น้ำเต้า
“วัฒนธรรม” ก่อกำเนิดมาจากวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งมีรูปแบบการผลิตเป็นตัวหลัก
คนเราทำมาหากินอย่างไร วัฒนธรรมก็งอกเงยจากสภาวะนั้น
ชนเผ่าในอาเซียนเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก วัฒนธรรมที่กำเนิดจากการเพาะปลูกข้าวนี้น่าจะเรียกว่า “วัฒนธรรมข้าว” วัฒนธรรมข้าวนี่เองเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมร่วมกันของชนเผ่าในอาเซียนประการที่หนึ่ง
รอบระยะการผลิต (ปลูกข้าว) กำหนดวิถีชีวิต พิธีกรรมของชนเผ่าปลูกข้าวจึงคล้ายคลึงกัน หมุนเวียนไปตามรอบระยะของการปลูกข้าว ประเด็นนี้หลายท่านคงเข้าใจกันแล้ว
ผู้เขียนจึงขอเสนอประเด็นใหม่ ย้อนหลังให้เก่าแก่ขึ้นไปกว่าเรื่อง “ข้าว”
มนุษย์ดึกดำบรรพ์ในดินแดนจีนภาคใต้ (ใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมา) รู้จักเพาะปลูก “น้ำเต้า” มาก่อน “ข้าว” น้ำเต้าจึงมีความสำคัญมาก เป็นสัญลักษณ์ของหลาย ๆ สิ่ง
เช่น ตำนานมนุษย์เกิดมาจากน้ำเต้า, มนุษย์รอดตายจากน้ำท่วมโลกเพราะน้ำเต้า ฯ
เช่น น้ำเต้าเป็นสัญลักษณ์ของ “กายแม่” เป็นสิ่งเคารพบูชา “แม่”
เช่น เป็น totem แรกของมนุษย์ในภูมิภาคนี้ “มนุษย์มาจากน้ำเต้า เมื่อตายก็กลับสู่น้ำเต้า” ต่อ ๆ มาจึงเกิดโทเทมอื่น ๆ อีกมาก ร่องรอยที่บอกว่าน้ำเต้าเป็นโทเทมมาก่อนโทเทมอื่น ๆ คือ ชนชาติอี๋ ในยูนนาน วางน้ำเต้าวาดรูปเสือ 2 ลูกไว้บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษ เสือ คือโทเทมยุคหลัง น้ำเต้า คือ โทเทมยุคแรก
สัญลักษณ์ “น้ำเต้า” เกี่ยวพันกับพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งโยงใยมาถึงเครื่องดนตรีด้วย เช่น กลองมโหระทึก และปี่น้ำเต้า จะใช้ในพิธีศพ (คนมาจากน้ำเต้า เมื่อตายก็กลับสู่น้ำเต้า)
ชาวหัวเซี่ย (ฮั่น) ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ เรียกชนพื้นเมืองภาคใต้ว่า ชาว “ผู” อักษรภาพที่หมายถึงชาวผู มีรูปคนกำลังบูชาน้ำเต้า ชาวผูมีมากมายหลายเผ่า ชาวหัวเซี่ยเรียกว่า “ไป่ผู” (ผูร้อยจำพวก) ต่อมาชาวผูแบ่งแยกออกเป็นสองสายใหญ่ ๆ คือ “ฉู่” (หรือ ฌ้อ) กับ “เยวี่ย” (เวียด)
อักษรภาพของจีนดึกดำบรรพ์ เป็นภาพคนถือน้ำเต้า
ชาวเยวี่ยมีมากมายหลายเผ่า เรียกว่า “ไป่เยวี่ย” (เยวี่ยร้อยจำพวก) วัฒนธรรมไป่เยวี่ย (ไม่ใช่หัวเซี่ยหรือจีนฮั่น) แพร่กระจายทั่ว จีนตอนใต้ , เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดิน และภาคสมุทร
“วัฒนธรรมไป่เยวี่ย” นี่เอง คือรากเหง้าวัฒนธรรมของอาเซียน จุดร่วมกันของวัฒนธรรมไป่เยวี่ยคือ
– ตำนานเกี่ยวกับการเคารพบูชาน้ำเต้า
– ในยุคหิน ใช้ขวานหินมีบ่า ในยุคสำริดใช้ขวานบั้ง
– วัฒนธรรมข้าว
– สภาพแวดล้อม ทำให้ต้องใช้ชีวิตใกล้ชิดกับน้ำ ทำให้เชี่ยวชาญทางน้ำ, ปลูกเรือนเสาสูง (ความคล้ายคลึงกันทางสถาปัตยกรรม), ไว้ผมสั้น, สักร่างกาย
– ทรรศนะทางจักรวาลวิทยา โลกประกอบด้วย ฟ้า – ดิน – ใต้น้ำ (ปรากฏอยู่ในลวดลายบนกลองมโหระทึก) บูชาผีฟ้า เช่น แถน tahu, ตัวเปี๋ยะ (ฟ้าผ่า), เงือก (ลวง, นาค)
นาคา สัตว์ศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์บ้านของชนเผ่าดยัค
– มีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ”, การพยากรณ์ด้วยกระดูกไก่ และไข่ไก่
– นิยมฝังศพครั้งที่สอง
– เคารพบูชากลองมโหระทึก ซึ่งสืบทอดมาเป็นวัฒนธรรมฆ้อง
– เครื่องดนตรีสำคัญในพิธีกรรมโบราณคือ ฆ้อง (กลองมโหระทึก), ติง (พิณ, kuttyapee, กระจับปี่), แคน
ลักษณะร่วมที่ยังเหลือร่องรอยให้ศึกษาได้ไม่ยากนักคือ ทางด้านสถาปัตยกรรม และด้านเครื่องดนตรี ขอฝากฝังอาจารย์ด้านดนตรีให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องดนตรีของชนเผ่าในอาเซียน อันอาจจะช่วยให้พบเอกลักษณ์ของประชาคมวัฒนธรรมอาเซียนได้.
กลองน้ำเต้าของชาวพื้นเมืองฮาวาย
เต้าของแคนน้ำเต้า วัฒนธรรมเตียนก๊ก ในยูนนาน อักษรภาพของจีนดึกดำบรรพ์ เป็นภาพคนถือน้ำเต้า
นาคา สัตว์ศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์บ้านของชนเผ่าดยัค เครื่องดนตรีสำคัญในพิธีกรรมโบราณคือ ฆ้อง (กลองมโหระทึก), ติง (พิณ, kuttyapee, กระจับปี่), แคน