นายแพทย์วิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ ผู้สร้างฝันให้เกิดจริงในถิ่นอีสาน
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: สัมภาษณ์
Column: Interview
ผู้เขียน: กอง บ.ก.
ทีมงาน “ทางอีศาน” ได้รับการต้อนรับจาก คุณหมอวิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ และภรรยา – คุณพิมพ์จันทร์ รวมทั้งกลุ่มจิตอาสา อย่างกระตือรือร้น
เรื่องราวด้านสุขภาพอนามัยของชาวไทย โดยเฉพาะคนอีสาน ได้รับการถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์โดยตรงอย่างเป็นระบบ
ที่โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่นแห่งนี้อบรมบุคลากรอย่างไร ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบไหนเข้าถึงจิตใจพี่น้องประชาชนจนเกิดการมีส่วนร่วมด้านการสาธารณสุขได้อย่างไร จนแม้คนชุมแพจึงกล่าวชื่นชมสรรเสริญกันว่า ด้วยคุณหมอวิบูลย์ศักดิ์ และภรรยา รวมทั้งแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย จึงได้นำพาโรงพยาบาลระดับอำเภอแห่งนี้ให้มีพัฒนาการที่โดดเด่นและก้าวรุดหน้า
เชิญร่วมสนทนากับคุณหมอและ “กลุ่มจิตอาสา” ร่วมกัน…
ทางอีศาน : โรงพยาบาลชุมแพ มีชื่อเสียงดีมากในด้านบริการประชาชนและพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล คุณหมอในฐานะรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้มีประสบการณ์ตรง “ทางอีศาน” ขอเรียนถามถึงการทำงานในภาคอีสาน
คุณหมอ : ผมเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปี ๒๕๒๕ สมัยเรียนที่จุฬาฯได้มีโอกาสออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทของ สจม.ช่วงปิดเทอมทุกปี เกือบทุกครั้งมาที่ภาคอีสาน และร่วมกับเพื่อนนิสิตแพทย์ไปศึกษาดูงานและการใช้ชีวิตของแพทย์รุ่นพี่ตามโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ ก็มาแต่ที่ภาคอีสาน ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตการทำงานของหมอชนบทที่อีสานตลอดมา ตรงนี้ทำให้เรามีความรู้สึกคุ้นเคยกับคนอีสานอยากมาทำงานในท้องถิ่นภาคอีสาน
เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลสีชมพู ๑ ปี และย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ๕ ปี ลาศึกษาต่อสาขากุมารเวชศาสตร์ที่จุฬาฯก่อนมาอยู่โรงพยาบาลชุมแพตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึงปัจจุบัน ทำงานอยู่ที่ จ.ขอนแก่น มาตลอด
ทางอีศาน : คุณหมอทำงาน ชมรมแพทย์ชนบทด้วย ?
คุณหมอ : ไม่ครับ คุณหมอเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ท่านเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทครับ ท่านมีวิสัยทัศน์ไกล ทุ่มเทและเสียสละให้กับการพัฒนาการแพทย์ในชนบทมาก พยายามช่วยเหลือแพทย์ในชนบทอย่างดีมาก ๆ ให้แพทย์อยากออกมาทำงานในชนบทมากขึ้น ต้องขอยกย่องชมเชยท่านและกรรมการชมรมแพทย์ชนบททุกท่าน ที่ได้มีส่วนในการทำสิ่งที่เป็นคุณาปการต่องานสาธารณสุขในชนบทของชาติเรา ต่อประชาชนในชนบทจริง ๆ
ทางอีศาน : ขอให้หมอสรุปปัญหาด้านสาธารณสุข, การแพทย์ของภาคอีสาน ในภาพรวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นอย่างไร ?
คุณหมอ : ปัญหาด้านสาธารณสุขของอีสานส่วนหนึ่งก็คล้าย ๆ ภาคอื่น ๆ อีกส่วนก็มีปัญหาเฉพาะในบริบทของอีสาน ถ้ามองกว้าง ๆ ไม่ว่าจะภาคไหน ก็จะเป็นเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น คนมีอายุยืนขึ้นเพราะมีการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ปัญหาสุขภาพจึงเปลี่ยนไป สมัยก่อนการเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดต่อ หรือจากการขาดสารอาหาร แต่ปัจจุบันนี้การเจ็บป่วยจะเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดสมองตีบแตก, เส้นเลือดหัวใจตีบ คนอีสานมีสถิติป่วยเป็นโรคเบาหวานมากที่สุดในประเทศ
ส่วนโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับก็เป็นกันมากที่สุดในประเทศ เพราะคนอีสานชอบกินปลาดิบ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าสองหมื่นราย โดยเฉลี่ยคิดเป็นวันจะมีผู้เสียชีวิต ๕ รายต่อวัน
สำหรับโรคติดต่อ แต่มีหลายโรคมาก ปัจจุบันลดน้อยลง เพราะกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการให้วัคซีนป้องกันโรคในเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒o มาทำให้โรคติดต่ออาทิ โรคคอตีบ,โรคไอกรน,โรคบาดทะยัก,โรคโปลิโอ, โรคหัด พบลดน้อยลงมาก
ถือว่าสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ส่วนโรคติดต่อที่ยังมีความสำคัญอยู่ ก็คือ โรคไข้เลือดออก อีสานก็ถือว่าติดอันดับต้น ๆ อยู่ และโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ก็ยังเจอมาก จะเกิดกับชาวไร่ชาวนาเพราะคนอีสานส่วนใหญ่ก็ทำไร่ทำนากัน โอกาสที่จะไปสัมผัสฉี่หนูในน้ำก็มาก
โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อชนิดใหม่ที่พบมากเพราะคนหนุ่มสาวในอีสานไปทำงานที่อื่น ไหลเวียนแรงงานเข้ากรุงเทพฯกันมาก โอกาสที่จะติดโรคก็สูงตาม และเอาเชื้อมาติดต่อสู่ครอบครัวเมื่อได้กลับมาบ้าน เป็นโรคนี้มากรองจากภาคเหนือทำให้พบโรคติดเชื้อฉวยโอกาสตามมาอีกหลายโรคที่เป็นปัญหามากคือ วัณโรค และตอนนี้ก็มีโรคที่เรียกว่า โรคอุบัติซ้ำ คือโรคที่เคยมีมากในสมัยก่อนกลับมาอีกครั้ง เช่นโรคคอตีบ
อีกปัญหาของคนอีสานคือการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย เช่นการซื้อยาชุด ตัวอย่างเช่นยาปฏิชีวนะที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของชำทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย เป็นหวัด เจ็บคอ เจ็บป่วยนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะไปซื้อยามากินกัน ซึ่งเป็นผลเสียมาก จากสถิติของประเทศไทยมีมูลค่ารวมในการสั่งยานำเข้าอยู่ที่ ๗.๖ หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓o – ๔o ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วเฉพาะยาก็อยู่แค่ร้อยละ ๑o – ๑๕ เท่านั้น ไทยเราใช้กลุ่มของยาปฏิชีวนะมากที่สุด มูลค่าอยู่ที่ ๑.๖ หมื่นล้านต่อปี เป็น ๑ ใน ๔ ของมูลค่ายาทั้งหมดทีเดียว องค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่าครึ่งหนึ่งเป็นการใช้โดยไม่จำเป็น
โรคธาลัสซีเมีย (โรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม) พบในคนอีสานมากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ
สำหรับปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพอื่น ๆ ก็จะคล้าย ๆ กันทั่วประเทศ เช่นเรื่องการดื่มสุรา, ไม่ว่าเทศกาลงานอะไร งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ ก็มีการดื่มเหล้าทั้งนั้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรสูงมาตลอด
ปัญหาสุขภาพจิต คนอีสานมีผู้ป่วยทางจิตใจสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสภาพครอบครัว แต่ก่อนคนอีสานอยู่กันแบบเครือญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่กันอย่างอบอุ่น แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน พ่อแม่ก็ไปทำงานในกรุงเทพฯ ปล่อยลูกให้อยู่กับตากับยาย ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น ขาดคนอบรม โตขึ้นก็มีผลในเรื่องของการติดยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ความรุนแรง ขาดระเบียบวินัย เรื่องของศีลธรรมต่าง ๆ ปัจจุบันที่พบกันมากขึ้นคือการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น ผลที่ตามมาคือมีเด็กคลอดก่อนกำหนดเยอะขึ้น
โรคเครียดก็เป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยนไป กระแสวัตถุนิยมมาทำให้คนอีสานเกิดการดิ้นรนในการทำมาหากินส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ซึ่งฝนฟ้าก็ไม่ดี ผลผลิตก็น้อย ราคาก็ไม่ค่อยดี เกิดการไหลเวียนแรงงาน ไปทำงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่อนข้างสูง เมื่อต้องออกนอกพื้นที่ของตน หนี้สินก็เพิ่มขึ้น
ทางอีศาน : ขอให้คุณหมอสรุปปัญหาด้านสาธารณสุข, การแพทย์ ของจังหวัดขอนแก่น, ชุมแพ
คุณหมอ : สำหรับจังหวัดขอนแก่น อาจจะมีบริบทต่างจากที่อื่น อย่างเช่น มีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องของมลภาวะ การปล่อยน้ำเสีย เราได้ยินข่าวเรื่อย ๆ ก็เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจในชุมชน น้ำอุปโภคบริโภคไม่สะอาดสัตว์น้ำที่เป็นอาหารตายมากก็จะไปกระทบต่อเขาโดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพแย่ลง
นอกจากนั้นขอนแก่นจัดเป็นศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวอีสาน ในส่วนนี้ อุบัติเหตุการจราจรก็ยังสูงอยู่ และเรื่องติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นโรคเอดส์ก็ยังเยอะ เพราะหญิงบริการมีมาก
ในส่วนของอำเภอชุมแพเองก็เหมือนกับภาพรวมคือ ผู้สูงอายุมาก เพราะฉะนั้นปัจจุบันจะมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคเส้นเลือดสมอง เส้นเลือดหัวใจ มะเร็ง ในส่วนของโรคติดต่อก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะโรคเอดส์ โรคไข้เลือดออกวัณโรค โรคฉี่หนู
เนื่องจากชุมแพเป็นอำเภอศูนย์กลางติดต่อไปภาคเหนือ ไปภาคกลาง เพราะฉะนั้นพบอุบัติเหตุค่อนข้างสูง รวมถึงเรื่องยาเสพติดก็ยังมีปัญหาอำเภอชุมแพมีโรงโม่หิน โรงสีข้าวมาก จะพบผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดกันมากขึ้น
ทางอีศาน : ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขควรเป็นอย่างไร ?
คุณหมอ : ขอมองเป็นภาพรวม เนื่องจากเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขยุทธศาสตร์เรื่องแรก คือเรื่องของการ “สร้างสุขภาพนำซ่อม” คือที่ผ่านมาเรามักเน้นในเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นประชาชนจะขาดการดูแลสุขภาพตนเอง แทนที่จะดีกลับเจ็บป่วยง่าย “สร้างนำซ่อม” คือการสร้างเสริมสุขภาพ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้นมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นการกินอาหาร ไม่ควรกินอาหารที่หวาน มัน เค็ม จนเกินไป ส่งเสริม การออกกำลังกาย การดูแลสิ่งแวดล้อม ความสะอาดต่าง ๆ ส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบพอเพียง เช่นการใช้ภูมิปัญญาไทย แพทย์แผนไทยแพทย์พื้นบ้าน การพึ่งพาตนเอง เพราะว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเราดีขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันเราไปพึ่งพิงยาทางตะวันตกมาก อีกอย่างยาของตะวันตกเองนั้นมีผลเสีย ผลข้างเคียงค่อนข้างมากเพราะฉะนั้นการนำภูมิปัญญาต่าง ๆ แบบไทย ๆ มาใช้ เช่นการกินอาหารตามหลักของไทย อาหารพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ คือการกินอาหารเป็นยา ก็จะเป็นส่วนดีที่ ไม่ต้องเสียเงินมาก
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายในสังคม เช่นมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กลุ่มจิตอาสา ก็เป็นคนในท้องถิ่น เราให้การอบรม ให้ความรู้เขา ให้เขาช่วยกันดูแลสุขภาพคนในท้องถิ่นตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จ อย่างเรื่องการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยอัมพาต ทางโรงพยาบาลส่งกลับบ้านแล้ว อสม.ก็จะไปช่วยดูแลต่อ แทนที่จะปล่อยให้ทางครอบครัวดูแลอย่างเดียวโดยขาดความรู้เรื่องของการเฝ้าระวังโรคติดต่อ การเตือนภัย ที่อาจจะเกิดขึ้นในท้องถิ่น ทางอาสาสมัครก็ดูแลในส่วนนี้ให้ รวมถึงการคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย
ในส่วนขององค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาลก็ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ เช่นการจัดงบประมาณในการช่วยเหลืองานสาธารณสุข อย่างหลาย ๆ แห่งที่ขอนแก่น เช่นโรงพยาบาลน้ำพอง, อุบลรัตน์ อบต.เขาจะจัดงบประมาณจ้างคัดเลือกพยาบาลในท้องถิ่นไปเรียน เมื่อจบแล้วก็ถือเป็นพันธะสัญญาเลยว่าต้องกลับมาดูแลสุขภาพคนในท้องถิ่นตัวเอง เป็นวิธีการที่ดีมาก ช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการขาดแคลนพยาบาลได้ส่วนหนึ่ง
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ คือ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แต่ก่อนเราจะเน้นในเรื่องการดูแลรักษาทางกาย ปัจจุบันพยายามให้การดูแลในหลาย ๆ เรื่องควบคู่ ไม่ว่าจะเรื่องกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา
อีกมุมหนึ่งที่เราจะพยายามดูแลให้ครบ ๔ มิติ คือ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ เป็นลักษณะของการดูแลสุขภาพเชิงรุกมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ คือ ความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ ทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับการบริการที่เสมอภาคกันปัจจุบันเรามีเรื่องของบัตรทองซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะสามารถทำให้คนยากจนเข้ารับบริการได้ดีขึ้น สมัยก่อนเวลาเจ็บป่วยครั้งหนึ่งก็ถึงกับต้องขายไร่ขายนามารักษาตัวกันเลยทีเดียวซึ่งต้องขอบคุณ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างกลไกนี้ขึ้นมา ก็ถือเป็นคุณูปการต่อประชาชนอย่างมาก
ปัจจุบันเรามีการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) อย่างทั่วถึง เมื่อไหร่ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่มีพาหนะมาโรงพยาบาล ก็สามารถโทรไปที่ ๑๖๖๙ก็จะมีรถพยาบาลไปรับ ช่วยให้ประชาชนคนยากจนที่อยู่ห่างไกลสามารถได้รับบริการอย่างรวดเร็ว
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ คือ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ คือทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ต้องลำบากในการเดินทางเวลาเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงง่ายและรวดเร็วปัจจุบันมีการเพิ่มศักยภาพของสถานบริการสาธารณสุขตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมา เช่น สถานีอนามัย ตอนนี้ก็ปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเขตเมืองก็มีศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) โรงพยาบาลอำเภอก็มีการพัฒนาศักยภาพขึ้นมาก มีระบบการส่งต่อที่ดีสามารถที่จะส่งต่อผู้ป่วยไปในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างสะดวก มีการประสานงาน ส่งต่อข้อมูลกันได้อย่างดี สมัยนี้เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยการทำงานเป็นเครือข่าย
ทางอีศาน : ยุทธศาสตร์สาธารณสุขระดับอำเภอ, จังหวัด ควรเป็นอย่างไร โรงพยาบาลระดับอำเภอจะมีบทบาทอย่างไร ?
คุณหมอ : ขอพูดถึงโรงพยาบาลอำเภอทั่ว ๆ ไปแล้วกันนะครับ ซึ่งในประเทศเราอำเภอก็ไม่ใหญ่มาก คงมองได้ ๒ ด้าน คือ ด้านปฐมภูมิ กับทุติยภูมิ
ปฐมภูมิ ก็คือ ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค อย่างที่พูดไปแล้วว่าจะทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีสุขภาพดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยง่าย และถ้าเจ็บป่วยแล้วสามารถที่จะไปควบคุมป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น และการดูแลต่อไปต้องให้การดูแลแบบสหสาขา คือ จากหลาย ๆ สาขาวิชาชีพมาช่วยกันดูแลผู้ป่วย เช่นว่า แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. จิตอาสาคือการช่วยกันดูแลเป็นทีม
ทุติยภูมิ คือ เรื่องของการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง คือสามารถที่จะให้รับการรักษาพยาบาลที่ไม่ซับซ้อมมากได้ เช่นมีการนอนรักษาในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่นเป็นโรคปอดบวม หรือต้องผ่าตัดไส้ติ่ง โรงพยาบาลอำเภอก็ควรที่จะทำได้ในจุดนี้ แต่ถ้าเกิดโรคที่ซับซ้อนมากขึ้นเราต้องส่งต่อระดับ ตติยภูมิ คือ โรงพยาบาลจังหวัด เช่นต้องใช้เครื่องหายใจอยู่ใน ICU
บริการที่มีอยู่จะต้องทำให้มีคุณภาพมาตรฐาน การที่จะทำให้เขาไว้วางใจเรา หรือเราสามารถดูแลสุขภาพเขาได้ดี เราต้องพัฒนาคุณภาพให้ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะว่า แนวทางของประเทศเราคือโรงพยาบาลทุกแห่งจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพ [Health Accreditation (H.A)]
สิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลอำเภอจะต้องทำอีกเรื่องก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จะทำอย่างไรให้ประชาชนศรัทธาเรา ไม่ว่าจะเป็นการดูแล การพูดจา ความเป็นห่วงเป็นใยการเอาใจใส่ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราดูแลเขาเป็นอย่างดี ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เขาก็ศรัทธาเรา เขาก็อยากมาใช้บริการใกล้บ้านเขาอีก
ทางอีศาน : โรงพยาบาลชุมแพ มีผลงานพัฒนาอะไร อย่างไร ?
คุณหมอ : โรงพยาบาลชุมแพได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้เราเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ อยู่ในระหว่างการยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ปัจจุบันมี ๑๕o เตียง กำลังจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลขนาด ๔oo เตียงภายใน ๕ ปีข้างหน้า เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในโซนตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น คือ เป็นโรงพยาบาลที่ช่วยดูแลโรงพยาบาลข้างเคียงก่อนที่จะส่งไปถึงโรงพยาบาลขอนแก่น ช่วยเหลือประชาชนบริเวณแถวนี้ให้ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล
ขณะนี้ เราสามารถที่จะให้การรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบได้ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาที่เร่งด่วน ปีที่แล้วก็ดูแลไปกว่า ๒๐ ราย ช่วยผู้ป่วยไม่ให้เป็นอัมพาตได้ และเรื่องเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคนี้ต้องอาศัยความรวดเร็วเหมือนกัน หากส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัดอาจจะไม่ทัน มีความเสี่ยงสูงมาก ทางเราก็มียาละลายลิ่มเลือดเหมือนกัน ก็ช่วยชีวิตผู้ป่วยไปได้หลายรายแล้ว
เรื่องของการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์เป็นเรื่องที่เราดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีกับชุมชน มีการตั้งกลุ่ม “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในส่วน อบต. เทศบาล ก็ให้งบประมาณมาสนับสนุนทุกปี เช่นให้งบในการทำค่ายผู้ป่วยและช่วยเหลือในเรื่องของเศรษฐกิจผู้ป่วย
ส่วนที่โรงพยาบาลนำร่อง ทำเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่นคือ การดูแลผู้ป่วยเด็กธาลัสซีเมียให้ได้รับเลือดเป็นประจำทุกเดือน และมีให้ยาขับเหล็กด้วย เพราะถ้าเด็กได้เลือดบ่อย ๆ เหล็กในร่างกายจะสูงเกินเป็นอันตราย เราพยายามที่จะดูแลแบบองค์รวม คือดูเรื่องจิตใจเขา ทำให้เด็กแข็งแรงขึ้น เติบโตปกติและใช้ชีวิตได้ดีเหมือนเด็กทั่วไป
งานคุ้มครองผู้บริโภคเราได้ดำเนินงานควบคุมป้องกันยาเสพติด บุหรี่ เหล้า ได้อย่างดี มีการทำงานเป็นเครือข่ายกับทางอำเภอ ตำรวจ สถานศึกษา มีการจัดค่ายให้ความรู้กับเยาวชนเป็นหลักและบำบัดรักษา จนเราได้รับรางวัลมีผลงานดีเด่นระดับชาติ
โรงพยาบาลได้พัฒนาขีดความสามารถทางการรักษาอื่น ๆ อีก เช่น การล้างไตให้ผู้ป่วยไตวาย การสลายนิ่ว การผ่าตัดนิ่วไต การผ่าตัดต้อกระจก มีผลงานอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ทางอีศาน : โรงพยาบาลชุมแพ มีทิศทางจะพัฒนาอะไรอีก ?
คุณหมอ : วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลเราจะเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในพื้นที่แถบนี้นอกจากอำเภอใกล้เคียงของขอนแก่น ยังรวมถึงอำเภอข้างเคียงนอกจังหวัดขอนแก่น เช่น โรงพยาบาลภูกระดึง จังหวัดเลย โรงพยาบาลคอนสาร, โรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิโรงพยาบาลน้ำหนาว ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้ามาทางชุมแพก็ใกล้กว่า จะช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน
และปีหน้าจะมีหมอผ่าตัดด้านทางเดินปัสสาวะโรคนิ่วไตที่คนอีสานเป็นกันมาก ทางโรงพยาบาลก็จะสามารถทำได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาต้องอาศัยหมอจากโรงพยาบาลขอนแก่นมาผ่าให้เป็นประจำ
เรื่องของการล้างไต เราพยายามทำให้มากขึ้นเพราะผู้ป่วยไตวายมาลงทะเบียนกันไว้ร่วมร้อยคนแต่เรายังทำได้เพียง ๓o รายเท่านั้น เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว
เรามุ่งพัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมการดูแลทั้ง ๔ มิติที่กล่าวไว้ ในปีนี้เราจะเน้นดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพราะว่าสถิติผู้ป่วยนอกที่มากที่สุดในตอนนี้คือ โรคเบาหวาน กับโรคความดันโลหิตสูง จะทำอย่างไรที่จะป้องกันกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไม่ให้เป็นโรค กลุ่มที่เป็นโรคอยู่ก็ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนก็จะป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น และกลุ่มที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ เราพยายามส่งกลับไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่อไป จะได้ไม่ต้องเดินทางลำบาก ลดความแออัดและระยะเวลารอคอยด้วย
โรงพยาบาลชุมแพกำลังสร้างตึกผู้ป่วยนอกเพิ่ม ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเอง และภาคประชาชนที่ร่วมบริจาคอย่างดีมาตลอด แต่ปัญหาการขยายโรงพยาบาลเป็นปัญหาใหญ่ เพราะพื้นที่ของโรงพยาบาลชุมแพมีจำกัด
ทางอีศาน : บุคลากรในโรงพยาบาลชุมแพมีจำนวนเท่าไหร่ คนไข้ต่อวันมากไหมครับ และขอให้คุณหมอพูดถึงเรื่องการพัฒนาบุคลากร ทางโรงพยาบาลชุมแพดูแลกันอย่างไร ?
คุณหมอ : ตอนนี้มีแพทย์ทั้งหมด ๒๙ คนพยาบาลเกือบ ๒๐๐ คน รวมบุคลากรทั้งหมดเกือบ ๖๐๐ คน คนไข้ต่อวันอยู่ประมาณ ๗๐๐ คนต่อวัน ผู้ป่วยในก็มีอยู่ ๑๕๐ เตียงครับ
หลังจากที่ทางกระทรวงเองมีนโยบายในการดูแลสุขภาพให้มีบัตรทอง ภาระงานก็มากขึ้นทำให้บุคลากรลาออกไปอยู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้ค่าตอบแทนมากกว่าภาครัฐ ปัจจุบันขาดบุคลากร อย่างที่นี่พยาบาลก็ไม่พอ ประกาศรับสมัครก็ไม่มีคนมาสมัคร ต้องทำการบ้านในส่วนที่มีอยู่ว่าทำอย่างไรให้คนที่อยู่มีความสุข เห็นคุณค่าของการทำงาน มีความก้าวหน้าในอาชีพของเขา ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้พยายามช่วยเหลือ พยาบาลที่เป็นลูกจ้างท่านก็ไปช่วยเรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการ เพราะคนที่มาทำงานในภาครัฐเงินก็น้อย ฉะนั้นสิ่งที่เขาอยากได้คือต้องการบรรจุเป็นราชการ ต้องการสวัสดิการเป็นการทดแทน
การสร้างแรงจูงใจ ทำอย่างไรให้งานที่ทำจำเจทุกวันนี้เป็นงานวิจัยได้ด้วย ได้มีการอบรมให้ความรู้สม่ำเสมอ กระตุ้นให้บุคลากรได้ทำวิจัย ให้มีนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างน้อยก็เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้เขา เพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดีขึ้น ถ้ามีส่วนนี้ก็เป็นอีกแรงผลักหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้เขาได้
มีพื้นที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุน เช่นอย่างเจ้าหน้าที่ รพ.สต. บางทีเรื่องความรู้เขาก็มีข้อจำกัดในการดูแลรักษาพยาบาล เราก็ต้องให้ความช่วยเหลือเขา เช่นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ อย่างดี อุปกรณ์หรือยารักษาโรคพยายามไม่ให้ขาด เพื่อจะได้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน
การสร้างจิตสำนึกก็สำคัญมาก ทำอย่างไรให้บุคลากรของเราจะมีจิตสำนึกในการเสียสละ ทำเพื่อส่วนรวมด้วยใจ เราก็มีการอบรมเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม โดยที่ผ่านมามีการอบรมปฏิบัติธรรม สมัยก่อนจะเอาตามสมัครใจ แต่ตอนนี้ก็เป็นนโยบายให้ไปทุกคน เชื่อว่าเมื่อได้รับสิ่งนี้ไปแล้ว การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และมีจิตสาธารณะจะมากขึ้น
ทางอีศาน : การร่วมมือกันของประชาคมอาเซียน ทางการแพทย์ได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างไรบ้าง ?
คุณหมอ : ศักยภาพในการดูแลเราพยายามสร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ส่วนเรื่องภาษาเคยคุยกันอยู่ว่าจะต้องได้รับการอบรมในส่วนนี้ด้วย
ทางอีศาน : แรงงานต่างด้าวได้มาใช้บริการบ้างไหม ?
คุณหมอ : มาครับ รัฐจัดให้เป็นประกันสังคมเท่าที่เห็นก็จะมีลาว พม่า เขมร หากเป็นแรงงานเถื่อนก็ไม่เจอ คงไม่กล้าจะมารักษาที่โรงพยาบาลโดยมากก็คงไปรักษาที่คลินิก
ทางอีศาน : เรื่องสาธารณะสุขอีกอย่างที่สังเกตในส่วนของรายการวิทยุ โฆษณาในวิทยุท้องถิ่นที่มากที่สุดคือ โฆษณาขายยา ทางโรงพยาบาลมีมาตรการควบคุม ดูแลส่วนนี้อย่างไร ?
คุณหมอ : เป็นงานคุ้มครองผู้บริโภคครับ เป็นสิ่งที่แก้ยากพอสมควร เราพยายามให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของการบริโภคยาที่ถูกต้องมากกว่า รายที่โฆษณาเกินความเป็นจริงทาง อย.ให้ไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย พวกนี้จะปิดกิจการหนีไปก่อน สำหรับร้านขายของชำตามหมู่บ้าน เราก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในการไปตรวจสอบ และขอความร่วมมือในการไม่ขายยาชุด ยาที่อันตราย รวมไปถึงเหล้าและบุหรี่ ก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้านทำให้ยังมีการแอบขายกันอยู่เสมอ ๆ