อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ นิทานพเนจร-จุดเริ่มต้น (๒)

In the morning, my life started at the Sri Satta Naga statue on the bank of the Mekong river. I prayed for success and accomplishment in my pursuing the footprint of the Great Man. When the spirit was high, and the stomach was filled up a bit with breakfast, then I am ready for the journey with Wat Phra Bat as my destination. The temple is located in Woen Phra Bat Village, Tha Uthen District, about 28 km from  the province of Nakhon Phanom. The “Woen Plaa’s Buddha Footprint” is enshrined in this temple at the bank of the Mekong river.


ตลอดทางเข้าสหกรณ์โคขุนโพนยางคำมีความร่มรื่น

“แกระดับน้ำโขงลดต่ำลงมาก คาดว่าอาทิตย์หน้าก็จะจัดงานบวงสรวงรอยพระพุทธบาทได้”

เสียงเพื่อนสาวสายสืบระดับน้ำโขงส่งเสียงแจ๋ว ๆ มาทางปลายสาย แจ้งข่าวน่ายินดีว่าฤดูแล้งปีนี้ชาวอำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม จะได้จัดงานบวงสรวงรอยพระพุทธบาทแบบเห็นของจริงกันเสียที หลังจากที่ระดับน้ำเริ่มมีการขึ้นลงอย่างผิดปรกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปีที่แล้วฉันพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อได้รับข่าวดีเช่นนี้จึงลิงโลดจนเก็บอาการไม่มิด แต่แผนการเดินทางต้องปรับนิดหน่อยเพราะจากที่เคยลุยเดี่ยว ปรากฏว่าทริปนี้พ่อกับแม่เกิดอยากรู้อยากเห็นว่าการเก็บข้อมูลภาคสนามของลูกนั้นมันเป็นอย่างไร อธิบายเฉย ๆ คงไม่เห็นภาพ เลยต้องกระเตงกันไปให้รู้แจ้งเห็นจริงเสียเลย

ที่แรกก็อดกังวลไม่ได้ว่าไหนจะเดินทางไกล ไหนจะอากาศร้อน และค่อนข้างสมบุกสมบันนิดหน่อย เกรงคนสูงวัยจะทนกันไม่ไหว แต่ก็กลายเป็นว่าการขับรถในช่วงต้นเดือนเมษายนไม่ได้รุ่มร้อนอย่างที่คิด คงเป็นเพราะร่มฉำฉาริมทางที่แผ่กิ่งก้านประสานกันจนคล้ายอุโมงค์ต้นไม้ เมื่อเข้าสู่เขตเทือกเขาภูพานกองทัพผีเสื้อป่าสีเหลืองก็บินพรูกันขึ้นจากป่าข้างทาง ภาพเปรียบเทียบเวลาที่หัวใจของใครบางคนมีความสุขจนล้นปรี่คงคล้ายภาพฝูงผีเสื้อที่พร้อมใจขยับปีกที่เบื้องหน้านี่เอง

เมื่อรถไต่ระดับสูงขึ้นก็แทบไม่เห็นสีอื่นเลยนอกจากสีเขียวของพรรณไม้ครึ้มที่ข้างทาง พวกลิงป่าที่มานั่งผึ่งลมกันริมทางต่างไซ้เห็บให้กันสบายใจเฉิบ อ้อ! บนภูพานนี้ยังเป็นที่อาศัยของช้างจากโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และบรรดาช้างเผือกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุยเดชบรมนาถบพิตร ซึ่งได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในธรรมชาติอีกด้วยนะ

ผ่านโค้งปิ้งงูมาได้จึงค่อยสบายใจหน่อย เหลือบดูผ่านกระจกมองหลังพ่อกับแม่กำลังพักสายตากันที่เบาะหลัง การเดินทางร่วมกับผู้ร่วมทางวัยเกษียณหากเร่งรีบมากไปจะทำให้พวกท่านเหน็ดเหนื่อยส่งผลไปถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นได้ จึงต้องเตรียมแผนสำหรับจุดพักอย่างเหมาะสม สหกรณ์เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร จึงเป็นจุดแวะพักที่ดีสำหรับมื้อเที่ยง ทั้งร่มรื่นและอาหารอร่อยในราคาไม่แพงเหมาะกับคนรักเนื้อ อิ่มหน่ำสำราญพุงแล้วยังเดินย่อยด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อ เช่น เนื้อแห้ง เนื้อแดดเดียว ไส้กรอก ชิ้นเนื้อตัดแต่ง กลับไปฝากคนที่รักใคร่ชอบพอกันได้ด้วย

หลังทำธุระเรียบร้อยเราขับรถลุยยาวกันต่อ มาถึงนครพนมเอาตอนเย็นย่ำ ที่พักที่จองไว้นั้นเป็นโรงแรมเล็ก ๆ เพียง ๘ ห้อง ใกล้กับหอนาฬิกา โรงแรมนี้แต่เดิมเคยเป็นคลินิกรักษาโรคทั่วไปมาก่อนใช้ชื่อว่า “กอบเกื้อ” ยังมีข้าวของเอกสารเก่า ๆ ใส่กรอบอวดแขกที่มาเยือน เห็นแล้วอดคิดในใจไม่ได้ว่า ‘โชคดีที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นแล้วตอนกลางคืนคงรู้สึกหลอนดีพิลึก’

หลังทำธุระเรียบร้อยเราขับรถลุยยาวกันต่อ มาถึงนครพนมเอาตอนเย็นย่ำ ที่พักที่จองไว้นั้นเป็นโรงแรมเล็ก ๆ เพียง ๘ ห้อง ใกล้กับหอนาฬิกา โรงแรมนี้แต่เดิมเคยเป็นคลินิกรักษาโรคทั่วไปมาก่อนใช้ชื่อว่า “กอบเกื้อ” ยังมีข้าวของเอกสารเก่า ๆ ใส่กรอบอวดแขกที่มาเยือน เห็นแล้วอดคิดในใจไม่ได้ว่า ‘โชคดีที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นแล้วตอนกลางคืนคงรู้สึกหลอนดีพิลึก’

ที่เมืองริมโขงนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเพื่อนรักสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทันทีที่ส่งข่าวว่ามาถึงแล้วเจ้าถิ่นซึ่งดีใจมากก็อยากจะเป็นเจ้ามือสักมื้อ แต่เมื่อพ่อกับแม่ยืนกรานว่าจะใช้เวลาช่วงเย็นกันลำพัง ฉันจึงออกไปซิ่งกับสาวผู้ไทเพื่อนซี้แทน ได้ยินเสียงแท่ด ๆ มาแต่ไกลไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็น “อีแหบ” เจ้ามอเตอร์ไซค์ซูซูกิ รุ่นสวิง (suzuki swing) สีน้ำเงินคันเก๋าตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงวันนี้เจ้ามอเตอร์ไซค์เสียงแหบก็ยังรับใช้เราอย่างซื่อสัตย์เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือน้ำหนักของเจ้าของรถและคนซ้อนท้าย

เดิมทีเจ้าถิ่นอยากพาไปกินหมูกระทะ แต่ฉันอยากไปกินอะไรที่เป็นเมนูท้องถิ่นหน่อย คู่หูวัยเด็กจึงตกลงใจพาไปกินปากหม้อญวนร้านที่ได้ชื่อว่ารับแขกได้ของเธอ ที่นี่อาหารเวียดนามจัดเป็นอาหารท้องถิ่นอย่างหนึ่งของจังหวัดนครพนมก็เพราะในช่วงพุทธศักราช ๒๔๙๘-๒๕๑๘ มีชาวเวียดนามอพยพลี้ภัยสงครามข้ามแม่น้ำโขงผ่านทางประเทศลาวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินไทยเป็นจำนวนมาก อาหารเวียดนามจึงถูกจัดเข้าทำเนียบอาหารท้องถิ่นเมืองนครพนมไปโดยปริยาย

บริเวณที่พักอยู่ใกล้กับหอนาฬิกาประจำเมืองนครพนมร้านข้าวเกรียบปากหม้อข้างทางอิ่มอร่อยในราคาไม่แพง

ร้านข้าวเกรียบปากหม้อเจ้าประจำของเพื่อนเป็นร้านข้างทางแบบที่เขาเรียก “สตรีท ฟู้ด” ตามสมัยนิยม ข้าวเกรียบปากหม้อเจ้านี้แตกต่างจากเจ้าอื่นที่เคยกิน ตรงที่เขาจะเอาข้าวเกรียบว่าวกรอบ ๆ มาประกบแบบแซนวิชอีกทีก็อร่อยไปอีกแบบ แบบที่ใส่ไข่ก็มัน ๆ ดี กินกับน้ำจิ้มทำจากน้ำส้มสายชูเจือน้ำตาลใส่พริกแดงซอยเป็นฝอยตามยาวบีบมะนาวอีกสักซีก อื้อหือจี๊ดจ๊าดสะใจอย่าบอกใคร อิ่มหมีพีมันแล้วแต่เพื่อนยังบริการไม่หนำใจจึงพาไปตบท้ายด้วยเครปใกล้โรงเรียนตงเจี่ย ที่รับประกันว่าไส้ทะลักอร่อยสะใจ

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะน้ำหนักของเราหรือความแก่ของอีแหบกันแน่มันจึงแล่นช้าอย่างยิ่ง แต่ก็ดีเพราะเรื่องคุยของเรายังมีมากมายไม่จบสิ้น เราขับรถกินลมชมบ้านเมืองยามค่ำคืน ตึกรามบ้านช่องแบบโคโรเนียลต้องแสงจากโคมแสงจันทน์ดูสวยงามมีเสน่ห์ต่างไปอีกแบบจากที่เห็นตอนกลางวัน นึกถึงเมื่อครั้งที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะสถาปัตยกรรมทั้ง ๖ สถาบัน ในเรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกในเมืองริมแม่น้ำโขง” ซึ่งจังหวัดนครพนมนับเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงเมืองหนึ่งทีเดียว

ผ่านบ้านเก่าแก่น่าหลงใหลทั้งแบบพื้นบ้านและแบบตะวันตกหลายต่อหลายหลัง จนกระทั่งผ่านจวนผู้ว่าหลังเก่าประดับไฟกลางคืนงดงาม

“อย่าแก” เพื่อนรักกดมือที่กำลังยกกล้องขึ้นเล็งของฉันลง

“…”

“ที่นี่ผีดุมาก สมัยก่อนที่ตรงนี้ยังไม่มีไฟ ไม่มีใครกล้าขับรถผ่านเลย จนกระทั่งพัฒนาให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ทุกอย่างจึงสงบลง”

งานนี้ไม่เชื่อเพื่อนแล้วจะเชื่อใคร คนที่ได้ชื่อว่ากลัวผีที่สุดในโลกเกาะเอวเพื่อนแน่นพลางบอกให้ซิ่งไปจากตรงนี้โดยด่วน มาถึงกิจกรรมสุดท้ายก่อนเข้านอนที่คู่หูของฉันยืนกรานเสียงแข็งว่าต้องทำเพื่อแสดงว่ามาถึงนครพนมอย่างแท้จริง คือ “ขับรถฝ่าดงชีปะขาว” ฉันฟังแล้วร้องได้เพียง “หือ” เพราะก่อนที่จะโวยวายอะไรไปมากกว่านี้ ชีปะขาวตัวใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เคยเจอก็บินมาปะทะหน้า เจ้าแมลงสีขาวตัวแล้วตัวเล่าเฉียดหัวเฉียดหู ผ่านพวกมันมาได้พวกเราหัวเราะจนท้องแข็ง กิจกรรมบ้าบอที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวสมัยเด็กในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ต้นไม้สูงใหญ่แผ่กิ่งใบเป็นร่มครึ้มจนเรียกป่าก็ไม่ผิดนัก ในตอนนั้นกว่าจะเลิกเรียนก็มืดค่ำฝูงแมลงต่างบินมารุมไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์จนแทบอ้าปากคุยกันไม่ได้ พอนึกถึงตอนนั้นถนนสายเล็ก ๆ ที่ขับผ่านก็ก้องไปด้วยเสียงหัวเราะของเรา หลังกลับถึงที่พักเพียง ๒ ทุ่มครึ่ง ทั้งเมืองก็หลับใหลราวเมืองร้าง

เช้าชีวิตของฉันเริ่มต้นขึ้นที่รูปเคารพพญาศรีสัตตนาคที่ริมโขง ฉันอธิษฐานขอให้การตามรอยพระพุทธบาทแห่งมหาบุรุษสำเร็จลุล่วงไร้อุปสรรค เมื่อเกิดขวัญกำลังใจฮึกเหิมแล้วเติมมื้อเช้าเป็นเชื้อเพลิงใส่ท้องอีกหน่อยก็พร้อมเดินทางโดยมีหมุดหมายอยู่ที่วัดเวินพระบาท หมู่บ้านเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปราว ๒๘ กิโลเมตร

ที่วัดริมโขงนี้เป็นที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทเวินปลา” ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงร่องรอยพระเจ้าเหยียบโลกที่บริเวณนี้ไว้ว่า

“ตอนที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ วันหนึ่งตอนใกล้รุ่งพระอานนท์ได้อุปัฏฐากด้วยน้ำล้างหน้าและไม้สีฟัน หลังจากทรงชำระเรียบร้อยดีแล้วก็ทรงนิมิตเห็นอดีตพระพุทธเจ้า กกุสันธะ โกนาคม กัสสะปะ  เมื่อตอนเสด็จสู่นิพาน สาวกของอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่ดอยกปณคีรี (ภูกำพร้า) ใกล้เมืองศรีโคตรบอง

“เห็นดังนั้นแล้วมหาบุรุษก็ทรงผ้ากำพลสีแดง ทรงบาตรแล้วผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกโดยมีพระอานนท์ตามพุทธลีลามาทางอากาศ ครั้นมาถึงเมืองศรีโคตรบอง ในเวลาที่ทรงประทับอยู่ พญาปลาตัวหนึ่ง เห็นรัศมีของพระพุทธเจ้าจึงพาบริวารล่องน้ำตามไป พระพุทธองค์ก็แย้มพระโอษฐ์เป็นเหตุให้พระอานนท์ทูลถาม พระพุทธองค์จึงทรงตอบว่า

“ที่แท้พระตถาคตทรงเห็นพญาปลาตัวหนึ่งพาบริวารมาอยู่ฝั่งน้ำนี้  พญาปลาตัวนี้เมื่อชาติก่อนเป็นภิกษุในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า ได้ล่วงต่อพระวินัยโดยเด็ดเอาใบไม้มาตักน้ำกิน ตอนใกล้ตายรู้สึกกินแหนงแคลงใจ เมื่อตายไปแล้วจึงมาเกิดเป็นพญาปลาอยู่ที่นี้ มีอายุยาวนานได้ ๑ กัปป์ ตราบเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรย์มาโปรดสัตว์ พญาปลาจึงไปเกิดเป็นลูกคนแล้วออกบวชในสำนักพระเมตไตรย์

“พญาปลาได้ยินก็มีความยินดี คิดอยากได้รอยพระบาทของพระพุทธเจ้า มหาบุรุษก็รู้แจ้งอัธยาศัยของพญาปลาตัวนั้น จึงทรงอธิษฐานรอยพระบาทไว้โขดหินในน้ำ คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า พระบาทเวินปลา มาจนถึงทุกวันนี้”

หมู่บ้านเวินพระบาทเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ยังดำเนินไปตามวิถีพื้นบ้าน ฉันเดินรถช้า ๆ ผ่านถนนกลางหมู่บ้าน พวกหมา ๆ นอนผึ่งแดดอุ่นยามเช้ากันสบายใจเฉิบ ไม่ใส่ใจกับการมาของคนแปลกหน้า ถนนเล็ก ๆ นั่นพาเรามุ่งตรงสู่ประตูวัดเวินพระบาทพอดี

ภายในวัดเงียบสงัดราวกับไร้สิ่งมีชีวิต หากไม่เห็นภิกษุรูปหนึ่งนั่งสมาธิอยู่ริ่มตลิ่งเสียก่อนคงคิดว่าเป็นวัดร้าง ภิกษุรูปนั้นหลับตานิ่งไม่ไหวติงราวฟ้าถล่มก็ไม่พรั่นพรึง ที่คิดจะถามทางจึงเกรงจะเป็นการรบกวนท่าน แต่กระนั้นคำตอบก็อยู่ที่เบื้องหน้านี่แล้ว

ด้านล่างของตลิ่งสูงนั้นเป็นโหง่นหินที่ประดับทุงพัดพลิ้วตามแรงลมแม่น้ำ ฉันรู้โดยสัญชาตญาณว่า ‘นั่นละใช่แล้ว โขดหินในตำนานพระธาตุหัวอก!’

๓ คน พ่อ แม่ ลูก เดินไต่ตลิ่งลงไปตามราวไม้ไผ่ที่ทางวัดทำไว้ สุดทางสะพานไม้ยวบยาบเป็นโหง่นหินที่ประทับรอยพระบาท แต่ตรงไหนล่ะคือร่องรอยบริโภคเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์นั้น ใช่หลุมนี้ไหม หรือจะเป็นหลุมนี้ ไม่ ๆ  หลุมนี้ต่างหาก แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่เลยสักที่ ก็มันต้องเป็นรูปรอยเท้าไม่ใช่รึรอยพระพุทธบาทน่ะ ฉันเหลียวหน้าเหลียวหลังสับสนวุ่นวาย แต่ที่นี่มีทั้งทุงประดับและขันหมากเบ็งเป็นเครื่องพุทธบูชา คือสิ่งยืนยันว่าไม่ได้มาผิดที่

โขดหินริมน้ำโขงเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มหาบุรุษประทับให้แก่พญาปลารอยโค้งบนแท่นหินด้านหน้านั่นคือรอยประทับฝ่าพระบาทปริ่มน้ำ

สำรวจอย่างถี่ถ้วนเพียงใดก็หามีรอยหวำรูปฝ่าเท้าไม่ มีเพียงต้องลุยน้ำข้ามไปยังอีกด้าน แต่โดยที่ฉันไม่ทันสังเกตจู่ ๆ ระดับน้ำได้สูงขึ้นจนปริ่มสะพาน

“เดี๋ยวจะขึ้นไปรอบนตลิ่ง รีบถ่ายรูปเสร็จแล้วตามขึ้นไปนะ” ลูกทัวร์กิตติมศักดิ์ประกาศิตด้วยความกังวลกับความเปลี่ยนแปลงฉับพลันของธรรมชาติ

ตามประสาลูกที่ไม่เคยขัดใจพ่อแม่ ฉันเริ่มลังเล พะวักพะวง ก่อนจะปลุกปลอบใจให้เข้มแข็ง ‘ไม่ได้ ๆ ดั้นด้นมาถึงที่แล้วจะให้กลับไปมือเปล่างั้นหรือ…ไม่…ไม่มีทาง’ ในใจนั้นนึกอยากให้มีเทพยดามาช่วยเนรมิตให้น้ำลดในทันทีแบบในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ แต่ชีวิตจริงก็คงเป็นไปไม่ได้ ฉันยืนนิ่งอย่างไม่อาจตัดใจไปจากที่นี่ได้ พลันเรือหาปลาลำหนึ่งก็แล่นผ่านมาในคลองจักษุ เรือลำนั้นอยู่ค่อนไปทางกลางลำน้ำสีปูน ช่างไกลเหลือเกินแต่ก็คุ้มค่าที่จะลองเสี่ยง

“อ้าย ๆ ขอถามแหน่” ฉันตะโกนสุดเสียง โบกมือให้เป็นจุดสังเกต

“อีหยัง” เจ้าของเรือตะโกนกลับมา คิดถึงทฤษฎีลมบกลมทะเลที่ตอนกลางวันลมพัดจะเข้าหาฝั่ง จึงไม่น่าเชื่อว่าเสียงของฉันไปถึง แต่ก็ไม่มีเวลาขบคิดให้มากความ ฉันรีบฉวยโอกาสนั้นไว้

“ฮอยบาทพระเจ้าอยู่ฝั่งทางน้องหรืออยู่ฝั่งติดน้ำ”

“ฝั่งติดทางน้ำ”

“อ้ายพาอ้อมไปเบิ่งได้บ่ สิคิดเท่าได๋”

“ได้ บ่เป็นหยัง บ่คิดดอก”

ว่าแล้วก็แล่นเรือมาหา ฉันรู้สึกตื่นเต้นพิกลจนรู้สึกมวนในท้อง เหลียวหน้ากลับไปมองเห็นบุพการีอ้าปากค้างสลับกับส่งสายตาเขียวปั๊ดมาหา ที่แท้ความรู้สึกพิกลนี่ก็คืออากาารเสียวสันหลังนี่เอง เรือลำแคบ ๆ น่ากลัวจะล่มเป็นที่สุด อ้ายคนหาปลาบอกให้ฉันก้าวข้ามปลาหน้าหนูตัวเขื่องของเขาไปได้เลย ไม่ต้องกลัว ฉันค่อย ๆ หย่อนตัวลงนั่งอย่างเกร็ง ๆ เรือเล็กค่อย ๆ ออกตัวช้า ๆ อ้อมไปทางด้านหน้าของโขดหิน

“น้ำขึ้นไวหลาย พวมสิท่วมละ ม่องนั่นล่ะ” อ้ายคนขับเรือชี้ไปที่รอยหวำบนหินขนาดราว ๆ ๑ เมตรเศษ ที่น้ำปริ่มจนแทบมองไม่เห็นว่าเป็นรูปร่างใด

“ตั้งแต่ประเทศจีนสร้างเขื่อน น้ำก็ท่วมบริเวณนี้มาตลอด จนบ่ได้เห็นรอยพระบาทมาสี่ปีแล้ว”

“น้ำขึ้นก็บ่แม่นสิหาปลาได้หลายกว่าเก่าติ” ฉันถาม

“บ่แหล่ว น้ำขึ้นลงบ่เป็นเวลามีผลกับการจับปลา นี่ม่องนี่ ที่เฮายังพอมองเห็นนี่แม่นนิ้วก้อย” อ้ายคนเรือเล่า พลางใช้มือคลำสัณฐานที่ใต้น้ำนำทางแก่ฉัน

เมื่อฉันคลำตามไป ภาพนิ้วก้อย นิ้วนาง กลาง ชี้ โป้ง ก็ปรากฏขึ้นแจ่มชัดในสำนึก หัวใจที่เคยเต้นอย่างเจียมตัว บัดนี้มันเต้นระรัวไม่เป็นส่ำ เมื่อยกมือไหว้ก็ปรารภในใจว่าอยากจะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึง ๕,๐๐๐ วัสสา

“มีอยู่เทื่อนึง มียายเฒ่าผู้หนึ่งแกเป็นบ้าอีหยังบ่ฮู้ เอาจอบเอาเสียมสิแซะเอารอยพระบาทออก เอาไม้ไปเฮ็ดเป็นเขตอ้อมไว้ ปีนั้นทั้งปีฝนบ่ตก ต้องได้เฮ็ดพิธีสมมาฝนจึงกลับมาตกต้องตามฤดูกาล” อ้ายคนเรือเล่าพลางเกร็งข้อแขนพายประคองเรือให้ได้ระยะเพื่อให้ฉันถ่ายรูป

ระหว่างพายกลับมาส่งที่ริมน้ำ ไม่ว่าจะเกลี้ยกล่อมอย่างไร อ้ายคนหาปลาก็ไม่ยอมรับค่าเสียเวลานั้น อาจบางทีน้ำใจต้องตอบแทนกันด้วยน้ำใจเท่านั้น ฉันจึงทำได้เพียงไหว้ขอบคุณด้วยความรู้สึกซาบซึ้งใจแทน เมื่อขึ้นมาถึงบนตลิ่งฉันโดนแม่เล่นงานเสียแทบแย่โทษฐานทำให้ใจหายใจคว่ำ เดชะบุญมีพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่มาเอาบุญที่วัดช่วยเป็นระฆังหมดยกให้เสียก่อน

“โอ้! น้ำขึ้นไหลแฮง วังน้ำวนก็มี ลงไปได้จังได๋ อันตราย ไปเบิ่งฮอยพระบาทจำลองที่บนศาลาก็ได้เด้อ” ผู้สูงวัยทั้งสองตกใจ เมื่อรู้ว่าลงเรือเล็กไป ในช่วงที่กระแสน้ำผันผวน

“ที่ฮอยพระบาทน่ะตรงบริเวณส้นเท้ามีรอยเล็ก ๆ คล้ายรอยกดเบา ๆ ด้วย เล่ากันว่าเป็นฮอยที่พญามารพยายามสิมาวัดฮอยเท้า แต่ก็บ่สามารถประทับฮอยลงไปได้ ย้อนบุญบารมีไม่ถึงกัน” พ่อใหญ่เล่าพลางชี้มือไปทางศาลาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองก่อนจะขอตัวขึ้นกุฏิพระไป

หลังจากกลับเข้าสู่ตัวเมืองฉันได้เล่าเรื่องการโดดลงเรือเล็กตามไปดูรอยพระพุทธบาทกลางน้ำโขงให้เพื่อนรักฟัง เธอพยักหน้าหงึกหงักสลับกับทำตาโต นอกจากจะตื่นเต้นกับการได้พบหลักฐานสำคัญแล้ว เธอยังค้างคาใจอยู่ว่าพอขึ้นบนตลิ่งแล้วฉันได้หันกลับไปมองเรือหาปลาไหมว่าอ้ายคนหาปลาแกยังอยู่หรือเปล่า…ฉันฉุกใจคิดขึ้นมาได้ก็ถึงกับลูบแขนที่ขนลุกซู่ นั่นสิฉันไม่ทันได้สังเกตเลย

อ้ายคนเรือกำลังคลำอธิบายสัณฐานรอยพระพุทธบาทที่อยู่ใต้น้ำรอยพระพุทธบาทจำลองบนศาลาด้านบน

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com