“บักหุ่ง” – “ตำบักหุ่ง”
เวลากินตำบักหุ่ง หรือแม่เห็นคนอื่นกินยิ่งเห็นคนค้าคนขายด้วยแล้ว เกิดความรู้สึกยกย่องเยินยอ “บักหุ่ง”
“บักหุ่ง ” พืชพื้นถิ่นแถบอเมริกากลางโน้นอพยพแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก เพิ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อ
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง ครั้นเมื่อเดินทางถึงภาคอีสาน “บักหุ่ง” ผูกเสี่ยวกับปลาแดกแล้ว ไม่
เคยแยกจากกันอีกเลย เป็นคู่ฮักแพงทุกมื้ออาหาร แถมเป็นของว่างได้ทั้งยามเช้ายันคํ่าคืนดึกดื่น
“หุ่ง” มาจาก “ฮุ่งเฮือง” (รุ่งเรือง) ด้วยแรกเกิดมีบักหุ่ง ใครปลูกไว้ได้ผลสุกนำไปถวายเจ้านาย เขาผู้นั้นจะได้รับความเมตตาเอ็นดูเป็นพิเศษ ได้ปูนบำเหน็จรางวัลและยศถา หมากไม้นี้จึงได้ชื่อว่า “บักหุ่ง”
“บักหุ่ง” หว่านเมล็ดปลูกทิ้งปลูกขว้างที่ไหนก็เกิด ซื้อขายกันก็ถูก “ตำบักหุ่ง” เข้ากันดีกับข้าวเหนียวนึ่งใหม่ร้อน ๆ เคี้ยวข้าวนุ่มหวานคลุกเคล้าเข้ากับรสฝาดคาวเค็มส้มเผ็ดจึงแซบได้ใจ คุณค่าอาหารจากส่วนประกอบของเครื่องปรุง ผักแกล้มและเครื่องเคียง มีครบทุกวิตามิน
การเข้าถึงรสชาติและได้ประโยชน์จากตำบักหุ่ง อย่างเต็มที่ต้องดูแลเรื่องความสดสะอาดของเครื่องปรุงแลวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ต้องละเอียดพิถีพิถันในขั้นเตรียมและขณะปรุง…
แกะปอกเปลือกกระเทียมให้หมดจด ตำพริก กระเทียมและกุ้งแห้งให้แหลก ใส่ถั่วฝักยาวหั่นตำพอบุบ ฝานมะเขือเทศ มะกอก เติมนํ้าตาลปี๊บนิด ชอบปูนาปรุงสุกก็ใส่ ตำให้เข้ากัน ใส่นํ้ามะขาม นํ้าปลาแดกต้ม บีบนํ้ามะนาวเน้นเปรี้ยวเข้ม แถมเปลือกสักชิ้น ขยุ้มเส้นบักหุ่งงามกรอบที่สับฝานด้วยมือ ใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ ตำให้นํ้าปรุงจากเครื่องเทศต่าง ๆ เข้าเส้นพอฉํ่า ชิมและปรุงรสเพิ่มเป็นใช้ได้
ตั้งสำรับพร้อมผักหญ้า มีปิ้งไก่หอม ๆ ต้มแซบซดนํ้าให้คล่องคอก็ตามอารมณ์นิยม
“ตำบักหุ่ง” ซื้อกิน หรือตำกินเองก็อิ่มอร่อย สุขภาพอนามัยเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าตำขายก็เจริญรุ่งเรืองดี
น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ