พระพุทธรูปยืนทวารวดีในภาคกลาง (๑)
พระพุทธรูปหิน ปางประทานพร พบที่เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง ลพบุรี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชมพระพุทธรูปยืนยุคทวารวดี พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน แล้วก็อดขบคิดต่อไม่ได้
นักปราชญ์ท่านสรุปลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปสมัยทวารวดี แบ่งออกเป็น ๓ ยุค คือ
๑. มีลักษณะของอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ บางครั้งก็มีอิทธิพลของอมราวดีอยู่ด้วย ลักษณะวงพักตร์แบบอินเดีย ไม่มีรัศมี จีวรเรียบเหมือนจีวรเปียก พระพุทธรูปนั่งจะขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายลักษณะเด่นของพระพุทธรูปยืนทวารวดียุคต้น ไว้ว่า พระพักตร์กลมป้อม พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐแบะ มีเส้นตรงขอบพระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ติดหนังศรีษะ รุ่นนี้ยังไม่มีรัศมีมีแค่อุษณีษะ (หรือเกตุมาลา) คือ ส่วนของกะโหลกที่นูนขึ้นมาเป็นลักษณะของมหาบุรุษ ทวารวดียังไม่มีรัศมี ในส่วนที่กําหนดว่าเป็นรุ่นแรกก็ดูจากอย่างแรกก็คือใกล้เคียงกับอินเดีย ความใกล้เคียงกับอินเดียมีหลายส่วน เช่นการครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบ ยืนเอียงตนเล็กน้อย ของอินเดียเขาจะยืนเอียงตน ๓ ส่วน ของทวารวดีเหลือแค่ ๒ ส่วนก็คือเหลือส่วนเอวกับต้นขาเท่านั้น ส่วนไหล่ตรงแล้ว แสดงให้เห็นว่าช่างท้องถิ่นไม่ถนัดในการทําสุนทรียศาสตร์แบบอินเดียที่ยืนเอียงตน ๓ ส่วนจึงยืนเอียงตนแค่ ๒ ส่วนเท่านั้นเอง ฉะนั้นสิ่งที่เหมือนอินเดียก็คือ ผ้าห่มคลุม ยืนเอียงตนเล็กน้อย และการแสดงปางที่ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงและก็หงายพระหัตถ์ออกด้านหน้า เป็นการแสดงปางประทานพร รุ่นนี้จะใกล้เคียงกับศิลปะคุปตะของอินเดีย ใกล้เคียงมาก เพราะว่าทวารวดีรุ่นหลังจะไม่ทําปางแบบนี้จะนิยมทําวิตรรกะแบบ ๒ พระหัตถ์ ยืนตรงและวิตรรกะ ๒ พระหัตถ์ ฉะนั้นรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นแรก ๆ ที่ใกล้เคียงกับอินเดีย ก็จะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (สรุปจากเรื่อง “การดูรูปแบบพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ”)
๒. พัฒนาขึ้นจากแบบแรก โดยมีอิทธิพลพื้นเมืองผสมมากขึ้น พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเกตุมาลาเป็นต่อมนูนใหญ่ บางทีมีรัศมีบัวตูมเหนือเกตุมาลา และสั้น พระพักตร์แบนกว้าง พระเนตรโปน พระหนุ (คาง) ป้าน พระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ พระนาสิกป้านใหญ่แบน พระโอษฐ์หนา พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ ยังคงขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
๓. พระพุทธรูปในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร เนื่องจากเขมรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในสมัยเมืองพระนคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในระยะนี้จึงมีอิทธิพลเขมรแบบบาปวนในประเทศไทยเรียกว่าศิลปะลพบุรีปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักยิ้ม นั่งขัดสมาธิราบ เป็นต้น (ข้อมูลจาก “ศิลปะทวารวดี” วิกิพีเดีย)
องค์พระพุทธรูปหินสลัก ทวารวดีรุ่น ๒ อายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๘ สูง ๑.๕ เมตร พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
“ศิรเทพ ๑๑๐๗๘” ยังรู้น้อย เห็นน้อย จึงอยากจะได้เห็น “พระพุทธรูปยืน หินสลัก ยุคทวารวดี” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเปรียบเทียบกับองค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
ลองสืบค้นดูแล้วพบว่า โดยทั่วไปแล้วก็ยอมรับกันว่า พระพุทธรูปยืนองค์ที่พบที่ “เวียงสระ” จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอายุเก่าที่สุดในประเทศไทย คือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (แต่บ้างก็ว่า ช่วงต้น บ้างก็ว่าช่วงปลาย พุทธศตวรรษที่ ๑๑) ตัวเมืองโบราณตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำตาปี เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในเมืองพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปหินทรายประทับยืนในท่าติภังค์ (เอียงตัว) ปางประทานพร พระกรด้านขวาทอดลง แบพระหัตถ์ออก ศิลปะแบบคุปตะ
พิจารณาพระพักตร์แล้ว ก็น่าจะจัดเป็นพระพุทธรูปยืนทวารวดี ในยุคต้น เพราะเห็นร่องรอยใกล้เคียงกับช่างอินเดีย โดยเฉพาะท่าตริภังค์ (เอียงสามส่วน)
ต่อไปก็เลยลองไปเทียบกับพระพุทธรูปยืน ทวารวดี ที่พบแถบราชบุรี องค์ที่เห็นพระพักตร์ชัดเจน คือ
พระพุทธรูปประทับยืน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ พบใกล้วัดเพรงร้าง (วัดโพธิเขียวร้าง) จังหวัดราชบุรี มีจารึกบนหลังพระพุทธรูป เป็นพระคาถา “เย ธมฺมา ฯ” อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุในราวพุทธศตวรรษ ๑๒
เห็นได้ชัดว่า ส่วนพระพักตร์ มีอิทธิพลของช่างท้องถิ่นมากขึ้น ท่ายืนเกือบจะเป็นยืนตรง ไม่เอียง “ติภังค์” แล้ว
สำหรับลักษณะเด่นของพุทธรูปยืน ทวารดี รุ่นต่อมานั้น รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายสรุปได้ว่า พระยืนทวารวดีรุ่นที่ ๒ เป็นอิทธิพลพื้นบ้าน อิทธิพลท้องถิ่น เราพบมากที่สุดรุ่นนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ ดูวิวัฒนาการ อย่างแรกดูจากพระพักตร์ก่อน พระพักตร์เป็นพื้นบ้านแล้ว กลมป้อม พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์แบะ หนา ริมพระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ ติดหนังศรีษะ ยังครองจีวรห่มคลุมอยู่ สิ่งสําคัญก็คือที่บอกแล้วว่า
๑. ช่างทวารวดีไม่ถนัดในการทําตริภังค์ เพราะฉะนั้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมาจะจับพระพุทธรูปยืนตรงหมด
๒. ไม่ถนัดในการทําวิตรรกะแบบอินเดีย ก็เลยเปลี่ยนมาทําวิตรรกะสองพระหัตถ์เน้นความสมดุลสมมาตรกันทั้งหมด ฉะนั้นพระพุทธรูปทวารวดีจะนิยมแสดงวิตรรกะสองพระหัตถ์เสมอกันแบบนี้คือการแสดงธรรม จีบนิ้วพระหัตถ์แบบนี้ และยิ่งท้องถิ่นมากคือการงอนิ้วพระหัตถ์ติด อันนี้อาจจะเป็นเรื่องของเทคนิคของช่างที่ว่าถ้าเหยียดนิ้วแบบนี้มันหักง่าย ช่างก็เลยทํางอพระหัตถ์ติดกันไว้แบบนี้เลย นี่เองที่แสดงให้เห็นความเป็นท้องถิ่นเพราะในศิลปะอื่นจะไม่มี การแสดงวิตรรกะสองพระหัตถ์และก็การงอพระหัตถ์อยู่อย่างนี้ไม่มีในอินเดีย ลังกา พม่า มีเฉพาะทวารวดีเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อทุกอย่างสมมาตร ครองจีวรสมมาตร พระหัตถ์สมมาตรการทําจีวรก็เหมือนกัน จีวรก็เลยจะตกมาทั้ง ๒ ข้างเท่ากัน เราก็เรียกกันง่าย ๆ ว่าจีวรที่ตกลงมาด้านหน้าเป็นรูปโค้งแบบตัว U ของอักษรโรมัน
นี่จะเป็นลักษณะเฉพาะของทวารวดีท้องถิ่น เราเรียกว่าทวารวดีรุ่นที่ ๒
พระพุทธรูปยืนหินสลัก ยุคทวารวดี อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ได้จากแถบลพบุรี สูง ๑.๐๔ เมตร พิพิธภัณฑ์บ้านไทยจิม ทอมป์สันภาพจาก “เขางู” สังเวชนียสถานสมมุติแห่งทุ่งอรัญญิก เขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองราชบุรี
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๙
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต