#บันทึกชีวิต (๗) “แม่”

#บันทึกชีวิต (๗)

ฉบับที่ ๗ “แม่”

ลูกรัก

ปู่ย่ามีลูก 14 คน เสียชีวิตตอนคลอดและตอนยังเด็ก 3 คน ย่าเลี้ยงลูกจนโต 11 คน บอกว่ารักลูกทุกคนเท่ากัน และย่าก็พยายามแสดงออกเช่นนั้น แม้เป็นธรรมดามนุษย์ ที่ในใจท่านคงรักหรือเป็นห่วงบางคนบางกว่าคนอื่น

ทุกวันปีใหม่ ลูกหลานที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะกรุงเทพฯ กลับบ้านกัน ย่าจัดการต้อนรับลูกหลาน หาเสื่อ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง เตรียมไว้ให้เสร็จ ลูกมากันแล้ว ย่ายังกุลีกุจอทำโน่นทำนี่ จนลูก ๆ เห็นแม่เหนื่อยทำอะไรไม่หยุดบอกว่า “แม่พอเถอะ เราไม่ใช่แขก เป็นลูกนะแม่ เดี๋ยวจัดการเอง” ย่าทำหน้าเก้อ มานั่งลงคุยกับลูกหลานวันปีใหม่ที่ลูกหลานมากราบปู่ย่ากันเต็มบ้าน ปู่กับย่าจะนั่งอยู่บนแคร่กลางบ้าน ลูกหลานนั่งพื้นในบ้านจนล้นไปหน้าบ้านหลังบ้าน ย่าจะไม่พูดอะไรเลย มีแต่ยิ้มให้ทุกคนแบบเขิน ๆ ตลอดเวลา เหมือนไม่อยากเป็นเป้าสายตาของใคร แม้แต่ลูกหลานตัวเองที่มากันพร้อมหน้า

ย่าจะให้ปู่พูดคนเดียว ใครยุอย่างไรก็ไม่ยอมปริปาก อย่างมากก็หัวเราะ ตอบว่าปู่พูดก็พอแล้ว พ่อมีภาพย่านั่งบนแคร่หลายภาพ เป็นภาพที่ประทับใจมาก ภูมิใจที่มีแม่เป็นคนอ่อนนอกแต่แข็งใน หลายคนอาจมองว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่สำหรับพ่อ ย่าเป็นช้างเท้าหน้าและเท้าหลังด้านซ้าย ปู่เป็นช้างเท้าหน้าและเท้าหลังด้านขวา ทั้งสี่เท้าไปด้วยกัน เท่ากัน เหมือนกับสองมือสองแขน สองขาสองเท้า ที่มีขวาซ้ายไปด้วยกัน

มองเช่นนี้เพราะเห็นว่า ปู่กับย่าไม่สามารถแยกจากกันได้ ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร แม้ในความเป็นจริง พ่อคิดว่า ถ้าในบ้าน ย่าใหญ่กว่า ย่าบอกว่า คนถือบัญชีเงินคือปู่ แต่ปู่เบิกเมื่อไรย่ารู้หมด เพราะคนถือเงินสดคือย่า

ฉลองปีใหม่กันเสร็จก็เตรียมแยกย้ายกันไป ย่าจะเตรียมของฝากให้สองอย่าง เนื้อวัวย่างรมควันชั้นดี กับน้ำพริก หรือแจ่ว ฝีมือเชฟอาวุโสระดับมิชลิน ใส่ขวดไว้ให้ ส่วนเนื้อย่างรมควันย่าก็จะชั่งให้ทุกคนเท่ากัน ประมาณคนละหนึ่งกิโล ลูกหลานอยากทำให้ย่าก็ไม่ยอม บอกว่าของฝากแม่ แม่ต้องทำเอง

พวกเราบอกย่าว่า อย่าชั่งให้เสียเวลาเลย จับใส่ถุงเลยแม่ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก แต่ย่าไม่ยอม นี่คือความยุติธรรมของ “คุณแม่คำปุน”

ปู่เป็น “ความรักความเมตตา” ย่าเป็น “ความรักความยุติธรรม” เป็นสองหน้าของเหรียญเดียว เป็นความจริงของชีวิต คุณธรรมค้ำจุนครอบครัวและโลก

ที่พ่อเห็นว่า ย่าใหญ่สุดในบ้านคงไม่เกินจริง เพราะปู่มักต้องไปทำงานข้างนอก ย่าเป็นผู้ดูแลทุกอย่างที่บ้าน ย่าอาจไม่ใช่นักวางแผนอะไรเป็นระบบ แต่ย่ารู้ว่าควรจัดการชีวิตอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ มีแผนรอด ไม่ใช่แผนรวย แล้วหาทางรวยลัดด้วยวิธีต่าง ๆ

ย่าเป็นคนประหยัดมาก คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะรายได้ของครอบครัวก็ไม่ได้มีมากมายสม่ำเสมอ ต้องจัดการว่า ทำอย่างไรให้ลูก ๆ ไม่อดอยาก มีข้าวกิน มีปัจจัยสี่เพื่อยังชีพ ไม่ได้มีเงินทองเหลือเพื่อส่งลูกไปเรียนสูง ๆ ลุงโกก ลูกชายคนโตจบป.4 เรียนดี เข้าเรียน ม.1 ยังไม่จบก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แม้ค่าเล่าเรียนไม่มาก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า

มีพี่จิว หรือป้าจิวคนเดียวที่ได้เรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 สมัยนั้นมีถึงมัธยม 8 เมื่อเรียนจบพี่ได้เป็นครูที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ มีเงินเดือนมาให้แม่ มาช่วยครอบครัวอีกแรงหนึ่ง ต่อมาพี่ก็สอบได้ พ.ม. ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม

ส่วนพ่อเองก็เข้าบ้านเณร ไปอยู่โรงเรียนประจำ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากเสื้อผ้าที่ต้องหาไปเอง แค่นั้น ย่าก็ต้องไปขอให้ญาติ ๆ ช่วย แม้เพียงไม่กี่ชุด คนที่ช่วยมากที่สุด คือองดางกับบาดาง น้องเขยน้องสาวของปู่ พ่อแม่ของพระอัครสังฆราชวีรเดช ใจเสรี ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่ในปัจจุบัน และพ่อของคุณพ่อพิชาญ ใจเสรี อธิการคณะพระมหาไถ่ ที่ซอยร่วมฤดี และดูเหมือนไม่ได้ช่วยครั้งเดียวก่อนเข้าบ้านเณร แต่ได้ช่วยอีกหลายครั้ง

นอกนั้นก็มีอาเพียร น้องสาวของปู่อีกคนหนึ่งที่ช่วย ส่วนพี่แท็ง พี่เขย สามีของป้าจุ้ด ก็ช่วยตัดเย็บเสื้อผ้า และให้มาด้วยเช่นเดียวกัน

ระหว่างที่เรียนอยู่ พ่อโตเป็นหนุ่ม ย่าก็ไปขอเสื้อทีเชิร์ตของพี่แล้ม พี่เขย สามีป้าน้อย พี่สาวคนถัดไปของพ่อ ตอนนั้นเขาไปทำงานที่เวียงจันทร์ พ่อยังจำเสื้อสวย ๆ ของพี่แล้มเขาได้ดี

พ่อรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของทุกคนที่ได้ช่วยเหลือให้พ่อมีเสื้อผ้าใส่ ไม่ว่าใหม่หรือเก่า และได้พยายามตอบแทนบุญคุณของทุกคน และถ้ามีโอกาสก็ยังจะหาทางตอบแทนลูกหลานของท่านเหล่านั้นต่อไป พ่อถือว่า ความกตัญญูรู้คุณเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง

ตอนยังเด็กก่อนเข้าบ้านเณร ย่าจะไปขอเสื้อผ้าของลูก ๆ ของญาติของย่าฐานะดีที่สกลนครมาให้พ่อใส่ ซึ่งพ่อก็ไม่ได้น้อยใจว่าไม่เคยได้เสื้อผ้าใหม่ ๆ ใส่อย่างไรก็ขอให้พอเหมาะพอควรก็พอแล้ว

อาจจะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่จนถึงทุกวันนี้ กางเกงขาสั้นเกือบทั้งหมดที่พ่อใช้อยู่เป็นกางเกง “มือสอง” ที่ซื้อมาตัวละ 99 บาท ทำไมต้องซื้อตัวละ 2,000 จากห้างถ้าซื้อมือสองได้ถึง 20 ตัว และใส่ดีอีกต่างหาก ผ้าก็หนากว่า เลือกทรงเลือกสีได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มือสอง เป็นของไม่ได้มาตรฐานที่ถูกคัดออก หรือถ้าเป็นมือสองจริงเขาก็มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ใส่มาเป็นสิบ ๆ ตัว ก็ยังไม่เห็นติดโรคอะไร

ความจริง กางเกงขาสั้นที่ว่านี้ส่วนใหญ่ก็ยาวลงไปถึงเข่า พ่อเคยไปวัดบางแห่ง ไม่กล้าเข้าไปในอุโบสถเพราะนุ่งกางเกงขาสั้น ยืนรออยู่หน้าประตู พระท่านยังเรียกให้เข้าไป ที่วัดคริสต์ก็เช่นกัน ยังนุ่งกางเกงแบบสามส่วนนี้ไปมิสซาโดยไม่ถูกให้ออกจากวัด

ย่าใส่ใจในการใช้จ่าย เคยคุยกับย่าเรื่องนี้ตอนที่ท่านอายุมาก ย่าบอกว่า ที่ประหยัดจนมีคนบอกว่าขี้เหนียวนั้น เป็นเพราะไม่รู้ว่า ถ้าเกิดเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุมาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อยาหาหมอ ตอนที่พ่อคุยกับย่าเมื่อ ก่อนปี 2000 นั้นก็ยังไม่มีบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

ด้วยเหตุนี้ ปู่กับย่าจึงอดออม ใช้เงินอย่างประหยัด มีเงินออมเพื่อฌาปนกิจจนลูกหลานไม่ลำบากเมื่อท่านถึงแก่กรรม แม้แต่โลงศพหลุมศพของตนเอง ปู่ย่ายังเตรียมไว้แล้ว

มีสองเหตุการณ์ที่ต้องเล่าให้ลูกฟัง พ่อคงอยู่ป. 2-3 ประมาณนี้กระมัง ตอนนั้นเลิกใช้กระดานชนวนที่เขียนแล้วลบได้ (ปกติก็ใช้น้ำลายลบ สมัยนั้นไม่ได้อนามัยจัดอย่างวันนี้ เด็ก ๆ เป็นหวัดยังเช็ดขี้มูกที่ตูดกางเกงจนกางเกงแข็งเหมือนลงแป้ง) ต่อมาเปลี่ยนมาใช้สมุดดินสอ วันหนึ่งพ่อขอตังค์ย่าสลึงหนึ่งไปซื้อดินสอ ย่าบอกไม่มี และบอกว่าที่ใช้อยู่สั้นก็จริงแต่ยังเขียนได้อยู่ ให้ใช้ไปก่อน

พ่อเสียใจ ประท้วงด้วยการหนีเรียนไปอยู่ริมหนองหาร เล่นอยู่กับม้าของที่บ้าน ที่พี่หว่างเขาเอาไปผูกไว้กินหญ้า จนเที่ยงก็กลับไปกินข้าวที่บ้าน แล้วกลับไปโรงเรียน เพราะอยู่กับม้าริมหนองหารเซ็งมาก ไม่รู้จะทำอะไร ไม่ใช่ไปเที่ยวห้างดูหนังฟังเพลงอย่างเด็กหนีเรียนในเมืองวันนี้

พ่อหนีเรียนครั้งนั้นครั้งเดียวในชีวิต (ส่วนตอนเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ใช่หนีเรียน เขาเรียกว่า โดดร่ม) นึกย้อนกลับไปก็ขำตัวเอง และเข้าใจว่าทำไมขอสลึงเดียวย่าไม่ให้ เงินสลึงตอนนั้นคงหลายบาทในวันนี้

แม้ว่าพ่อแม่ไม่มีเงินทองมาก พ่อก็ไม่ได้รู้สึกว่า ครอบครัวเราอาภัพ ลำบากยากแค้น โชคดีที่มีแม่ที่ประหยัดเพื่อไม่ให้ครอบครัวมีปัญหา พ่อเองก็ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนที่ไม่ได้เสื้อผ้าใหม่ ได้ใช้มืองสองของคนอื่นเกือบตลอด ยังคงมีความสุขสนุกสนานประสาเด็ก

ตอนเย็น ๆ ระหว่างที่เรากินข้าวกัน ก็มีเด็ก ๆ สี่ห้าคนมานั่งรอที่หน้าบ้าน แม่จะถามว่ามาอะไร เด็กบอกว่า “มารออาจารย์” พวกเขาเรียกพ่อเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบ เป็นหัวหน้าแก๊ง มีสมาชิกรุ่นราวคราวเดียวกันและน้อยกว่าเล็กน้อยมาเล่นกันกลางวัน พ่อเป็นหัวหน้า สอนพวกเขาหลายอย่างจนเขาเรียกอาจารย์

ส่วนตอนค่ำก็มีฉายหนังตะลุง ทางอีสานเรียกว่าหนังประโมไทย พ่อตัดกระดาษเป็นรูปตัวละครในหนังตลุง เสียบไม้เหมือนหนังใหญ่ แล้วจุดตะเกียง ทำจอโดยเอากระดาษขาวติดกับไม้ตะเกียบเป็นเสา แล้วก็ชักรูปให้เห็นเงา พากษ์หนังแบบที่ได้ยินเขาพากษ์กันในหนังขายยา นี่คือหนังตลุงที่ฉบับจิ๋วของพ่อ ที่จบลงแบบแฮปปี้แอนดิ้งเสมอ โดยการดับตะเกียงแล้วรำวงมืด เด็ก ๆ หัวเราะสนุกสนานจินตนาการเองว่า รำวงมืดเกิดอะไรขึ้น

นอกนั้นก็เล่นกันอีกหลาย ๆ อย่าง เอาก้านกล้วยมาทำเป็นม้า ขี่ม้าเล่นพระเอกผู้ร้ายเหมือนในหนังคาวบอยที่เห็นที่รถขายยามาฉาย เราขี่ม้าก้านกล้วยยิงกันเปรี้ยงปร้างด้วยนิ้วมือนี่แหละ สนุกออก ที่เล่นเจ็บหน่อยก็คงเป็น “บั้งกะโพก” เอาไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ขนาดนิ้วโป้ง เคี้ยวกระดาษยัดเข้าไปในรู แล้วเอาไม้ที่เหลาเล็กๆ กดไล่กระสุนยิงเสียงดัง ถ้าโดนจัง ๆ ก็เจ็บเหมือนกัน

เล่นอย่างอื่นที่อาจเจ็บตัวก็ “ไม้หมากอี” อันนี้คงเขียนอธิบายยากหน่อย อีกอย่างก็เล่นลูกข่าง ที่ขอให้ผู้ใหญ่ทำให้ ถ้าได้ลูกข่างไม้พยุงก็สุดยอด เพราะเนื้อแข็งมาก ตีเท่าไรก็ไม่แตก หมุนบนพื้นก็ติดลม ที่ภาษาอีสานว่า “กินน้ำจั้น” หน้าหนาวก็เล่นว่าวริมหนองหาร ที่กว้างใหญ่ สนุกมาก แล้วก็มีชกมวย พ่อทำตัวเป็นทั้งโปรโมเตอร์ ครูมวยไปในตัว จับลูกศิษย์มาเอาผ้าขาวม้าพันมือเป็นนวมชกกันใต้ถุนบ้านลุงข้างบ้าน

ความสุขประสาเด็กที่ยังจำได้ดี ยังเรื่องเป่ากบกับเพื่อนซี้ “วิมล” หรือแม็ก บ้านอยู่ห่างออกไปร้อยเมตร เป่ากันแบบลืมเวลาจนค่ำมืดก็มี กลับบ้านได้ยางเต็มแขน แต่ที่บ้านไม่รอกินข้าวแล้ว สั่งสอนให้รู้จักกลับบ้าน ไม่ใช่เอาแต่เล่นเป่ายางเป่ากบ ต้องกินข้าวจ้ำปลาแดก (ปลาร้า) เพราะยางเต็มแขนไม่ได้ช่วยให้หายหิว

พ่อไม่ค่อยได้เล่นกับน้อง ๆ เพราะมีแต่ผู้หญิง เขาเล่นของเขา มีบางครั้งที่เล่นขายของกับพวกเขาบ้างเท่านั้น

รักลูก-พ่อ

เสรี พพ 24/11/22

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com