อมตะอีศาน
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
Column : Editorials
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๖๑
ปีที่ ๖ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐
ฉบับ ก้าวที่กล้าปีที่ ๖
ท่ามกลางการยกทัพจับศึกไล่ล่าฆ่าตัดหัวยึดทรัพย์กวาดต้อนคนมาเป็นทาส ผ่านการกระทำถูกดูถูกเหยียดหยามกดทับของสังคม จนถึงยุคอาณานิคมแล่นเรือลำใหญ่ข้ามทวีปมาตียึดเมืองกัน แล้วเกิดสงครามโลก สงครามเย็น จนเข้าสู่ยุคทุนนิยมเต็มตัว ผู้คนบนที่ราบสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ภาคอีสานประเทศไทยก็สามารถต่อสู้ดำรงตนยืนหยัดสร้างบ้านแปงเมือง มีลูกหลานเหลนสืบสายพงศ์เผ่าต่าง ๆ มาได้อย่างสง่างาม
คนภาคอีศานมีสมบัติวิเศษ เรามีอารยธรรม ฮีต คอง สั่งสมมายาวนาน มีอาหารแซบนัวที่ได้รับการยอมรับโดยคนไทยทุกภูมิภาคและจากทั่วโลก เรามีคีตศิลป์ นาฏลีลา ที่คึกคักและถึงใจ มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ถักทอย้อมร้อยด้วยสองมือและการคิดประดิษฐ์สร้างละเอียด ประณีตมีเครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอย ตลอดจนอุปกรณ์ในการไถหว่านดำรงชีพที่พรักพร้อม ฯลฯ ที่สำคัญเรามีภาษา ผญา บทร้องลำ ที่เป็นมงกุฏทองแห่งวัฒนธรรมของตน
แต่เมื่อโลกเคลื่อนตัวมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ทั้งยังเกิดสงครามจากความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อ และจากการแย่งชิงทรัพยากรด้วยรูปแบบใหม่ในหลายมุมโลก และประเทศไทยก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “อาเซียน” ด้วยสมบัติวิเศษที่เรามี และพร้อมด้วยสรีระร่างกายกำยำ มีจิตใจมานะอดทน อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ง่ายกินง่าย รวมพวกพ้อง รักสงบ สนุก นบนอบต่อสิ่งเหนือธรรมชาติและศรัทธาในหลักธรรม ด้วยลักษณาการเช่นนี้ ในสถานการณ์ขณะนี้ เรายังจะนำพาชีวิต ครอบครัว ประเทศชาติ ให้เจริญมั่งคงต่อไปได้และอย่างไร
ใช่หรือไม่ว่า ในทางเศรษฐกิจเราต้องเป็นเจ้าของและสร้างนวัตกรรมบนฐานทรัพยากรทั้งบนดินและใต้ดิน ด้วยต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ที่เต็มด้วยศักยภาพ ความสามารถและมีคุณธรรมในทางสังคมเราต้องมีธรรมนูญชีวิต อยู่ในศีลกินในธรรม รักษาต่อยอดฮีตเก่าคองหลัง เรียนรู้ภูมิปัญญา ห่างไกลของขะลำ ในทางวัฒนธรรมเราต้องประมวลสรุปกำเนิดและแก่นรากอัตลักษณ์แห่งเผ่าพันธุ์ แล้วนำมาประสานรับใช้ชีวิตปัจจุบัน และในทางการเมือง เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลไกที่ขับเคลื่อนองคาพยพของบ้านเมือง
เราต้องบ่มสร้างปัญญา แสวงหาองค์ความรู้ ความมีเหตุมีผล เราต้องคิด ปฏิบัติ และสร้างนิยมใหม่ ไม่ถือยศถืออย่าง รักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนและคนอื่น และมีสำนึกนำเพื่อส่วนรวม