“นายผี” ศึกษา
ภายใต้บรรยากาศแห่งรัฐจารีตอนุรักษ์นิยม สลับกับการปกครองโดยเผด็จการทหาร สังคมไทยเคยได้รับแสงเสรีแห่งประชาธิปไตยใหม่ ในช่วงรุ่งโรจน์ยุค 2490
นักคิดนักเขียนปัญญาชนในยุคนั้น อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์, สด กูรมะโรหิต, ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, “จูเลียต”, อิศรา อมันตกุล, เสนีย์ เสาวพงศ์, สุภา ศิริมานนท์, ส.ธรรมยศ, สมัคร บุราวาศ, สุภัทร สุคนธาภิรมย์, อารีย์ ลีวีระ, ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, อัศนี พลจันทร, “อุชเชนี”, สุวัฒน์ วรดิลก, “ทวีปวร”, “นารียา”, เสนาะ พานิชเจริญ, ชาญ กรัสนัยปุระ, “พ. เมืองชมพู”, จิตร ภูมิศักดิ์, และ ฯลฯ… (มติชนออนไลน์ 14 ธันวาคม 2567)
ท่านเหล่านั้นได้แสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยความคิดใหม่ ๆ ผ่านบทความ งานแปล บทกวี และบทเพลง ฯลฯ ที่มีพลังขับเคลื่อนสังคมในช่วงสั้น ๆ แล้วถูกคุกคาม ปราบปราม จับกุม จนถึงเข่นฆ่า แต่องค์คุณของผู้มาก่อนกาลที่รังสรรค์ก็ยังเป็นเสบียงแห่งความคิด ความฝัน ให้กับคนรุ่นต่อมาได้สืบเสาะแสวงหา นำพาเป็นบทเรียน เป็นแนวทาง กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ ”14 ตุลา 2516“ ที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นโค่นล้มเผด็จการได้เป็นครั้งแรก เมื่อเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519” และผ่านเหตุการณ์ “พฤษภา 2535” ความคิดของคนรุ่นก่อน 2500 และหลัง 14 ตุลา 2516 ก็ยังอุดมด้วยเนื้อหา และจิตวิญญาณขบถ ให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับ
วันนี้ อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา นอกจากนำเสนอเรื่องราวของ “ดาวผู้ขีดเส้นฟ้า” – จิตร ภูมิศักดิ์ ใน“ทางอีศาน”เมื่อฉบับที่แล้ว อาจารย์ชลธิรายังได้ทุ่มเทขุดค้นเรื่องล้ำในไพรลึก จากทุนเดิมที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ผนวกกับประสบการณ์ตรง ประมวลสรุปนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ“มหากวีของประชาชน” – อัศนี พลจันทร ผู้เกิดในยุคนั้น
โดยประเดิมนำเสนอในชื่อคอลัมน์ “ ‘นาย’ผีศึกษา ” เป็นปฐมบทในฉบับนี้ และจะต่อเนื่องไปทุกเดือนตลอดปี 2568 วรรณสาส์นสาระที่ล้ำสมัยจักเจิดจ้าข้ามยุคทะลุมิติ พร้อมรับการทบทวน ตรวจสอบ ต่อยอด ในทุกสภาพสถานะ เพื่อร่วมส่วนผลักดันสังคมอุดมธรรมแด่มวลมนุษย์.