วัดริมทะเล วิหารบนหินผา และหัวใจในอากาศ

โลกมีเพียงใบเดียว มนุษย์กำเนิดจากรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกัน

หากเมื่อแผ่นดินถูกขีดเส้นแบ่ง สำนึกถูกครอบงำด้วยอวิชชาและความโลภ

นับจากนั้นมา… โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ยามเกิดสงครามไล่ล่า บางประเทศประกาศกร้าว กำหนดบทบาทในฐานะผู้รุกไล่

หากทว่า, บางขณะตนเองก็ตกเป็นเหยื่อทัณฑ์

เวลานั้นมีทางเลือกไม่มากนักสำหรับผู้คนบนสายพานสงคราม

หนึ่งคือลุกขึ้นสู้ สองคือยอมจำนน และสามคือหลีกหนีเพื่อก่อกำเนิดใหม่

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ “บาหลี” ในอดีต เลือกหนทางที่สาม…

ระลอกคลื่นฟูฟ่องเหมือนเกลียวสาดซัดเป็นแนวขาวยาวเหยียดบนหาดทรายสีนิลนามหาดจังกู เบื้องบนพระอาทิตย์กำลังอัสดงแผดสีหมากสุกค่อย ๆ ระบายแผ่นฟ้าไล่โทนอ่อนเข้ม ผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศต่างยืนทอดสายตาสุขดื่มด่ำใน ปูรา ตานะห์ ล็อต (Pura Tanah Lot) วัดฮินดูริมทะเลสุดโด่งดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนใต้ของเกาะบาหลี

ฟากหนึ่งของมุมฟ้า บรรดาเถาไม้เลื้อยเหมือนจะโอบรัดวิหารสีดำโดดเดี่ยวตั้งเด่นบนแท่นหินซึ่งถูกคลื่นและกาลเวลากัดเซาะ บอกเล่าเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างคะนึงอึงอลในเงียบงัน

แบกี เพื่อนหนุ่มร่วมทางเดินหามุมวางขากล้องเพื่อบันทึกบรรยากาศยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ขณะข้าพเจ้าเดินสังเกตการณ์และซึมซับอารมณ์ผู้คนมากมายที่สวนกันไปมา บ้างจับกลุ่มตามมุมตามเหลี่ยมที่สามารถทัศนาวิวทิวทัศน์ได้อย่างเต็มตาเต็มใจ ชะโงกจากหน้าผาลงไปบนหาดทราย ชายหญิงคู่หนึ่งในชุดวิวาห์กำลังทำท่าทางประกอบตามคำสั่งของช่างภาพ

มองภาพผู้คนยุคปัจจุบันแล้ว คงยากที่จะจินตนาการได้ถึงอดีต ภาพ “มนต์เสน่ห์บาหลี” ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเวลานี้ ทำให้มีมวลคำถามมากมายลอยล่องมาถึงอัตลักษณ์เด่นของคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ศรัทธาความเชื่อ สืบทอดต่อๆ กันมาได้อย่างเหนียวแน่น


“อะไรคือมูลเหตุหรือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นฮินดู-บาหลี สามารถธำรงรักษาอยู่ได้ท่ามกลางพายุความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว” 

กล่าวกันว่า เมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล กลุ่มชนแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะบาหลี คือ “ชาวออสโตรเนเชียน” ก่อนก้าวข้ามยุคหม้อดินเผาและชามยุคต้น สู่ยุคศิลปะทองแดง ที่มีการใช้กลองและขวานโลหะสัมฤทธิ์ในพิธีกรรม และการคืบคลานเข้ามาของอาณาจักรแบบอินเดียห้วงปี ค.ศ.๔๐๐ เมื่ออาณาจักรฮินดูถือกำเนิดขึ้นบริเวณพื้นที่เกาะชวาฝั่งตะวันตกและกาลิมันตันด้านตะวันออก (บอร์เนียว) กระทั่ง ค.ศ.๙๑๐ ศูนย์กลางอำนาจบนเกาะชวาได้เคลื่อนเข้าพื้นที่ตอนกลางของเกาะ ขณะที่บาหลีนับเป็นยุคถือกำเนิดสำคัญของ “อาณาจักรพุทธ”

จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ ไอร์ลังกา โอรสราชาบาหลีและมเหสีชวา ขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรชวาตะวันออกราว ค.ศ.๑๐๐๐  ส่วน ชาอานะก์ วุงซู พระอนุชา ก้าวขึ้นปกครองบาหลีซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาณาจักรอิสระเมื่อเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันในชวาตะวันออก แต่ในที่สุดก็ถูกรุกรานอีกครั้งโดยอาณาจักรสิงหส่าหรีของ เกน อาโระก์ จากชวาตะวันออกใน ค.ศ.๑๒๘๔

ต้องรออีก ๘ ปีต่อมาถึงได้กลับคืนสู่อิสรภาพ เมื่ออาณาจักรสิงหส่าหรีถูกโจมตีโดยกองทัพเรือของกุบไลข่าน

บาหลี ถูกรุกรานอีกครั้ง ค.ศ.๑๓๔๓ โดยแม่ทัพกาจะห์ มาดา แห่งมัชปาหิตในชวาตะวันออก ก่อตั้งโดยเจ้าชายวิชายา ค.ศ.๑๒๙๓ ก่อนที่จะกำเนิดอาณาจักรเกลเกลที่สามารถรวมบาหลีเป็นปึกแผ่นได้ใน ค.ศ.๑๓๘๓

ค.ศ.๑๔๒๙ อาณาจักรอิสลามของสุลต่านแห่งมะละกา เข้าควบคุมบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียตะวันตก ก่อนจะค่อย ๆ แผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลามครอบคลุมเกาะชวา นำไปสู่การอพยพของชนชวาชั้นสูงที่นับถือศาสนาฮินดูสู่เกาะบาหลีในยุคต้นศตวรรษที่ ๑๖

เพราะมีหัวใจในอากาศ และความรักล้นหัวใจ เมื่อศาสนาอิสลามเริ่มควบคุมพื้นที่บนเกาะชวา แทนที่จะเลือกต่อสู้ซึ่งย่อมนำความตายสู่ผู้คนอีกมากมายทั้ง ๒ ฝ่าย ชาวฮินดูกลับเลือกที่จะเดินทางรอนแรมผ่านทะเลข้ามเกาะจากชวาสู่บาหลี

ระหว่างนั้นเองที่ ดังห์ยัง นิราร์ตา นักบวชพราหมณ์หนึ่งในผู้อพยพ เห็นลำแสงพวยพุ่งมาจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะรูปหัวใจ จึงตัดสินใจเดินทางไปพำนักตั้งจิตเจริญสมาธิ ณ ที่แห่งนั้น และเมื่อนักบวชท้องถิ่นเกิดความโกรธเกรี้ยวต่อต้านเนื่องจากต้องสูญเสียศรัทธาจากเหล่าสานุศิษย์ให้แก่นักบวชพราหมณ์ แทนที่จะเกิดศึกปะทะ นิราร์ตา กลับเลือกย้ายสถานที่บำเพ็ญเพียรจากผืนดินไปสู่เกาะเล็ก ๆ กลางมหาสมุทร ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า ตานะห์ โลต หรือ “ดินแดนในทะเล” อันเป็นจุดกำเนิดของการสร้าง ปูรา ตานะห์ โลต พร้อมกับตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับอสรพิษศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากผ้าคาดเอวของนิราร์ตาที่ถูกโยนลงสู่คลื่นสมุทร กลายเป็นอสรพิษผู้พิทักษ์วัดและป้องกันไม่ให้พลังแห่งความชั่วร้ายเข้ากล้ำกราย

จาก “สุมาตรา” ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิจัย-จัมบี จุดกำเนิด “โลกมลายู” ข้าพเจ้าตัดสินใจเดินทางผ่านอดีตข้ามเกาะแก่งเพื่อสัมผัส “บาหลี”

เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่จะเลือกที่พักในเมืองอูบุด แทนที่จะเป็นเมืองหลักคือ เดนปาซาร์ ทางตอนใต้ของเกาะซึ่งตั้งอยู่ใกล้สนามบินด้วย เพราะก่อนจะเดินทางสู่อินโดนีเซียครั้งนี้ ข้าพเจ้าศึกษาข้อมูลและกำหนดแผนการเดินทางไว้มากพอควร ด้วยมีโจทย์มากมายเกี่ยวข้องกับผู้คนและประวัติศาสตร์ที่อยากไปสัมผัสหรือเห็นด้วยตาตนเองสักครั้ง อย่างน้อยเพื่อปะติดปะต่อภาพอดีตกับภาพปัจจุบันให้เห็นความสืบเนื่องและชัดเจนขึ้น สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก

หากทว่าบนเกาะบาหลีซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะชวา เกาะหลักของอินโดนีเซีย มีขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตประมาณ 10 เท่า ผู้คนส่วนใหญ่กลับนับถือ “ศาสนาฮินดู” กันแทบทั้งเกาะ มีวัดฮินดูซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า ปุระ (Pura) ปรากฏอยู่ทั่วไป


วัดสำคัญแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลีที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเยือนมีนามว่า Tanoh Lot เปรียบเสมือนเป็นวัดสัญลักษณ์ของเกาะบาหลี มีจุดเด่นคือวิหารที่สร้างอยู่บนโขดหินริมทะเล เมื่อถึงช่วงน้ำขึ้นก็จะกลายสภาพเป็นเกาะ แต่เมื่อน้ำลงสามารถเดินไปดูได้ รวมถึง Pura Ulan Danu Bratan วัดสำคัญอันดับ ๒ ของบาหลี ตั้งอยู่ริมทะเลสาบ Bratan ใกล้หมู่บ้าน Kintamani และปากปล่องภูเขาไฟ Batur มีเจดีย์อยู่ติดน้ำ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทวีแห่งน้ำ เห็น “โดมมัสยิด” เนื่องในศาสนาอิสลามตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นภาพซ้อน และ Taman Ayun วัดใหญ่อีกแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี โดดเด่นเรื่องเจดีย์สูงรายเรียงจำนวนมาก

เพียงเสียดายว่าไปบาหลีคราวนี้ ไม่มีโอกาสได้ไป Pura Besakih วัดหลวงของเกาะบาหลีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาไฟอากุง (Agung) ภูเขาไฟที่สูงที่สุดของบาหลี

“เดวา” ผู้มีหัวใจสีทอง ทำหน้าที่สารถีให้ข้าพเจ้าและเพื่อนหนุ่ม พาตระเวนไปชมการแสดงระบำบารองแดนซ์ Barong Dance ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวบาหลี ณ โรงละคร Budaya Batubulan การต่อสู้ระหว่างปีศาจชั่วร้ายและความดี โดย “บารอง” ซึ่งเป็นสัตว์แห่งโบราณนิยายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความดี” และ “รังคา” สัตว์ประหลาดแห่งโบราณนิยาย เป็นตัวแทนของ “ปีศาจอันชั่วร้าย” มีการแจกแผ่นพับหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย เพื่อบอกเล่าเนื้อหาของการแสดงโดยย่อในแต่ละฉาก ทำให้คนดูเข้าใจและสนุกมากขึ้น

ถึงที่สุดแล้วโลกไม่ได้กว้างและยิ่งใหญ่อย่างที่เข้าใจ เป้าหมายหลักในใจที่ข้าพเจ้าตัดสินใจดั้นด้นเดินทางไป “บาหลี” รวมถึง “หุบบูจัง” ที่เคดะห์ ประเทศมาเลเซีย หรือมักหาเวลาไปสัมผัส “เมืองโบราณยะรัง” จ.ปัตตานี ก็เพื่อปะติดปะต่อภาพและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “อารยธรรมอินเดีย” ที่ไหลบ่าสู่พื้นที่แถบนี้

นั่นรวมถึงอดีตของ “อาณาจักรศรีวิชัย” และ “จัมบี” ซึ่งอาบท้นไปด้วยร่องรอยอารยธรรมอินเดีย ผ่านสายธารความเชื่อความศรัทธาของ “พุทธศาสนา” และ “ฮินดู-พราหมณ์” ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของ “โลกอิสลาม” เช่นทุกวันนี้


บรรยากาศโดยรอบมืดหม่นมากขึ้นเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปนานเวลาแล้ว

จาก ปูรา ตานะห์ โลต เรา ๓ คน คนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ คนหนึ่งเป็นอิสลาม และอีกคนฮินดู นั่งอยู่ในรถคันเดียวกันขณะกำลังคืบคลานจากถนนเส้นเล็กเส้นน้อยจนแล่นไปสู่ท้องถนนหลัก

ต่างทอดสายตามองไปในความมืด ณ ขณะเวลาหนึ่งนั้นที่ภาพชีวิตผู้คนรายทางต่างเคลื่อนไหวผ่านไปอย่างแช่มช้า

Related Posts

ปรากฏการณ์ภาษาอีสาน
ฝูงซอมบี้ ฟุตปาธ ชะตากรรม
แซ่บนัว หัวม่วน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com