ปณิธานของนิตยสาร “ทางอีศาน”
ก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๓
คอลัมน์: บทบรรณาธิการ
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๕
ปณิธานของนิตยสาร “ทางอีศาน” คือ เราจะรวบรวมองค์ความรู้จากผู้รู้ จากเพื่อนมิตรทุกภูมิภาคและทั่วโลก นำมาปรับประสานกับเป้าหมายเฉพาะโดยหยั่งลึกถึงรากเหง้า ถ่องแท้ในอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์วรรณนา แล้วแผ่เชื่อมโยงถึงกันทั่วประเทศและทั่วสากลจักรวาล สร้างสำนึกรักถิ่นตน ขณะเดียวกันก็ก้าวพ้นการหลงยึดอยู่กับลักษณะเฉพาะถิ่น… ก้าวย่างที่ผ่านมาเราได้รับความคิดเห็น และคำแนะนำจากผู้อาวุโสผู้รู้ และนักวิชาการหลายท่าน
คำสิงห์ ศรีนอก (“ลาว คำหอม”) นักเขียนอาวุโส, ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้กล่าวไว้ว่า
“…ผมเสนอว่า ‘อีศาน’ นั้นให้ไปตั้งชื่อก็ได้แต่ควรจะมีนามสกุล เมื่อออกมาวันนี้ปรากฏว่าเป็น ‘ทางอีศาน’ ดีกว่าที่ผมเสนอเสียอีก คุณจะรู้หรือเปล่าคำว่า ‘ทาง’ นี้ จริง ๆ แปลว่า ฝ่าย ตอนนี้ถือว่าเป็นการประกาศตัวว่านี้เป็นหนังสือของฝ่ายอีสาน…
“…หนังสือของเราออกในยุคสมัยอย่างนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจน อย่าอ้อมค้อม อย่ามีปมด้อย ลุกขึ้นอย่างองอาจ มองไปข้างหน้า เสนอความคิดที่เราอยากให้เขาคิด ต้องเป็นผู้นำทางความคิด หนังสือทางอีศานต้องหาสิ่งใหม่มานำเสนอ ต้องพร้อมที่จะท้าทายปรากฏการณ์ใหม่ ๆ …ผมอยากเห็นหนังสือที่ก้าวหน้า กล้าหาญ ทระนง องอาจ…”
พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร นักสื่อสารมวลชน และนักบริหาร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของเรา ได้แสดงทรรศนะว่า
“ผมเป็นคนภาคอีสานเหมือนกับพวกเราหลาย ๆ คน …ผมภูมิใจที่วันนี้เห็น ‘ทางอีศาน’ เป็นเหมือนรากของคนอีสาน ผ่านงานเขียนนักวิชาการเอกชน สามารถผนึกกำลังร่วมกันชี้เป้าอารยธรรมที่เราต้องรักษา คือ ลึกซึ้งถึงรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต ด้วยจิตวิญญาณด้วยวิถีชีวิตซึ่งคนอีสานเราสืบทอดมาเป็นพัน ๆ ปี
“การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ถูกทางคือ ต้องเข้าหาปราชญ์ท้องถิ่น…คนอีสานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย จะร่วมกันนำสังคมไทย ซึ่งหลากหลายกลับคืนมาสู่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตที่ดีงามของสังคมเรา แล้วไม่ใช่มีบทบาทเฉพาะต่อประเทศเท่านั้นยังมีบทบาทต่อภูมิภาคและต่อโลกด้วย”
ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เฝ้าติดตาม “ทางอีศาน” มาแต่ฉบับ “แฮกหมาน” ได้เล่าบอกถึงความคิดและความในใจว่า
“…หลายคนบอกว่า ‘ทางอีศาน’ อ่านยาก ช่วยทำให้อ่านง่ายขึ้นได้ไหม อยากให้ตอบโจทย์กระแสการตลาดยุคปัจจุบัน แต่ดิฉันก็อยากจะให้คงความเข้มข้นของเนื้อหาต่อไปด้วย เพื่อเสนอข้อมูล ความรู้ ความจริงที่เผยให้เห็นอำนาจครอบงำท้องถิ่น
“อีกทางหนึ่งคือต้องการให้ ‘ทางอีศาน’ เป็นที่รู้จักของสังคมทั่วไป ซึ่งการเสริมสร้างเครือข่ายจำเป็นมาก ตอนนี้ ‘ทางอีศาน’ ก็กำลังทำอยู่แล้ว นักเขียนทุกคนมีเครือข่าย ครูบาอาจารย์ทุกท่านมีเครือข่าย นักหนังสือพิมพ์มีเครือข่าย อยากให้ทุกคนช่วยกันให้กำลังใจ หันมาใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ ‘ทางอีศาน’ ระดมรวบรวมอยู่ และถ้าเป็นไปได้ก็ให้เครือข่ายช่วยย่อยข้อมูลความรู้ดังกล่าวไปนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ ต่ออย่างไรก็ตาม ขอให้ ‘ทางอีศาน’ รักษาคุณภาพและมาตรฐานของตัวเองไว้เหมือนเดิม”
เสบียงกำลังกาย กำลังความคิดจิตใจ และกำลังทรัพย์ คือสิ่งหล่อเลี้ยงให้เราก้าวเดินอย่างมั่นคง
น้อมคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ