“ทางอีศาน” ปีที่ ๙
พฤษภาคม ๒๕๖๓ หนังสือ “ทางอีศาน”พิมพ์ออกเผยแพร่ขึ้นปีที่เก้า พร้อม ๆ กับสภาวการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก
เป็นสถานการณ์ที่แม้จะไม่ใช่ภาวะรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความเสียหายต่อชีวิตของมนุษย์ไม่ร้ายแรงเท่าภาวการณ์ในอดีต แต่ก็คาดว่า มีผลสะเทือนต่อวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกผันแปรไปอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของประเทศไทยแม้ไม่มากมายเท่าประเทศ G-20 แต่ก็นับว่าอยู่ในกลุ่มขบวนระดับกลาง ๆ ของโลก และบางด้านก็อาจจะอยู่ระดับแถวหน้า ๆ ของโลก เช่น เศรษฐกิจของไทยก็นับว่าอยู่ในระดับต้น ๆ ของกลุ่มอาเซียน มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานใช้แรงงานในประเทศไทยมากมาย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยก็ “หลงใหล” กันว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้ง ๆ ที่ภาวะเป็นจริงคือ คนไทยอยู่ในเกณฑ์ภาวะยากจนถึงสิบห้าล้านคน
พอเผชิญกับภาวะปิดเมือง ล็อคดาวน์ เศรษฐกิจฝืดเคือง สืบเนื่องภาวะโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก จึงยอมรับกันว่ามีคนเดือดร้อนต้องช่วยเยียวยาแก้ไขถึงประมาณสามสิบล้านคนทีเดียว
จึงเท่ากับว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยมีเศรษฐกิจฝืดเคือง และฐานะยอบแยบจากสถานการณ์โรคระบาดนี่เอง สังคมไทยจึงเริ่มจะยอมรับว่า เศรษฐกิจอ่อนแอจริง ๆ
คนไทยส่วนใหญ่มิได้อยู่ในภาวะกินดีอยู่ดีเศรษฐกิจไทยนั้นแท้จริงอยู่ในภาวะล่อแหลมอ่อนเปราะ และสุ่มเสี่ยง
ในภาวะวิกฤติ สังคมเผชิญกับปัญหาหลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน เราจึงจะมองเห็นจุดดีจุดด้อยในสังคม
เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ชนบทไทยยังเป็นแหล่งพักพิงให้คนไทยส่วนหนึ่ง แต่วิกฤติปิดเมือง ล็อคดาวน์ ก่อปัญหาอีกแนวหนึ่ง ในระยะต้น ปัญหาเรื่องคมนาคมขนส่งลอจิสติกส์ และการปิดตลาด เป็นตัวปัญหาบั่นทอนเศรษฐกิจ แต่ระยะยาวออกไป ปัญหาต้องทุเลาลง และรอดทางเศรษฐกิจก็เริ่มยอมรับกันแล้วว่าคือ “เศรษฐกิจพอเพียง” และหนทางรอดก็คือ ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน
ชุมชนจะเข้มแข็งได้ ก็เริ่มจากด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ชุมชนสามัคคีปรองดอง มีความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยร่วมกันรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน อันเกิดจากความเอื้ออาทรประดุจเครือญาติพี่น้องป้องปาย
“ทางอีศาน” สนับสนุนและพยายามสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีงามนี้
เรามุ่งหวัง และเพียรพยายาม และก็ยังเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นว่าฝันของเราไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่เป็นฝันที่มีพลัง มีเพื่อนร่วมขบวนการสร้างสรรค์ให้ปรากฏเป็นจริง