บทเรียนชีวิต (๖)

บทเรียนชีวิต (๖)

ฉบับที่ ๖ “แม่”

ลูกรัก

คนสมัยก่อนมีลูกมากเพื่อจะได้มีแรงงานในการทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำเกษตร เป็นสังคมยังชีพ ที่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เงิน แต่เป็นข้าว ใครมีข้าวก็มีความมั่นคง ต่อมาเป็นยุคอุตสาหกรรม เงินสำคัญที่สุด อยากได้ข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ก็ไปซื้อจากตลาด ไม่ต้องออกแรงทำเองก็ได้ ทำให้ผู้คนหาเงินกันเอาเป็นเอาตาย หลายคนก็ตายตามความตั้งใจ

ฐานะคนสมัยก่อนเขาวัดกันที่ยุ้งข้าว ใครมียุ้งข้าวใหญ่ๆ ใครๆ ก็อยากยกลูกสาวให้ เพราะมั่นใจว่าเขาจะเลี้ยงดูลูกสาวตนเองได้ ไม่ตกทุกข์ได้ยาก อาหารการกินสมัยก่อนหาได้ง่ายจากธรรมชาติ อยากกินเห็ดเข้าป่า อยากกินปลาลงหนองลงห้วย ผักผลไม้ก็หาได้ตามป่า หรือปลูกไว้เล็กน้อยตามสวนก็เพียงพอ

พ่อเกิดมาในช่วงต่อระหว่างสังคมเกษตรกับอุตสาหกรรม สังคมเก่ากับสังคมใหม่ เห็นภาพเสี่ยวของพ่อที่เป็นชาวโส้ที่บ้านนาเพียง มีนาแปลงใหญ่ มีวัวควายฝูงหนึ่ง มีความมั่นคงมาก ขณะที่พ่อแม่ของตัวเองมีโรงสีเล็ก มีร้านค้าโชห่วยเล็กๆ ยังไงก็มั่นคงสู้พ่อเสี่ยวไม่ได้ เวลาผ่านไปลูกหลานของพ่อเสี่ยวก็ยังสืบทอดมรดกของพ่อแม่มาจนถึงทุกวันนี้ ยังทำนา เลี้ยงวัว มีบ่อปลา ทำเกษตรผสมผสาน ไม่ได้พึ่งอาหารจากธรรมชาติเท่าเมื่อก่อน เพราะค่อยๆ ลดลงหรือหลายอย่างหมดไปแล้ว

ย่าเล่ารายละเอียดอีกมากเกี่ยวกับการคลอดลูก การเลี้ยงลูก รวมทั้งการกินการอยู่ ย่าสอนว่า ให้กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำว้าบำรุงกำลัง โดยย่าให้ลูกกินกล้วยด้วยการขูดเอามาผสมกับข้าว หมกไฟมาป้อนลูก กล้วยมีสรรพคุณอาหารสูงมาก ย่าบอกว่า ถ้าไม่กินกล้วยหลังอาหารก็เหมือนกินข้าวไม่แล้ว ไม่เสร็จไม่จบ ไม่ครบอะไรแบบนั้น

ตอนที่เราอยู่เชียงใหม่ ปู่กับย่าไปเยี่ยมครอบครัวเรา จำได้ไหม วันหนึ่งเราพาท่านไปทานข้าวที่เฮือนสุนทรี ของคุณสุนทรี เวชานนท์ ริมแม่น้ำปิง บรรยากาศดีมาก มีเพลงของคุณจรัล มโนเพชร ที่คุณสุนทรีและคนอื่นขับร้องอย่างไพเราะ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ย่าควักเอากล้วยออกมาจากกระเป่าเสื้อชั้นใน ที่คนโบราณเขายังสวมใส่กัน ย่าเอามาด้วยสองลูก ให้ปู่และตนเอง

ลูกทั้งสองหัวเราะลั่น บอกว่า มากินข้าวร้านใหญ่ย่ายังเอากล้วยมากินด้วย ย่ายิ้ม ตอบเขินๆ ว่า “ก็เขาไม่มีให้กินไงลูก ขึ้นเครื่องบินย่ายังเอาขึ้นไปกินด้วยเลย”

วันหนึ่งเราพาปู่กับย่าไปที่กาดสวนแก้ว ไปเดินดูร้านรวง แล้วไปนั่งกินไอศกรีมที่ร้านสเวนเซ่น ลูกเป็นคนจัดการสั่งให้ตนเองและให้ปู่ย่า สั่งแบบถ้วยใหญ่ด้วย แบบหวังว่า ถ้ากินไม่หมดจะได้ช่วย แต่กินไปพักเดียว เหลียวไปดู เห็นถ้วยของปู่ย่าหมดเกลี้ยงแล้ว ดูท่านชอบไม่น้อย เพราะไม่เคยได้กินไอศกรีมแบบนี้

จากนั้นเราก็เดินจากชั้นสองลงมาชั้นล่างโดยใช้บันไดเลื่อน เราลงไปถึงข้างล่าง หันไปไม่เห็นย่า ปรากฎว่าย่ายังอยู่บนสุด ไม่ได้ลงมา ย่าไม่เคยลงบันใดเลื่อน ไม่กล้า เราต้องกลับไปช่วยย่าลงมา

ลูกคงคิดไม่ออกว่า ย่าเลี้ยงลูกมากมายหลายคนได้อย่างไร ลูกๆ โตขึ้นมาต่างก็ช่วยกันทำงานบ้าน ช่วยเลี้ยงน้อง ดูแลน้อง ป้าจุ้ด พี่สาวคนโตของพ่อ เป็นคนดูแลพ่อ ป้อนข้าวพาไปเที่ยวไปเล่นนอกบ้าน ป้าจิว ป้าน้อยก็ชวยดูแลอาแดง อาติ๋ว อานาง

พ่อมีพี่สาวสามคน น้องสาวสามคน ก่อนที่จะมีน้องชายสองคนเกิดมา ช่วงหนึ่งของชีวิตจึงเป็น “พระเอก” ในบ้าน หลานคนโปรดของย่ากับยาย ด้านหนึ่งก็ถูกตามใจ ย่ามใจ เหลิง ทำให้หลายครั้งดื้อ ซน ไม่เกรงใจพี่น้อง ถูกย่าทำโทษหลายครั้ง ที่คุ้นเคยก็ไม้เรียว แต่ก็คงไม่ได้ตีแรงอะไร เพราะจำความเจ็บไม่ได้ เมื่อแม่ทำงานหนัก เหนื่อย เครียด แล้วมีลูกซน ดื้ออีก ก็สมควรแหละนะ

ตอนที่ปู่ย่าไปทำงานที่บ้านนาเพียง ยายของพ่อ (ยายทวดของลูก) มานอนที่บ้านเพื่อช่วยดูแลหลานๆ ท่านตื่นตั้งแต่ตีห้าเมื่อได้ยินเสียงระฆัง “พรหมถือสาร” ยายทวดปลุกพ่อให้ไปวัดด้วยกัน ไปถึงวัดยังไม่เปิดก็มี หน้าหนาวก็ยืนรอหน้าประตู บางวันหนาวมากก็เอาผ้าห่มไปด้วย ที่หน้าประตูวัดมักจะพบแม่ของพระคุณเจ้าเกี้ยนกับอาคม หลานของท่าน ลูกกำนันกิ่ม พี่ชายของพระคุณเจ้าเกี้ยน อาคมกับพ่อเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน

เมื่อยายทวดปลุกตีห้าไปวัดด้วยกัน พ่อก็ไม่เคยขัดขืนหรือไม่พอใจอะไร ทำให้ผู้ใหญ่บอกว่า โตขึ้นให้ไปบวช พูดบ่อยๆ เข้า เราก็คงซึมซับเรื่องนี้และสมัครเข้าบ้านเณรเมื่ออายุ 10 ขวบ และในปีแรกก็ไม่ได้กลับบ้านตอนที่ยายทวดถึงแก่กรรม ไม่ได้ไปร่วมงานศพท่านด้วย ก็แปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมไม่มีใครไปขอผู้ใหญ่ที่บ้านเณรให้พ่อกลับบ้านไปงานศพยายทวด ที่พ่อก็สนิทกับท่านไม่น้อย

แต่คนที่สนิทกับยายทวดมากที่สุดคงเป็นพี่สาวของพ่อ คือป้าจิวของลูก ที่ไปอยู่กับท่าน ช่วยงานบ้านเพราะยายทวดอยู่คนเดียว ต่อมาก็มีพี่พา ซึ่งเป็นญาติ บ้านอยู่ใกล้กัน มาอยู่ด้วยจนยายทวดเสีย

ยายทวดแต่งงานกับตาทวด คือนายเฮียน (เล็ก) มีลูกสองคน คือลุงฝ้ายกับแม่คำปุน ตาทวดถึงแก่กรรมอายุไม่มาก พ่อไม่ทันได้เห็นท่าน จากนั้นยายทวดก็แต่งงานใหม่กับนายสุข ที่เราเรียกว่าองสุข พ่อยังทันได้เห็นท่าน จำได้แบบเลือนลางเพราะยังเล็กมาก องสุขเป็นคนเชื้อสายโส้ มีลูกกับยาย 3 คน หญิงสองชายหนึ่ง ญาติพี่น้องทางแม่ของพ่อจึงดูมีน้อยกว่าทางพ่อของพ่อ แต่ถ้านับจริงๆ ก็อาจมากกว่า เพราะต้องย้อนไปที่นายหนูกับางหนูนา ต้นตระกูลศรีวรกุล และลูกหลานจำนวนมาก ซึ่งพ่อจะเล่าในจดหมายฉบับต่อๆ ไปว่ามีใครบ้าง

นอกจากเลี้ยงลูก ทำงานบ้านเหมือนเป็นผู้จัดการใหญ่ในบ้าน ย่ายังช่วยทำงานหาเงินช่วยปู่ ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง เพราะที่บ้านมีรำ ย่าไปซื้อของจากตลาดเมืองสกลมาขายที่บ้าน เป็นร้านเล็กๆ ที่มีของไม่กี่อย่าง ที่พ่อช่วยขายก็มีน้ำมันก๊าซ ที่ใช้จุดตะเกียง เพราะตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ต่อมาถึงมีก็ไม่กี่บ้าน เพราะเป็นไฟฟ้าของลุงผล

นอกจากน้ำมันก๊าซก็มียาเส้นที่ทำเป็นก้อน ขายก้อนเท่าไรก็จำไม่ได้ มีไม้ขีดไฟ กระบองหรือขี้ใต้สำหรับจุดไฟ มีเทียนไขขายเป็นห่อ มีข้าวสารขายเป็นกิโล นอกนั้นก็จำไม่ได้ว่ามีอะไร คงเป็นของใช้ประจำวันที่จำเป็น พวกขนมของกินเด็กนั้นไม่เคยเห็น เพราะเอามาขายสงสัยลูกหลานกินหมด

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ 22/11/22

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com