#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒) ฉบับที่ ๑๑ ญาติพี่น้อง

#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒)

ฉบับที่ ๑๑ ญาติพี่น้อง

ลูกรัก

จดหมายฉบับที่แล้ว พ่อพูดถึงรากเหง้ากับคีรีวง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกันมาก อยากเล่าให้ฟังเพื่อจะได้เป็นพื้นฐานในการเข้าใจว่า ทำไมพ่อจึงอยากเขียนถึงท่าแร่ บ้านเกิดของพ่อ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ฝนตกหนักสามวันสามวันคืนที่ภาคใต้ ดิน หิน น้ำ ทะลักลงมาจากเขาหลวง ทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ที่คีรีวงมีคนตาย 12 คน วัด โรงเรียน บ้านเรือน สวน ได้รับความเสียหาย ถูกทำลายไปมาก ขณะที่อีกฟากหนึ่งของเขาหลวงเป็นกระทูน ถูกทำลายหนักกว่าคีรีวงมาก แม้ว่าอยู่ฟากที่ลาดชันน้อยกว่า แต่เพราะข้างบนมีการถางป่าปลูกยางพารากันเต็มไปหมด

ยางพารารากไม่แข็งแรง ได้รับปุ๋ยเร่งการเติบโต เมื่อฝนมาพายุกระหน่ำก็ถอนรากถอนโคนลงมาถล่มชุมชนข้างล่างอย่างรุนแรง ขณะที่คีรีวงอยู่ด้านลาดชันกว่า แต่บนเขาปลูกไม้ผลผสมผสานในป่า ที่เรียกกันว่า สวนสมรม จึงป้องกันการพังทลายได้ดี

มูลนิธิหมู่บ้านได้ไปช่วยฟื้นฟูคีรีวง ระดมกำลังจากภาคประชาสังคมที่กรุงเทพฯ ได้สรุปบทเรียนว่า “ถ้าไม่มีรากเหง้าจะถูกทำลายได้ง่าย” เพราะไม่มีที่ยึดเหนี่ยว เหมือนกับป่ากงกางตามชายฝั่งทะเล แม้ไม่ได้ใหญ่โตสูงเท่าต้นมะพร้าว แต่ก็มีรากที่ยึดกันเป็นเครือข่าย สามารถต้านพายุหรือแม้แต่สึนามิได้

มูลนิธิหมู่บ้านจึงทำการพื้นฟูภูมิปัญญา คืนสู่รากเหง้า และประสานให้เกิดเครือข่ายชุมชนและผู้นำชุมชนทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่า จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้านการคุกคามจากภายนอก จากอำนาจนำต่างๆ ในสังคมได้

เราจึงได้ร่วมกับชุมชนศึกษารากเหง้า ประวัติศาสตร์ของคีรีวงว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นใคร ที่สุดก็ได้พบจากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่สืบทอดประวัติศาสตร์ชุมชน บวกกับข้อมูลพงศาวดารที่ไปต้นจากหอสมุดแห่งชาติ สรุปได้ว่า บรรพบุรุษของชาวคีรีวงเป็นไพร่หนีนายไม่ไปรบที่ไทรบุรี หนีเข้าไปอยู่ในหุบเขาหลวง เจ้าหน้าที่รัฐตามเข้าไปไม่ถึง จึงอยู่ในนั้นสองร้อยปี เพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อปี 2505 เมื่อเกิดวาตภัยแหลมตะลุมพุก

การรับรู้ที่มาของตนเอง ประวัติศาสตร์ชุมชนที่ได้ต่อสู้กับอำนาจรัฐและอยู่กันเป็นชุมชน ทำให้พวกเขาอยู่รอดมาได้ถึงสองร้อยปี อยู่กับธรรมชาติ และพายเรือออกมาตามคลองท่าดี (คลองทางใต้หมายถึงห้วย ลำน้ำธรรมชาติด้วย) ไปถึงปากพนังที่อยู่ติดทะเล เพื่อนำของป่าไปแลกข้าวแลกเกลือ แลกอาหารทะเล กลายเป็น “เกลอเขาเกลอเล” เป็นเครือข่ายที่พึ่งพาอาศัยกัน

คนคีรีวงจึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์โดยไม่ได้จดทะเบียน แต่ก็กลายเป็นกลุ่มที่มีเงินกว่า 10 ล้านในปีที่เกิดวาตภัย แม้เอกสารต่างๆ ถูกน้ำพัดพาไป แต่กลุ่มก็ไม่ได้รับความเสียหาย ฟื้นฟูคืนมาได้โดยสมาชิกทุกคนนำข้อมูลมาแสดงด้วยความซื่อสัตย์ ทำให้กลุ่มยังอยู่ได้อย่างมั่นคง และเกิดเป็นกลุ่มต่างๆ ในชุมชนอีกมากมายจนถึงวันนี้ ที่รวมกันจัดการทรัพยากร ผลผลิต แปรรูปผัก ผลไม้ หัตกรรมผ้า และอื่นๆ ขายให้นักท่องเที่ยว และขายออนไลน์ และมีการจัดการท่องเที่ยว ขึ้นเขาหลวง โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ

พ่อจึงขอสรุปว่า การทำงานกับชุมชนทำให้ได้พบพลังอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน บทเรียนเดียวกันที่พ่อได้ทำที่สกลนครกับชาวกะเลิงที่บ้านบัว กลายเป็นเครือข่ายอินแปง ที่ครอบคลุมไปยังหมู่บ้าน ตำบลในจังหวัดใกล้เคียง กับชาวโส้ที่อำเภอกุสุมาลย์ ชาวกุยหรือชาวส่วยที่อำเภอพลับพลาไชย จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบนหรือเนียะกูรญ์ที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนมีความสำคัญในการปลุกจิตสำนึกของคนในชุมชนนั้น เพราะปกติเราได้รับรู้และเรียนรู้แต่ประวัติศาสตร์ของชาติ รู้ว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นใคร แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนก่อตั้งหมู่บ้าน ตั้งเมื่อไร ปู่ย่าตาทวดมาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร เพราะถูกครอบงำจากอำนาจรัฐที่ต้องการให้คนมีประวัติศาสตร์เดียว มีรูปแบบเดียวในจารีตประเพณี วิถีวัฒนธรรม เพื่อจะได้ปกครองง่าย ครอบงำง่าย

ท่าแร่เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกือบ 140 ปี มีการบันทึกไว้โดยมิชชันนารีอย่างละเอียด เชื่อถือได้ดีที่สุด แม้แต่วันเกิดของพ่อยังต้องไปค้นที่บัญชีที่วัด เพราะพ่อไม่มี “สูติบัตร” ไปดูบัญชีวัดจึงชัดเจนว่าเกิดวันเดือนปีอะไร รับศีลล้างบาปวันไหน ใครทำพิธี เพราะเขียนไว้ในสมุดบันทึกทะเบียนวัน เย็บสันปกแข็ง สภาพสมบูรณ์

เรื่องราวสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ยังต้องไปดูที่บันทึกของฝรั่งที่มาอยู่ในสยาม ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์จึงมีการบันทึกไว้โดยมิชชันนารีตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ประมาณปี 1555 ที่มิชชันนารีกลุ่มแรกจากสเปนและปอร์ตุเกสเข้ามากรุงสยาม สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ไม่นานก็ออกไป กลับเข้ามาอีกทีร้อยปีให้หลัง

พ่อต้องเขียนเล่าย้อนหลังไปไกล เพราะ “รากเหง้า” ของเราเกี่ยวข้องกันหมด อยากเข้าใจวันนี้ต้องกลับไปดูวันโน้น เหมือนที่นักปรัชญาเยอรมันบอกว่า อยากเข้าใจโลกปัจจุบันต้องกลับไปเรียนรู้ว่า 2,500 ปีก่อนเกิดอะไรขึ้น เขาหมายถึงปรัชญากรีก ที่เปลี่ยนวิถีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันตกและโลก เปลียนวิธีคิด วิธีมองโลกมองชีวิต มองประวัติศาสตร์

ประมาณปี 1662 มิชชันารีฝรั่งเศสเข้ามาในกรุงสยาม ที่อยุธยา ในยุคของพระนารายณ์ ส่วนที่ฝรั่งเศสเป็นยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ครองราชย์นานมากและผู้ก่อสร้างพระราชวังแวร์ซายที่ยิ่งใหญ่ มิชชันนารีคณะนี้เรียกว่า “คณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส” (MEP) คือคณะที่มาก่อตั้งท่าแร่ คณะที่เป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนและสอนภาษาต่างๆ ให้พ่อนั่นแหละ

มิชชันนารีอีกคณะหนึ่งที่ตามมา คือ คณะเยซุอิต ซึ่งเป็นนักวิชาการ มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ ในตะวันตก จึงได้เป็นที่ปรึกษาให้พระนารายณ์ และเป็นผู้ประสานให้เกิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส นำคณะราชทูตไทยไปฝรั่งเศส คงจำชื่อ “โกษาปาน” ได้

คณะเยซุอิต เป็นคณะนักบวชที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกกว่า 15,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษา โรงเรียนประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัยที่มีกว่า 100 แห่งที่ล้วนมีชื่อเสียงทั้งสิ้น ลูกคงหาข้อมูลได้ในกูเกิ้ล

ที่ต้องเขียนถึงคณะเยซุอิต เพราะพ่อรู้จักและสนิทกับคุณพ่อเยซุอิตที่บ้านเซเวียร์ ที่กรุงเทพฯ และที่สวนเจ็ดรินที่เชียงใหม่ ที่ซึ่งเราไปวัดวันอาทิตย์กันทั้งสองแห่ง ที่สำคัญ พ่อเรียนจบปริญญาเอกที่มิวนิก ที่สถาบันปรัชญาของคณะเยซุอิต ที่ซึ่งมีนักปรัชญาและนักเทวศาสตร์คนสำคัญที่สุดในยุคนี้อย่างคุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ประจำในบั้นปลายชีวิตของท่าน

พ่อโชคดีที่ได้ไปเรียนที่นั่น ทำให้ได้คุ้นเคยกับนักคิดนักปรัชญาคนสำคัญอีกหลายคน อย่างคุณพ่อฮันส์ คุง (Hans Kung) ที่มหาวิทยาลัยทือบิงเก้น ทางใต้ของเยอรมัน คนที่เป็นเพื่อนอาจารย์กับคุณพ่อโยเซฟ รัตซิงเกอร์ ซึ่งต่อมาได้เป็นสังฆราชและคาร์ดินัลของมิวนิกตอนที่พ่อไปเรียนที่นั่นพอดี และต่อมาได้เป็นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 17

เมื่อฮันส์ คุงมาเมืองไทย ได้ขอให้พ่อพาไปพบท่านพุทธทาสที่สวนโมกช์ สนทนากันอยู่สองวัน จากนั้น ท่านก็ส่งหนังสือมาให้พ่อเกือบทุกเล่ม ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน ท่านขอให้พ่อเขียนบทความเกี่ยวกับศาสนสัมพันธ์ไปลงวารสาร Concilium ที่มีชื่อเสียง ที่ท่านเป็นบรรณาธิการร่วมอยู่

พ่อเล่าเรื่องของท่านเพราะท่านเป็นนักคิดที่ก้าวหน้าและนอกกรอบมาก จนวาติกันห้ามสอนเทวศาสตร์ไม่ว่าที่ใดในโลก เพราะท่านตั้งคำถามว่าพระสันตะปาปาพลาดพลั้งไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นไปได้อย่างไร รวมทั้งแนวคิดเรื่องพระศาสนจักรและอีกหลายเรื่อง ซึ่งพ่อก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับท่านหลายครั้ง

คุณพ่อฮันส์ คุง เป็นที่ปรึกษาที่อายุน้อยที่สุดในสังคายนาวาติกันที่สอง (1963-1965) ในบรรดาที่ปรึกษาคนสำคัญก็มีคุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ และคุณพ่อโยเซฟ รัตซิงเกอร์ด้วย ลืมบอกไปว่า คุณพ่อคุง และรัตซิงเกอร์ไม่ได้เป็นเยซุอิต เป็นพระสงฆ์พื้นเมือง คือสังกัดสังฆมณฑล

คนที่เป็นเยซุอิตวันนี้ที่ใครๆ รู้จัก คือ พระสันตะปาปาฟรันซิส เยซุอิตคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา คณะนี้ก่อตั้งมาเมื่อปี 1540 โดยนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลา และนักบุญฟรันซิส เซเวียร์

คุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 1984 คุณพ่อฮันส์ คุง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อายุ 93 ปี พ่อไปเยี่ยมท่านครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1991 (2534) ที่พ่อพาวง “ร้อยมาลัย” ไปร่วมรณรงค์เทศกาลมหาพรต และนำลูกโดมไปส่งที่โรงเรียนประจำที่พัสเซาด้วย ที่ไปเยี่ยมท่านที่ทือบิงเก้น ท่านดีใจมาก

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ 9/12/22

คุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ S.J. คุณพ่อฮันส์ คุง
คาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ แห่งมิวนิก (ต่อมาเป็นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) กับคุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์
คุณพ่อฮันส์ คุง กับพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในอดีตเคยเป็นเพื่อนอาจารย์ที่ม.ทือบิงเก็น
วัดเก่าท่าแร่
งานฉลองที่วัดเก่าท่าแร่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com