ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น : มุมมองทางสังคมวิทยาการเมือง

ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น :

มุมมองทางสังคมวิทยาการเมือง


เครดิตรูป https://www.thairath.co.th/news/politic/1991737

๑.
แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น

แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ หลักใหญ่เป็นแนวคิดที่สนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบออกจากรัฐบาลส่วนกลาง ไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่น อันได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล เทศบาล อำเภอ หรือเมือง ฯลฯ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนซึ่งอยู่ในชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการกระจายอำนาจ ดังกล่าว ดังนั้น ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงแค่ “การเลือกตั้ง” ตัวแทนหรือผู้นำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเท่านั้น ทว่าแนวคิดประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นต้องการ “เสริมสร้างอำนาจ” ให้กับชาวบ้าน หรือประชาชนในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ได้มีสิทธิมีส่วนในการกำหนดนโยบาย หรือมีสิทธิในการกำหนดความเป็นไปของชุมชนท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ได้ หรือมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตัวเขาเองที่ระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยมาจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นที่มีคุณภาพ จะสามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหรือพลเมืองได้มากขึ้น

เมื่อประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้เกิดชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ในท้ายที่สุดแล้วจะช่วยตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ และความต้องการของชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในชุมชนท้องถิ่นนั้นได้

เราอาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นแท้จริงแล้ว ก็คือรูปแบบหนึ่งของ “ประชาธิปไตยทางตรง” ที่สนับสนุนให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง อันมาจากรากฐานของแนวคิดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน (bottom – up democracy) ซึ่งก็คือการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชุมชนท้องถิ่นที่ตนอยู่ด้วยกันเอง ไม่ใช่ให้รัฐบาลกลางและเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่าง ๆ เป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ประชาธิปไตยทางตรงที่เข้มแข็งจะช่วยทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นเช่นกัน ประชาธิปไตยทางตรงจะช่วยรักษาวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น มิให้ถูกทำลายจากอำนาจของระบบทุนนิยมและอำนาจทางการเมืองที่ฉ้อฉลได้

ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสนับสนุนประชาธิปไตยในระดับชาติให้เข้มแข็งได้ เนื่องจากเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น การที่ประชาชนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จะช่วยเสริมสร้างให้เกิด “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง” (civic culture) ซึ่งบุคคลที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองนี้ จะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและกลุ่มทุนที่มิชอบ อันจะส่งผลให้ระบบการเมืองมีความสุจริตโปร่งใส และช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดหาบริการต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อชุมชน รวมถึงการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง

นักวิชาการอย่างเช่น Will Kymlicka (1999) เสนอความเห็นว่า ในสังคมประชาธิป-ไตยสมัยใหม่ ยังต้องการพลเมืองที่สนใจในการเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังต้องมีแนวคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายรัฐ เขาเห็นว่าพลเมืองต้องสามารถควบคุมกำกับให้นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการกระทำของพวกเขาได้ อีกทั้งพลเมืองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องกิจการสาธารณะอย่างเข้มแข็ง โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารืออย่างมีอารยะ พฤติกรรมเช่นนี้ Kymlicka เรียกว่าคือ “แก่นแท้ของคุณธรรมแบบพลเมือง” (the core civic virtues) ซึ่งประชาธิปไตยในทุกระดับ (รวมถึงประชาธิปไตยระดับชุมชนท้องถิ่น) จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีพลเมืองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นพื้นฐาน อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากแนวคิดของ Kymlicka นี้ ช่วยยืนยันให้เราเห็นว่า ถ้าจะให้ประชาธิปไตยระดับชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นได้ ประชาชนหรือชาวบ้านต้องมีความกระตือรือร้น สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองในทุกระดับ และต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายรัฐที่ผิดพลาด หรือสร้างผลกระทบในทางเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่น

นายแพทย์ประเวศ วะสี (๒๕๕๕) ได้กล่าวเปรียบเทียบเรื่องการสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจว่า เปรียบได้กับ “การสร้างเจดีย์” ถ้าฐานรากของเจดีย์ไม่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เจดีย์ก็จะทรุดและล้มลงได้ ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากสังคมไทยต้องการสร้างประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงแข็งแรงแล้ว จำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตยที่ระดับชุมชนท้องถิ่นก่อน เพราะเปรียบเหมือนรากฐานของเจดีย์ ท่านยังได้นำเสนอยุทธศาสตร์การสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นว่า “ต้องมีการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน” ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นจะต้องทำให้เกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อให้เกิดปัญญาร่วมกันของผู้คนในชุมชนท้องถิ่น อันจะทำให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้และการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ เมื่อชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งแล้วประชาธิปไตยก็จะมีความยั่งยืนด้วย แนวคิดของท่านเช่นนี้นับว่ามีประโยชน์ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นของไทยอย่างมากเช่นกัน

ในผลงานของ Benjamin R. Barber จากหนังสือชื่อ “Strong Democracy : Participatory Politics for a New Age (2003) ได้มีข้อเสนอถึงหลักการสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีความแข็งแรง และมีเสถียร ภาพในทำนองเดียวกันว่า ต้องสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในทุกระดับ โดยประชาชนจะต้องมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง และมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่สมาชิกในชุมชนท้องถิ่น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มแข็งในทุกระดับ ด้วยความมีสำนึกและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพลเมือง คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนค้ำจุนให้เกิดชุมชนเข้มแข็งได้ และชุมชนเข้มแข็งจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพขึ้นในสังคมได้ในท้ายที่สุดเช่นกัน

โดยสรุป แนวคิดประชาธิปไตยระดับชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ เป็นแนวคิดที่ต้องการกระจายอำนาจไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่น และต้องการเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชนหรือชาวบ้าน ได้มีสิทธิมีส่วนในการกำหนดนโยบาย และกำหนดความเป็นไปของชุมชนท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ อันจะทำให้เกิดชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและยั่งยืน จากแนวคิดของนักวิชาการดังที่ได้กล่าวมา ล้วนเห็นพ้องกันว่าประชาธิปไตยระดับชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางในทุกระดับ โดยประชาชนจะต้องเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง กล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ พร้อมที่จะเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและกลุ่มทุนโดยมิชอบ อันจะทำให้เกิดระบบการเมืองการปกครองที่มีความสุจริตและโปร่งใส เมื่อชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งแล้ว ประชาธิปไตยระดับชาติก็จะมีความยั่งยืนด้วย

อย่างไรก็ดี ได้มีข้อวิจารณ์จากนักวิชาการตะวันตกที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาว่า จากประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น มักมีข้อจำกัดเรื่องการกระจายอำนาจในระดับชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่มีลักษณะการเชื่อมโยงให้เข้ากับปรัชญา แนวคิด และเป้าหมายสำคัญของประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อกำหนดอนาคตของชุมชนได้ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาตรวจสอบการทำงานด้านความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีโอกาสในการติดตามตรวจสอบการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่มักให้ความสนใจเฉพาะเรื่อง “การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น”

ทั้งหมดนี้ได้สร้างข้อจำกัดต่อเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพ และการให้อำนาจแก่ประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นด้วยตนเอง

****

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด : ปริญญาเอก Ph.D. (รัฐประศาสนศาสตร์) วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ ๒๕๕๑, ปริญญาโท สม.ม.(สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๓๔, ปริญญาตรี น.บ.(กฎหมาย) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๒๘

ปัจจุบันประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงานวิจัยสำคัญล่าสุดเรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา กรณีศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขตที่ ๒๔, ๒๕, ๒๖ (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม)”

อาจารย์พรอัมรินทร์ สรุปเรื่องทุจริตคอร์รัปชันว่า “ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาสเขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจมองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว”

เริ่มจาก “ทางอีศาน” ฉบับนี้ อาจารย์พรอัมรินทร์รับเชิญส่งงานเขียนมาเสนอเรื่อง “ประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น : มุมมองทางสังคมวิทยาการเมือง” โดยจะแบ่งเสนอเป็น ๓ ตอน ได้แก่ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น, ความอ่อนแอของประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นของไทย และแนวทางในการเสริมสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่น.

*

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๑๗
ปีที่ ๑๐ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๕
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตำนานหนองหารเมืองสกลนคร
“คราม” สีย้อมแห่งชีวิต
ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๑๗
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com