กาลอันล่วงเลยมาสามารถกำหนดช่วงเวลา กำหนดวัน กำหนดเดือน กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้ และสามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกภิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย
ในสมัยปฐมกาลประมาณปีพุทธศตวรรษที่ ๑ คราวที่พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนต่าง ๆ ของโลกประมาณในช่วง พ.ศ.๕๑ ความเชื่อเรื่องผีตาแฮก เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานที่เชื่อกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นผีปู่ตาที่เป็นเครือญาติ เมื่อตายไปแล้วไม่ได้ไปไหนจะไปอาศัยอยู่ตามท้องไร่ทุ่งนาของตนเอง มีหน้าที่คอยดูแลพืชข้าวกล้าและปูปลากบเขียดไว้ให้ลูกหลาน อีกทั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ เป็นผู้ดูแลแทนเจ้าแม่โพสพ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนอะไรแก้ไขไม่ไหวก็จะไปบอกเจ้าแม่โพสพ ซึ่งถือว่าเป็นเทพแห่งข้าวเป็นเทวดาแห่งท้องไร่ทุ่งนา
ในอดีตกาลที่นานมาแล้ว มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งตั้งอยู่ไกลจากตัวเมือง ในหมู่บ้านนี้ยังมีครอบครัวหนึ่งมีลูกสาวคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อโตเป็นสาวแล้ว ผู้เป็นพ่อกับแม่จึงให้แต่งงานกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน ภายหลังแต่งงานได้เอาลูกเขยมาอยู่ที่บ้านด้วย แต่ลูกเขยคนนี้เป็นคนหัวสมัยใหม่ ไม่ค่อยจะเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจที่บรรพบุรุษเคารพนับถือมา หาว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระไม่ก่อเกิดประโยชน์อย่างใดเลย แต่ความเห็นดังกล่าวนี้เป็นความเห็นส่วนตัวจะบังเอิญหรือเปล่าไม่รู้ พ่อตากับแม่ยายเขามีความเคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้มาก เมื่อมีลูกเขยคนเดียว เวลามีงานด้านความเชื่อ หากมีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ก็จะให้ลูกเขยช่วยเสมอ ๆ แต่เจ้าลูกเขยก็ทำไปอย่างนั้นเพราะไม่อยากขัดใจพ่อตากับแม่ยาย
ในปีนั้นเองเป็นฤดูกาลลงนา เมื่อฝนฟ้าตกลงมา พ่อตากับแม่ยายได้ให้ลูกเขยคนนี้นำข้าวปลาอาหารไปให้ผีตาแฮกกินก่อนจะปักไถ เป็นพิธีกรรมแรกนาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญถ้าไม่ทำเชื่อว่า ข้าวในนาจะไม่งาม ให้ผลไม่ดี แล้วพ่อตาจึงชี้แจงพิธีการขั้นตอนการแรกนาว่า “ก่อนจะลงนานะลูก ให้นำไถไปไถ ๑ รอบก่อน แล้วค่อยเลี้ยงผีตาแฮก จากนั้นนำข้าวกล้าลงปักดำจำนวน ๘ ต้น หรือ ๘ ก่อก่อน ลูกอย่าลืมนะ…!”
แล้วแม่ยายพูดเสริมขึ้นว่า “ในขณะที่ลูกกำลังปักดำข้าวแต่ละต้นให้กล่าวเบา ๆ ด้วยนะ ปักกกนี้พุทธรักษา ปักกกนี้ธรรมะรักษา ปักกกนี้สังฆรักษา ปักกกนี้เพิ่นเสียให้กูได้ ปักกกนี้เพิ่นไฮ้ให้กูมี ปักกกนี้ให้ได้หมื่นมาเยีย ปักกกนี้ให้ได้หมื่นเยียพันเล้า ปักกกนี้ขวัญข้าวให้มาโฮม อย่าลืมนะลูก…!”
พ่อตากล่าวต่ออีกว่า “อีกอย่างลูก…บรรพบุรุษเราถ้าจะปลูกพืชที่มีผลให้มีผลดกมาก ให้ทำในวันพฤหัสบดีนะลูกถือว่าเป็นวันสำคัญในการแฮกนา โดยบรรพบุรุษถือคติว่า พฤหัสบดี หมากแต่เค้าเถิงปลาย”
จะเห็นได้ว่า ต้นข้าวในนาแต่ละต้นมีความหมายเป็นตัวแทนต้นข้าวในท้องนาทั้งหมด บรรพบุรุษเชื่อว่า ข้าวในท้องนาจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่ข้าวกล้าที่ปักดำแฮกไว้นั้น และเชื่อว่า นาตาแฮกนั้นจะรักษาไม่ให้วัวควายเข้ากิน หนอนและแมลงต่าง ๆ ไม่ให้ทำร้ายย่ำยีข้าวได้
เมื่อลูกเขยได้ยินเช่นนั้น ไม่มีคติความเชื่อที่เห็นด้วยกับพ่อตาแม่ยาย จึงได้นำอาหารที่จะทำพิธีนั้นเททิ้งในระหว่างทางไปนา แต่ก็ไปทำนาตามปกติเหมือนกับว่าได้ดำเนินการแล้ว เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนการปักดำเสร็จจนกระทั่งข้าวในนาเติบโตขึ้นงามขึ้นเหมือนของชาวนาโดยทั่วไป
อยู่มาวันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ปรากฏว่าข้าวในนาถูกถอนทิ้งเป็นจำนวนมากมายลอยเป็นแพอยู่ตามน้ำนั้น ๆ ค้นหาร่องรอยผู้กระทำก็ไม่พบ พ่อตาจึงเกิดสงสัยคิดว่า “ใครมากลั่นแกล้งกันแน่…จะต้องหาตัวคนผิดให้ได้…” จึงได้ออกเที่ยวสืบถามใคร ๆ ก็ไม่ได้เรื่อง ไม่มีใครรู้ และได้มานอนเฝ้าดูในเวลากลางวันก็ไม่เจอ แต่พอตกตอนกลางคืนวันนั้นเองจึงไปแอบซุ่มดูอีกว่า เมื่อกลางวันไม่พบ เวลานี้ได้มีใครมาถอนต้นข้าวอีกไหม เมื่อคิดได้ดังนี้จึงได้คอยอยู่จนกระทั่งถึงเที่ยงคืนเศษ เวลานั้นเองได้ปรากฏเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของร่างชายฉกรรจ์คนหนึ่งกำลังถอนต้นข้าวอยู่ทุ่งนา
เมื่อพ่อตาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงแอบคลานเข้าไปดูใกล้ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นใคร เมื่อขยับเข้าใกล้แล้วได้ยินเสียงชายฉกรรจ์ดังกล่าวได้ถอนต้นข้าวไปพร้อมกับบ่นพึมพำไปว่า “ไอ้เจ้าเขยใหม่มันไม่ยอมเอาข้าวมาให้กูกิน มันไม่ยอมเชื่อพ่อตามันกูจะต้องลงโทษให้มันรู้ว่าเราเป็นใคร มันข้ามหัวเราจะถอนข้าวมันให้หมดเลย”
หลังจากขยับเข้าใกล้พร้อมทั้งเงี่ยหูฟังเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้นว่า “นี่มันเป็นเสียงของใครกันแน่…?” เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน และได้ยินเสียงบ่นอีกต่อไปว่า “ทำไมมันไม่มานาตอนกลางคืนนะ…! หากเห็นมันเวลานี้กูจะหักคอมันทิ้งทันที มันไม่มีความกตัญญูบรรพบุรุษเอาเสียเลย ถึงเวลาจะได้กินกูไม่ได้กิน นี่มันไม่ได้เคารพนับถือกูแล้ว กูจะทำลายมันอย่าให้กูเห็นก็แล้วกัน…!” เมื่อขยับเข้าใกล้และได้เห็นชัดเจนดังกล่าว จึงมีความมั่นใจได้ว่า ชายฉกรรจ์นั้นเป็นผีตาแฮกแน่นอนจึงได้รีบเดินทางกลับบ้าน
พอรุ่งเช้าวันต่อมาจึงได้เรียกลูกเขยมาหาแล้วได้เล่าเหตุการณ์เมื่อคืนให้ฟัง พ่อตาจึงได้ถามเค้นเอาความจริงจากลูกเขยว่า “ลูกไปทำผิดอะไรหรือเปล่า…? ทำไมจึงได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ เพราะทุกปีที่ผ่านมาไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย ลูกได้ทำพิธีกรรมตามที่พ่อกับแม่บอกไว้ไหมล่ะ… ให้บอกมาตามจริงเพราะลูกเป็นคนทำนาเอง”
ด้วยความไม่เชื่อเรื่องผีสางเทวดาและด้วยเกรงใจพ่อตา จึงนิ่งเสียไม่ยอมพูดแต่อย่างไร เพียงแต่ส่ายหัวบอกปฏิเสธ ฝ่ายพ่อตาจึงพูดตัดบทไปอีกว่า “ถ้าลูกไม่พูดความจริงให้พ่อฟัง ผีตาแฮกจะมาเอาชีวิตลูกนะ…! หรือจะไล่ออกจากบ้านไปอยู่ทุ่งนาเดี๋ยวนี้”
ฝ่ายลูกสาวที่นั่งฟังและดูเหตุการณ์อยู่ใกล้ ๆ เลยพูดกับสามีว่า “พูดความจริงเถอะพี่จ๋า…พี่ไปทำผิดอะไรไว้มีทางออกนะพี่ พ่อและผีตาแฮกให้อภัยได้นะ เพราะผีก็เป็นญาติเราเช่นกัน” พอภรรยาพูดอย่างนั้นแล้วก็เกิดใจอ่อน และจะได้มีข้าวกินในวันข้างหน้าจึงได้เล่าความจริงให้ฟังทั้งหมดว่า “ลูกไม่ได้ทำพิธีกรรมใด ๆ ก่อนจะลงนาตามที่พ่อกับแม่บอกไว้ ไม่ได้นำข้าวไปเลี้ยงผีตาแฮกเลย มิหนำซ้ำเขายังเคยพูดลบหลู่อยู่หลายครั้ง
เมื่อพ่อตาได้ฟังลูกเขยเล่าความจริงเช่นนั้น จึงได้จัดแจงนำข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงตาแฮกใหม่ และขอขมาการกระทำล่วงละเมิดให้เป็นไปตามทำเนียมประเพณีบรรพบุรุษ โดยอาศัยพ่อกะจ้ำ (ผู้นำทางผี) เป็นผู้พาทำพิธีแก้ไขในครั้งนั้น ให้ทำบ้านหลังเล็ก ๆ ให้อยู่ด้วย (ศาล) ต่อมาลูกเขยจึงได้แสดงความเคารพต่อผีตาแฮก และได้เปลี่ยนแปลงคติความเชื่อถือใหม่ และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ชาวบ้านต่างเล่าลือถึงความเป็นไปการสร้างบ้านหลังเล็กและการเลี้ยงผีตาแฮก ต่างก็พากันปฏิบัติมาเหมือน ๆ กันอย่างไม่เสื่อมคลายจวบจนถึงกาลปัจจุบันนี้ (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “ผีตาแฮก”)
นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิดเรื่องคติความเชื่อเรื่องผีตาแฮกชาวอีสาน จะให้ความสำคัญมาก จะทำบ้านหลังเล็ก ๆ ให้ผีตาแฮกอยู่ตามทุ่งนา นิยมทำไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือบริเวณจอมปลวกหรือคันนาใหญ่ ๆ ก็ได้ หรือที่ใดจะขลังคิดว่าผีอยู่ได้จะนิยมทำให้อยู่ที่นั้น ก่อนจะลงนาทุกครั้งได้นำข้าวปลาอาหารคาวหวานไปเลี้ยงผีตาแฮก เชื่อว่า ข้าวในนาปลาในหนองจะปลอดภัยเจริญงอกงามสมบูรณ์ดี จะเลี้ยงทุกปีโดยเฉพาะในช่วงบุญข้าวสาก (บุญกระยาสารท) จะเลี้ยงมากเป็นพิเศษ จะต้องทำทีเป็นว่าหาบไปจะถือหรือหิ้วไม่ได้ จะต้องหาบจึงดูเหมือนมากและแสดงความเอาใจใส่ เชื่อว่าผีตาแฮกจะใจดีจะได้ช่วยเหลือทำให้ข้าวกล้า ปูปลา กบเขียดในนาอุดมสมบูรณ์ และอีกอย่างเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อสถานที่หรือต่อธรรมชาติ อันเป็นความฉลาดของบรรพบุรุษที่มีต่อธรรมชาติ
ขอบคุณภาพจาก /https://www.horrorism.co/inside-content/54/