เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

เงินลาด

เงินตราอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่คนเฒ่าคนแก่ของพี่น้องชาวอีสานและพี่น้องชาวลาว อาจมีชื่อเรียกต่าง ๆ นานาว่า เงินฮางบ้าง เงินเฮือบ้าง เงินลาดบ้าง ตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียกขานกัน แต่เงินตราชนิดนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เงินลาด” เป็นคำที่บรรพบุรุษคนลาวเรียกขานกันมาตั้งแต่ในอดีต มีบันทึกไว้ในเอกสารหลายเล่ม เช่น บันทึกการเดินทางในลาว (Voyagedansle Laos) ของ เอเจียน แอมอนิเย (พ.ศ.๒๔๓๘), หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑ ของ หลวงผดุง แคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร)

ลักษณะของเงินลาดนี้มีรูปทรงคล้ายเรือ เรียวยาว ตรงกลางเป็นร่องคล้ายกับลำเรือ ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ทองแดงบ้าง ทองเหลืองบ้าง และมีทั้งทองเหลืองผสมทองแดง มีขนาดค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยังมีหลายรูปทรง ฝรั่งเรียกเงินตราชนิดนี้ว่า “เงินแคนู” ซึ่งหมายถึงเงินที่มีลักษณะคล้ายเรือแคนู

หลวงผดุงแคว้นประจันทร์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่๕ ได้เขียน “เรื่องของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑ (โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ.๒๕๐๔ หน้า  ๔๘-๖๒) ว่า

“คําว่า ลาด นี้มีความหมายตามกิริยาว่า เงินเป็นเครื่องสำหรับใช้สอยเบ็ดเตล็ด ดังคำว่า ซีก เสี้ยว อัฐ โสฬส ซึ่งเป็นเงินตราของภาคกลาง อีกประการหนึ่งคำว่า “ลาด” แปลว่าตลาด เพราะคนทั้งหลาย(คนอีสาน) ย่อมเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไปตลาดลาดลี หรือจ่ายตลาดลาดลี (ลาด แปลว่า ตลาด ลาดลี ก็ว่า)”

คำว่าลาดในความหมายที่หลวงผดุงฯให้ไว้นั้นอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและตีความไปเองว่าหมายถึงตลาด ที่จริงแล้วคำว่าลาดนั้นมีความหมายว่า “เรียบ” ซึ่งต่างจากเงินฮ้อยหรือเงินคานที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ที่มักมีตุ่มตามตัวเงิน แต่เงินลาดนี้ไม่มีลักษณะดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกขานชื่อในอีกชื่อหนึ่งว่า เงินลาด

ในอดีตที่อาณาจักรล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่นั้นพบว่ามีการผลิตเงินปลีกขึ้นใช้เช่นเดียวกัน แต่ผลิตจากโรงกษาปณ์หลวง และมีรูปแบบคล้ายคลึงกับเงินฮ้อยหรือเงินคานที่เป็นเงินตราหลัก  ใช้โลหะทมีมูลค่าต่ำกว่าในการผลิตคือพวกทองแดง ทองเหลือง สำริด เป็นต้น

แต่หลังจากปี ๒๓๗๑ กองทัพสยามได้เข้าทำลายนครเวียงจันทน์จนราบคาบ รวมทั้งหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจำปาสักแล้วนั้น สยามได้เข้าไปควบคุมและปกครองในดินแดนของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เองทั้งหมด ตลอดจนดินแดนของอาณาจักรล้านช้างจำปาสักบางส่วนด้วย เงินตราที่เคยใช้ในดินแดนล้านช้างจึงไม่ได้ผลิตเพิ่มเติม เนื่องจากราชสำนักล้านช้างเวียงจันทน์ถูกทำลาย รวมทั้งเงินตราของสยามเองก็มาถึงดินแดนเหล่านี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากระยะทางห่างไกลกัน ราษฎรชาวลาวล้านช้างจึงต้องผลิตเงินตราที่เรียกว่าเงินลาดนี้ขึ้นใช้กันเองตามแต่ละท้องถิ่น

ความเป็นมาของเงินตราชนิดนี้มีในบันทึกของเอเจียน แอมอนิเย นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนแถวประเทศลาวและภาคอีสานของไทย (เมื่อดินแดนล้านช้างถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน หลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒) ในปี ๒๔๓๘  บันทึกส่วนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “พวกคนลาวตามหัวเมืองและตามแม่น้ำใช้เงินเป็นเหรียญทองแดง เรียกว่าเงินลาด (Lat) ซึ่งจะพบเห็นอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในแถบนี้ของประเทศลาว”

เงินตราชนิดนี้น่าจะผลิตใช้เป็นเงินปลีกสำหรับชาวบ้านไว้ใช้สอยกันเองในตลาด ดังในบันทึกของ เอเจียน แอมอนิเย ได้กล่าวว่า

“มีโรงงานผลิตเหรียญเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป รัฐบาลปล่อยให้ดำเนินการได้อย่างเสรี มีการผลิตภายในกระท่อมหลายหลัง ซึ่งอยู่ใกล้กับศาลาที่ผมเข้าพักแรม ชายหนุ่มคนหนึ่งใช้ตาชั่งชั่งทองเหลือง ๔ จี (๑ จีหนักประมาณ ๔ กรัม) โดยเอาตะกั่วเติมใส่ชิ้นหนึ่งเพื่อทำให้โลหะหลอมได้ดี เขาจัดวางเป็นกองเล็ก ๆ บนกระด้ง อยู่ข้างผู้หญิงสองคน หญิงคนหนึ่งเดินเครื่องทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม หญิงอีกคนหนึ่งเทโลหะลงในเบ้าดินเหนียวเป็นรูปกลม ๆ  คล้ายกับถ้วยนํ้าชาเล็ก ๆ เพื่อให้ได้ผลดีในการหลอม เขาก็เติมแกลบนิดหน่อย ทำให้ไฟลุกเป็นเปลว หลังจากนั้นก็ใช้คีมเหล็กคีบเอาเบ้าหลอม เบ้าทั้ง ๔ อันขุดเป็นรูตามรูปแบบน้อยใหญ่แล้วแต่ที่จะให้รูปแก่เงินลาด ซึ่งจะตกลงไปที่พื้นดินเมื่อคว่ำด้านหน้าลง”

เนื่องด้วยชาวบ้านผลิตขึ้นใช้เอง จึงทำให้เงินตรานี้มีหลากหลายขนาด ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามแต่จะออกแบบกันขึ้นมา จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่แน่นอน ตามขนาดที่ผลิตขึ้นมา นิยมเทียบเงินลาดกับค่าเงินบาทของสยาม โดยในบันทึกการเดินทางในลาว ได้เขียนถึงอัตราแลกเปลี่ยนในเมืองต่าง ๆ ของดินแดนล้านช้างไว้หลายเมืองคือ

เมืองจำปาสัก ผึ้งหนึ่งรังราคา ๖ ลาด เงิน ๔๐ ลาดเป็นหนึ่งบาท

เมืองพิมูล (พิบูลมังสาหาร)  เงิน ๑๐ ลาดเป็นหนึ่งสลึง

เมืองอุบล เงิน ๑๔ ลาดเป็นหนึ่งสลึง

เมืองเขมราฐ เงิน ๘ ลาดเป็นหนึ่งสลึง ไก่ ๑ ตัวราคา ๕ ลาด เป็ดราคา ๘ ลาด

เมืองเมลูไพ (บ้านแสน) เงิน ๔ ลาดเป็นหนึ่งสลึง ๑๖ ลาดเป็นหนึ่งบาท

เมืองยโสธร เงิน ๖ ลาดเป็นหนึ่งสลึง

เมืองธาตุพนม เงิน ๘ ลาดเป็นหนึ่งสลึง

เมืองละคร (นครพนม) เงิน ๘ ลาดเป็นหนึ่งสลึง

เมืองโพนวิสัย (อำเภอโพนพิสัย) เงิน ๑๐ ลาดเป็นหนึ่งสลึง เงินลาดที่นี่มีขนาดใหญ่ชั่งได้ ๘ จี (ประมาณ ๓๒ กรัม)

เงินปลีกสมัยอาณาจักรล้านช้างยังรุ่งเรือง ทําจากทองแดง
เงินลาดขนาด ๘ จี

เงินลาดนี้ผลิตใช้กันกว้างขวางในดินแดนล้านช้างเดิม เนื่องจากขาดแคลนเงินตราจากส่วนกลางของสยาม การขนถ่ายไปไม่ถึงหรือไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดการขาดแคลนเงินตราในการจับจ่ายใช้สอย แม้สยามจะผลิตเหรียญกษาปณ์โดยใช้เครื่องจักรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ก็ผลิตใช้ในภาคกลางของสยามเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ การผลิตเหรียญกษาปณ์ทำได้รวดเร็วขึ้นเพราะเครื่องจักรทันสมัย เงินตราสยามเข้ามามีบทบาทในดินแดนภาคอีสานและลาวบางส่วน จนกระทั่งเงินลาดซึ่งมูลค่าไม่แน่นอนหมดความสำคัญลงไป

เมื่อแผ่นดินล้านช้างถูกแบ่งเป็นสองฟากฝั่งหลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๗) ฝั่งขวาแม่น้ำโขงใช้เงินตราที่สยามผลิตขึ้น ส่วนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ใช้เงินตราที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสผลิตขึ้น

ถึงแม้ว่าเงินลาดจะหมดความสำคัญในฐานะของเงินตรา แต่ผู้คนทั้งสองฟากฝั่งโขงก็ยังใช้เงินตราชนิดนี้รวมถึงเงินฮ้อยเงินคานที่มีมาแต่อดีต  เป็นสื่อสำหรับประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณกาล เช่น ใช้ในพิธีแต่งงาน ค่ายกครูในพิธีสำคัญทางไสยศาสตร์ ใช้หล่อพระพุทธรูป เป็นต้น

เหรียญเงินสมัยรัชกาลที่ ๕ ขนาดบาท สลึง เฟื้อง
เหรียญเงินหัวหนามของฝรั่งเศส

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

เลือกได้ตามใจเธอ
ชาดกเรื่องพระโสณะและพระนันทะเลี้ยงดูบิดามารดา
ผักเสี้ยวหน้าแล้ง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com