บทบรรณาธิการ : ฤดูแห่งสีสันและชีวิต
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๔
ปีที่ ๒ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๗
ฉบับ “ครบรอบ ๒ ปี”
ใครคนใดเข้าใจและใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับคนด้วยกัน กับธรรมชาติ และกับสิ่งเหนือธรรมชาติคน ๆ นั้นก็จะมีชีวิตที่สุข สมบูรณ์ และสงบ
ดังความเข้าใจภูเขาของนักเดินป่าที่บอกกล่าวกันมา…
ถ้ามองดูภูเขาแล้วเห็นภูสีเขียวพรืดเป็นเทือกไปทั้งหมด นั่นแสดงว่าเรายังอยู่ห่างภูเขาไกลนัก เดินต่อไปจนเห็นสีใบไม้แตกต่างกัน มีสีเขียวแก่ เขียวอ่อน ครีม นํ้าตาล นํ้าตาลไหม้ แดง กระด่างดำ ฯลฯ เราเข้าใกล้ตีนเขาแล้ว
ธรรมชาติแห่งความเข้าใจนี้ ทำให้กำหนดจังหวะเร็วช้าของก้าวย่าง และการผ่อนสูดลมหายใจเข้า – ออกได้สัมพันธ์กับเป้าหมาย นำมาซึ่งความรื่นรมย์ทุกขณะเดินทาง โดยยังไม่ต้องพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกเมื่อพิชิตยอดเขาได้
ดอกจานสีแสดบานช่วงปลายหน้าหนาวต้นฤดูร้อน จับตาจับใจผู้คนยิ่งนัก และหากมองไปให้ทั่วอาณาบริเวณแนวสายตายังมีมวลดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบาน
ดอกทองหลางสีแดงเข้ม
ดอกเสลาสีม่วง – ชมพู – ขาว
ดอกจิกสีม่วง – ขาว
ดอกมันปลาสีขาว – ครีม – เหลือง
ดอกปีบทองสีเหลือง – ขาว – ทอง
ดอกติ้วสีขาว
ดอกงิ้วสีแดง
ยังมีกาฬพฤกษ์และกัลปพฤกษ์ สีชมพู – ขาว ฯลฯ ชูช่อดอกอยู่ตามหัวไร่ปลายนาตามป่า ในหมู่บ้านและริมทางสัญจร
นี่คือสัญชาตญาณพืชพันธุ์ยามทิ้งใบ เธอย่อมเร่งผลิดอกสร้างเมล็ดขยายพงศ์เผ่า และยืนหยัดรอหยาดฝนเพื่อป่งใบ
วัฏจักรชีวิตมวลดอกไม้เป็นหนึ่งเดียวและเปลี่ยนแปลงสอดผสานไปกับสรรพสิ่ง สร้างคุณค่าและความงามประดับโลกโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน