เทพนม
ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน มีศิลปวัตถุไม้แกะสลักชิ้นไม่ใหญ่สะดุดตาเป็นรูป “เทพนม” สำหรับชาวไทยแล้วประติมากรรม,ปูนปั้น, ลายประดับตกแต่งอาคาร รูป “เทพพนม” นั้น ชาวไทยพบเห็นอยู่ทั่วไปแทบจะทุกหนทุกแห่ง จากศาลพระภูมิในบ้าน, วัด, ราชวัง ฯลฯ
แต่รูปแบบศิลปะที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแปลกพิเศษดึงดูดใจนี่แหละ คืองานศิลปะที่แสดง “อัตลักษณ์” ของคนไทยและสังคมไทย!
“เทพ” คือ เทวดา เป็นคำที่คนไทดึกดำบรรพ์รับอิทธิพลวัฒนธรรมชมภูทวีปมาใช้
ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดียคนไทดึกดำบรรพ์คงจะเรียกเทวดาที่อยู่สวรรค์ (เมืองบน) ว่า “ผีฟ้า” และ/หรือ “แถน”
“พนม” หรือ “ประนม” คือประกบสองฝ่ามือเข้าด้วยกัน แสดงความคารวะ แม้จะมีรากวัฒนธรรมจากชมภูทวีป แต่ท่าพนมมือ และ ท่าไหว้ ของชาวไทย ก็ได้ฝังรากและขยายตัวเป็น “อัตลักษณ์” ของชาวไทยมานานแล้ว (อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคนไทยรุ่นใหม่ รังเกียจธรรมเนียมการพนมมือไหว้อยู่บ้าง)
การปรับตกแต่งสถาปัตยกรรมด้วย รูปและลาย “เทพนม” นั้น นับว่าเป็นการเคารพยกย่องสถานที่นั้น ๆ มาก เพราะเหล่าทวยเทพต่างก็มารวมกันคารวะ อวยชัย ให้พร
รูปแบบ “เทพนม” ทั้งในทัศนศิลป์และนาฏศิลป์ จึงได้รับความนิยมมาพันปีแล้ว นับตั้งแต่ศิลปะยุคลพบุรีเป็นต้นมา
เทพนมสำริด สองด้าน ศิลปะลพบุรี (ภาพจาก http://www.asianbead.com/index.php?action=profile;u=8300;sa=showPosts;start=255)
ไม้แกะสลักรูปเทพนม
ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙) พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
สำหรับการตกแต่งประดับมหาเจดีย์นั้นจากฐานชั้นล่างขึ้นไปเป็น “ฐานรองบาตร” สองชั้น
ฐานเชิงบาตรชั้นล่างเป็นสัญลักษณ์ของแดนครุฑ จึงมักจะตกแต่งเป็นปูนปั้นรูปครุฑและ / หรือรัดอกลูกแก้ว หรือรัดเอวอกไก่ ครุฑมีที่อยู่ที่ป่างิ้วในสระชื่อสิมพลี หรือฉิมพลี สระนี้อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของ
จักรวาลตามคติไตรภูมิ
ฐานเชิงบาตรชั้นบนมักตกแต่งด้วยกระจังเจิม หรือกระจังปฏิญาณ ตรงกลางลายเป็นรูปเทพนม
รูป “กระจัง” เป็นสัญลักษณ์ของ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเหนือยอดเขายุคลธร เป็นเขาที่ตั้งล้อมเขาพระสุเมรุเป็นชั้นแรก เทวดาในชั้นนี้คือ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พร้อมบริวารที่ปกปักรักษาทิศต่าง ๆ ของจักรวาลตามคติไตรภูมิ
ฐานพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศิลปะรัตนโกสินทร์
ล่าง – ฐานเชิงบาตรชั้นล่าง มีรูป ครุฑพนม, อสูรพนม
บน – ฐานเชิงบาตรชั้นบน มีรูปเทพนม ด้านหลังเป็นลายกระจัง
(ภาพจาก สารานุกรมไทสำหรับเยาวชน http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=14&chap=3&page=t14-3-infodetail03.html)
พระปรางค์วัดส้ม จังหวัดอยุธยา ยุคอยุธยาตอนต้นเทพนมห้าองค์ บันแถลงชั้นล่างลงมาประดับด้วยแถว
เทพนมเหลือเพียงที่ด้านใต้เท่านั้น
เทพนมลายก้านขดบนหน้าบัน อุโบสถวัดสระบัว เชิงเขาวัง เพชรบุรี ศิลปะอยุธยาตอนปลาย
https://www.gotoknow.org/posts/585249
เทพนม ดินเผามีเคลือบ น้ำเคลือบสีน้ำตาล ขนาดสูงราว ๑๓ นิ้ว ศิลปะสุโขทัย
นอกจาก “เทพนม” จะเป็นพื้นฐานของประติมากรรมและทัศนศิลป์แล้ว ยังเป็นพื้นฐานของนาฏศิลป์ด้วย ดังที่ “ท่ารำเทพนม” คือท่ารำต้นแบบ ท่าแรก
ดังคำกลอนว่า
– ปี่พาทย์ทำเพลงรัว –
– ร้องเพลงชมตลาด –
๐ เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า
สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน
กินรินเลียบถ้ำอำไพ
– ปี่พาทย์รับ –
อีกช้านางนอนภมรเคล้า
แขกเต้าผาลาเพียงไหล่
เมขลาโยนแก้วแววไว
มยุเรศฟ้อนในอำพร
– ปี่พาทย์รับ –
ยอดตองต้องลมพรหมนิมิต
อีกทั้งพิสมัยเรียงหมอน
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร
พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์
– ปี่พาทย์รับเพลงชมตลาด –
– ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา –
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต