ทางอีศาน 38 : ปิดเล่ม

ทางอีศาน 38 : ปิดเล่ม

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓๘
ปีที่ ๓ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘
ฉบับ: สภาพอีสานในห้วงปฏิวัติประชาธิปไตย ๒๔๗๕
คอลัมน์: ปิดเล่ม
Column: Last But Not Least
กอง บก.

เรือในลุ่มนํ้ามูลที่ท่าช้าง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการจัดตั้งกิจการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศและสายการบินระหว่างกรุงเทพ – นครราชสีมา และมีการขยายเส้นทางรถไฟสายอีสาน จนสามารถขยายเส้นทางการเดินรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี และนครราชสีมาถึงขอนแก่นในสมัยรัชกาลที่ ๗

สภาพเศรษฐกิจและสังคมอีสานในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ – ๒๔๘๐ อันเป็นยุคเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยนั้น น่าใส่ใจศึกษาค้นคว้าให้มากขึ้นอีก “ทางอีศาน” ฉบับนี้ทำได้เพียงสรุปเสนอภาพกว้าง ๆ อย่างย่อ ๆ ไว้ก่อนเท่านั้นทางรถไฟที่สร้างมาถึงโคราช (พ.ศ. ๒๔๔๓) นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอีสาน ขบวนเกวียนของนายฮ้อยไม่ต้องลงไปถึงกรุงเทพฯ แต่ก็ยังเป็นตัวจักรสำคัญในการค้าขาย

ต่อมาเมื่อทางรถไฟไปถึง ท่าช้าง ริมแม่นํ้ามูล ห่างจากโคราช ๒๐ กม. การขนส่งจากกรุงเทพฯ สู่อีสานใต้สะดวกขึ้นมาก คือสามารถขนส่งทางเรือจากท่าช้างไปถึงอุบลฯ, แขวงจำปาศักดิ์ ใน สปป.ลาว แต่การค้าขายระหว่างโคราชกับอีสานตอนบน ได้แก่ ขอนแก่น อุดรฯ และหนองคาย ยังคงใช้เกวียนเป็นหลัก

ปัจจัยทางด้านการคมนาคมขนส่งด้านอื่น ๆ นอกจากทางรถไฟจึงมีความหมายมาก เช่น การขนส่งสินค้าทางเรือเมล์ลากจูงในแม่นํ้ามูล, การขนส่งสินค้าโดยเรือยนต์ของฝรั่งเศส เส้นทางจำปาศักดิ์ – เวียงจันทน์ ซึ่งจอดแวะขนส่งทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา, การค้าขายด้วยเรือเล็กเลียบชายฝั่งโขง, ขบวนค้าขายของนายฮ้อย เป็นต้น

ก่อนที่ทางรถไฟจะไปถึงอุบลราชธานีในปี ๒๔๗๓ การขนส่งโดยเรือกลไฟของฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจชายฝั่งโขงมาก ฝรั่งเศสเดินเรือไฟ ชาวอีสานในยุคนั้นเรียกว่า เรือมันเป็ด ติดต่อระหว่างกรุงพนมเปญถึงเวียงจันทน์ เรือนี้แวะจอดทั้งสองฝั่ง จึงเป็นพาหนะสำคัญของคนอีสานริมฝั่งโขง

ส่วนการเดินเรือระหว่างอุบลราชธานี ก็มีเรือเมล์ลากจูง, เรือฉลอม และเรือสองชั้น ขนส่งสินค้าและคนระหว่างตัวเมืองอุบลฯ กับอำเภอวารินชำราบและพิบูลมังสาหาร

เรื่องเหล่านี้ คงมีงานศึกษาวิจัยไว้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ควรที่สถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสานจะได้ทุ่มเทวิจัยบันทึกไว้ ก่อนที่ข้อมูลจากบุคคลจะสูญสิ้นไปหมด

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมนี้ภายหลังจาก “ปิดเล่ม” ฉบับเดือนมิถุนายนแล้ว ทีมงาน “ทางอีศาน” มีโอกาสสัมมนาร่วมกับนักเขียนทางอีศานและผู้ให้ความสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่ “ทางอีศาน” เราคงได้รับข้อคิดในการพัฒนาปรับปรุง “ทางอีศาน” เป็นอันมาก จึงหวังได้ว่า “ทางอีศาน” ปีที่ ๔ จะสามารถปรับปรุงคุณภาพได้สำเร็จทุก ๆ ด้าน

และก็คงจะสมหวังกันสักที ในการก่อตั้ง “มูลนิธิทางอีศาน” เมื่อมีมิตรร่วมอุดมการณ์เข้ามาโอบอุ้ม “ทางอีศาน” มากขึ้น ๆ

เดือนกรกฎาคม ถึงเทศกาล “เข้าวสา” หรือ “เข้าพรรษา” ฮีตสำคัญของอีศาน ฉบับเดือนกรกฎาคมคอยพบกับเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี “เข้าพรรษา” แถมพิเศษสุดยอดจากครูสุรินทร์ ภาคศิริ … “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ…ปาฏิหาริย์มีจริง (หรือไม่ ?) ” ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนเขียนไปขนลุกไป… และเนื้อหาทั้งหมดในเล่มเข้มข้น ครบทุกรสชาติ เหมียนเดิม…

ขอบคุณภาพประกอบ

เรือในลุ่มนํ้ามูลที่ท่าช้าง อ.จักราช จ.นครราชสีมา (ขอบคุณภาพจาก http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=351003&page=87)

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการจัดตั้งกิจการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศและสายการบินระหว่างกรุงเทพ – นครราชสีมา และมีการขยายเส้นทางรถไฟสายอีสาน จนสามารถขยายเส้นทางการเดินรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี และนครราชสีมาถึงขอนแก่นในสมัยรัชกาลที่ ๗ (ขอบคุณภาพจาก http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=351003&page=87)

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 122
สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง ๒๔๗๕
“๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕” ต้นธารประชาธิปไตย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com