เข้าพรรษาที่เชียงคาน

เข้าพรรษาที่เชียงคาน

 ๑. ครอบครัวพร้อมหน้า


ครอบครัวพร้อมหน้า

                  นานแล้ว…นานจนลืมหลังว่า  ผมกับครอบครัว เคยไปเที่ยวด้วยกันครั้งสุดท้ายเมื่อใด  ถ้าจะ

ให้เดา ก็คงราวๆ เกือบ ๑๐ ปีเห็นจะได้

                  คราวนั้นลูก ๆ ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ส่วนพ่อกับแม่ ก็ยังหนุ่มพราวสาวเพรียว  ขนาดเดินขึ้นกำแพงเมืองจีนที่สูงชันได้อย่างสบาย  ใช่แล้วครับ ! พวกเราไปเที่ยวเมืองจีนด้วยกัน

                  วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วราวกับติดปีกบิน สังขารย่อมร่วงโรยไปตามกาล ลูกๆ ต่างมีครอบครัว มีลูกเป็นของตัวเอง พ่อกับแม่ก็แปรสภาพเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ไปตามระเบียบ

                  ด้วยภาระหน้าที่การงาน ทำให้ครอบครัวของเราห่างเหินกันไปบ้าง  แต่ก็ยังมีโอกาสได้พบหน้า

ค่าตากันอยู่ถึงแม้จะไม่บ่อยนักก็ตาม  

                 “ความรัก ความเข้าใจ” ยังเป็นสายใยฟั่นครอบครัวของเราให้แน่นแฟ้น และอบอุ่นอยู่เสมอ  ถึงจะไม่ได้พบหน้ากันบ่อยครั้ง แต่พวกเราก็ติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์ ทางไลน์ทุกวัน  

                 ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาย  กว่าจะรู้ข่าวสารข้อมูลซึ่งกันและกันก็นานโข  แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำยุคล้ำสมัย แค่ปลายนิ้วแตะที่หน้าจอก็สามารถเห็นภาพ เห็นหน้า พูดคุยสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว แม้จะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม

                  พูดถึงเทคโนโลยีที่ล้ำยุคล้ำสมัยแล้ว ก็อดเป็นห่วงลูกหลานไม่ได้ เพราะอะไรที่มีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นกัน  เด็ก ๆ สมัยนี้ อายุ ๒- ๓ ขวบ พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ทิ้งโทรศัพท์มือถือให้ดู ให้เล่นเกม จนติดงอมแงมยิ่งกว่าติดยาบ้า ยาอี ยาไอซ์  ไม่อยากกินข้าวกินน้ำ ไม่ให้เล่นก็กระจองอแงจะเป็นจะตายให้ได้

                  ต่อไปไม่แน่ อาจจะถูกเปรียบเปรยว่า เหมือนติดกัญชาก็อาจเป็นได้ เพราะนโยบายปลูกกัญชาเสรี ของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง กำลังจะถูกผลักดันให้ถูกต้องตามกฎหมาย  โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  แต่เอาเข้าจริงแล้วเกรงว่าจะควบคุมการปลูกและการผลิตไม่ได้ ผลร้ายก็จะตามมา นั่นคือจะมีคนลักลอบปลูก ลักลอบค้า และเสพกัญชาเพิ่มขึ้น  เล่นกับพี่ไทยหัวเซียงเมี่ยงสิ  เฮ้อ ! พูดไปสองไพเบี้ย

นิ่งเสียตำลึงทอง

                  เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๖ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา เป็นช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ลูก ๆ หลาน ๆ ได้มารวมพลกันที่บ้าน

                 ลูกชาย – ลูกสะใภ้ เดินทางมาจากอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมกับหลานชาย (แฝด)

ส่วนลูกสาว เดินทางมาจากอำเภอพุทไธสงค์ จังหวัดบุรีรัมย์  ลูกเขยและหลานชายอีกคนไม่ได้มาด้วย

                “พ่อคะ…เทศกาลวันเข้าพรรษานี้  เราไปเที่ยวไหนดีคะ? ” ลูกสาวเปิดประเด็นขึ้น ขณะเตรียมรับประทานอาหารเที่ยง 

                “ผมว่า เราไปเที่ยวเชียงคานดีไหมครับพ่อ” ลูกชายซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ ชิงตอบ

                “แม่เห็นด้วย” ภรรยาสอดเสียงสนับสนุนมาจากในครัว เรื่องพรรค์นี้เธอหูดีนักแล

                “แม่อยากไปนานแล้ว”

                “แม่จะไปเชียงคาน พ่อว่าไงคะ?” ลูกสาวหันมาถามความเห็น  ผมครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนตอบ

                “ตามใจแม่แล้วกัน”

                “Yes !” ลูกสาวตะโกนเป็นภาษาต่างด้าวอย่างดีใจ

                จะว่าไปแล้วในใจลึก ๆ ผมเองก็อยากไปเที่ยวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เหมือนภรรยาเช่นกัน

เคยเห็นแต่ในข่าว ในเฟซบุ๊กที่เพื่อน ๆ ไปเที่ยว และโพสต์ภาพสวย ๆ ให้ดู คิดว่าสักวัน…ถ้าไม่ตายเสียก่อน

คงได้ไปเห็นกับตาสักครั้ง และแล้ว…วันนี้ก็มาถึง

                “งั้น…ทานข้าวเสร็จ เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า บ่ายสามออกเดินทาง ไปพักที่อุดรหนึ่งคืน

 พี่ชายโทรจองที่พักได้เลย”  ลูกสาวสรุป ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน  

                 ๑๕.๐๐ น. ตรงเผ๋ง !!….รถแวนคู่ใจสองคันก็เคลื่อนขบวนออกจากที่พัก คันที่ ๑ มีลูกชายรูปหล่อ

เป็นโชว์เฟอร์ โดยมีลูกสะใภ้และหลานชายแฝดนั่งไปด้วย  คันที่สองลูกสาวคนสวยเป็นพลขับ  ผบ.ทบ. (ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) นั่งเบาะหน้า  ส่วนผมนั่งเบาะหลัง ร่วมกับกระเป๋าสัมภาระเต็มท้ายรถ

                 เราขับรถไปตามถนนนิตโย หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ สายอุดรธานี – นครพนม เป็นทางหลวงแผ่นดินแนวตะวันตก –  ตะวันออก เชื่อมต่อจังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม

เข้าด้วยกัน และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย ๑๕

     ถนนนิตโย เริ่มจากบริเวณห้าแยกวงเวียนน้ำพุ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนทหาร ถนนอุดรดุษฎี

ถนนอดุลยเดช และถนนโพศรีทั้งฝั่งทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของวงเวียน (ถนนทหาร และถนนอุดรดุษฎี)  เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีเส้นทางไปทางทิศตะวันออก ผ่านเทศบาลตำบลหนองบัวในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ผ่านอำเภอหนองหาน อุทยานประวัติศาสตร์บ้านเชียง และเข้าสู่เขตจังหวัดสกลนครที่อำเภอสว่างแดนดิน ผ่านอำเภอสว่างแดนดิน 

อำเภอพังโคน  อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมืองสกลนคร เทศบาลตำบลท่าแร่ อำเภอกุสุมาลย์ และเข้าสู่เขตจังหวัดนครพนม ที่อำเภอเมืองนครพนมไปบรรจบเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ (ถนนสุนทรวิจิตร) ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๒๔๐.๗๔๖ กิโลเมตร

    ถนนนิตโย เดิมมีชื่อเรียกว่า  “ทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-ธาตุนาเวง-นครพนม” ได้รับการตั้งชื่อดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายโสภณ นิตตะโย อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางชุมแพ

              ออกจากตัวเมืองสกลนคร ขับรถเลยผ่านหน้าโรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา ไปประมาณ ๑๐๐ เมตร  

ถนนจะเป็นสี่ช่องจราจร เราขับตามหลังกันไปด้วยความเร็ว ๖๐-๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ปฏิบัติตามป้ายเขตตรวจจับความเร็วที่ติดตั้งไว้เป็นระยะ ๆ ยวดยานพาหนะวิ่งต่อกันเป็นแพยาว เต็มท้องถนน บ่งบอกถึง

ความแออัดของการจราจร ทั้งขาเข้าและขาออกของถนนนิตโย


ถนนนิตโย จากสกลนคร-อุดรธานี


(ภาพจากเพจ สกลนครซิตี้)


              ผมกับครอบครัวไม่รีบร้อนนัก กะว่าจะไปให้ถึงอุดรธานีประมาณ ๑๗ นาฬิกาเศษ ๆ หาที่พัก

หลับนอนให้สบาย ๆ อารมณ์ ก่อนจะออกเดินทางไปจังหวัดเลย และอำเภอเชียงคานในวันรุ่งขึ้น

              ระยะทางจากสกลนครถึงอุดรธานี ๑๕๙ กิโลเมตร  ขับรถประมาณสองชั่วโมงก็ถึง ถนนจากอำเภอพังโคน ถึงอำเภอสว่างแดนดิน กำลังก่อสร้างให้เป็นถนน ๔ ช่องจราจร ดังนั้นการ

ขับรถจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีรถวิ่งพลุกพล่าน บางช่วงติดกันเป็นแพยาวเหยียด แถมมีฝุ่นฟุ้งตลบ  

หากประมาทอาจเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย

              พูดถึงอุบัติเหตุ จากการเปิดเผยของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิต

บนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปี ๒๕๖๐ ปรากฏว่า ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ ๑ ของโลก มีอัตราผู้เสียชีวิต ๓๖.๒ รายต่อแสนประชากร จากเดิมอยู่ที่อันดับ ๒  (อันดับ ๑ คือประเทศลิเบีย)

               ต่อมามีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบว่า ประเทศลิเบียเจ้าของตำแหน่งเดิม มีการสู้รบภายในประเทศ

ทำให้มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขับขี่แต่อย่างใด  ดังนั้นประเทศไทยจึงเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ ๑ แทน ถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีเลย

               ตะวันค่ำคล้อยลอยต่ำลง รถยนต์บนท้องถนนยังวิ่งขวักไขว่ไปมาไม่ขาดสาย รถของเรายังคงวิ่งไปเรื่อย ๆ สองฟากถนนตั้งแต่อำเภอพรรณนานิคม ถึงอำเภอหนองหาน ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา บางทุ่งชาวนาหว่านดำใกล้จะเสร็จ ต้นข้าวกำลังเจริญงอกงามเขียวขจี  บางทุ่งยังไม่มีร่องรอยการปักดำ เนื่องจากขาดน้ำ

บางทุ่งปักดำเสร็จเรียบร้อย  แต่ต้นข้าวยืนตายแห้งเพราะไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง เห็นแล้วอดสงสารชาวนา กระดูกสันหลัง (ผุ ๆ) ของชาติไม่ได้

               แต่ละปีชาวนาจะต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ศัตรูข้าว ถึงแม้รัฐบาล


ต้นข้าวยืนตายแห้งเพราะขาดน้ำ

ทุกยุคทุกสมัยจะยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถแก้ได้  เพราะปัญหา “คอร์รัปชั่น” ความละโมบ

โลภ หลง มันเข้ามาครอบงำจิตใจนักการเมือง และเจ้าของโรงสี คอยเอารัดเอาเปรียบชาวนา เหมือนขูดเลือดกับปู ดังนั้นชาวนาจึงตกเป็นเบี้ยล่างตลอดกาล ไม่มีวันเงยหน้าอ้าปากได้

              เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้กำลังคุกคามไปทุกหย่อมหญ้า  ฝนทิ้งช่วง ทำให้เขื่อนทุกเขื่อน แม่น้ำ

ทุกสายแห้งขอด  โดยเฉพาะแม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนไทยที่อยู่ติดริมฝั่งโขง ที่ไม่เคยเหือดแห้ง แต่มาปีนี้แม่น้ำโขงต้องสะอื้น เพราะจีนและลาว ทำเขื่อนกั้นน้ำไว้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า กอปรกับฝนไม่ตก จึงทำให้แม่น้ำโขงแห้งขอด จนมองเห็นสันทราย เกาะแก่งโผล่ขึ้นมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรื่องนี้คงหนีไม่พ้นรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องแก้ปัญหาต่อไป ไม่เช่นนั้นในอนาคตอาจจะเกิดสงคราม

การแย่งน้ำก็เป็นได้ ใครจะไปรู้?

             นั่งรถมาเพลิน ๆ ปล่อยความคิดล่องลอยไปตามจินตนาการเรื่อยเปื่อย  มองฝ่ากระจกรถออกไปด้านข้าง มองเห็นมวลเมฆสีขาวโพลน ลอยฟ่องล่องลม  อดที่จะแต่งกลอนไม่ได้ จึงหยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาเขียน ตั้งชื่อว่า “ไหมเมฆ”  เอามาฝากคุณผู้อ่านสองบท ดังนี้

ริ้วดอกเมฆเสกระบายที่ปลายฟ้า
แต้มผืนผ้าสีครามงามเฉิดฉัน
ม่านรพีพรายพลุ้งทุ่งตะวัน
ดั่งเพชรพรรณพร่างพร้อยสร้อยสายลม

ธรรมชาติวาดวางอย่างสร้างสรรค์
ทอทุ่งฝันแต่งแต้มแซมผสม
แพรไหมเมฆงามตาน่าภิรมย์
เอกอุดมด้วยศิลป์รินระบาย

              อันที่จริง ผมไม่เก่งเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เท่าไหร่หรอกครับ แต่มีใจรักด้านนี้ จึงพากเพียร

เขียนมาหลายปี แต่ยังต้วมเตี้ยมไปไม่ถึงไหนเลย ส่วนใหญ่จะเป็นกลอนพาไปมากกว่า ไม่ใช่กลอนสร้างสรรค์อย่างกลอนซีไรต์ อ่านแล้วขอร้องอย่าได้หัวเราะเยาะเลยนะครับ

            และแล้ว…พวกเรา ๗ ชีวิตก็มาถึงอุดรธานีโดยสวัสดิภาพ ในเวลา ๑๗.๒๕ น. ตามที่ตั้งเป้าไว้ ตรงดิ่งไปยังที่พัก เป็นโรงแรมระดับ ๕ ดาวแห่งหนึ่ง ในใจกลางเมืองอุดรธานี ซึ่งลูกชายโทรมาจอง และโอนเงินทางโทรศัพท์ให้เรียบร้อย   

             เช็คอินเข้าที่พัก อาบน้ำเปลี่ยนชุดแต่งตัวตามสบาย นอนพักเอาแรงประมาณ ๓๐ นาที  ก่อนพากันออกไปดินเนอร์ที่ร้านอาหารเลิศรสแห่งหนึ่ง ตามประสาครอบครัวเล็ก ๆ แต่อบอุ่น

             จะว่าไปแล้ว จังหวัดอุดรธานี มีที่ท่องเที่ยวมากมาย  ไล่มาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง

ทะเลบัวแดง วัดป่าคำชะโนด  วัดป่าภูก้อน วัดป่าบ้านตาด ภูฝอยลม น้ำตกธารงาม ฯลฯ

            เอาไว้โอกาสหน้า ผมจะนำมาเสนอคุณผู้อ่านในบัญชร “เที่ยวแดนอีสาน”  ให้ครบทุกจังหวัด โปรดอดใจรอ แต่วันนี้ขอนอนพักผ่อนเอาแรงก่อนนะครับ

                                                                       (โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)

อ้างอิง/ภาพประกอบ
เพจสกลนครซิตี้
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
https://th.wikipedia.org/wiki/
https://th.wikipedia.org/wiki/

      



Related Posts

บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)
มาเป็นนักดื่มฝันกับฉันไหม
ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด : ปราชญ์ผู้นำอนุรักษ์จุดประทีปตีนกาของเมืองกาญจน์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com