มะละกอ, “บักหุ่ง” : สร้างชีวิต สร้างชาติ
คอลัมน์: บทบรรณาธิการ
ฉบับที่ ๑๖ ประจำสิงหาคม ๒๕๕๖
Column: Editorials
“ทำมาตั้งหลายอาชีพก็ไม่เคยมีเงินเหมือนตำบักหุ่งขาย ตอนนี้ขายมาได้ ๑๗ ปี มีทั้งเงินและความสุข…” คำเว้าจากใจสาวอุดรฯ เจ้าของร้านส้มตำพาขวัญ ปากซอยรามอินทรา ๕ เขตบางเขน กทม.
คนอีสานตั้งแต่ยุคสมัยสร้างบ้านแปงเมือง และพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้ มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ดำรงตนเรียบง่าย อดทน อดออม ขยันขันแข็ง มีคุณธรรมและฮีตคองที่ดีงาม
ในด้านวัฒนธรรมการกินก็สะท้อนอัตลักษณ์โดดเด่นดังกล่าวมา ขอเพียงมีป่น หรือมีไข่ต้มผ่าสี่ซีกเหยาะน้ำปลากับข้าวเหนียวหนึ่งก่อง ก็เป็นอาหารเช้าให้ลูก ๓-๔ คนกินก่อนไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ปั้นข้าวจิ้มแจ่วกินแล้วก็มีเรี่ยวแรงทำงานหนักกลางทุ่งท่า อาหารอื่น ๆ ในแต่ละมื้อก็หาผักปลานกหนูตามท้องนา ห้วยละหาน และดงดอน ที่เขียวงามใต้ฟ้าครามมีก้อนเมฆแปลงกายรำร่ายอยู่นั่นเอง
ดังนี้ เมื่อมะละกอ, “หมากหุ่ง”, “บักหุ่ง” กระจายพันธุ์มาถึงภาคอีสาน-ประเทศไทย จึงถูกประกอบสร้างเป็นรายการอาหารยอดนิยมโดยมีส่วนผสมพื้นฐานเพียง พริก กระเทียม มะเขือเทศ ปลาร้า น้ำปลาและน้ำมะนาว คลุกเคล้าเอารสชาติตามปากตามใจคนกิน
คนอีสานกินตำบักหุ่งได้ ๓ มื้อ ทั้งเช้ากลางวันเย็น แถมค่ำคืนไปเที่ยวงานบุญชมมหรสพยังซื้อหาตำบักหุ่งกับคั่วหมี่มาตั้งกลางวงสรวลเสเฮฮา จนกระทั่ง อาจารย์จารุวรรณ ธรรมวัตร ยกให้เป็น ๑ ใน ๕ แห่งจิตวิญญาณอีสาน – “ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ ปลาร้า”
นอกจาก “ตำบักหุ่ง”เป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนทุกเพศวัยแล้ว “บักหุ่ง” ยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และอาชีพขายตำบักหุ่งก็สร้างฐานะให้ผู้มุ่งมั่นพัฒนาฝีมืออยู่ทุกซอกซอยตลอดถึงบนภัตตาคารทั่วทั้งประเทศและต่างประเทศ
วันนี้ ถ้าสามารถส่งเสริมให้คนทั่วโลกนิยมบริโภคมะละกอดิบ เหมือนที่นิยมมะละกอสุก เมล็ดพันธุ์มะละกอที่พัฒนาขึ้นจากเนื้อนาดินอีสานเรา ก็จะเป็นพืชพรรณที่พลิกเปลี่ยนประเทศไทยและโลกได้ เหมือนดั่งพืชพรรณจากทวีปอเมริกา อาทิ มันฝรั่ง, ข้าวโพด, ยาสูบ (มีทั้งคุณและโทษ), โกโก้, ควินิน (ยา) ฯลฯ ที่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติจารึกไว้
น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ