สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2558 ยกย่อง”นายทองแถม นาถจำนง”รับรางวัลบรรณาธิการดีเด่น และประกาศผลตัดสินเรื่องสั้นและบทกวีดีเด่นด้วย
ข่าวจาก: กองทุนสื่อสาธารณะอิสระ“ไทยทริบูน”
28 พฤศจิกายน 2558
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน รองศาสตราจารย์ ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศผลพิจารณาคัดเลือกรางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2558 ดังนี้
รางวัลบรรณาธิการดีเด่น ได้แก่ นายทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการวัย 60 เจ้าของนามปากกา “โชติช่วง นาดอน” ผู้สร้างผลงานเขียนและคอลัมนิสต์เกี่ยวกับเรื่องจีนไม่ต่ำกว่า 45 เล่ม ที่มีเนื้อหาด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ กวี ปรัชญา ศาสนา ไปถึงเศรษฐกิจการเมือง
ประวัติชีวิตนายทองแถม นาถจำนง เกิดในครอบครัวชาวสวนฝั่งธนบุรี ตั้งแต่เยาว์วัยมีนิสัยรักการอ่านหนังสือไทยและภาษาอังกฤษ และอยากเป็นนักเขียน เขียนบทกวี เรื่องสั้นตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม และเคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์และต้องเข้าป่าหลังเกิดเหตุปิดล้อมฆ่านิสิตนักศึกษา 6 ตุลา 2519 และได้มีโอกาสไปจีน ได้เรียนวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ทหารที่เซี่ยงไฮ้ และทำงานเป็นแพทย์ชนบทที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ต่อมาได้เดินทางกลับไทยเมื่อ 2526 หลังนโยบาย 66/23ของรัฐบาลพลเอกเปรม เมื่อเขากลับมาก็เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเริ่มทำงานรับราชการในกองแพทย์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง
เมื่อมีเวลาว่างเขาได้เขียนหนังสือ แปลหนังสือลงตีพิมพ์ในนิตยสารหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2527 คือ หนังสือรวมบทกวี คือ เงาพระจันทร์ในคมกวี คมคำคมกวี จากนั้นก็เขียนแนวประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว
ต่อมาสำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้ชวนเขามาร่วมลงทุนและทำงานเป็นบรรณาธิการโครงการหนังสือเล่มแปลจากต้นฉบับจีนจำนวนมากกว่า 50 เล่ม โดยผลงานที่โดดเด่นคือ ชุดหนังสือ อมตะพิชัยสงคราม 7 ฉบับ และมรดกภูมิปัญญาจีน ปัจจุบันนายทองแถม นาถจำนงทำงานเป็นบรรณาธิการบทความที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
นอกจากรางวัลบรรณาธิการดีเด่นนี้แล้ว สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ยังประกาศผลรางวัลเรื่องสั้นประจำปี 2557 ด้วย โดยเรื่องสั้นดีเด่นได้แก่”ฝูงหมาระหว่างทางขึ้นภูเขา”ของอุเทน พรมแดง ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ,เรื่องสั้นรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล คือ เรื่อง”เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือ,ดอกไม้และอื่นๆ”ของปะการัง ตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน และเรื่อง”นายหนุ่ม นามสมมติ”ของนทธี ศศิวิมล ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์
สำหรับรางวัลบทกวีดีเด่น คือเรื่อง”ปลูกต้นไม้-ปลายตุลา เหนือกาลเวลา”ของอัคนี หฤทัย ที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และรางวัลบทกวีชมเชย 2 รางวัล คือเรื่อง”วิถีเช้า ร้านชาสันกาลาคีรี”ของ พันธกานต์ ตฤณราษฎร์ ตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และเรื่อง”เราต่างเต้นรำท่ามธุลีศพ”ของ เจริญขวัญ ในเนชั่นสุดสัปดาห์