เรื่องเล่าจากราวตากผ้าของแม่

โลกยุคใหม่ในสภาวะการที่ผันเปลี่ยน หากเราไม่เปลี่ยนตามยุคกระแสแห่งกาลเวลาของโลก โลกก็จะบังคับเปลี่ยนเราเอง… เรียนจบระดับการศึกษาที่สูงแต่ยังมีการตกงาน หรือกำลังจะตกงานในขณะที่เรียนกำลังจะจบการศึกษา หรือมากไปกว่านั้น กลุ่มคนว่างงานเริ่มมีมากขึ้น คือคนที่เคยทำงานมาก่อน เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย สังคมโลกที่นับวันพลิกผันแปรเปลี่ยน จำได้ว่าได้อ่านบทความนี้ผ่านช่องทางสื่อแห่งหนึ่ง ให้ความรู้สึกโดนใจ จึงขออนุญาตนำเนื้อหานี้เข้าสู่บทนำ

เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยน สังคมโลกไร้เส้นแบ่งไร้พรมแดน เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยพลังของเทคโนโลยี เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ยุคสังคมสูงวัยที่สังคมไทยกำลังเผชิญและเตรียมรับสถานการณ์ที่กำลังก้าวเข้ามา… ช่องทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีทางเลือกเพื่อทางรอดของการดำรงชีวิตและทางลัดของการพัฒนา เป้าหมายคือความเป็นอยู่ที่เป็นสุขและยั่งยืนบนพื้นฐานแห่งความพอเพียงพออยู่พอกิน

การสร้างกระแสอนุรักษ์นิยม อนุรักษ์วิถีชีวิตแบบไทย ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกินเมนูเด็ดบ้าน ๆ อาหารเลิศรสจากครัวดินบ้านทุ่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ แลกเปลี่ยนแนวความคิด เผื่อคิดได้คิดเป็น เป็นอยู่แบบไม่พึ่งพา เน้นเพิ่งตนเองแบบยั่งยืน  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างทางเลือกในแบบวิถีการดำเนินชีวิตที่นำพาชีวิตที่อยู่รอดและปลอดภัยท่ามกลางกระแสโลกที่พลิกผัน และผันผวนอยู่ตลอดเวลา

การปลุกกระแสนิยมไทย รักษ์ไทย สานสืบหัตถกรรมงานศิลป์  รักษาคุณค่าภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สานสืบงานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีในชุมชน พัฒนาเป็นอาชีพสร้างรายได้ ส่งเสริมความเป็นอยู่แบบย้อนยุค ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมวัฒนธรรมนำพาเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน การกระตุ้นความพอเพียง ลดรายจ่าย อุดรูรั่ว สร้างเสริมงานสร้างรายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เน้นสุขภาพชุมชน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ประหยัด มัธยัสถ์ ยอมอดเพื่อออม ประกันแผนชีวิตไว้ในวันข้างหน้า

งานเขียนชิ้นนี้ เกิดแรงบันดาลใจจากการนั่งมองราวตากผ้าหลังบ้านของแม่ผู้เขียนเอง ราวตากผ้าที่ทำขึ้นแบบใช้ลำไม้ไผ่ไม่เล็กไม่ใหญ่เหมาะที่จะทำราวใช้ตากเสื้อผ้าแพรพรรณเพื่อให้ถูกแสงแดด ทำให้เกิดความคิดจินตนาการถึงเรื่องราวของเสื้อผ้าแพรพรรณที่ตากบนราวตากผ้าล้วนแล้วแต่เป็นผ้าที่แม่ทอเองแล้วตัดเย็บโดยช่างในหมู่บ้านเพื่อให้คนในครอบครัวได้ใช้สอยกันในครัวเรือนวันแล้ววันเล่าการไม่มองแค่ผ่านไป การได้นั่งมองอะไรนาน ๆ แบบพินิจพิเคราะห์ ทำให้เกิดความคิดจินตนาการ แรงบันดาลใจในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับโครงการท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลายรูปแบบ ที่กำลังไหลลงสู่ชุมชนชนบทตามแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจชาติ เน้นบทบาทพัฒนาชุมชนเป็นหลัก  การสร้างรายได้ให้เกิดกับชุมชนโดยผ่านการท่องเที่ยวเป็นจุดขาย จึงทำให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบหลากหลายประเภทขึ้นในชุมชนชนบท เน้น ๆ คือเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายในสังคมชนบท เรียนรู้หัตถกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ การจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรียนรู้ ประสบการณ์ แปลกใหม่โดยยึดที่พักค้างคืนเป็นศูนย์กลาง คือ บ้านพักโฮมสเตย์

ทัศนะของผู้เขียน อาจเป็นเพราะอายุที่เพิ่มขึ้น ผ่านชีวิตมามากมาย ความสุข-ความทุกข์ ล้วนเป็นรสชาติแห่งชีวิต ความสุขบนพื้นฐานชีวิตในชนบทที่กล่อมเกลาหล่อหลอมชีวิตทำให้ ไม่เร่งรีบแข่งกับเวลาแข่งกับคนอื่น ไม่กังวลกับเรื่องของอนาคตที่มายังไม่ถึง ในสังคมชนบท มีบ้านเป็นของตนเอง ทำมาหากินบนที่ทำกินที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น เหยียบย่ำคลุกกรุ่นไอดินกลิ่นทรายตลอดเกือบค่อนชีวิต การดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายช่างมีเสน่ห์ ไม่มีแบบแผนชีวิตที่ตายตัว อิสระด้านความคิด วิถีเรียบง่าย แม้นจนเงินต่ำต้อยการศึกษา ความเป็นอยู่ไม่เลิศหรูสะดวกสบาย แต่ร่ำรวยด้วยความสุข การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมสังคมวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีกรอบประเพณีให้ประพฤติปฏิบัติ (ฮีตบ้าน คองเมือง) บัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรมชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในการก่อเกิดครอบครัว มีการเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวผู้ไท

การทำผ้านุ่งห่มใช้เองโดยอาศัยวัตถุดิบในชุมชน เช่น ผ้าฝ้ายเข็นมือของชาวผู้ไทในสมัยโบราณ ถือเป็นงานหลักในครอบครัว ที่ขัดเกลาจิตให้ลูกหลานได้สืบสานผ่านวิถีที่เรียบง่าย  งานทอผ้าที่จำเป็นต้องมีในกิจวัตรประจำวันในครอบครัวของชาวผู้ไทมาแต่บรรพบุรุษ  การเย็บเสื้อด้วยมือ การด้นผ้าแบบหลากหลายวิธี ความสามารถในการทำผ้านุ่งผ้าห่มของชาวผู้ไท หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่แปรรูปแบบทำมือ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า แพรพรรณ ผ้าห่ม หมอนหนุน ถุงสะพายย่าม ฯลฯ เหล่านี้นับเป็นแฟชั่นสุดฮอต สุดฮิต ในยุคปัจจุบัน  และยังสร้างงานสร้างรายได้เข้าครอบครัวชุมชน เกือบเรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของบางครอบครัวไปแล้วก็มี

การออกแบบผสมผสานสไตล์พื้นบ้าน แบบเก๋ไก๋ งดงามไม่เชย ของชาวผู้ไท ไม่ว่าจะหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนสนองแผนนโยบายของรัฐ  ต่างให้การสนับสนุนให้มีการแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง สไตล์พื้นถิ่นของตนเอง  จากนโยบายดังกล่าว  ผ้าทอมือจากกี่ไม้ธรรมดาภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยช่างไม้ที่ไม่ต้องมีฝีไม้ลายมือมากหนักก็สามารถสร้างกี่ขึ้นมาเป็นหลังให้ช่างทอที่มากด้วยประการการณ์แต่เยาว์วัย สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวได้

ล้อฝ้ายเตรียมเข็นมือ จากฝ้ายกลายเป็นเส้น

เสื้อหมอบคอลายผู้ไท

“แม่ญิ่ง มะติ่งทับซ้าย ผู้ชาย มะติ่งทับขวา ผู้ฮั่งเซอมะติ่งเงิน สายพี่สายน้อง เอาไว้ มัดไส้แฮ”

ความหมาย : เสื้อหมอบของชาวผู้ไทจะมีลักษณะที่โดดเด่นสังเกตง่าย คือ เสื้อผู้หญิงกระดุมเสื้อจะทับช้าย เสื้อผู้ชายกระดุมจะทับด้านขาว ผู้ที่มีฐานะจะสวมใส่เสื้อหมอบที่ติดกระดุมเงิน หรือสตางค์ ส่วนสายยอยที่ติดบนสาบชายเสื้อมีไว้สำหรับมัดไส้แฮ (หมายถึง ผู้หญิงชาวผู้ไทสมัยก่อนอาชีพหลักคือทำการเกษตรกรรมอยู่ท่ามกลางดงกลางป่า เวลาคลอดลูกเองไม่มีหมอตำแย เส้นร้อยไหมหรือเส้นสายพี่สายน้องที่ร้อยเป็นสายใยไว้ที่ชายเสื้อหมอบทุกตัวนั้น มีไว้สำหรับเตรีมความพร้อมในการมัดสายสะดือ หรือภาษาผู้ไทเรียกไส้แฮนั้นเอง แล้วตัดสายรกหรือไส้แฮด้วยไม้ไผ่กระแสน) นี้คือที่มาของสายยอยหรือสายพี่สายน้องบนสาบเสื้อหมอบผู้ไท

“เซ้อหมอบ” หรือ “เสื้อหมอบ” เป็นเครื่องนุ่งห่มของชาติพันธุ์ผู้ไท  ซึ่งปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในชุมชนชาวผู้ไทแถบอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และเขตอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร วัฒนธรรมการแต่งกายจะมีลักษณะแตกต่างจากชาติพันธุ์ลาวอีสาน ญ้อ เขมร อื่น ๆ ซึ่งไม่พบในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องแต่งกายของชาวผู้ไทที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบางถิ่นของชาวผู้ไทแถบดังกล่าว

ปัจจุบันสามารถซื้อหาเป็นเจ้าของได้เมื่อมีเงิน หรือตัดเย็บเอง ราคาค่อนข้างสูงเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน รวมถึงผืนผ้าที่ทำจากเส้นฝ้ายธรรมชาติ แล้วนำมามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ สู่กระบวนการตัดเย็บด้วยมือล้วน แม้นจะหลงลืมถึงความเป็นตัวตนรากเหง้าทางเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไปบ้างเพื่อสนองความต้องการของตลาดลูกค้า แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์

สิ่งที่ดีงามของชุมชนพื้นถิ่น  สิ่งล้ำค่าภูมิปัญญาชุมชนควรแก่อนุรักษ์และอนุรักษ์ให้ถูกต้อง ตามพื้นฐานรากเหง้าของตนเอง ชาติพันธุ์ลาวอีสาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน ก็ควรอนุรักษ์การแต่งกายของตัวเองเพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลาน รวมถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ในทัศนะของผู้เขียนการแต่งกายของชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบัน เห็นเขามีเขาได้อยากได้ตามเขา นำแฟชั่น ดูเหมือนไร้คุณค่าทางจิตวิญญาณ ดูถูกรากเหง้าเผ่าพันธุ์ตนเอง การอนุรักษ์เอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมการแต่งกายของชุมชน ชาติพันธุ์ตัวเองให้คงอยู่ การแต่งกาย ผ้าแพร ภาษา ซึ่งไม่ใช่ของสะสม หากแต่เป็นตัวบ่งชี้ตัวตน การคงอยู่ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามของบรรพบุรุษ ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นการแสดงให้เห็นถึงสติปัญญา และความสามารถในกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท

หวังไว้อย่างลึก ๆ ว่าคงเข้าใจในทัศนะของผู้เขียน ไม่อยากให้มีการลอกเลียนแบบ หรืออย่าดัดแปลงจนทำให้สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ตัวตน

ภูมิปัญญาช่างทอชีวิตสร้างรายได้ให้ครอบครัวชุมชนชาวผู้ไทเสื้อหมอบคอลายผู้ไทกระแตบ ที่ตัดเย็บด้วยมือล้วน ปัจจุบันนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นแบบเสื้อผู้ไททรงโบราณ

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๙
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

เฮ็ดกิ๋นแซบ
การเมืองเรื่องส่วยในภาคอีสาน
ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com