บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)

บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)


 East-West Center : จุดบรรจบโลกตะวันออก-ตะวันตก

พรมแดนแผ่นดินมิอาจเชื่อมต่อ
หากทว่าแผ่นฟ้าผืนน้ำย่อมมีหัวใจ
ปลดปล่อยจิตวิญญาณที่คับแคบ
เปิดประตูสัมพันธ์ให้กว้างและลึกดุจดั่งมหาสมุทร

Way : วิถี

แรกสัมผัสโอบอุ่นความเป็นบรูไน (Negara Brunei Darussalam) ในแสงโพล้เพล้ริมฟุทบาทหน้าตลาดสด ท่ามกลางกองผลไม้หลากสีหลายชนิดวางเกลื่อนกลาด ทั้งทุเรียน มังคุด จำปาดะ เงาะ ลางสาด ฯลฯ ประกอบกับการสนทนาพาทีด้วยภาษามลายูของผู้คนรายรอบ แม่ค้าส่วนใหญ่สวมฮิญาบขับใบหน้าให้ดูเด่น ส่วนชายก็สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันและลวดลายสะท้อนถึงความเป็นมลายู

นั่นทำให้โดยทันที ข้าพเจ้าให้หวนคิดถึงบรรยากาศที่บ้านเกิด “ดุซงญอ-นราธิวาส” รวมถึงอีกหลายตลาดนัดชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีลักษณะแวดล้อมคล้ายคลึงกัน

“ดูเรียน อีซี แมเราะห์” ข้าพเจ้าเอ่ยกับแม่ค้าผลไม้ ขณะชี้นิ้วหัวแม่มือไปยังกองทุเรียนพื้นถิ่นซึ่งถูกถักร้อยเข้าพวงอย่างสวยงาม แทนที่จะใช้นิ้วชี้ตามปกติวิสัย ตั้งใจหมายความถึง “ทุเรียนเนื้อแดง” ของแปลกใหม่ซึ่งเพิ่งเคยได้ยินเมื่อไม่นานมานี้จากข่าวคราวที่มีการนำเสนอตามสื่อต่างๆ กระทั่งมีโอกาสได้มาเห็นมาชิมรสชาติจริง เพราะหลังเอ่ยคำภาษามลายู “เนาะบือรีเดาะห์ เตาะฮ์มาฮา” จากแม่ค้าใจดีที่สื่อสารกลับมาพร้อมรอยยิ้มเต็มแก้มอิ่ม

เธอบอกว่าราคาไม่แพงหรอก สนใจลองดูไหม เพื่อนร่วมเดินทางตกลงซื้อมาลองชิม ปรากฏว่ารสชาติค่อนไปทางจืด ไม่หวานมันเหมือนทุเรียนทั่วไปที่เคยได้ลิ้มรส

ปล่อยสายตามองจากจุดยืนริมฟุทบาท พื้นที่ด้านหลังติดกันคือลำคลองใหญ่เชื่อมสู่บริเวณปากแม่น้ำบรูไน มีสะพานทอดข้ามสู่พื้นที่ใจกลางตลาด Tamu Kianggeh ส่วนสภาพที่อยู่อาศัยเท่าที่ตาเห็น มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้นเป็นส่วนใหญ่ แซมปนด้วยอาคารสูงบ้าง และมีร่มไม้ดกปรกใบเขียวปกคลุมทั่วทั้งเมือง

หลายคนอาจสงสัยที่ข้าพเจ้าสื่อสารภาษามลายูพอได้บ้าง นั่นเพราะถิ่นเกิดข้าพเจ้าอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นมลายูสูงยิ่ง จึงทำให้ได้สัมผัสได้เรียนรู้ซึมซับภาษาและวัฒนธรรมมลายูอยู่ในสายเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำไมถึงใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นสัญลักษณ์การสื่อสารแทนที่จะใช้นิ้วชี้ นั่นเพราะธรรมเนียมการชี้นิ้วทั้งที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือบรูไน ดูแล้วคล้ายคลึงกันอยู่ คู่เจรจาจะใช้นิ้วหัวแม่มือแทนนิ้วชี้ หากใครใช้นิ้วชี้ ถือว่าเป็นความไม่สุภาพอย่างยิ่ง

บางคนวิเคราะห์ไปไกลถึงขนาดว่า นั่นเป็นเพราะผู้คนในประเทศเหล่านี้เคยตกอยู่ในอิทธิพลหรืออาณานิคมทั้งของฝรั่งต่างชาติหลายสัญชาติ ทั้ง สเปน อังกฤษ ฮอลแลนด์ โปรตุเกส  และรวมถึงญี่ปุ่น จึงไม่ชอบการ “ชี้นิ้ว” ซึ่งเสมือนบาดแผลของความทรงจำที่เคยถูกใช้อำนาจมาสั่งมาบีบบังคับกันอีก

ภาษาพูด พฤติกรรม หรือลักษณะนิสัยหลายอย่าง เป็นสิ่งสะท้อนความเป็น “ชาติพันธุ์มลายู” ที่มีประวัติศาสตร์อันโออ่า นอกเหนือจากศิลปวัฒนธรรม ประเพณี หลายประการที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ผูกพันผู้คนในหลายพื้นที่เข้าด้วยกันแบบไม่มีเส้นพรมแดนแผ่นดินแบ่งแยก

สัมผัสบรรยากาศยามเย็นหน้าตลาดสดที่ผู้คนพลุกพล่านพอควร ทว่าเมื่อล่วงสู่ยามค่ำคืน ท่วงทำนองบรูไนกลับเคลื่อนไหวอย่างเนิบช้า แต่โอ่อ่าขรึมขลัง ท่ามกลางความสงบเงียบ ถนนหนทางโล่งสะอาดสะอ้านสบายตา รถราวิ่งกันในจำนวนน้อยมากและสุภาพเป็นยิ่ง ขนาดชะลอและหยุดให้คนข้ามถนนตั้งแต่ระยะไกล ส่วนอาคารบ้านเรือนยังคงกุมสภาพความเก่าแก่เอาไว้สลับกับความทันสมัยแห่งยุคสมัย

หลังพากันทานอาหารในย่านใจกลางเมืองไม่ไกลจากที่พักแล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนร่วมทาง มีโอกาสเดินทางไปสัมผัส มัสยิดสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน (The Sultan Omar Ali Saifuddien Mosque) ศูนย์รวมจิตวิญญาณชาวมุสลิมบรูไน มองเห็นแสงเหลืองทองมลังเมลืองแต่ไกล ณ ใจกลางเมืองหลวงบันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) ติดแม่น้ำบรูไนแสนกว้างใหญ่ เปี่ยมชีวิตชีวา

ความยิ่งใหญ่ของ มัสยิดสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน หรือ “ทัชมาฮาลแห่งบรูไน” เท่าที่ได้สัมผัสผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าสวยงามโดดเด่นมากสุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนอดีตอันเกรียงไกรของบรูไน ผ่านเจ้าผู้ปกครองคนสำคัญ ชื่อมัสยิดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ สุลต่าน โอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ ๒๘ ของบรูไน

สิ่งที่ตั้งตระหง่านบนยอดสูงสุด คือ “โดมทองคำ” สะท้อนแสงแพรวพราวระยิบตา ภายในประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนและกระเบื้องสี ผสมผสานกันระหว่างงานสถาปัตยกรรมแบบอิสลามกับอิตาลี ออกแบบโดยศิลปินชาวอิตาลีนาม Cavalierre Rudolfo Nolli จุดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ การเว้นพื้นที่ด้านหน้ามัสยิดให้เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีการจำลองเรือพระราชพิธีมาประดับพื้นที่ว่าง ทำให้เกิดแสงเงามัสยิดทาบทาพลิ้วไหวอยู่บนผิวน้ำทั้งกลางวัน-กลางคืน ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมทางเดินวนเวียนหามุมถ่ายภาพมิรู้เบื่อ กระทั่งหมดแรงไปตามๆ กัน จึงหาทางเดินทางกลับที่พัก

ค่ำคืน ณ The Brunei Hotel ใจกลางเมืองหลวงสงบเงียบ ข้าพเจ้านอนหลับสนิทผ่านความเหนื่อยอ่อน แต่ก็ฝันกระเจิดกระเจิงด้วยความตื่นเต้นในภูมิทัศน์แปลกใหม่รอบตัว

นับเป็นค่ำคืนแรกค่ำที่แสนเงียบเหงาในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน นครหลวงของประเทศบรูไน หรือ เนการาบรูไนดารุสซาลาม เขตอำเภอบรูไน-มัวรา ด้วยมีประชากรอยู่อาศัยประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ในพื้นที่ประมาณ ๕๗๐ ตารางกิโลเมตร หรือจะว่าไปแล้ว เทียบกับทั้งประเทศบรูไนก็มีจำนวนประชากรเพียงประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คนเท่านั้น ถือเป็นประเทศขนาดเล็กประเทศหนึ่งทีเดียวเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ณ ที่แห่งนี้เป็นแผ่นดินที่ไม่มีเหล้า บุหรี่ ขายในที่สาธารณะ ต้องห้ามอบายมุขทุกชนิด ในฐานะประเทศที่ถูกปกครองภายใต้กฎหมายอิสลาม หรือหลักชารีอะฮ์

เช้าชื่นทักทายพร้อมกับความสดใส ทอดสายตาจากมุมหน้าต่างไปยังภูมิประเทศรอบข้าง เห็นลำคลองเชื่อมสู่แม่น้ำบรูไน กำลังค่อยๆ ตื่นจากหลับใหล สรรพสิ่งเริ่มเคลื่อนไหว… ผสมผสานไปด้วยกันอย่างลงตัว ระหว่างวิถีใหม่และวิถีเก่า…

Related Posts

เข้าพรรษาที่เชียงคาน
มาเป็นนักดื่มฝันกับฉันไหม
ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด : ปราชญ์ผู้นำอนุรักษ์จุดประทีปตีนกาของเมืองกาญจน์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com