#บันทึกชีวิต (บทที่ ๒)
ฉบับที่ ๑๒ ท่าแร่
ลูกรัก
ฉบับที่แล้วเล่าไปไกลเพราะล้วนเกี่ยวพันกันไปหมด คณะมิซซังต่างประเทศกรุงปารีสประจำอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและภาคกลาง เมื่อปี 1881 ได้เดินทางไปอีสาน ขี่ม้าไปถึงโคราช แล้วนั่งเรือล่องแม่น้ำมูลไปถึงอุบลฯ ปี 1883 ล่องแม่น้ำโขงขึ้นไปถึงนครพนม แล้วต่อมาไปที่สกลนคร เพราะได้ข่าวว่ามีคนเวียดนามที่เป็นคริสต์จำนวนหนึ่งขอให้ไปตั้งวัดที่นั่น
เมื่อคุณพ่อฝรั่งเศสไปถึง พบว่ามีชาวเวียดนามอพยพมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นคริสต์ และที่ขอเป็น นอกนั้นก็มีคนที่ถูกหาว่าเป็นปอบที่มาขอพึ่งพา ได้รับศีลล้างบาป ทำให้จำนวนชาวคริสต์เพิ่มมากขึ้น ยังมีบันทึกอีกด้วยว่า มีคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่เป็นทาส ที่มิชชันนารีได้ไถ่ระหว่างเดินทางไปสกลนครและที่สกลนครเอง
ที่สกลนคร ชาวคริสต์มีปัญหาขัดแย้งกับคนท้องถิ่นและกับรัฐ เรื่องการเกณฑ์แรงงาน และการร่วมพิธีกรรมพิธีการต่างๆ คล้ายกับปัญหาในสยามในยุคพระเจ้าตากสินและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้มิชชันนารีและผู้นำชุมชนตัดสินใจอพยพจากเมืองสกลข้ามหนองหารมาฝั่งตรงกันข้าม โดยใช้เรือแพและผ้าห่มเป็นใบ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร มาตั้งรกรากบนพื้นที่เป็นดินลูกรัง ดินแดง ที่ภาษาอีสานเรียกว่า “หินแฮ่” อันเป็นที่มาของชื่อท่าแร่
มิชชันนารีคือผู้นำผู้ก่อตั้งชุมชนโดยแท้ สองท่านที่มาบุกเบิกที่สกลนครและท่าแร่ คือ คุณพ่อฌองบับติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ซึ่งได้มอบหมายคุณพ่อยอแซฟ คอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกทันทีเมื่อปี 1884 จนถึงปี 1937 เป็นเวลา 53 ปี ท่านมาเมืองไทยตอนบวชใหม่ อายุเพียง 23 ปี เป็นเจ้าวัดตอนอายุ 24-25 เท่านั้น เป็นปูชนียบุคคล หรือ “บิดาชุมชนท่าแร่” โดยแท้ มีเรื่องราวมากมายจากความทรงจำที่ปู่และย่าเล่าให้พ่อฟัง เพราะท่านทั้งสองยังทันได้รู้จัก คนท่าแร่ทั้งเคารพรักและยำเกรงคุณพ่อฝรั่งท่านนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่หน้าอาสนวิหารมีอนุสาวรีย์มีรูปท่านยืนอยู่
คุณพ่อยอแซฟ คอมบูริเออ ที่คนท่าแร่เรียกว่า “คุณพ่อยอแซ” คือผู้วางผังหมู่บ้านท่าแร่ ตัดเป็นรูปตราหมากรุก มีถนนหลวงสายสกลนคร-นครพนม ด้านนอก ส่วนด้านในหรือกลางหมู่บ้านเป็นถนน “ราษฎร์เจริญ” และขนานไปกับถนนเลียบหนองหารที่ชื่อว่า “ดำเนินสว่าง” จากนั้นเป็นถนนที่ตัดเชื่อมระหว่างสามสายนี้ มองจากถนนหลวงลงไปเห็นหนองหารจากทุกเส้นทางที่ตัดเชื่อม ต่อมามีการตัดต่อเติมอีกบางสาย โดยเฉพาะสายเลียบหนองหารที่เทศบาลเขาทำเพิ่มขึ้นมา
ลองฟังชื่อถนนที่ท่าแร่นะ บ้านเกิดของพ่ออยู่บนถนนราษฎร์เจริญ ตามด้วยดำเนินสว่าง จิตประชา ชูเมือง เฟื่องฟู ชูสวัสดิ์ แสงประเทือง เรืองเวช วิเศษศิลป์ ถิ่นไทย ใจประสงค์ คงสวัสดิ์ พัฒนา น่าจะเป็นครูอาวุโสคนท่าแร่ในยุคแรกนั้นที่คิดชื่อเหล่านี้
คุณพ่อยอแซได้สร้างวัดแห่งแรกทันทีในปี 1884 ที่ไปตั้งรกราก จากนั้นในปี 1900 ได้รื้อสร้างวัดใหม่ ใหญ่กว่าเดิม ในปี 1925 มีการบูรณะวัด ตัดหอระฆังเล็กสองหอด้านหลังออก สร้างหอใหญ่ด้านหน้าแทน และแขวนระฆังทั้ง 3 ใบ ที่จะมีการตีพร้อมกันในวันวันฉลองสำคัญ
ระฆังทั้งสามใบได้รับการบริจาคทุนจากคนมีฐานะที่ท่าแร่ สองใบแรกเป็นขององบังกับองเด สองพี่น้อง อีกใบเป็นขององเหลื่องและญาติ ทั้งสามท่านนี้คือเจ้าของตึกทรงโคโลเนียลสีเหลือง เป็นนายฮ้อย มีทุนมีที่ดินที่นาให้คนเช่า ได้ข้าวไปขาย หาหนังสัตว์และของท้องถิ่นไปขายที่ภาคกลาง ปู่ก็เคยร่วมคาราวานเกวียนไปหลายครั้ง
คุณพ่อยอแซ เห็นความสำคัญของการศึกษา ได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมตั้งแต่ปีแรกๆ เรียกว่าโรงเรียนมหาพรหมมีคาแอล และต่อมาในปี 1939 ได้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมเรียกว่า โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ท่านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมดนตรีไทย ให้ครูไปเรียนดนตรีไทยแล้วมาสอนชาวบ้าน ซึ่งต่อมาตั้งเป็นวงดนตรีไทย ไปเล่นและแสดงในโอกาสงานบุญ รวมทั้งในวัดในวันฉลองสำคัญอย่างวันปาสกา วันคริสต์มาส วันฉลองวัด
ความสัมพันธ์กับทางราชการที่อ่านได้จากบันทึกของคุณพ่อมิชชันนารี ทางราชการค่อนข้างเกรงใจ คงไม่ใช่เกรงกลัวอะไร แต่รู้ว่า มิชชันนารีมีพระศาสนจักรคาทอลิกและฝรั่งเศสหนุนหลัง ไม่อยากให้มีเรื่องมีราว ทำให้ชาวคริสต์เอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมมีที่พึ่งพา มีผู้ปกป้อง
ดังกรณีที่ทางเจ้าเมืองให้คนกลุ่มหนึ่งขี่ม้ามาตามทวดหนูนาให้กลับไป คุณพ่อยอแซออกมารับหน้าเองและบอกว่า เขาไม่ต้องการกลับไป ขอให้พวกท่านกลับไปบอกเจ้าเมืองเถิด
เมื่อปี 1907 มีบันทึกทั้งของคุณพ่อและของไทยว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จไปเยี่ยมหัวเมืองทางอีสาน ผ่านทางนั้น จึงทรงแวะไปเยี่ยมมิชชันนารี เห็นว่าใช้เวลานานพอสมควร และมีการถ่ายภาพเหตุการณ์นั้นด้วย วันหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ชุมชนคงมีการนำภาพเหล่านี้ไปแสดงด้วย
คนท่าแร่อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 3 กลุ่ม คือ คนเชื้อสายลาว ส่วนใหญ่เป็นย้อ อีกกลุ่มเป็นคนเชื้อสายญวน และกลุ่มที่สามคือผสมระหว่างสองกลุ่มแรก และกับคนจากที่อื่น ที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นคุ้ม คุณพ่อเจ้าวัดท่านช่วยดูแลแนะนำให้มีหัวหน้าคุ้ม ส่วนทางราชการก็มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำงานประสานกันไป
คนเชื้อสายเวียดนามมีสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่อพยพมานานแล้ว มาจากสกลนครและที่มาในรุ่นปู่ ที่มาจากเวียดนามประมาณปี 1920 อาศัยอยู่ที่นครพนมระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาท่าแร่ อีกรุ่นหนึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่มาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนี้มีส่วนหนึ่งที่กลับไปเวียดนามในปี 1957 (2500) เพื่อร่วมกัน “กู้ชาติ”
เหตุการณ์อพยพกลับไปเวียดนามทำให้แคลงใจราชการและชุมชนจนเล่าลือกันว่า คนเหล่านี้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ พลอยทำให้เกิดความระแวงสงสัยคนเชื้อสายเวียดนามอื่นๆ ที่ไม่ได้กลับไปด้วย เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงจนถึงการฆาตกรรมที่ฉวยโอกาสทำไปด้วยข้ออ้างข้อหาว่า “เป็นคอมฯ” “สายลับ” “แนวที่ห้า” ที่ไม่ได้มีหลักฐาน หรือกระบวนการยุติธรรมใดๆ บางเหตุการณ์ยังค้างคาใจลูกหลานมาจนถึงวันนี้
กลับไปเล่าเรื่องคุณพ่อยอแซ ท่านลาจากการเป็นเจ้าอาวาสไม่กี่ปีก็ถึงแก่กรรม พอดีเป็นช่วงสงครามโลกและกรณีพิพาทอินโดจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มิชชันนารีฝรั่งเศสต้องออกไปจากประเทศไทยระยะหนึ่ง ที่ท่าแร่มีคุณพ่อไทยช่วยกันดูแลวัดวาอาราม คุณพ่อศรีนวล ที่เราเรียกท่านว่า คุณพ่อใหญ่ เป็นผู้นำสำคัญ จึงได้ไปอาศัยบ้านหินของบิดาของท่าน (ทวดของพ่อ) เป็นวัดชั่วคราว
ต่อมาในปี 1968 ได้มีการสร้างวัดใหม่ เรียกว่าอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ที่มีรูปลักษณ์เหมือนเรือสำเภา เพื่อรำลึกถึงการอพยพมาจากเมืองสกลนคร ที่อาจเปรียบได้กับสำเภาโนอาห์ ที่ทำให้โนอาห์และลูกหลานรอดจากน้ำท่วมใหญ่ เป็นบรรพบุรุษของมนุษยชาติตามที่พระคัมภีร์ไบเบิลเล่า รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อพยพมาจากสกลนคร ข้ามหนองหารมาด้วยเรือแพ
วัดใหม่สร้างเสร็จและมีการเฉลิมฉลองในปี 1971 พ่อบวชเป็น “บาทหลวง” ที่โรมปี 1972 กลับมาบ้านเดือนกันยายน 1972 (2515) มีพิธีฉลองกันที่วัด พ่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ 2 ปี ทำงานส่วนใหญ่กับเยาวชน วันนี้พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่มีชื่อเสียงกันหลายคน อย่างหนูแหม่ม สุริวิภา กุลตังวัฒนา มานพ อุดมเดช เป็นต้น
รักลูก – พ่อ
เสรี พพ 11/12/22