เจาะซอกหาแก่นอีสาน
บทบรรณาธิการ : Editorials
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๔๔
ปีที่ ๔ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๘
ฉบับ: วัฒนธรรมข้าว
เริ่มต้นแม้แต่ชื่อเรื่องของบทนี้ก็มีประเด็นให้ซอกหากันแล้ว คือคำว่า “อีสาน” ซึ่งฟังเผิน ๆ เหมือนจะรู้ ๆ กันอยู่ แต่เมื่อเจาะลึกก็ทำเอาสะอึกและสะดุดคิดทันที
“อีสาน” เป็นชื่อทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์วรรณา คำเรียกขานถึงคนที่เกิดอยู่บนที่ราบสูงทางภาคอีสานว่า “คนอีสาน” หลายคนจึงยังไม่ปลงใจรับ
ถ้าใช้คำว่า “คนลาว” หลายคนจะขานรับ แต่อีกจำนวนไม่น้อยก็คิดถึงความซํ้าซ้อนกัน “คนลาว” ที่ สปป.ลาว ซึ่งความจริงคนสองฝั่งแม่นํ้าโขงมีรากวัฒนธรรมอันเดียวกัน
แล้วคนฝั่งขวาแม่นํ้าโขงจะเรียกตนเองอย่างไรด้วยเหตุผลใดรองรับ มีบางท่านเสนอว่า “คนไทเฮา” “อาหารไทเฮา”
ในขณะที่คนภาคเหนือเรียกตนเองว่า “คนเมือง” / “ภาษาคำเมือง” / “อาหารเมือง” และคนภาคใต้ก็ชัดเจนในตนเองว่า “คนใต้” / “ภาษาใต้” / “อาหารปักษ์ใต้”
หรือเพราะอำนาจรัฐโบราณที่กดทับ เหยียดหยาม เชื้อชาติผู้คนสองฝั่งโขงมานาน จนทำให้ไม่มีความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี กระทั่งดูถูกตนเอง และ
ดูถูกกันเองในหมูพี่น้องลาว ผู้ไท โส้ง ญ้อ แสก กะเลิง แขฺมร์ กูย กวย จีน ญวน ฯลฯ
การค้นหาอัตลักษณ์ – รากเหง้าความเป็นตัวของตัวเอง การศึกษาเรียนรู้ถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ทรัพย์ในดินสินในนํ้า ฯลฯ ของบ้านเมืองตนเป็นสิ่งสำคัญข้อสรุปรับรู้เบื้องต้นจะทำให้ได้ค้นคว้าขยายความอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เสมือนรากแก้วของต้นไม้ที่หยั่งลึกย่อมเป็นฐานให้ลำต้น ก้าน ใบ ได้แผ่กิ่งและออกดอกผลงดงาม
น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ