#บันทึกชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี
#บทเรียนชีวิต (๑)
ฉบับที่ ๑ “พ่อ”
ลูกรัก
ภาพที่จำติดตาได้มากที่สุดภาพหนึ่ง คือ พ่อของพ่อนั่งที่ม้าหน้าบ้าน มองไปข้างหน้าแบบไม่มีจุดหมาย ใจกำลังครุ่นคิด ประสาเด็กไม่ได้เข้าใจอะไรมาก ดูหน้าของพ่อแล้ว ท่านคงไม่ได้กำลังมีความสุขกับการฝันถึงอะไรบางอย่าง หากแต่กำลังเป็นทุกข์
ภาพนั้นที่ไม่ได้เห็นครั้งเดียว แต่มีลักษณะเหมือนกัน พ่อคงคิดหาทางทำมาหากิน หาเงินมาเลี้ยงลูก ซึ่งขณะนั้นน่าจะมีถึง 10 คนแล้ว พ่อแม่มีลูก 14 คน เสียชีวิตตอนคลอดและยังเด็ก 3 คน
เพื่อไม่ให้สับสน ต่อไปจะเรียกตัวเองว่า “พ่อ” และพ่อของพ่อว่า “ปู่”
ปู่ไม่ได้มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จำได้ว่าท่านทำหลายอย่าง เปลี่ยนไปเรื่อย ตอนที่พ่อยังอายุ 4-5 ขวบ พอจำความได้ ปู่กับย่ายังทำนาของยาย เคยไปนอนที่เถียงนาไม่ไกลจากหมู่บ้าน ต่อมาไม่ได้ทำอีก ได้ยินว่าลุง (พี่ชายของแม่) ได้นาเป็นมรดกไปทั้งหมด เห็นแม่ร้องไห้ พี่สาวบอกว่า เราไม่มีนาแล้ว
ต่อมาพ่อแม่ไปทำโรงสีเล็กและเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ที่บ้านนาเพียง ซึ่งอยู่ห่างออกไป 15 ก.ม. ต้องเดินทางด้วยเกวียน เดิน ขี่ม้า หรือจักรยาน ตอนปิดเรียน พ่อไปอยู่กับปู่ย่าที่นั่น ต้องเดินทางจากบ้านแต่เช้า กว่าจะถึงก็บ่ายเย็นแล้ว
ที่บ้านนาเพียง นอกจากรับข้าวชาวบ้านมาสี ปู่ยังไปขายก๋วยเตี๋ยวเวลามีงานบุญตามหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียง ที่สุดปู่กับย่าก็กลับมาบ้าน เอาโรงสีเล็กมาเปิดที่ข้างบ้าน มีพี่หว่าง (สว่าง) เป็นคนเอารถม้าไปรับข้าวชาวบ้านมาสีแล้วนำกลับไปส่งให้
มีเหตุการณ์ตื่นเต้นอยู่วันหนึ่ง อาแดง อาติ๋ว อายุ 4-5 ขวบ สองพี่น้องนั่งอยู่บนรถม้าที่ขนข้าวเปลือกชาวบ้านมาสี พี่หว่างคงไปรับข้าวมาจากชาวบ้าน รถม้ายังมีต้นกล้วยอยู่ต้นหนึ่งที่ใบของมันพ้นรถม้าออกไปด้านหลัง พอรถม้าขยับไปโดยไม่มีคนขับ เสียงใบกล้วยลากกับดินทำให้ม้าตกใจ มันวิ่งห้อไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะเสียงใบกล้วยก็ดังไล่หลังไปตลอด คงนึกออกว่าเด็กหญิงตัวเล็กๆ สองคนตกใจแค่ไหน ร้องไห้ให้คนช่วยก็ไม่มีใครช่วยหยุดรถม้าได้ มันวิ่งไปจนเกือบสุดหมู่บ้านจนถึงคุ้มบ้านใหม่ ซึ่งเป็นคุ้มคนเวียดนาม จึงมีคนช่วยหยุดรถม้า หรือว่ามันเหนื่อยจนหยุดเองก็ไม่รู้
วันหลังเจออาทั้งสองลองถามดูนะว่า ยังจำเหตุการณ์ระทึกใจนั้นได้หรือไม่
การทำมาหากินอีกอย่างหนึ่งของปู่ คือไปจับปลาที่หนองหารโดยใช้อวนลาก ต้องไปกันหลายคน เพราะอวนใหญ่และหนัก ไปทีได้ปลามามาก ต้องเอาเกวียนไปบรรทุก ส่วนหนึ่งเอาไว้กิน ทำปลาร้า ส่วนหนึ่งขาย พ่อเลยได้กินปลาเกือบทุกวัน จะบอกว่าเบื่อคงไม่ใช่ เพราะย่าทำอาหารอร่อย
ย่าและป้า ๆ ช่วยกันทำหลายเมนู ทั้งแบบพื้นบ้านอีสาน แล้วแต่ชนิดของปลา แกง ต้มยำ ลาบก้อย แจ่ว ปิ้งย่าง หรือทำปลาหวานเค็มแบบเวียดนามที่ย่าคงได้เรียนรู้จากปู่ และญาติพี่น้องเชื้อสายเวียดนาม
มีครั้งหนึ่งปู่จับปลากระเบนน้ำจืดได้ตัวใหญ่กว่าล้อเกวียน คงจับได้แถวน้ำลึกใกล้ดอนสวรรค์ พ่อยังเห็นหางปลากระเบนที่บ้านหลายปี จนวันหนึ่งก็หายไป ไม่รู้ใครเอาไป
ต่อมาปู่เลิกทำโรงสี และเลิกหาปลาที่หนองหาร หันไปชำแหละวัว หมู ที่โรงฆ่าสัตว์ ท่านต้องตระเวนไปหาวัวและหมูมาเตรียมไว้ ทำเกือบทุกวัน นับเป็นงานหนัก ปู่ต้องตื่นตั้งแต่เที่ยงคืนไปโรงฆ่าสัตว์ เพราะแม่ค้าจะมาซื้อเนื้อซื้อหมูไปขายตั้งแต่ตีสี่ตีห้า
งานนี้คงหนักทีเดียว ปู่ได้นอนน้อย เพราะกลางวัน แทนที่จะได้นอนชดเชยกลางคืนที่ได้นอนไม่มาก ก็ต้องออกไปหาซื้อวัวซื้อหมู ตอนเย็นปู่จะทานข้าวแล้วฟังข่าวทุ่มหนึ่งจากวิทยุแล้วไปนอน 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น
งานที่ว่านี้ พ่อไม่ได้อยู่ที่บ้านแล้ว ไปเข้าเรียนโรงเรียนประจำ ที่จะเล่าให้ฟังต่อไป ที่อยากเล่าตอนนี้เป็นเรื่องงานของปู่รวมทั้งก่อนพ่อเกิด ปู่ก็เล่าให้พ่อฟังว่าได้ทำมาหลายอย่าง
เมื่อแต่งงานกับย่า ญาติผู้ใหญ่ของย่าฐานะดีได้มอบวัวเกวียนให้ปู่เพื่อประกอบอาชีพ ปู่ก็ใช้ไปรับจ้างขนของขนฟืนที่ฝั่งลาว พร้อมกับคาราวานเกวียนจากหมู่บ้านที่คุณพ่อเจ้าวัดชาวฝรั่งเศสท่านเป็นคนช่วยประสานงานให้ชาวฝรั่งเศสที่ทำเหมืองแร่ที่ลาว ท่านช่วยหาคนที่มีเกวียนไปขนฟืนอยู่หลายเดือน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงถลุงแร่
ปู่เล่าว่า ต้องข้ามโขงไปตอนหน้าแล้งที่น้ำลดจนข้ามได้แถว ๆ อำเภอท่าอุเทน และกลับมาก่อนหน้าฝนที่น้ำจะมา มีครั้งหนึ่งดินทางไปกับเพื่อน ๆ ยังไม่ข้ามโขง ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ต้องกลับบ้าน ไปขอยาจากคุณพ่อเจ้าวัด น่าจะเป็นยาควินิน เมื่อหายจึงได้รีบเดินทางตามไป จุดข้ามโขงที่ท่าอุเทนอยู่ห่างจากท่าแร่ประมาณ 70 ก.ม.
นอกนั้น ปู่ยังใช้วัวเกวียนเพื่อรับจ้างขนหนังสัตว์และสินค้าจากที่บ้านและที่เมืองสกลนครไปพร้อมกับกองเกวียนไปโคราช เป็นการเดินทางที่ยาวนานและเสี่ยงมาก มีโจรผู้ร้ายคอยดักปล้นจี้ รวมทั้งไข้ป่า เพราะบางวันต้องพักแรมค้างคืนตามป่าเขาก็มี ขากลับก็ขนสินค้าจากโคราชกลับมาให้บรรดานายฮ้อย
ปู่บอกว่า ไม่ได้ไปถึงกรุงเทพฯ เพราะการเดินทางข้ามดงพญาไฟ (ชื่อในขณะนั้น วันนี่คือดงพญาเย็น ช่วงปากช่อง มวกเหล็ก สระบุรี) อันตรายเกินไป ขึ้นเขาลงห้วย ไม่สะดวกและเสี่ยงอันตรายจากไข้ป่ามากที่สุด สินค้าต่าง ๆ มาถึงโคราชได้ทางเรือเป็นส่วนใหญ่ กับทางบกทางเกวียนบางช่วง
ปู่บอกว่า เคยเอาปลาร้าไปขายถึงกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากบ้านร้อยกว่ากิโลเมตร ปู่ยังสารภาพว่า เคยเอาน้ำใส่ลงไปในไหปลาร้ามากหน่อย แต่ก็ทำครั้งเดียว ไม่ได้ทำอีก เพราะถือว่าเอาเปรียบชาวบ้านเกินไป เป็นความรู้สึกผิดที่ปู่ไม่ได้ปิดบัง ท่านมีมโนธรรมที่อ่อนไหวในเรื่องความเป็นธรรม
ปู่เคยไปขายก๋วยเตี๋ยวแถว ๆ อำเภอพรรณานิคม ซึ่งขณะนั้นมีการทำถนนสายอุดรฯ นครพนม มีแค้มป์คนงานตั้งอยู่ แต่ปู่บอกว่า ทำได้ไม่นานก็เลิก เพราะตำรวจและข้าราชการชอบมากินไม่จ่าย คนมีอิทธิพลในท้องถิ่นก็มาเชื่อไว้ บอกว่าปลายเดือนจะจ่าย หลายคนก็เบี้ยว ปู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เลยกลับบ้านดีกว่า
ปู่เคยไปรับจ้างทำถนนที่มุกดาหาร ประมาณปี 1946 พอดีเกิดสงครามอินโดจีน ปู่บอกว่า ต้องถีบจักรยานกว่าร้อยกิโลเมตรกลับบ้าน
มีอีกมากมายหลายอย่างที่ปู่เล่า อย่างการเอาผ้าไปขายที่นครพนม ถูกจับติดคุกอยู่หลายวัน เพราะอะไรพ่อจำรายละเอียดไม่ได้ จำได้แต่ว่า ก่อนที่ปู่จะถึงแก่กรรม วันหนึ่งนั่งรถไปบ้านนาเพียงด้วยกันสองคน ปู่บอกพ่อว่า “เมื่อไรพ่อตาย ขอให้ลูกเอาผ้าซิ่นสักผืนสองผืนไปฝากป้า…บ้านอยู่ริมหนองหาร” ตอนที่ท่านติดคุกที่นครพนม ป้าเป็นคนเอาข้าวเอาน้ำไปส่งไปเยี่ยม
งานอาชีพสุดท้ายที่ปู่ทำ เป็นการทำอิฐ ตอนนั้นพ่อไปเรียนต่างประเทศแล้ว ได้ยินว่าไปทำอิฐที่อุดร แล้วกลับมาทำที่ริมหนองหาร ที่บ้านนาแก้ว ห่างจากบ้านเราเพียง 4-5 ก.ม. เป็นงานที่ปู่ภูมิใจมาก เพราะทำได้ดีพอสมควร แม้ราคาอิฐก้อนหนึ่งจะถูกมาก แต่ปู่ก็บริหารจัดการได้ดี มีนายหรอยเป็นคนขับรถบรรทุกเก่าๆ ส่งอิฐไปทั่ว
นอกนั้น ปู่ยังมีแผนลับๆ อย่างหนึ่งที่บอกให้พ่อและใครๆ รู้ภายหลัง คือปู่ซื้อแม่วัวมาตัวหนึ่ง บอกว่าจะเลี้ยงและขยายพันธุ์รอให้พ่อกลับาจากกรุงโรม ซึ่งใช้เวลา 7 ปี ปู่บอกว่า จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นทุนเป็นอาหารจัดงานเลี้ยงต้อนรับพ่อเมื่อกลับจากกรุงโรม ปรากฏว่า จากวัวแม่เดียวกลายเป็นวัว 25 ตัว อย่างไม่น่าเชื่อ
ต่อมาปู่ก็เลิกทำอิฐ ยกเตาอิฐให้ลุงโกก ลูกคนแรกของปู่ย่า พี่ชายคนโตของพ่อ พี่เขามีลูกมาก ช่วยงานปูย่ามาตลอด จนเมื่อท่านทั้งสองจากไป ท่านยกที่ดินและเตาอิฐเป็นมรดกให้พี่เขา น้อง ๆ ทุกคนก็ไม่มีใครว่า
พ่อเล่าเรื่องปู่ เรื่องอาชีพการทำมาหากินของท่าน เพราะท่านเป็นแบบอย่างของคนสู้ชีวิต ที่พยายามหางานทำทุกรูปแบบที่สามารถทำได้โอกาสมี ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะไม่คุ้ม ไปไม่ได้ ไม่มีทุนเงิน มีแต่สมองกับสองมือ แต่สภาพการณ์ทางสังคมในตอนนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้คนอย่างปู่ทำอะไรได้มากกว่านั้น
เสรี พพ 11.11.22
หมายเหตุ ผมต้องตัดข้อเขียนแต่ละฉบับลงครึ่งหนึ่ง เพราะที่เขียน 6 หน้าและพยายามโพสท์ เฟสนี้บอกว่า ยาวเกินไป ไม่เป็นไร จะลงต่อเนื่องกันมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ครับ