ตำนานหนองหารเมืองสกลนคร
หนองหาร, หนองหาน, หนองหาญ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็สุดแท้แต่เหตุผลของผู้นิยมชมชอบ เพราะต่างก็มีเหตุผลในการเขียนกันทุกคน ผู้เขียนขอใช้คำว่า “หนองหาร” ตามที่ปรากฏในงานเขียนส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ในครั้งนี้จะเขียนข้อขบคิดที่เกิดจากงานภาคสนาม ที่ทำให้เกิดเสน่ห์ชวนหลงใหลคือ ตำนานหนองหารของจังหวัดสกลนคร มีความเกี่ยวพันกับตำนานและวรรณกรรมอื่น ๆ อย่างน้อยที่สุดมีอยู่ ๒ เรื่อง คือ ตำนานฟานด่อน กับตำนาน กระฮอกด่อน (ผาแดงนางไอ่) เกี่ยวพันกันในคนละมิติและต่างก็มีพยานหลักฐานกันทั้งสิ้น
เมื่อกล่าวถึงตำนานหนองหารเมืองสกลนคร จึงมักอ้างถึง ๒ ตำนานนี้เสมอ และสำนึกรู้ของคนในท้องถิ่นเองก็มักได้ยินได้ฟังสองตำนานเสมอมา แม้ภายหลังมีการสงสัยและพยายามสร้างแนวคิดตำนานเดียวขึ้นก็ตามที
“ตำนานฟานด่อน” ตำนานนี้มีเรื่องย่อว่า “ขุนขอม ครองเมืองหนองหารหลวง มีโอรสนามว่าพระยาสุรอุทก ได้สืบต่อราชสมบัติจากขุนขอม ครั้งนั้นได้ตรวจตราอาณาเขตจวบจนถึงริมแม่น้ำมูนเสนาจึงทูลว่า ห้วงเขตลำน้ำเป็นดินแดนของธนมูนนาค สร้างความไม่พอใจให้กับพระยาสุรอุทกเป็นอย่างมากจึงได้แสดงฤทธิ์ขับไล่ธนมูนนาค ต่อมาธนมูลนาคและบริวารแปลงกายเป็นฟานด่อน (เก้งเผือก) เดินผ่านเมืองหนองหารหลวง ผู้คนแตกตื่นเป็นอันมาก พระยาสุรอุทกสั่งให้ตามฆ่าแล้วเอาเนื้อมาแบ่งกัน ตัวฟานด่อนก็ขยายใหญ่โตปาดกินเนื้อไม่หมด ตกค่ำธนมูลนาคซึ่งสูบวิญญาณหนีจากร่างฟานด่อนก่อนถูกฆ่าได้ พาบริวารนาคมาถล่มเมืองจนกลายเป็นหนองน้ำ ลากพระยาสุรอุทกจากหนองหารไปถึงริมแม่น้ำโขงก็สิ้นพระชนม์ คงเหลือเพียงพระยาสุวรรณภิงคาร ท้าวคำแดง และประชาชนบางส่วนที่ล่องแพมาจนถึงภูน้ำลอด และตั้งเมืองใหม่บริเวณรอยพระพุทธบาทเชิงชุมในปัจจุบัน”
ตำนานฟานด่อนนี้เป็นตำนานที่อ้างถึงการเกิดเมืองสกลนครเป็นที่นิยมเล่าขานสืบกันมา โดยยึดถือกันว่ามาจากตำนานอุรังคธาตุ (ในงานชำระเรียบเรียงของ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ได้ชำระจากตำนานอุรังคธาตุ ๑๕ สำนวน ซึ่งกล่าวถึงตำนานฟานด่อนในบั้นที่ ๑๕ เมืองหนองหารหลวงเมืองหนองหารน้อย) ถือเป็นตำนานสำคัญที่ผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขงให้ความสนใจและเผยแพร่กันโดยมาก อย่างไรก็ดี ตำนานนี้มีการเล่าขยายต่อไปจนถึงการสร้างปราสาทภูเพ็ก และปราสาทนารายณ์เจงเวง เมื่ออ่านมากเข้าก็จะเริ่มสับสนเต็มที ด้วยในตำนานอุรังคธาตุแต่ละสำนวนก็บันทึกคลาดเคลื่อนกันไปมา แต่ความเชื่อหนึ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้ที่เป็นข้อ “ขะลำ” (Taboo) ตำนานว่าเหล่าพญานาคแปลงกายเป็น “ฟานด่อน (เก้งเผือก) เดินผ่านกลางเมือง” ความเชื่อสัตว์จำพวกเก้งหรือกวางเดินผ่านบ้านผ่านเมืองมันขะลำต้องทำการ “แตกบ้าน” (ย้ายออกจากที่ตั้งหมู่บ้านเดิม) ซึ่งอาจเป็นการสมมติหรือย้ายบ้านจริงก็ได้ หากไม่ทำการแตกบ้านจะเกิดอาเพศบ้านเมืองพังทลาย ความเชื่อนี้กระจายไปทั่วภาคอีสานซึ่งคิดเล่น ๆ ว่าอาจมาจากตำนานฟานด่อนก็ได้
นอกจากนี้ ตำนานฟานด่อนคงได้รับอานิสงส์จากเรื่องเล่าท้องถิ่นและตำนานอื่นร่วมอยู่มิใช่น้อย จึงได้ปรากฏชื่อขุนขอม และกล่าวว่าเมืองหนองหารหลวงเป็นเมืองลูกของเมืองขอม (อินทปัตถนคร) หลายคนจึงเริ่มชักใยสาวไปสาวมาว่า อ้อ! ประจักษ์พยานก็แนวกำแพงเมืองขอมโบราณ ปรางค์ภายในพระธาตุเชิงชุม สะพานขอม แสดงว่าเมืองหนองหารหลวงมีจริงดังตำนานว่าไว้ อันที่จริงแนวกำแพงเมืองขอมโบราณ ปรางค์ภายในพระธาตุเชิงชุม สะพานขอม ล้วนเป็นของเมืองอารยธรรมขอมจริง แต่ก็ไม่มีจารึกใดบอกว่าเป็นเมืองหนองหารหลวงเลย ตรงกันข้ามจารึกที่ปรากฏบริเวณขอบประตูทางเข้าปรางค์ภายในพระธาตุเชิงชุมระบุชื่อหมู่บ้านเพียง ๒ แห่ง คือ บ้านชระเลง (ชนบท, บ้านนอก ; น่าแปลกที่ไม่มีใครบอกคำแปลชื่อหมู่บ้านนี้เลย จริง ๆ แล้วข้อความหมายถึงเขตในตัวเมือง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำเรียกเมืองหน้าด่านของอาณาจักรขอมโบราณ) และบ้านพะนุรพิเนา (เนินมะตูม ; สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณบ้านธาตุนาเวง) แม้ว่าคำว่า “หนองหาร” จะมาจากรากศัพท์เขมร หาร>ละหาน>รหาล แต่มิใช่ว่าจะมีใช้เพียงที่หนองหารสกลนครเท่านั้น ที่ใด ๆ ที่มีห้วงน้ำขนาดใหญ่ก็เรียกละหานกันหมด ในอิลราชคำฉันท์ (พระยาศรีสุนทรโวหาร ; ประพันธ์) ก็พบใช้คำว่า ละหาน ดังความว่า
ท่อธารละหานห้วย
ก็ระรวยระรินวา-
รีหลั่งถะถั่งมา
บมิขาดผะผาดผัง
นอกจากนี้ ตำนานฟานด่อน ยังมีความเชื่อเชื่อมต่อว่าเมื่อเมืองหนองหารล่มก็เป็นที่มาของการพบพระธาตุเชิงชุม การสร้างปราสาทภูเพ็ก และปราสาทนารายณ์เจงเวง อันที่จริงแล้วเมื่ออ่านตามตำนานนั้นพบว่า พระธาตุเชิงชุม การสร้างปราสาทภูเพ็ก และปราสาทนารายณ์เจงเวง เกิดก่อนการสร้างพระธาตุพนมด้วยซ้ำ ตำนานเหล่านี้อาจสร้างขึ้นเพื่อ “ร่วมสาแหรก” กับพระธาตุพนม เพราะเมื่อสตรีชาวเมืองหนองหารหลวงขอแบ่งพระอุรังคธาตุจากพระมหากัสสปเถระเพื่อบรรจุในพระธาตุนาราย์เจงเวงก็ถูกห้ามว่า “มหากัสสปะเจ้าห้ามเสียว่าอย่าม้างพุทธวนะเทอญ” (ยุทธพงษ์ มาตย์วิเศษ, ๒๕๖๐ : ๒๔๑) ตำนานฟานด่อนจึงมีส่วนช่วยตอกย้ำความ “ศักดิ์สิทธิ์” (Sacred) แก่พระธาตุพนมในฐานะมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ตำนานฟานด่อน จึงเป็นตำนานหนึ่งที่อธิบายพื้นเรื่องการเกิดขึ้นของหนองหารจังหวัดสกลนคร และรับรู้กันโดยทั่วไปดังปรากฏในภาพปฏิมากรรมต่าง ๆ ในเขตเมืองสกลนคร รวมถึงการปรากฏชื่อของกษัตริย์ในตำนานเป็นชื่อสถานที่ในหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ห้องประชุมสุวรรณภิงคาร ห้องประชุมสุระอุทก เป็นต้น และตำนานนี้ยังอยู่ในใจคนสกลนครก็รับรู้และแจ่มชัดอยู่เสมอมา
“ตำนานกระฮอกด่อน” เป็นอีกหนึ่งตำนานที่อธิบายถึงการเกิดหนองหาร ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่สกลนครหรืออุดรธานี เป็นชื่อที่พบในเอกสารใบลานในเขตจังหวัดสกลนคร ตำนานนี้มีเรื่องย่อว่า “ขุนขอม ครองเมืองเอกชะทีตา มีพระธิดาชื่อนางไอ่ มีความงามเป็นที่เลื่องลือจนทำให้ท้าวพังคีโอรสของพญาศรีสุทโธขึ้นมาจากเมืองนาคเพื่อชมโฉม ครั้งนั้นขุนขอมได้จัดแข่งขันบั้งไฟโดยใช้นางไอ่เป็นเดิมพัน ซึ่งนางไอ่มีใจปฏิพัทธ์ต่อท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ครั้งนั้นบั้งไฟของผาแดงพ่ายแพ้ แต่บั้งไฟที่ชนะกลับเป็นอาของนางไอ่ งานแข่งขันจึงยกเลิกไป กล่าวถึงพังคีแปลงเป็นกระฮอกด่อน (กระรอกเผือก) มาเกาะกิ่งไม้ชมโฉมนางไอ่ นางเห็นกระพรวนทองที่ห้อยคอกระรอกนึกอยากได้จึงให้พรานจับให้ พรานจึงยิงกระฮอกด่อนตายแล้วร่างกายกระฮอกก็ขยายใหญ่โต ปาดกินเนื้อไม่หมด พญาศรีสุทโธนาคราชทราบข่าวการตายของพังคีจึงยกไพร่พลมาถล่มเมืองกลายเป็นหนองหารในปัจจุบัน”
ตำนานนี้มีข้อน่าสงสัยหลายประการ และอาจเป็นกุญแจไขสู่กลุ่มอารยธรรมอื่น ๆ ได้อีก มีนักวิจัยนักวิชาการได้ออกมาไขประเด็นอธิบายกันเรื่อย ซึ่งอาจแยกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
[๑] กลุ่มที่เชื่อว่าเหตุเกิดที่สกลนคร การที่เชื่อแบบนี้อาจเพราะมีการเล่าสืบต่อมากันแบบมุขปาฐะ ส่วนฉบับลายลักษณ์ที่ตอกย้ำความเป็นตำนานของสกลนครคือ เอกสารปริวรรตจากใบลานของพระอริยานุวัตรเถระ แล้วมีนักศึกษาปริญญาโทหลายคนนำมาวิจัยในมิติต่าง ๆ ความเชื่อนี้ไม่ได้เลื่อนลอยเสียทีเดียว หากแต่มีการเรียกชื่อเกาะในหนองหาร เช่นดอนแม่หม้าย เพราะในตำนานบอกว่าหมู่บ้านแม่หม้ายไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อกระฮอกจึงไม่ได้ถูกพญาศรีสุทโธนาคราชถล่มเมืองด้วย นอกจากนี้สำนึกรู้ของชาวบ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นปากแม่น้ำที่ลำน้ำก่ำบรรจบแม่น้ำโขง เชื่อว่า ร่องน้ำก่ำเรียกตามสีผิวม้าที่ผาแดงขี่ไปรับตัวนางไอ่ เพื่อจะพาหนีจากการตามล่าของพญาศรีสุทโธนาคราชเพื่อไปยังเมืองผาโพง ม้าตัวนั้นมีชื่อเรียกว่า “ม้าบักสาม” และด้วยมีผิวกายสีแดงก่ำจึงเรียกอีกชื่อว่า “ม้าบักก่ำ” วิ่งลัดเลาะมาจากเมืองหนองหารหลวงมุ่งหน้าสู่แม่น้ำโขง พญานาคก็ไล่ตามจนเกิดเป็นร่องน้ำเรียกว่า ร่องบักก่ำ ปัจจุบันเรียก ลำน้ำก่ำ ม้าบักสามพยายามกระโดดข้ามแม่น้ำโขงแต่ก็จมบริเวณเหนือหาดแห่ ชาวบ้านเรียก “แก่งบักก่ำ” ผาแดงพานางไอ่ว่ายน้ำอ้อมไปด้านท้ายหาดแห่แล้วพญานาคก็ดึงเอาตัวนางไอ่ลงไปยังเมืองบาดาล บริเวณท้ายหาดแห่จึงเรียกว่า “เวินนางไอ่” มาจนถึงปัจจุบัน
[๒] กลุ่มที่เชื่อว่าเหตุเกิดที่อุดรธานี การที่เชื่อแบบนี้อาจเกิดเพราะหมอลำได้แต่งคำกลอนที่อธิบายพื้นที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในปัจจุบันว่า เป็นชื่อที่มาจากตำนานผาแดงนางไอ่ทั้งสิ้น ประกอบกับในตำนานอุรังคนิทานกล่าวถึงตำนานเมืองหนองหารหลวงและเมืองหนองหารน้อยไว้ว่า เกิดเป็นเมืองในพื้นที่ติดกันไม่ได้ห่างกันแบบตำนานฝ่ายเมืองสกลนคร (ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ. ๒๕๖๒: ๙๘) และมีเกาะดอนเกิดขึ้นเหมือนกัน มีพื้นที่เกี่ยวเนื่องตำนานเหมือนกัน เช่น เมื่อครั้งที่ผาแดงนางไอ่ขี้ม้าบักสามเพื่อหนีพญานาคเกิดเป็นลำน้ำเรียก “ห้วยสามพาด” หมายถึง ห้วยที่ม้าบักสามพะลาด (ล้ม, ไถล) เมื่อเจออุปสรรคที่พญานาคพยายามสร้างขึ้น เป็นลำห้วยต่อจากหนองหานที่อำเภอกุมภวาปี มีน้ำไหลลงจากภูผาแดง ผ่านอำเภอหนองวัวซอ อำเภอประจักษ์ศิลปาคม บรรจบที่หนองหาน พอดี ความเชื่อนี้ทำให้เกิดการสร้างอนุสรณ์สถานตามความเชื่อ การจัดการแสดงต่าง ๆ เรื่อยมา
ความน่าสนใจของตำนานกระฮอกด่อนนี้ มีคนให้ข้อมูลได้น่าสนใจนำเสนอและชวนคิดคือ
[ก] การต่อสู้ระหว่างคนที่อยู่บนภูสูง (ขอม) และคนเมืองลุ่ม (นาค) แนวคิดนี้ สุกัญญา สุจฉายา ได้อธิบายว่า จริงแล้ว ตำนานเรื่องนี้อาจเกิดจากการต่อสู้กันของคนสองกลุ่มเหล่านี้ และบันทึกเรื่องเป็นตำนานเล่าสืบทอดกันมา การตีความเช่นนี้เพราะเชื่อว่าขอมเป็นคนใหม่ที่เดินทางมาอยู่ในท้องถิ่นอีสาน ในขณะที่ชาวนาค (ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนพื้นเมืองดั้งเดิม) อยู่มาก่อนจึงเกิดการต่อสู้กัน และเหลือร่องรอยเป็นการบันทึกเป็นตำนานเรื่องเล่าสืบมา
[ข] เมืองผาโพงอยู่ที่ไหน? ผาแดงเดินทางจากไหน? มาเมืองขอม (เมืองของนางไอ่) ตำนานท้องถิ่นในภาคอีสานส่วนใหญ่เสนอว่า เมืองผาโพงของท้าวผาแดงนั้นอยู่ริมน้ำเซบั้งไฟ ในดินแดน สปป.ลาว ในปัจจุบัน ในขณะที่ สุกัญญา สุจฉายา (๒๕๕๙ : ๑๐๑-๑๐๓) เสนอว่า เมืองผาโพงน่าจะเป็นบริเวณอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยวิเคราะห์จากฉบับสำนวนของสุภณ สมจิตรศรีปัญญา ว่าผาแดงเป็นชาวละว้า และในตอนที่ผาแดงตายวิญญาณก็กลับไปที่ภูเขาแก้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองศรีเทพ แนวคิดทั้งสองนี้ จึงมีลักษณะตรงข้ามคนละฟากเลยทีเดียว กลุ่มเดิมกล่าวว่าผาแดงเดินข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองขอมของนางไอ่ ในขณะที่นักคติชนวิทยากล่าวว่าผาแดงเดินทางมาจากหล่มสักตามสันเทือกเขาลงมายังเมืองขอมของนางไอ่ การนำเสนอและตีความของสองความคิดล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรศึกษาต่อไปอีก
[ค] นางไอ่ไม่ใช่ลูกสาวคนเดียว มีนักวิชาการบางท่านเสนอว่า นางไอ่ น่าจะเป็นชื่อเรียกตามลำดับลูกสาวของคนไทยในอดีตที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคือ เอื้อย อี่ อาม ไอ อัว อก เอก แอก เอา และอัง ข้อนี้ก็น่าสนใจ แต่ก็มีข้อชวนขัดว่า ตำนานว่านางไอ่เป็นธิดาเมืองขอม ไยจึงเอาลำดับเรียกลูกของไทไปใช้เรียกลูกตนเอง และเมืองขอมนี้ชื่อ เอกชะทีตา เสียงใกล้กับคำว่า เอกธิดา ซึ่งหมายถึงลูกสาวคนเดียว แนวคิดนี้จึงมีข้อน่าสนใจและน่าขัดใจประสมอยู่ด้วย
[ง] ผาแดง / ฟ้าแดง / กมรเตง มีนักคิดเสนอว่า ผาแดงน่าจะพัฒนามาจาก ฟ้าแดง (ฟ้าแดง>ผาแดง) เพราะเสียงของคนโบราณเล่าสืบมาอาจเพี้ยนได้เป็นแน่ แนวคิดนี้ก็น่าสนใจดี ชวนนึกถึงการออกเสียงของบางกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครที่ออกเสียง /ฟ/ เป็น /พ/ เช่น เมื่อจะออกเสียงว่า “ไฟฟ้า” จะออกเสียงว่า “ไพพ้า” แต่ก็ไม่เคยได้ยินกลุ่มใดออกเสียงว่า “ไผผา” ในขณะที่นักวิชาการบางท่านเสนอว่า ผาแดงเห็นจะเลื่อนเสียงมาจากคำในภาษาขอมโบราณว่า กมรเตง (กมฺรตงฺ>กมรเตง>กมรเดง>กมรแดง>ผาแดง) แนวคิดนี้เห็นจะดึงให้ผาแดงเป็นขอมแน่แท้ หรือหากจะว่าใช้ภาษาขอม (และวัฒนธรรมขอม) ในราชสำนักท้องถิ่น อันนี้ก็ดูเหมือนจะยาวไกลไปเสีย แต่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะมีความเป็นไปได้ทั้ง “ฟ้าแดง” และ “กมรเตง”
จากตำนานฟานด่อน และตำนาน กระฮอกด่อน อันเป็นตำนานที่กล่าวถึงการเกิดหนองหารเมืองสกลนครนั้นจะเห็นได้ว่า ยังมีมุมคิดมุมถกอยู่อีกมากเพื่อให้สามารถ “สนุก” กับสนามท้องถิ่นที่สามารถอ้างอิงหรือเชื่อมโยงให้เห็นร่องรอยบางประการ ตลอดจนพบแนวคิดร่วมและแนวคิดต่าง อันเป็นเสน่ห์ของตำนานเรื่องเล่าของท้องถิ่นที่ควรค่าอนุรักษ์และเรียนรู้สืบต่อไป
อ้างอิง
นิยม ศุภวุฒิ. (ม.ป.ป.). วรรณกรรมอีสาน นิทานเรื่องกระฮอกด่อน. สกลนคร: สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.
ปรีชา พิณทอง. (๒๕๓๗). วรรณคดีอีสาน เรื่อง ผาแดง-นางไอ่. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท.
พระอริยานุวัตร เขมจารี. (๒๕๒๔). ผาแดง นางไอ่. มหาสารคาม: ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ. (๒๕๖๐). ตำนานอุรังคธาตุ : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง. วิทยานิพนธ์ ปร.ด. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ. (๒๕๖๒). ตำนานอุรังคธาตุ. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุกัญญา สุจฉายา. (๒๕๕๙). “วิถีชน บนตำนาน ผาแดง-นางไอ่ บันทึกการทำสงครามของละว้า ขอม และนาค”, เมืองโบราณ, ๔๒(๑), ๙๗-๑๐๓.
สุรัตน์ วรางรัตน์. (๒๕๓๗). ประวัติศาสตร์สกลนคร. สกลนคร: วิทยาลัยครูสกลนคร.
*
เรื่อง ตำนานหนองหารเมืองสกลนคร คอลัมน์ เสน่ห์ภาคสนาม
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๑๗
ปีที่ ๑๐ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๕
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220