ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย

ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๘
ปีที่ ๗ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ตุ๊กตาสำริด รูปนักดนตรีชาวหนานเยวี่ย พบในกว่างตง (กวางตุ้ง)

ปัจจุบันนี้ วงวิชาการยอมรับกันแล้วว่าชน “ไป่เยวี่ย” สายหนึ่งเป็นบรรพชนของชนชาติในตระกูลภาษา ไท-กะได ก็เลยเกิดปรากฏการณ์ มีการไปเรียกพวกไป่เยวี่ย สาขาที่อยู่ตอนเหนือ คือ แถบเจ้อเจียง-เซี่ยงไฮ้ (เรื่องราวของ โกวเจี้ยน ฟูไช นางไซซี) ว่าเป็นคนไท/ไต

ข้าพเจ้าคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะไปสรุปแบบกำปั้นทุบดินอย่างนั้น

ก่อนอื่นเลยก็คือว่า ชื่อชนชาติว่า “จ้วง” นั้นเริ่มปรากฏในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ในราชวงศ์ซ่งเหนือ ส่วนชื่อชนชาติว่า “ไต/ไท” นั้น เพิ่งเริ่มปรากฏในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้

ในยุคชุนชิว ทางใต้ของจีนเกิดมีรัฐที่เข้มแข็งเกรียงไกรของชาวไป่เยวี่ยขึ้นสองรัฐ คือ “อู๋” (ง่อ) กับ “เยวี่ย” (อวด) ก็จริงอยู่ แต่ “ไป่เยวี่ย” นั้น เป็นชื่อรวมเรียกกลุ่มที่มี “วัฒนธรรมข้าว” เหมือนกัน และรากเหง้าภาษาร่วมกันก็จริง แต่ “ไป่เยวี่ย” ก็แยกได้เป็นหลายสาขา แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มชนชาติถึงอย่างน้อยสามกลุ่ม ได้แก่ ชนชาติในตระกูลภาษาออสโตรเนเชียน กลุ่มชนชาติในตระกูลภาษาม้ง เย้า กลุ่มชนชาติในตระกูลภาษาไท-กะได…

ตระกูลภาษาไท-กะไดกลุ่มชนชาติที่พัฒนาต่อมาเป็นกลุ่มชนชาติในตระกูลภาษา ไท-กะได นั้น เป็นเพียงสาขาหนึ่งของไป่เยวี่ยเท่านั้น (อยู่ทางตอนใต้ คือ ในกวางตุ้ง กวางสี ภาคใต้ของกุ้ยโจว ภาคตะวันออกของยูนนาน และในเวียดนามภาคเหนือ)

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเกี่ยวพันระหว่างกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได กับไปเยวี่ยกลุ่มใหญ่ ข้าพเจ้าจึงขอนำเสนอบทความที่อธิบายประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างดี คือบทความชื่อ

“侗台语民族 、 百越及南岛语民族关系刍论 – ชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา “ต้ง-ไถ” (ไท-กะได) : ความสัมพันธ์ระหว่าง “ไปเยวี่ย” กับ “ออสโตรเนเชียน” เขียนโดย คุณพานจื้อ 潘 汁 ในบทที่สี่ เรื่อง ๔. 侗台语民族与百越 : ตระกูลภาษาต้ง-ไถ (ไท-กะได) กับ ไป่เยวี่ย ดังต่อไปนี้

๑. ช่วงเวลาที่เกิดชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา “ต้ง-ไถ” ชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา “ต้ง-ไถ” อันเป็นส่วนสำาคัญของกลุ่ม Austrotai Sphere (คำของ Benedict) ในประเทศจีนนั้น มีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางมาก มีอาณาบริเวณครอบคลุมภาคใต้ของจีนได้แก่ กว่างซี กว่างตง ยูนนาน กุ้ยโจว อีกทั้งครอบคลุมไปจนถึงประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ลาว ไทย เมียนมา ไกลที่สุดคือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียคือ อัสสัม แบ่งเป็นหลายชนเผ่าที่มีแหล่งกำเนิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลาย มีประชากรประมาณ ๑๐๐ ล้านคน มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน มีวิวัฒนาการของแต่ละชนเผ่าในแต่ละประเทศ ที่ไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายข้ามประเทศข้ามพรมแดน ต้นกำเนิดของชาติพันธุ์หลักสามารถสืบย้อนไปยังกลุ่มชนดึกดำบรรพ์ในจีนโบราณคือ “กลุ่มไป่เยวี่ย”

ขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน การอพยพโยกย้าย การแพร่กระจายและยังมีการผสมผสานข้ามเผ่าพันธุ์ไปทั่วทุกทิศ จนค่อย ๆ กลายมาเป็นชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ ที่ข้ามมณฑล ข้ามประเทศ นอกจากชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ ในประเทศไทยและ สปป.ลาว ที่ได้เป็นประชากรหลักของประเทศแล้ว นอกจากนั้นล้วนจัดเป็นประชากรส่วนน้อยทั้งสิ้น

เครื่องปั้นดินเผา แหล่งวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อ เจียง ประมาณ ๗,๐๐๐ ปีตุ๊กตาสำริด รูปชาวเยวี่ย พบที่มณฑลเจ้อเจียง (สังเกต ผมสั้น และการสักร่างกาย)

จุดกำเนิดต้นตอของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ พิเคราะห์ระบุได้ว่าคือ บริเวณทั้งหมดของกว่างซี, บริเวณตะวันตกของมณฑลกว่างตง, บริเวณภาคใต้ของมณฑลหูหนาน บริเวณภาคใต้ของมณฑลกุ้ยโจว บริเวณภาคใต้ของมณฑลยูนนาน และบริเวณภาคเหนือของเวียดนาม ในช่วงประมาณห้าพันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุคหินใหม่ ชนกลุ่มตระกูลภาษา ต้ง-ไถ อันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไป่เยวี่ย ได้เริ่มแบ่งแยกตัวออกเป็น จ้วง-ไท่ 壮泰 ต้ง-สุ่ย 侗水 และ หลี 黎 สามกลุ่มใหญ่ ๆ

ในช่วงระยะเดียวกันนั้น กลุ่มหนึ่ง (ชาติพันธุ์หลี) แยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ลงไปอยู่ในคาบสมุทรเหลยโจว แล้วเคลื่อนที่ต่อไปอยู่ในเกาะไหหลำ (ซึ่งพัฒนามาเป็นชนชาติหลี ในปัจจุบัน…ผู้แปล)

และภายในกลุ่มจ้วง-ไท่ ก็เกิดการแยกตัวด้วยเช่นกัน โดย กลุ่มจ้วง-ไท่ นี้ (ปัจจุบันพัฒนามาเป็น ชนชาติไท/ไต, ฉาน, ลาว, จ้วง) ได้แยกออกเป็นเขตสำเนียงภาษา “เหนือกับใต้” โดยพวกที่อยู่ภาคกลางของกว่างซี ภาคตะวันออกของยูนนาน ภาคใต้ของกุ้ยโจว ใช้ภาษาจ้วงเหนือ ส่วนพวกที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของกว่างซี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูนนานใช้ภาษาจ้วงใต้ แล้วต่อมากลุ่มที่ใช้ภาษาจ้วงใต้นี้ ได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันออกและทางใต้พัฒนาต่อมาเป็นชนกลุ่มตระกูลภาษาต้ง-ไท่ ในประเทศอาเซียน

ประวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษา ต้ง-ไถ นั้นสามารถสืบสาวย้อนไปถึงกลุ่มไป่เยวี่ยดึกดำบรรพ์ นั่นคือกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาต้ง-ไถ สมทบสายมาจากสองสาขาใหญ่ในกลุ่มไป่เยวี่ย ได้แก่ สาขาซีโอว 西瓯 และสาขาลั่วเยวี่ย 骆越

ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วพวกไป่เยวี่ยนั้นก่อตัวขึ้นเมื่อใด? พวกซีโอวก่อตัวขึ้นเมื่อใด? นาม ซีโอว, ลั่วเยวี่ย นั้น ปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่น คุณหูเจาหั้ว 胡绍华 เสนอไว้ในหนังสือ “ประวัติพัฒนาการของชนชาติทางภาคใต้ของจีน”《中国南方民族发展史》ของเขาไว้ดังนี้

ชนชาติส่วนน้อยในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง ในด้านประวัติศาสตร์นั้นสามารถสืบสาวไปถึงก่อนยุคหินใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเป็นแหล่งต้นกำเนิดของมนุษย์แหล่งหนึ่ง การค้นพบทางโบราณคดีได้พิสูจน์แล้วว่า ในแถบชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ โบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ คือแถบมณฑลเจียงซู, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลฟู่เจี้ยน (ฮกเกี้ยน), ไต้หวัน, มณฑลกว่างตง, กว่างซี, มณฑลเจียงซี, มณฑลหูหนาน ได้พบขวานหินมีบ่า และเครื่องปั้นดินเผามีลวดลายเรขาคณิตที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ยืนยันว่าบริเวณแถบนี้เมื่อก่อนห้าพันปีที่แล้วได้มีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่

แล้วเราจะใช้หลักฐานก่อนห้าพันปีในยุคหินใหม่นี้ มาบอกว่าช่วงนี้ก็คือช่วงก่อตัวของคน “เยวี่ย” ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ หรือ บอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ชนในกลุ่มไป่เยวี่ยเริ่มแยกตัวกัน ได้หรือไม่ ?

คุณหวางเหวินกวง 王文光 เห็นว่าชาวเยวี่ย ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายยุคหินใหม่ เขาได้ยกตัวอย่างคำศัพท์สิบคำ ของแปดชนชาติในจีน คือ จ้วง, ผู้ญัย, ไต, ต้ง, มู่เหล่า, สุ่ย, เหมาหนาน และหลี ที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับวิถีการดำรงชีวิตและวิถีการผลิต ว่าคำศัพท์ใกล้เคียงกันมาก แต่เมื่อดูจากพื้นที่ถิ่นฐานอาศัย ปรากฏว่ามันห่างไกลกันมาก เรื่องนี้อธิบายว่า เมื่อบรรพชนของพวกเขาก่อตัวขึ้นแล้ว ก่อนที่จะแยกออกห่างกันนั้นคำศัพท์เหล่านี้ก็ได้กำเนิดมีขึ้นแล้ว อีกทั้งการกำเนิดคำศัพท์ที่ร่วมกันนั้น ก็ย่อมเป็นผลของการอยู่ร่วมในถิ่นเดียวกัน มีเศรษฐกิจการดำรงชีวิตร่วมกัน คำอธิบายของคุณหวางเหวินกวงนี้มีพื้นฐานมาจากการค้นพบทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศจีน คุณหวางเหวินกวงมีทัศนะว่ากลุ่มไป่เยวี่ยก่อตัวขึ้นในช่วงปลายของยุคหินใหม่จากนั้นกลุ่มชน ต้ง-ไถ (ไท-กะได) ได้พัฒนาแยกออกจากกลุ่มหลักของไป่เยวี่ย และมีการแบ่งแยกย่อยกันออกไปแล้วพัฒนาไปจนมีชื่อหลายชาติพันธุ์ในช่วงประวัติศาสตร์ระยะต่าง ๆ

ยังมีทัศนะที่ต่างออกไปอีกแนวหนึ่งซึ่งความเห็นของ คุณสี่ว์เจียวเหยา 徐杰舜 เป็นตัวแทนของแนวคิดนี้ได้ คุณสี่ว์เจียวเหยาเห็นว่า ในยุคดึกดำบรรพ์ ชาวเยวี่ยเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่สายหนึ่งในช่วงปลายลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง และแถบทะเลทิศตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นขึ้นจาก “วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้” 河姆渡文化 พัฒนาผ่าน “วัฒนธรรมหม่าเจียปิง” 马家浜文化 . “วัฒนธรรมเหลียงจู้” 良渚 文化 มาจนถึงวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาลวดลายเรขาคณิต 几何印纹陶文化 เป็นช่วงระยะก่อเกิด จนถึงแยกตัวกันของกลุ่มไป่เยวี่ย

แล้วในห้วงประวัติศาสตร์อันยาวนานต่อมาส่วนหนึ่งได้พัฒนาผ่านการแยกตัว หลอมรวมตัวกัน ค่อย ๆ ก่อขึ้นเป็นชนกลุ่มตระกูลภาษาจ้วงต้ง (ไท-กะได) ในภาคใต้ของจีน และ (ไปเยวี่ย) อีกส่วนหนึ่งหลอมรวมเข้ากับชาติพันธุ์หัวเซี่ยกลายเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติฮั่น (จีน) ไป และเมื่อกล่าวถึงการก่อเกิดขึ้นของชนชาติจ้วงนั้นเขาเห็นว่า ชาว “โอวลั่ว” 瓯骆 และชาว “ลั่วเยวี่ย” 骆越 คือบรรพชนต้นเค้าไกลและชาว “หลี่” 俚 , ชาว “เหล่า” 僚 , ชาว“อูหู่” 乌浒 ตั้งแต่ราชวงศ์ตงฮั่น ลงมาจนถึงราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง คือบรรพชนสายตรง (ของจ้วง) “จากภูมิหลังใหม่ทางประวัติศาสตร์ในยุคหลังจากราชวงศ์ถัง ทำให้เกิดกระบวนการก่อตัวขึ้นของชนชาติจ้วง”

ส่วน คุณฟ่านหงกุ้ย 范宏贵 ได้ศึกษาวิจัยภาษา จ้วง, ไต, ไทย และข้อมูลทางโบราณคดี สร้างสรรค์วิธีการกำหนดอายุจากคำศัพท์ขึ้น คุณฟ่านหงกุ้ยเสนอว่า เมื่อราวสองศตวรรษก่อนคริสตกาล บรรพชนของชนชาติจ้วง, ไต, ไทย ยังดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ในดินแดนแถบ “กุ้ยหลิน” หลังจากนั้นในช่วงหกร้อยปีระหว่างแปดศตวรรษก่อนคริสตกาลถึงสองศตวรรษก่อนคริสตกาล มีกลุ่มหนึ่งแยกเคลื่อนย้ายไปทางสิบสองพันนา แล้วพอถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่สี่ ชาวจ้วงกับชาวไต/ไท ก็ได้แยกกันกลายเป็นคนละชนชาติแล้ว

จากผลการศึกษาวิจัยของคุณฟ่านหงกุ้ยข้าพเจ้าได้ข้อสรุปสองประเด็นดังนี้

๑. ก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น (สองศตวรรษก่อนคริสตกาล) เผ่าจ้วง/ไต/ไท ยังอยู่รวมกัน ดำเนินชีวิตอยู่เหมือนกัน บันทึกประวัติศาสตร์ของจีนเรียกว่า โอวลั่ว 瓯骆族

๒. ช่วงต้นของศตวรรษที่ ๔ ชาวเผ่าจ้วงไท ไต เป็นชนเผ่าที่แยกออกจากกันแล้ว (มีช่วงกระบวนการประมาณ ๗๐๐ ปี)

นอกจากนี้ ยังมีบางคนคิดว่า ไป๋ผู่百濮 ก็คือไป๋เยว่ 百越 เป็นบรรพชนของชนตระกูลภาษา ต้ง-ไถ (ไท-กะได) โดยเชื่อว่า ในยุคตำนานก่อนการก่อกำเนิดชาวหัวเซี่ย คือเมื่อ ๔-๕ พันปีก่อน ชาวเยวี่ยแถบหลิ่งหนาน (ภาคใต้ของจีน) ก็ได้มีการสัมพันธ์ติดต่อกับประมุขของเผ่าหรือสหพันธ์เผ่าในแดนตงง้วนเช่น เหยา”, “สุ้น”, “อี้ว์แล้วมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดซึมซับทางวัฒนธรรมและภาษาระหว่างกันแล้ว ทั้งวัฒนธรรมเยวี่ยกับวัฒนธรรมฉู่ ก็มีความพัวพันกันอย่างชิดใกล้

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com