ผ้าย้อมคราม กับสงครามกรุงทรอย

ผ้าย้อมคราม กับสงครามกรุงทรอย

สงครามกรุงทรอย (Troy) เป็นหนังใหญ่ฮอลลีวู้ดเมื่อปี ๒๐๐๔ ดัดแปลงจากมหากาพย์อีเลียด (Illiad) ของโฮเมอร์ กวีผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก ซึ่งประพันธ์ไว้ประมาณ ๒,๗๐๐ ปีก่อน และบางส่วนจากมหากาพย์โอดิซี ของโฮเมอร์ เช่นกัน

อีเลียด ว่าด้วยสงครามสิบปีที่บรรดาผู้นำนครรัฐต่าง ๆ ยกทัพมาตีกรุงทรอย เนื่องเพราะเจ้าชายปารีส (ออร์ลันโด บลูม) ไปฉุดพระราชินีเฮเลนาจากสปาร์ตา จึงมีการมาทวงคืน โดยการระดมพันธมิตรทั่วทะเลอีเจียนมาเล่นงานกรุงทรอย

ในรูป เจ้าชายเฮคเตอร์ (เอริก บานา) กำลังต่อว่าเจ้าชายปารีส ผู้น้อง ที่ก่อเรื่องอื้อฉาวทำความยุ่งยากให้พระราชบิดา กษัตริย์เพรียม (ปิเตอร์ โอทูล)

อาคิลเลส (เบรด พิตต์) เป็นพระเอกของการรบ มารดาเป็นเทพอมตะ นำลูกชายไปจุ่มลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คนไม่มีวันตาย

อาคิลเลสเป็นนักรบมีฝีมือสามารถฆ่าเจ้าชายเฮคเตอร์แห่งทรอยในการดวลกันหน้ากำแพงเมือง แต่ในคืนที่อาคิลเลสใช้อุบายเข้าเมืองโดยซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้ และเผากรุงทรอยนั้น เทพเจ้าอเธน่าสงสารเจ้าชายปารีส จึงบอก “จุดอ่อน” ของอาคิลเลสว่าอยู่ที่ส้นเท้า ที่เดียวที่ไม่ได้โดนน้ำอมตะ เจ้าชายปารีสจึงยิงธนูไปที่ที่จุดอ่อนนั้น และฆ่าอาคิลเลส

คำว่า Achilles heel ในภาษาอังกฤษ จึงหมายถึง จุดอ่อนหรือจุดตายของคน

มหากาพย์ต่อมา คือ โอดิสซี (Odyssey) นั้น พระเอกของเรื่อง คือ ยูลิซิส ที่เดินทางกลับกรุงธากา หลังจากเสร็จศึกกรุงทรอย ผจญภัยเจ็ดย่านน้ำอย่างตื่นเต้น มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งแบบชุดทีวีและหนังใหญ่ คงจำเรื่องยักษ์ตาเดียวและนางพรายทะเลได้ดี

ที่ยกเรื่องโอดิสซีมาที่นี้เพราะเรื่องกรุงทรอยแตก ไม่ได้อยู่ในมหากาพย์อีเลียด แต่อยู่ในมหากาพย์โอดิสซี ในหนังสงครามกรุงทรอย ยูลิซิส (ฌอน บีน) เป็นเพื่อนรักของอาคิลเลส และเป็นผู้ไปชวนอาคิลเลส มารบ

หนังฮอลลีวูดนี้ใช้เสื้อผ้าย้อมครามทั้งเรื่องจะเห็นนักแสดงหลัก ๆ ทุกคนแต่งตัวด้วยผ้าย้อมคราม เป็นผ้าจากจังหวัดสกลนคร ด้วยเหตุผลว่านอกจากสวยงามแบบคลาสสิกแล้ว ยังเป็นสีสันที่สะท้อนความ “โบราณและอมตะ”

งานวิจัยของอเมริกันบอกว่า ผ้าย้อมครามป้องกันแสงยูวีได้ร้อยละ ๙๙.๙๙ ชาวบ้านใส่ไปนาไปสวน กลับมาบ้านถอดเสื้อผ้าออกยังขาวอยู่เลย (แต่ต้องผิวขาวนะครับ ถ้าผิวดำหรือแหล่ ๆ ใส่สามตัวทับกันก็คงไม่มีวันขาว)

ผ้าย้อมครามมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย ใส่หน้าร้อนก็เย็น หน้าหนาวก็อุ่น ครามรักษาแผลในสัตว์ได้ดี เวลาสตรีคลอดบุตร (แบบย้อที่สกลนคร) จะเอาว่านพลับพลึงมาย่างไฟ พันก้อนเส้า แล้วเอาผ้าย้อมครามพัน เอามาประคบที่ท้องแม่ เย็นแล้วก็ทำอีก ท้องก็จะไม่ลาย

ผ้าฝ้ายย้อมครามใส่สบาย ไม่มีกลิ่นอื่น จะได้แต่กลิ่นครามคนไม่มีเวลาหรือขี้เกียจซัก ใส่เสื้อย้อมครามทั้งวัน ตอนเย็นผึ่งไว้ ตอนเช้าสะบัดสองทีใส่ได้อีก เป็นเหมือนผ้านาโนที่ดูดซับกลิ่นได้ (ลองแล้ว ใช้ได้นะครับ แต่ยังไม่เคยลองว่าเกินสองวันเป็นไง)

ครามน่าจะเป็นพืชและผลิตภัณฑ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ของจังหวัดสกลนคร คงเป็นเพราะดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมจำเพาะของที่นี่

ที่สกลนครมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำผ้าย้อมครามอยู่มากกว่า ๖๐ กลุ่ม/ชุมชน มีกลุ่มที่ผลิตจนส่งออกได้มากกว่า ๒๐ กลุ่ม (ข้อมูลเมื่อ ๓-๔ ปีที่แล้ว วันนี้น่าจะมากกว่า) มีการผลิตและส่ง “แม่คราม” (เข้มข้น) ไปขายยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานและทางภาคเหนือ

ที่ปลูกครามกันมากและมีกลุ่มแม่บ้านทำผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียง โดยมากจะอยู่รอบตีนภูพาน คือ พรรณานิคม อากาศอำนวย วาริชภูมิ วานรนิวาส กุดบาก สว่างแดนดิน

ผ้าย้อมครามของสกลนคร “ไปนอก” นานแล้ว คุณจิ๋วที่พรรณานิคม แกเดินทางไปออกงานและไปขายมาทั่วโลกหลายปีแล้ว ไม่ว่า มิลาน ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว เพิ่งมาตื่นเต้นกันตอนที่ทำประชารัฐ และตอนที่คิง พาวเวอร์ นำไปใช้กับสโมสรเลสเตอร์ ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งมีสีโทนเดียวกันพอดี

ไม่รู้ว่าอาลีบาบาจะทำให้ผ้าย้อมครามเป็นเช่นไร แจ็ค หม่า นี่ศิษย์ซุนหวู่ จอมยุทธจีนยุคใกล้ ๆ กับโฮเมอร์ เมื่อ ๒,๖๐๐ ปีก่อน ที่สอนว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

แต่ซุนหวู่พูดต่อไป (ที่คนไม่ค่อยอ้าง) ว่า “จอมยุทธสุดยอด คือ คนที่รบชนะโดยไม่ต้องรบ” ที่ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แปลความว่า “สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้”

แจ็ค หม่า ฉลาดมาก (ไม่รู้เทพองค์ไหนกระซิบ) รู้ว่า Achilles heel หรือจุดอ่อน จุดตายของคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งไทยเราอยู่ตรงไหน

แต่กระนั้นก็ดี สิ่งที่ชาวบ้านเราทำได้ดีกว่าและตอบสนองความต้องการของคนวันนี้มาก ๆ (ที่อยากกลับไปหาธรรมชาติ อยากได้ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผ้าทอมือ) นั้น โรงงานใหญ่ทำไม่ได้ธุรกิจใหญ่ทำไม่ได้ แต่ชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ คนเล็ก ๆ ทำได้

ไม่ว่าทุนนิยมจะเก่งกาจเพียงใด แต่ก็ย่อมมีจุดอ่อนจุดตาย ถ้าพี่น้องชาวบ้านเรารู้ว่า “ส้นเท้า” (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ส้นตีน”) ของทุนนิยมอยู่ตรงไหน เราก็จะรอด พอเพียง และมั่นคงได้อย่างแน่นอน


ภาพยนตร์เรื่อง Troy

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

วัฒนธรรมแถน (๖) พิธีส่งแถน
บทกวี โบยบินจากความกลัว
ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com