ที่มาของคำ “กระซิบรักบันลือโลก” จิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ น่าน
ข้อความในเฟชบุ๊กโดย: Teeraparb Lohitkun
ภาพและข้อความส่วนต้น: Somjate Wimolkasem
# อ.สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน กรุณาโพสต์ไว้ในเพจ Somjate Wimolkasem เมื่อ 15 พ.ค.2558 ว่า…
1.
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” จิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ภาพนี้ เป็นสุดยอดของภาพเขียนในยุคร้อยกว่าปีที่ผ่านมา คงไม่มีคำพูดใดๆ จะกล่าวชื่นชมได้เหมาะสม ทั้งในแง่งามของสุนทรียศาสตร์ ความสมดุล อารมณ์ เฉดสี พลังที่กระแทกใจผู้ชม สรุปคำและความแล้ว ผมมักจะเรียกรวมด้วยความเคารพช่างเขียนท่านนี้ว่า “เจริญทัศน์” นักหนา
2.
นักเขียนสารคดีที่ผมเคารพและชื่นชมในคมงามของท่าน คือ อ.ธีรภาพ โลหิตกุล หลังจากฟังผมบรรยายและสอดแทรกโวหารที่เรียกว่า “นารีปราโมทย์” ให้ฟัง ท่านกลับไปเขียนบทความและให้เกียรติภาพนี้ว่า “กระซิบรักบันลือโลก”
3.
คุณูปการของภาพนี้ที่มีต่อการท่องเที่ยวของเมืองน่าน เกินที่จะประมาณค่าไม่ได้ แล้วคนเมืองน่านมีมาตรการป้องกัน ถนอมรักษา อย่างไร? และเยี่ยงไร? ให้สมศักดิ์ศรีที่เป็น “มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นเยี่ยมประเภทจิตรกรรมของเมืองน่านและของชาติ”
………………………….
4.
ขอขอบพระคุณ ท่าน อ.สมเจตน์ กรุณาเล่าที่มาของวลี “กระซิบรักบันลือโลก” โดยอ้างอิงถึงผม และเพื่อความกระจ่าง จึงขอเล่าเพิ่มเติมถึงที่มาของวลีนี้ ดังนี้
5.
คำว่า “กระซิบบันลือโลก” (ยังไม่มีคำว่า รัก) ปรากฏครั้งแรกในบทความ “ภาพหนุ่มกระซิบบันลือโลก ณ วัดภูมินทร์ เป็นภาพศิลปินจริงหรือ ?” โดย อ.วินัย ปราบริปู ศิลปินชาวเมืองน่าน ผู้รังสรรค์ “หอศิลป์เมืองน่าน” เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ
“ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว” ตั้งแต่ปี 2552
6.
สาระสำคัญคือการตั้งสมมุติฐานว่า ภาพชายหนุ่มยืนทำท่ากระซิบที่ข้างหูของหญิงสาว ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหนึ่งของวัดภูมินทร์ ที่ จ.น่าน เป็นไปได้หรือว่าชายหนุ่มในภาพนี้ คือ “หนานบัวผัน” ช่างเขียนภาพชาวไทลื้อ ผู้เขียนภาพชุดนี้ พูดง่ายๆ ว่าศิลปินวาดภาพตนเองประดับไว้ด้วย
7.
ในขณะที่ อ.สมเจตน์ วิมลเกษม อธิบายภาพนี้ ไว้ในบทความ “ภาษาล้านนา: อักษรศาสตร์ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์” ตอนหนึ่งว่า …
8.
“ภาพชายหนุ่มกับหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่า หรืออาจเป็นไทใหญ่ กำลังยืนกระซิบกระซาบกัน ใช้สายตาเป็นสื่อส่งภาษาใจต่อกัน โดยด้านบนมีอักษรล้านนาโบราณเขียนกำกับไว้ลาง ๆ ถอดความได้ว่า “ปู่ม่านญ่าม่าน” คำว่า “ม่าน” ในภาษาล้านนาใช้เรียกดินแดนพม่าและชาวพม่า และบางทียังใช้เรียกชาวไทใหญ่ในที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นเขตพม่า หรือ “ม่าน”
9.
ส่วนคำว่า “ปู่” และ “ญ่า” ในภาษาถิ่นล้านนามิได้หมายถึงผู้เฒ่าผู้แก่เสมอไป ในบางบริบทอาจใช้เป็นคำสรรพนามเรียกผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น “ปู่ม่านญ่าม่าน” จึงอาจหมายถึง “หนุ่มม่านสาวม่าน” ก็ได้”
10.
นอกจากนั้น ผมยังเคยได้ฟัง อ.สมเจตน์ พูดบรรยายภาพนี้ ด้วยโวหาร “นารีปราโมทย์” ว่า “…มองภาพหนุ่มสาวนี้แล้ว อดนึกถึงโวหารล้านนาสมัยเก่าบทหนึ่งไม่ได้ เพราะเข้ากับบรรยากาศภาพนี้ได้เป็นอย่างดี คือ
11.
…คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…”
12.
(คำแปล) ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้านภากาศ ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุม จะเอาไปฝากในวังในคุ้มเจ้าหลวง ก็กลัวเจ้านายมาเจอะเจอแล้วแย่งไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้กระซิกกระซี้ถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
…………………..
13.
สุ้มเสียงสำเนียงล้านนาของท่าน อ.สมเจตน์ เมื่อบรรยายว่า “จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้” นั้นช่างน่าประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเติมคำว่า “รัก” ลงไปในวลี “กระซิบบันลือโลก” ของ อ.วินัย ปราบริปู กลายเป็น “กระซิบรักบันลือโลก” มานับแต่นั้น
14.
โดยวลี “กระซิบรักบันลือโลก” ปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความ “ยลยอดจิตรกรรมโรมานซ์ล้านนา อดัม – อีวา ณ น่าน” ซึ่งผมเขียนลงในนิตยสาร Travel Guide ในปี 2553 สรุปแล้ว ต้นธารของวลี “กระซิบรักบันลือโลก” ที่ใช้กันแพร่หลายในวันนี้ มาจากศิลปินและนักปราชญ์แห่งนันทบุรีศรีนครน่านสองท่าน คือ อ.วินัย ปราบริปู และ อ.สมเจตน์ วิมลเกษม
15.
ส่วนผม เป็นเพียงผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากสองปราชญ์ มาเชื่อมหรือผูกคำ ให้กลายเป็นวลี “กระซิบรักบันลือโลก” เท่านั้นเอง
***************
ธีรภาพ โลหิตกุล