บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 4
บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 4
บันทึกการเดินทางในลาว(ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปีพ.ศ. 2438-2440 ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
เรียบเรียงโดย : Kay Intarasopa
30 พ.ค. 2558
พระธาตุเชิงชุมในอดีต ราวสมัยรัชกาลที่๕พระธาตุเชิงชุม ในคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จตรวจหัวเมืองแถบภาคอีสาน
ดู่และเอี่ยมเดินทางเรื่อยมาจนมาถึงหมู่บ้านน้ำก่ำ หมู่บ้านนี้มีกระท่อมอยู่ 30 กว่าหลัง น้ำห้วยก่ำเป็นสายน้ำสำคัญสายหนึ่ง มีน้ำตลอดฤดูกาล ไหลลงมาจากเมืองสกล จากนั้นดู่และเอี่ยมก็เดินทางมาถึงเมืองธาตุพนม (ข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับธาตุพนมจะมาเล่าให้ฟังทีหลัง รวมกับบันทึกของลูกน้องของเอเจียนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางจากยโสธรมาธาตุพนม)
พวกเขาเดินทางมาถึงเมืองห้วย ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองละคร (นครพนม) เมืองห้วยแต่เดิมเป็นบ้านดงหวาย มีกระท่อม 60 กว่าหลัง สถาปนาเป็นเมืองได้ประมาณ 35 ปี เจ้าเมืองเสียชีวิตไปแล้ว 3 ปี แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ เจ้าเมืองมียศเป็นพระแก้วหูมน ประชาชนล้วนแต่เป็นพวกผู้ไททั้งนั้น ทำนาหาปลาและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก แล้วขายให้พวกกุลาหรือพม่า เพื่อนำส่งไปขายที่บางกอก พวกผู้หญิงโดยทั่วไปมีผิวขาวสวย
“พวกเขาเห็นหญิงสาว 4 คนมาอาบน้ำด้วยกันที่บ่อน้ำโดยบังเอิญ บ่อน้ำอยู่ห่างจากที่พวกเขาวางเสื้อผ้าไว้ หญิงสาวเหล่านั้นพากันเดินไปหาที่วางเสื้อผ้าอย่างไม่รีบร้อน พร้อมกับหัวเราะแล้ววางเสื้อผ้าไว้ วางท่าเหมือนกับวินัสของเมดิวีส”
คณะสำรวจเดินทางต่อผ่านบ้านลาด บ้านลมเลา บ้านพิมาน บ้านคูนหิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนลาว กระทั่งเดินทางมาถึงเมืองสกล(สกลนคร) พวกเขาได้รับการต้อนรับจากเมืองกลางและเมืองซ้าย (ตำแหน่งขุนนาง) พวกเขาได้ไปพิมพ์เอาจารึกที่พระธาตุเชิงชุม ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ทำด้วยอิฐและศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้ากว้างวัดได้ 40 เมตร หน้าแคบวัดได้ 20 เมตร มีความสูง 2 เมตร
“มีธาตุทำด้วยอิฐและปูนผสมทราย มีฐานกว้าง 10 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร ทั้งสามด้านมีประตูลวง มีทางเข้าทางเดียวอยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งทำด้วยศิลาแลง จารึกนั้นสกัดลงในฝาด้านซ้ายของประตู หมายความว่าอยู่ด้านเหนือ ภายในธาตุซึ่งมืดมิด ถ้าจะเข้าไปข้างในต้องใช้ไฟส่องเข้าไป แล้วจะพบพระพุทธรูปทำด้วยไม้ ทองแดง งาช้าง อยู่มากมาย กุฏิซึ่งอยู่รอบธาตุนั้นมีภิกษุสามเณรอาศัยอยู่ 12 รูป”
เมืองสกลตั้งอยู่บนเนินสูง มีกระท่อมอยู่ประมาณ 300 หลังกระจัดกระจายอยู่ตามต้นไผ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของอ่างน้ำใหญ่ชื่อหนองหาน มีความยาวประมาณ 2,000-2,500 เมตร กว้าง 1,500-1,600 เมตร และลึกถึง 10 เมตร หนองดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของน้ำก่ำ ประชาชนเมืองสกลใช้น้ำจากอ่างน้ำใหญ่นี้ ประกอบไปด้วยพวกคนลาว ผู้ไท และอานาม ซึ่งทำนาเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านยังผลิตเกลือได้อีก โดยล้างเอาดินเค็มตามวิธีธรรมดาแล้วนำไปต้มเอาเกลือ พวกเขาขายสัตว์เลี้ยงให้พ่อค้าสยาม นำไปขายต่อที่บางกอก
เมืองสกลมีเจ้าเมืองมียศเป็น “พระยาจันตประเทศธานี” ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเมืองหนองหาน ห่างกันใช้เวลาเดินเท้า 5 วัน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมุกดาหาร อยู่ห่าง 6 วัน โดยการเดินท้าว ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับเมืองละคร อยู่ห่าง 5 วัน โดยการเดินเท้า ทิศใต้ติดกับเมืองภูแล่นช้าง อยู่ห่าง 4 วัน โดยการเดินเท้า เมืองที่ขึ้นกับเมืองสกลมี 6 เมืองคือ
– เมืองภูวาดอน
– เมืองกุดแสน
– เมืองภูตีพักชนะกุม
– เมืองพรรณา(พรรณานิคม)
– เมืองสว่าง (สว่างแดนดิน)
– เมืองวานร(วานรนิวาศ)
เสียส่วยให้สยามทั้งหมดตกเป็นเงิน 38 หาบต่อปี ตามที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังนั้น เมืองสกลสถาปนาขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีมานี้เอง ประชาชนซึ่งเดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย (ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วนของลาว) ได้อพยพมา (ถูกกวาดต้อนมา หลังเวียงจันทน์ถูกทำลาย) ในคราวที่ขุนบดินทร์ (พระยาราชสุภาวดี ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทร์เดชา) มารบกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ ท้าวอินทร์เป็นเจ้าเมืองคนแรก
พวกเขาพากันเดินทางต่อจนมาถึงเมืองพรรณนา ซึ่งขึ้นกับเมืองสกล เมืองนี้มีกระท่อมอยู 100 กว่าหลัง อยู่บนเนินสูง ชาวบ้านมาจากเมืองวัง (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตของลาว) พวกเขาบอกว่าเป็นผู้ไท (คนที่มีอิสระ) สถาปนาเป็นเมืองเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าเมืองมียศเป็นพระเสนาณรงค์
จากนั้นมาถึงเมืองวานร ซึ่งไม่มีเจ้าเมือง และเมืองดังกล่าวกำลังจะถูกลดบทบาทเป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดา เลยจากนั้นไปอีกพวกเขาไปพักอยู่ที่บ้านไฮ ซึ่งเป็นหมู่บ้านพวกผู้ไท มีกระท่อม 30 กว่าหลัง
จากบ้านไฮก็เดินทางมาถึงเมืองวาริชภูมิ ซึ่งขึ้นกับเมืองหนองหาน มีกระท่อมประมาณ 80 หลัง เป็นของผู้ไท ซึ่งมาจากเมืองตะโปน (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตของลาว) ตะวันออกของแม่น้ำโขง ในคราวที่เวียงจันทน์ถูกทำลาย (สมัยที่พวกสยามกวาดต้อนเอาประชนครั้งใหญ่) ปรากฏว่าเมืองนี้สถาปนาเป็นเมืองมาได้ 10 กว่าปีนี่เอง เจ้าเมืองมียศเป็นพระสุเรนทรบริรักษ์ ได้ส่งเงินค่าส่วยเป็นเงิน 2 ชั่งไปที่เมืองหนองหานทุกปี เพื่อส่งให้บางกอก
กระทั่งเดินทางมาถึงเมืองหนองหาน ซึ่งมีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้มอรอบ 2 ชั้น เป็นกำแพงดินสูงกั้นรั้วไม้ไผ่หนาทึบ แต่ไม่มีคูเมือง กำแพงด้านนอกยาว 1,200 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 4 เมตร อีกกำแพงหนึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 40 เมตร มีทางเข้าทางเดียวที่ด้านตะวันออกเมือง มีกระท่อม 150-200 หลัง พวกชาวบ้านดื่มน้ำจากบ่อหรืออ่างน้ำที่ขุด (น้ำส่าง) มีวัด 2 วัด พระสงฆ์ 30 กว่ารูป เจ้าเมืองหนองหานปัจจุบันเป็นคนที่ 5 นับตั้งแต่สร้างเมืองมา มียศเป็น “พระติตถเขื่อนขันธ์” ส่งส่วยให้บางกอกปีละ 25 ชั่ง มีเมืองที่ขึ้นกับเมืองหนองหาน 2 เมืองคือ
– เมืองวาริชภูมิ
– เมืองกุมภวาปี
ในอดีตแถบเมืองละคอน (นครพนม) สกลนคร บางมุก ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ของผู้ไท แต่เป็นเพราะเมืองเหล่านี้ให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ในการนำกำลังไปกวาดต้อนคนลาวกลับ และพยายามปลดแอกออกจากสยามแต่ไม่สำเร็จ เมืองเหล่านี้จึงถูกหมายหัว คนลาวที่อยู่ในเมืองดังกล่าว ถูกกวาดต้อนมาอยู่แถวปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว บางกลุ่มไปอยู่ถึงชลบุรี
ต่อมาถึงได้มีการกวาดต้อนผู้ไทจากเมืองพิณ เมืองวัง เมืองนอง เมืองตะโปนหรือเซโปน เข้ามาแทนที่ ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างสยามและเวียดนามในช่วงสงครามอานามสยามยุทธ์
ข้อมูลเกี่ยวกับการกวาดต้อนผู้ไทจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงคือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้แล้วบางส่วน
หญิงสาวผู้ไท ผิวขาวกว่าชาวลาวโดยทั่วไป ผู้ไทถิ่นที่อยู่เดิมคือดินแดนสิบสองจุไท
อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม