การดูแลรักษาธรรมชาติของป่าต้นน้ำ เพื่อให้สัตว์ ธรรมชาติ และผู้คนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น น่าอยู่มากขึ้น และอีกในรูปแบบหนึ่งอาจจะเป็นการเข้าไปช่วยเขาพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชาวบ้าน นั่นก็ถือว่าเป็นการพัฒนาอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน
สิ่งที่เกิดหลังจากพัฒนาแล้ว อย่างแรกเลยคือ น้ำใจของผู้มีจิตอาสาที่ไม่ต้องหวังผลตอบแทน แน่นอนว่าพวกเขาต้องเป็นสุขในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ มีความสมัครสมานสามัคคีดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนผู้ที่ถูกช่วยเหลือนั้น ย่อมประทับใจอยู่แล้วที่มีผู้คนจิตอาสามาช่วยเหลือ มาช่วยพัฒนาให้ชีวิตพวกเขามีความเจริญ มีความน่าอยู่มากขึ้น ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง
จากพระราชดำรัสที่เราคุ้นชินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า…” เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า และเชื่อแน่ว่า เยาวชนที่ผ่านค่ายห้วยสวายรุ่นแล้วรุ่นแล้วถึง ๑๑ ปี และรุ่นต่อ ๆ ไปจะได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำไปใช้ต่อไป ค่ายครั้งนี้เป็นการปลูกป่าในใจคนที่จะช่วยให้เยาวชนของชาติเดินตามรอยพระบาทยาตราของ “พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙” และ “แม่ของคนไทย” สืบต่อไป
อ.ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล ผู้บุกเบิกค่ายศิลป์รักษ์ป่า ณ ห้วยสวาย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐
เสื้อค่ายห้วยสวาย ตุลาคม ๒๕๖๑
บางส่วนของการแสดงในยามค่ำคืน
******
นายบัญชาพล ใยแสง
ผู้ช่วยนายกสโมสรนักศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ปีการศึกษา ๒๕๖๑
“เยาวชนนั้น คือคนสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมที่เหลืออยู่ การปลูกจิตสำนึกไม่ใด้ใช้เวลาสั้น ๆ แค่ ๓ ปี หรือ ๕ ปี
เพราะฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ จนกระทั่งเติบโตขึ้น ก็จะฝังลงไปในความคิด ในจิตใจของเขา ซึ่งอย่างน้อยก็ขอให้เขาดูแลบ้านของเขา ชุมชนของเขา เราจึงนำเอากิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปเชื่อมโยงกับหลักสูตรวิชา จริง ๆ แล้วเป้าหมายก็เหมือนการ “ฝังชิป” ลงไปให้เป็นนิสัยนั่นเอง” ที่จริง หลักสูตรเป็นเพียงโครงสร้าง เป็นหลักการทางวิชาการ ถ้าถามว่าพอมั้ย มองว่าการนำไปใช้ การประยุกต์ใช้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ยกตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาที่เป็นมัคคุเทศก์ เขาได้พูดถึงความสำคัญของป่าและผลผลิตจากป่า ได้นำเสนอป่าของเขาว่ามีคุณค่ายังไง ต้นไม้นี้มีที่มายังไง เกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมถึงต้องมาอยู่ในป่านี้ ป่านี้สัมพันธ์กับรัชกาลที่ ๙ อย่างไร ภูมิศาสตร์กายภาพโดยรอบแถบนี้เป็นอย่างไร เขาก็จะรักและเข้าใจคุณค่าของป่ามากขึ้น มันคือการปลูกจิตสำนึกอย่างหนึ่งในหลักสูตรของห้วยสวายวิทยา คือให้เขารู้จักป่าของเขา เชื่อเถอะว่าอีก ๒๐ ปีข้างหน้า เมื่อพวกเราอายุ ๓๐ แล้ว วันนึงถ้ามีใครอยากจะมาตัดต้นไม้ อยากจะมาทำลายป่าด้วยวิธีการต่าง ๆ พวกเราซึ่งเคยดูแลป่านี้ อธิบายเรื่องป่านี้เมื่อตอน ๑๐ ขวบ พวกเราย่อมต้องมีสำนึกที่จะปกป้องป่าของเรา”
*****
“เราอยากจะสอนเด็ก ๆ ว่า ในโลกนี้มันไม่ได้มีแค่มนุษย์ ยังมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันหลายอย่าง เมื่อเรารู้จักนก เห็นว่านกก็มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต เราก็จะเข้าใจระบบนิเวศที่เกี่ยวพันกับนก และเกี่ยวพันกับตัวเรา มนุษย์เราไม่ใช่พระเอกในโลกนี้ เราเป็นแค่หนึ่งในตัวละครที่อยู่ร่วมกับคนอื่น การใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อย่างอ่อนโยน มีความเคารพในสิทธิของการดำรงอยู่ของชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในการที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น แล้วก็จะทำให้มนุษยชาติของเรามีความหวังด้วยครับ นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราขึ้นค่ายห้วยสวายมา”
นายสิริชัย ศรีชัย
นายกองค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ
ปีการศึกษา ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
*****
นายพลากร ประมวล
นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
สาขาวิชาสังคมศึกษา
โรงเรียนปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
“การอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า สิ่งสำคัญคือการรณรงค์ให้ความรู้ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนทั่วไปด้วย ในส่วนของภาครัฐ
ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอาจทำงานได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทางกรมป่าไม้ก็ได้เข้ามาช่วยเสริมการทำงานตรงนี้ ถือว่าเป็นคุณูปการต่อคนที่อยู่รอบ ๆ ผืนป่าที่จะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ นอกจากนี้ ควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการร่วมกัน โดยการพัฒนา ส่งเสริมความรู้การสื่อความหมายธรรมชาติ มีการทำกิจกรรมให้คนหันมารักและหวงแหนป่าโดยเฉพาะค่ายห้วยสวาย ผมในฐานะชาวค่ายห้วยสวายดั้งเดิม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่บุคลากรซึ่งมีคุณภาพของมหาวิทยาลัยฯ ได้เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของทางราชการ และยังมีความร่วมมือกับกรมอุทยานฯ อยู่เรื่อย ๆ ในหลายครั้งที่ขึ้นมาทำค่าย”
*****
“เด็กมีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้อะไรต่าง ๆ เมื่อเด็กได้ดูปลา ดูสัตว์ ดูต้นไม้แปลก ๆ ได้เห็นมันอย่างใกล้ชิด ก็จะเกิดความตื่นเต้นกับสีสันสวยงาม เสียงร้องและพฤติกรรมมหัศจรรย์ต่าง ๆ ผมเชื่อว่าความสนใจธรรมชาติถ้ามันปลูกฝังไปกับใครสักคนจนเขาเติบโต ชีวิตของเขาจะร่ำรวยในประสบการณ์ ในการใช้ชีวิต เขาจะหันไปมองเห็นอะไรอีกมากมาย ซึ่งอาจจะมองข้ามไปถ้าหากไม่เคยมีทักษะในการมองธรรมชาติ ผมคิดว่าค่ายนี้มีความสำคัญต่อทักษะการใช้ชีวิตของเด็กเป็นอย่างดี สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการเรียนของทุกคณะ เมื่อเด็กลงค่ายไป ทุกคนก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คิดถึงค่าย อยากกลับขึ้นค่ายอีกครั้ง ค่ายนี้ถือว่าเป็นค่ายที่สอนวิชาคนจริง ๆ ”
นายปฏิพล แสนหยุด
นายกสโมสรนักศึกษา คณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
*****
นายอัษฎาวุธ วรรณทวี
นายกสโมสรนักศึกษา
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
“มนุษย์มาจากแหล่งเดียวกัน ที่เดียวกัน ไม่ว่าเผ่าไหนในโลกนี้ก็มีหัวใจอันเดียวกัน อยู่ใต้ธรรมชาติเหมือนกัน จะผิวเหลือง ผิวแดง ผิวขาว ผิวดำ ก็สิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ปลาอยู่ในน้ำก็ตากลม มนุษย์ทุกคนก็ตากลม สิ่งมีชีวิตในโลกก็ตากลมเหมือนกัน มันรวมมาอยู่ที่ในตาของคุณนั่นแหละ บรรพบุรุษบอกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็เหมือนชีวิตเรา ดิน ฟ้า อากาศ ทั้งหลายก็เป็นชีวิตของเรา แต่พอมายุคหลังมนุษย์คิดว่าตัวเองเข้าใจธรรมชาติ สร้างอะไรต่อมิอะไรได้ ทำตัวเหนือธรรมชาติ เกิดความเห็นแก่ตัว อาจจะเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้ความเชื่อเปลี่ยนแปลงไป เอาผลประโยชน์หรือเงินตราเป็นตัวตั้ง แล้วเอาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมาเป็นตัวรอง ที่ป่าถูกทำลายหรือธรรมชาติถูกทำลายนั้นก็เพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เห็นแก่อำนาจ เห็นแก่เทคโนโลยี มันก็เลยพัง แค่นั้นเอง ค่ายนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลบล้างความคิดดังกล่าวได้”
***
ขอบพระคุณคณาจารย์และผู้ที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำ
ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร.คนึงชัย วิริยะสุนทร คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร.ชนมน สุขวงศ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายพลากร ประมวล นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โรงเรียนปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
นายสิริชัย ศรีชัย นายกองค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายอัษฎาวุธ วรรณทวี นายกสโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายปฏิพล แสนหยุด นายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายบัญชาพล ใยแสง ผู้ช่วยนายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
สโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
เพจค่ายศิลป์รักษ์ป่า
เพจโรงเรียนห้วยสวายวิทยา
ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ชาวค่ายห้วยสวาย