ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ บทบาทนักการเมืองอีสานในอดีต*
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: บทความพิเศษ
Column: Special Article
ผู้เขียน: ธันวา ใจเที่ยง๑
ความจริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยการเรียกร้องเพื่อความเสมอภาคให้กับคนระดับล่างของสังคมไทยได้เกิดขึ้นหลายครั้งมาก่อนหน้านี้๒ โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่ปี ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างจังหวัดจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าไปทำหน้าที่ในสภา ในสภาผู้แทนราษฎรยุคนั้นมีหลายท่านที่มีบทบาทโดดเด่น ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกอบกู้แผ่นดินไทยไม่ให้ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามในสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อทศวรรษ ๒๔๘๐ โดยเป็นผู้สร้างกองทัพพลเรือนขึ้นสนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่นที่ภาคอีสานและต่อมาเป็นหลักฐานสำคัญในการเจรจาต่อรองกับประเทศผู้ชนะสงครามอย่างอเมริกาสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่าไทยก็ร่วมรบกับสัมพันธมิตรเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร หรืออยู่ข้างญี่ปุ่น
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นับว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนยุคแรก ๆ ของประเทศไทย เขาได้ชื่อว่าเป็น ส.ส. ที่มีจุดยืนในการเรียกร้องความเสมอภาคให้ชนบทโดยเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลกลาง ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๘๐ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นับเป็น ส.ส. คนแรกที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดของภาคอีสาน และก็เป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม ส.ส. ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอีสาน รวมไปถึง นายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง และ นายถวิล อุดล
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เรียนหนังสือจนกระทั่งจบ ม.๖ ที่โรงเรียนเบญจมมหาราช บ้านเกิด หลังจากนั้นเรียนครูประโยคมัธยม (ป.ม.) ที่กรุงเทพฯ และได้กลับไปเป็นครูประจำที่โรงเรียนเบญจมมหาราช ระหว่างนั้นได้ศึกษาวิชากฎหมายนอกระบบของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และสอบได้เนติบัณทิตในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงได้โอนอาชีพจากครูไปเป็นเลขานุการมณฑลนครราชสีมา หลังจากนั้นก็เลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอ และได้ย้ายไปประจำตามอำเภอต่าง ๆ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่นายทองอินทร์จะลาออกมาสมัครผู้แทนคือ นายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เขาได้หันเหชีวิตมาเป็นนักการเมืองในฐานะตัวแทนของคนภาคอีสาน ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจนักและบางครั้งยังโดนหยามเหยียด ฉะนั้นเมื่อทองอินทร์เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลังได้รับเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนชาวอุบลราชธานี จึงได้ตั้งกระทู้ถามและเรียกร้องให้รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจสังคมให้กับประชาชนระดับล่าง โดยเฉพาะหัวเมืองภาคอีสาน ทั้งด้านการสาธารณสุข การศึกษาการปกครอง และการคมนาคม
“หัวเมืองไม่ได้รับการบำรุงอย่างใดเลย ปล่อยตามธรรมชาติ แต่มองดูมณฑลชั้นในโดยเฉพาะจังหวัดพระนคร จะเห็นว่าถูกบำรุงอย่างฟุ่มเฟือยในเมื่อเทียบกันข้อนี้ชาวหัวเมืองได้พร่ำร้องมานานนักหนาแล้ว” ๓
จากประสบการณ์อันยาวนานที่ นายทองอินทร์คลุกคลีในภาคอีสานตั้งแต่เกิด เติบโต และทำงานในภูมิภาคแถบนี้ จึงทำให้เขาแน่ใจเหลือเกินว่า “ภูมิภาคแถบนี้อาภัพ เป็นลูกเมียน้อย” นอกจากบทบาทที่เด่นชัดในการเรียกร้องให้กระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคแล้ว ในสมัยเป็น ส.ส. ระยะแรก เรื่องลดภาษีที่เป็นภาระให้กับคนจน นายทองอินทร์ก็นับว่ามีบทบาทอย่างสูง ให้มีการยกเลิกภาษีต่าง ๆ รวมไปถึงการเสนอให้ลดงบประมาณด้านการทหารในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านจอมพล ป. ร่วมกับกลุ่มผู้นำอีสานอย่างนายเตียง ศิริขันธ์ เพราะเห็นว่าท่าทีจอมพล ป. จะเป็นเผด็จการ นับตั้งแต่เริ่มแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหันไปใช้ศาลพิเศษจัดการกับกลุ่มคิดต่อต้านรัฐบาล แนวคิดของกลุ่มนายทองอินทร์ หรือกลุ่มผู้นำอีสาน ต้องการให้มีการแข่งขันทางการเมืองในรูปของพรรคการเมือง จึงต้องการผลักดันการเมืองไปสู่การแข่งขันในระบอบรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลและนโยบายพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ หรือกระจายการพัฒนาออกไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม มิใช่เพียงเพื่อพัฒนากองทัพและมุ่งบำรุงเฉพาะเขตเมืองหลวงอย่างที่กลุ่มผู้นำส่วนกลางหรือรัฐบาลกระทำอยู่เท่านั้น ๔
นอกจากนายทองอินทร์และกลุ่ม ส.ส. อีสานรุ่นต่อมาที่ได้ชื่อว่าเป็น “กลุ่มผู้นำอีสาน” จะมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้นำส่วนกลางอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่มีแนวทางในทางการเมืองคล้ายกัน นั่นคือกระจายความเท่าเทียมให้กับคนระดับล่างแล้ว นายทองอินทร์ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนายปรีดีและยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในเขตภาคอีสาน สนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า อันได้แก่ ๕
เขตสกลนคร นายเตียง ศิริขันธ์ และคณะ ตั้งเสรีไทยที่จังหวัดสกลนคร บริเวณบ้านโนนหอม ต.โนนหอม อ.เมือง บ้านเต่างอย กิ่งอ.เต่างอย และบ้านดงหลวง อ.สว่างแดนดิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕
เขตกาฬสินธุ์ นายจำลอง ดาวเรือง และคณะจัดตั้งเสรีไทยที่บริเวณบ้านนาคู ต.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗
เขตอุดรธานี นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ และนายเพ่ง โพธิจินดา ตั้งเสรีไทยที่บ้านไชยวาน อ.หนองหาน และบ้านสามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เขตนครพนม นายถวิล สุนทรศาลทูล และนายสัมฤทธิ์ ขุมเมือง ตั้งเสรีไทยที่บริเวณบ้านกุดเผือกยางออ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘
และเขตอุบลราชธานี นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้จัดตั้งเสรีไทยขึ้นที่ โรงเรียนบ้านพนา อ.พนา บ้านสวนงัว อ.ม่วงสามสิบ บ้านนาขาม อ.เมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘
เหล่านี้คือกองทัพพลเรือนจำนวนเรือนหมื่นที่ผู้นำเสรีไทยอย่างนายปรีดี ใช้เป็นหลักฐานเจรจาต่อรอง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม
บทบาทอันโดดเด่นของนายทองอินทร์ในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะเป็นผู้เรียกร้องการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนระดับล่าง เรียกร้องให้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ร่วมกับกลุ่มผู้นำอีสานที่เข้ามาเป็น ส.ส. สมัยต่อมาอย่างนายเตียงแล้ว นายทองอินทร์ยังถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำให้ นายควง อภัยวงศ์ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อรัฐบาลนายควง แต่นายควงไม่เห็นด้วย
ในการอภิปรายขณะนั้นมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายทองอินทร์ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ในที่สุดที่ประชุมก็รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ ทำให้นายควงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้นายปรีดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มนายควงไม่ค่อยพอใจการกระทำของกลุ่มผู้นำอีสานเท่าใดนัก รวมทั้งยังมีแนวคิดในการพัฒนาแตกต่างกัน โดยที่ฝ่ายอีสานเน้นการกระจายการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่น
นายควง อภัยวงศ์ จึงได้ปฏิบัติต่อนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และกลุ่มผู้นำอีสาน ด้วยทัศนะท่าทีที่ดูถูกโดยนัยว่าเป็นคนอีสานหรือลาวต่ำต้อยกว่า และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “การที่คณะรัฐบาลชุดของตนต้องลาออกก็เพราะพระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ๖ รวมไปถึงการหยิบยกเอากรณีเรื่องราวของการต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างสงครามขึ้นมากล่าวโจมตีกลุ่มอีสานและนายปรีดีตลอดเวลา
แต่นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงกรณีพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า
“ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมิใช่เรื่องปักป้ายข้าวเหนียว แต่ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นและผู้สนับสนุนหลายคนเป็นชาวอีสาน ซึ่งคติศักดินาเก่าเรียกว่า “ลาว” กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ซึ่งชาวทาส – ข้าศักดินา เคยดูหมิ่นเหยียดหยามไว้เพราะเป็นคนต่ำต้อยที่ไม่กิน “ข้าวจ้าว” เป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ฝ่ายแพ้มติร่างพระราชบัญญัตินั้นได้กล่าวและเขียนเหยียดหยามชาวอีสานไว้ในสมัยนั้นอีกหลายประการ” ๗
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และกลุ่มผู้นำอีสานจะถือว่ามีคุณูปการสำคัญในการบุกเบิกกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนระดับล่าง ให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และได้ต่อสู้ทางการเมืองเป็นพันธมิตรกับอดีตรัฐบุรุษอาวุโส “ปรีดี พนมยงค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมก่อตั้งเสรีไทย แต่ภายหลังจากที่ฝ่ายตรงข้าม ยึดอำนาจรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ร่วมกับนายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ก็ถูกตั้งข้อหาและถูกสังหารโหดอย่างทารุณ ในกรณีสี่รัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ณ บริเวณถนนพหลโยธิน ส่วนปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
นี่คือจุดจบของอดีตรัฐมนตรี และผู้นำขบวนการเสรีไทยแห่งอีสาน ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติและสังคมไทย ผู้นำแห่งการเรียกร้องความเสมอภาคและเท่าเทียมให้ราษฎรไทยโดยเฉพาะแผ่นดินอีสาน
เชิงอรรถ
๑ เขียนเมื่อ เดือนมกราคม ๒๕๔๔ ขณะเป็นอาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏนครพนม * พิมพ์ครั้งแรกใน วารสารลำน้ำโขง โครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏนครพนม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
๒ การเรียกร้องของประชาชนไทยที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันในสังคม นั่นคือกรณีการเกิดกบฏชาวนา หรือกบฏผีบุญหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๓ รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎร : ครั้งที่ ๙/๒๔๗๖ ๒๕ มกราคม ๒๔๗๖ อ้างใน สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ (๒๕๓๒) ใน “ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง”
๔ สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ (๒๕๓๒) ใน “ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง”
๕ นิสิตวิชาเอกประวัติศาสตร์ ชั้นปีที่ ๔ รุ่น ๓๐ (๒๕๔๓) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามใน “หนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ กับการเสวนาเรื่องขบวนการเสรีไทยสายอีสาน”
๖ สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ (๒๕๓๒) ใน “ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง”
๗ อ้างใน สรศักดิ์ งามขจรกิจกุล (๒๕๓๒) ใน “ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง”
เอกสารอ้างอิง
๑. สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. (๒๕๓๒). ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ ๑). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
๒. ธันวา ใจเที่ยง. (๒๕๔๓). ขบวนการภาคประชาชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม . เอกสารประกอบการสอนวิชาชีวิตและสิ่งแวดล้อม. โครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏนครพนม.
๓. นิสิตวิชาเอกประวัติศาสตร์ ชั้นปีที่ ๔ รุ่น ๓๐ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (๒๕๔๓). หนึ่งศตวรรษปรีดี พนมยงค์ กับการเสวนาเรื่องขบวนการเสรีไทยสายอีสาน. วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๓ (นิวัติ กองเพียร, บรรณาธิการ).
๔. ธันวา ใจเที่ยง. (บรรณาธิการ). (๒๕๔๓). รำลึกครูเตียง นักสู้จากภูพาน. ใน วารสารลำน้ำโขง ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๓.