บำรุง บุญปัญญา : อหังการแห่งสามัญชนลูกอีสาน
The political faultline that runs through Sawaen’s village – where people earn a living farming the rice fields that surround Khon Kaen or working in government offices and commercial establishments – surfaces in other parts of this city and its rural fringes. It pits those who are strong supporters of former prime minister Thaksin Shinawatra, who was turfed out of power by the military three years ago, against the anti-Thaksin crowd.
And like the rest of Thailand’s colour-coded politics that has emerged since the 2006 coup, Khon Kaen, too, mirrors the national trend. Those who continue to back Thaksin identify with the views of the pro-Thaksin protest movement, the United Front of Democracy against Dictatorship (UDD), which stands out for the colour of the shirts its supporters wear – deep red. His opponents, spearheaded by the People’s Alliance for Democracy (PAD), the protest movement that, despite its name, backed the coup and military intervention in politics, has its own distinct colour of identity – yellow shirts.
“There are more red-shirt supporters in the villages, among the farming communities. The city is divided; it has yellow-shirt followers,” says Bamrung Boonpanya, senior advisor to the Non-Governmental Organisation Coordinating Committee for Development in the North-east (NGO Cord), a grassroots lobby. “Both groups are very passionate about their views.”
ชื่อ บำรุง บุญปัญญา เป็นที่รู้จักของนักพัฒนา นักเคลื่อนไหว นักปฏิบัติการทางสังคมในรอบ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี คนในวงวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ยอมรับผลงานทางความคิดของเขาว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจสังคมที่มีพลัง โดยเฉพาะ “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ในแวดวงขององค์กรพัฒนาเอกชนเมืองไทยนั้นถือว่าเขาเป็นอาจารย์ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นผู้นำทางความคิด และผลักดันกระบวนการเพื่อยกระดับการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ทั้งการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นหลักสูตรการเป็นผู้ร่วมปฏิบัติและการแลกเปลี่ยนตามธรรมชาติ
ไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าการเคลื่อนไหวสำคัญของเครือข่ายองค์กรประชาชนอีสานในรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา บำรุง บุญปัญญา เป็นผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังคนสำคัญคนหนึ่ง เบื้องหลังคือเขาเป็นเสมือนโค้ชของนักพัฒนา นักเคลื่อนไหวที่คอยให้แนวคิด ให้คำปรึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เบื้องหน้าคือในสถานการณ์สำคัญเขาจะออกเดินนำ ริเริ่มในเรื่องที่คนอื่นยังไม่กล้า
ในขบวนของนักพัฒนา ทั้งในองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้นำชุมชนในภาคอีสาน เขาจะเข้าไปร่วมวงประชุมรอบสำคัญ ฟังการพูดคุยและแลกเปลี่ยนให้ข้อคิด เชื่อมโยงเรื่องราวจากรูปธรรมสู่นามธรรม จากประสบการณ์สังเคราะห์เป็นหลักการเป็นแนวคิด ทำให้วงประชุมเกิดความคิดที่แหลมคมและกำหนดทิศทางไปข้างหน้าได้อย่างมีพลังทุกครั้ง นอกวงประชุม เขาพร้อมที่จะนั่งสนทนาข้ามคืนข้ามวันกับนักพัฒนาทุกรุ่น ฟังเรื่องราวทุกเหตุการณ์โดยไม่รู้จักเบื่อ และไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่จะแสดงความคิดความเห็น ผู้ร่วมวงจะได้รับฟังถ้อยคำที่เต็มไปด้วยแนวคิดและปรัชญา โดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกสั่งสอนหรือกำลังรับคำปรึกษา แต่จะได้อะไรไปมากมายจากการร่วมวงสนทนากับเขา
ตั้งแต่เขากลับมาจากการทำงานที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศ มาปักหลักอยู่ในภาคอีสานเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ไม่ปรากฏว่าเขาจะทำงานสังกัดหรือรับค่าตอบแทนจากองค์กรใดหนึ่ง แต่การทำงานทางความคิดของเขาเองดังที่กล่าวมาก็สามารถหล่อเลี้ยงเขาให้ยังชีพอยู่ได้แบบพอรอดตัว
วัยหนุ่ม หลังจากจบได้เกียรตินิยมจากคณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขารับราชการอยู่กรมพัฒนาที่ดินอยู่ ๒ ปี จากนั้นก็ผันตัวเองไปทำงานเป็นนักพัฒนา (บูรณาการ) กับองค์กรพัฒนาเอกชนที่เรานับเป็น “เอ็นจีโอ” องค์กรแรกของประเทศไทย คือมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย(บชท.) ที่มี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ ระหว่างนั้นก็ได้ทุนของบริติช เคานซิล ไปเรียนวิชาการพัฒนาสังคมชนบทที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาไปคลุกคลีอยู่กับการเคลื่อนไหวของขบวนกรรมกรเสียมากกว่าจนเรียนไม่จบ กลับมาทำงานกับอาจารย์ป๋วยที่ บชท.จนถึงเหตุการณ์ล้อมปราบ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่อาจารย์ป๋วยเองต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ บำรุงเองก็หลบภัยการเมืองไปเป็นชาวนากับเพื่อนรุ่นน้องที่แปดริ้ว จนถึงปี ๒๕๒๔ ได้ทำงานกับสภาวัฒนธรรมแห่งเอเชีย (ACFOD) เดินทางทำงานทั้งประชุม ฝึกอบรมในต่างประเทศ มีความรู้และประสบการณ์ทางสากลมากมาย มีรายได้สูง (แต่เขาบอกว่าไม่มีเหลือหรอก) ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา เขาย้ายมาอยู่ภาคอีสานและเป็นผู้รับงานด้านฝึกอบรมให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กร
บำรุงเกิดที่บ้านผำ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ (เรียนมัธยมต้นเป็นรุ่นพี่ของ สุรชัย จันทิมาธร–“หงา คาราวาน”) การกลับถิ่นอีสานบ้านเกิดของเขานับแต่นั้น เขาได้เดินทางสัมผัสปัญหาของชาวชุมชนในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทั้งการไปเป็นวิทยากร การจัดประชุมฝึกอบรม ร่วมลงพื้นที่กับเครือข่ายต่างๆ ประสบการณ์ทั้งทางลึกทางกว้างของเขาได้ปะทะสังสรรค์กับชุมชนบ้านเกิด และเกิดการตกผลึกเป็นแนวคิดแนวทางการพัฒนาอย่างลุ่มลึก ด้านหนึ่งเขานำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “วัฒนธรรมชุมชน”อย่างต่อเนื่องผ่านทางวารสาร “สังคมพัฒนา”ของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย มีบทความพิมพ์รวมเล่ม ชื่อ “ศรัทธาในพลังชุมชน” โดยเขาใช้นามปากกาว่า “บุญเพรง บ้านบางพูน” ถือว่าเป็นหนังสือต้นเรื่องสำคัญของการสร้างแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้แข็งแรงในเวลาต่อๆ มา
ทางด้านการเคลื่อนไหวความคิดการพัฒนาชุมชนและการเคลื่อนไหวสังคมในภาคอีสานนั้น เขามีบทบาทเป็นผู้นำทางความคิดในขบวนเอ็นจีโอและผู้นำชุมชนเอ็นจีโอจำนวนมาก ที่ดำเนินการอยู่มีลักษณะองค์กรเล็กๆ กระจัดกระจายทั้งพื้นที่และแนวทาง-ประเด็นการดำเนินงานตามที่แต่ละองค์กรถนัด เช่น องค์กรที่ทำงานด้านเกษตร ด้านหัตถกรรม ด้านส่งเสริมบทบาทสตรี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข
ต่อมาในปี ๒๕๒๘ มีการรณรงค์ในหมู่เอ็นจีโอเพื่อสร้างเครือข่ายเป็น “คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน” (กป.อพช.อีสาน) เกิดกระบวนการตั้งกลุ่มศึกษาค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ตามประเด็นที่สนใจร่วมข้ามองค์กร เกิดเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างองค์กร หล่อหลอมให้เกิดแนวคิด ยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อช่วยเหลือกันเองและเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐ ที่สำคัญคือการเพิ่มพลังให้แก่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ที่เอ็นจีโอทำงานส่งเสริมสนับสนุนอยู่ ท่ามกลางการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้มข้นนั้น
บำรุงได้เป็นผู้นำพาสังเคราะห์ประสบการณ์ของเอ็นจีโอและชาวบ้านในเครือข่ายต่าง ๆ ออกมาเป็น “ยุทธศาสตร์ร่วม” เรียกเป็นชื่อเล่นว่า “ยุทธศาสตร์ ๔ มุมเมือง” ประกาศร่วมกันในคราวประชุมสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสานในปี ๒๕๓๓
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นกรอบการเคลื่อนไหวร่วม และเป็นเครื่องผนึกกำลังครั้งใหญ่ของเอ็นจีโอที่เคยอยู่อย่างกระจัดกระจาย เนื้อหาสำคัญคือ
๑. การคิดค้นส่งเสริมทางเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับนิเวศและภูมิปัญญาของชุมชนอีสาน
๒. การสนับสนุนการรวมตัวของชุมชนเป็นองค์กรและสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างการระดมทุน การสร้างสวัสดิการ การทำธุรกิจชุมชน การต่อรองกับรัฐและตลาด
๓. การร่วมกับชุมชนในการพิทักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๔. การสร้างความร่วมมือกับกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นในการเคลื่อนไหวการแก้ปัญหาของชาว ชุมชนอีสาน เช่น สถาบันวิชาการ พรรคการเมือง ภาคธุรกิจ เป็นต้น
นั่นเป็นที่มาของการปรับตัวครั้งใหญ่ของขบวนเอ็นจีโออีสานหลายสิบองค์กร การก่อความเคลื่อนไหวของชาวบ้านจากระดับชุมชน มีการเชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยกระดับการทำงานกันเอง และการยกระดับการจัดตั้งเครือข่ายขององค์กรชาวบ้านด้านต่างๆ ขึ้นเป็นระดับภาค เช่น เครือข่ายป่าที่ดินอีสาน เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสาน เครือข่ายผู้หญิงอีสาน เครือข่ายธุรกิจชุมชน และการก่อตัวเป็นเครือข่ายร่วมเคลื่อนไหวเฉพาะกรณี เช่น เรื่องราคาข้าว เรื่องราคาสุกร เรื่องโครงการโคอีสานเขียว โครงการส่งเสริมการปลูกมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ เครือข่ายเหล่านี้ได้แสดงพลังอีกขั้นเมื่อต้นปี ๒๕๓๕ มีการสัมมนาร่วมกันขององค์กรชาวบ้านและเอ็นจีโอทุกเครือข่ายแล้วประกาศจัดตั้ง “สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน”(สกย.อ.)
ต่อมาในปี ๒๕๓๖ ในการลุกขึ้นสู้ของเครือข่ายป่าที่ดินอีสานกับโครงการจัดสรรพื้นที่ทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ก็มีการประกาศตั้ง “สมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานเพื่อการรับรองสิทธิที่ดินทำกินและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ” (สดท.) หลังจากนั้นคลื่นของการเคลื่อนไหวของประชาชนอีสานได้มีการแตกตัวไปเป็นกลุ่ม องค์กรต่างๆ อีกมากมาย สมัชชาคนจน(สคจ.)ที่ประกาศจัดตั้งเมื่อปลายปี ๒๕๓๘ ที่เขื่อนปากมูลก็มีฐานมวลชนหนาแน่นอยู่ในภาคอีสาน ขบวนเหล่านี้เกิดแต่การหนุนเสริมของขบวนเอ็นจีโอ และกระแสสถานการณ์ที่สุกงอมของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน ตามกระบวนการดังที่กล่าวมา แต่ละเครือข่ายเหล่านี้ต่อมาก็มีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป จะไม่กล่าวถึงในที่นี้
ในทางวิชาการ บำรุง บุญปัญญา เป็นผู้มีความสามารถในการสังเคราะห์ประสบการณ์และปรากฏการณ์ทางสังคมยกระดับเป็น หลักการ แนวคิดทฤษฎี ซึ่งทำให้สิ่งที่เขาพูดและเขียนได้รับความสนใจจากนักคิดนักเคลื่อนไหวสังคมและนักวิชาการ การพูดของเขาได้รับการเรียบเรียงเป็นบทความและเผยแพร่ออกไปอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่เขาเขียนมีจำนวนน้อยกว่าที่เขาพูดและมีการเรียบเรียงโดยคนอื่น แต่ทั้งหมดที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นงานที่สร้างผลสะเทือนสูง และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักปฏิบัติการทางสังคม
นอกจากหมู่นักคิดสายสำนักคาทอลิกที่จัดทำวารสาร สังคมพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือเล่ม และสร้างสื่อต่างๆ เพื่องานพัฒนาแล้ว ผู้ขยายผลแนวคิดของบำรุงที่สำคัญคือ สำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นหัวเรือใหญ่ อาจารย์ฉัตรทิพย์เองได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากงานของบำรุงและงานอื่นๆ ของนักคิดจากองค์กรพัฒนาเอกชน
อาจารย์ฉัตรทิพย์กล่าวถึงบำรุงในวาระบำรุง บุญปัญญา ๗๐ ปี ว่า
“คุณบำรุง บุญปัญญา เป็นผู้ก่อกำเนิดแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน เป็นนักคิดผู้ทำให้สังคมไทยได้เข้าใจว่า แกนกลางของวัฒนธรรมไทยคือความเป็นชุมชน วัฒนธรรมไทยคือวัฒนธรรมแบบชุมชน ความสัมพันธ์ของสมาชิกของสังคมเป็นแบบระหว่างสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน ความเป็นชุมชนคือความเป็นครอบครัวที่ขยายวงกว้างออกเป็นเครือข่าย ความเป็นชุมชนเข้มข้นของสังคมไทยนี้มีลักษณะความเป็นอิสระในโครงสร้างภายในและระหว่างกันด้วย คือชาวบ้านแต่ละคนเป็นอิสระ แต่ว่าแต่ละคนก็มีเจตนารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกับส่วนรวม
“นี้เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย เป็นเช่นนี้ตลอดมาในประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของระบบทุน คุณบำรุง บุญปัญญา เป็นนักคิดคนแรกที่ชี้ว่า มี “วัฒนธรรมสองกระแส” ในสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนหรือวัฒนธรรมชาวบ้าน กับ วัฒนธรรมปัจเจกชนนิยมของระบบทุน วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมชุมชน คุณบำรุงเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑”(หนังสือ ในสายธารประชาธิปไตยประชาชน, โครงการหนังสือดอกติ้วป่า, ๒๕๕๘)
ดังนั้น ในระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมา อาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ วัฒนธรรมชุมชน มีมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจชุมชน และมิติความเป็นสากล อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สร้างความลุ่มลึกทางวิชาการต่อยอดจากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่ท่านได้สัมผัส และมีผลงานตีพิมพ์ออกมามากมาย พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักคิดนักพัฒนาท่านอื่นๆ ที่ได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นพื้นที่สำคัญขึ้นในสังคมไทย เช่น บาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหาร, ชัชวาล ทองดีเลิศ, ศ.นพ.ประเวศ วะสี และกรณี รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ที่คิดค้นหลักสูตรมหาวิทยาลัยชีวิต จนมีการเรียนการสอนไปทั่วประเทศในขณะนี้
บำรุง บุญปัญญา เป็นเด็กบ้านนอก ด้วยการบ่มเพาะในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักบวชที่ฉลาดปราดเปรื่อง เป็นผู้นำชุมชนที่แท้จริงของยุคสมัยแต่ก่อน และเมื่อสึกออกมาชาวบ้านก็เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เด็กชายบำรุงจึงเป็นเด็กหัวดี เรียนในโรงเรียนหมู่บ้าน ไต่เต้าไปเรียนโรงเรียนมัธยมระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นคนเรียนดีชนะคนอื่นเขาหมด เขาอธิบายว่ามันเป็นเพราะเขามีปมด้อยที่เป็นเด็กบ้านนอกจึงมุมั่นเรียนให้ดีเพื่อทดแทน และเขาก็ทำได้สำเร็จในทุกระดับ และเก็บเอาความกดดันที่โดนกระทำจากสังคมผู้ดี จากลูกคนรวย ลูกผู้หลักผู้ใหญ่ร่วมชั้นเรียนมาเป็นพลังของการคิดเอาชนะ เขาอธิบายสิ่งที่เขาเจอนั้นว่าเป็นการ “กดขี่กันทางวัฒนธรรม”
จุดหักเหสำคัญทางความคิดของเขา เห็นจะได้แก่เหตุการณ์ที่โรงเรียนรัตนบุรี เขามีอาจารย์ดีและมีรุ่นพี่ชื่อ เสถียร จันทิมาธร เป็นนักอ่านและนักกิจกรรมตัวยงได้ชักชวนเขาอ่านหนังสือดีๆ และเข้าร่วมกิจกรรมการอภิปรายทางการเมืองที่มีวิทยากรอย่าง เปลื้อง วรรณศรี, สุธี ภูวพันธ์ นักคิดนักเขียนนักการเมืองแนวสังคมนิยม การเรียนรู้ที่นี่ฝึกให้เขาเป็นคนหัวแข็ง คิดนอกกรอบและรักความเป็นธรรม
ต่อมาช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้วงเวลายุคแห่งการแสวงหาก่อนพายุใหญ่แห่งความเปลี่ยนแปลง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นอกจากผลการเรียนได้รางวัลเหรียญทองและจบด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม บำรุงยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นประธานสโมสรภาษาอังกฤษตอนอยู่ปีสาม ร่วมกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย ตั้ง “สภากาแฟ” ที่เป็นพื้นที่ส้องสุมทางปัญญาของนักกิจกรรม และคนชื่อบำรุงนี่เองเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมนักศึกษาอีสานขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่เขาเก็บความกดดันที่ว่า “ไม่กล้าพูดลาว” และ “พูดลาวไม่ได้ต้องเสียค่าปรับ” นับตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมเป็นต้นมา
ขณะอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาก็มีอาจารย์ดีหลายคนคอยดูแลให้ความเมตตา โดยเฉพาะ อาจารย์ระพี สาคริก ที่นักศึกษาเรียกว่า “พ่อ” อาจารย์เป็นแรงบันดาลใจ แบบอย่างทางคุณธรรมและความคิดและเป็นขวัญใจของนักศึกษานักกิจกรรม
ประสบการณ์การทำงานราชการ ๒ ปี แล้วมาทำงานพัฒนาชนบทที่มีอาจารย์ป๋วยเป็นหัวหน้าเขาได้เรียนรู้หลักสำคัญมากมายจากอาจารย์ป๋วย โดยเฉพาะคาถา ๓ ข้อที่เขาพูดถึงเสมอเมื่อพูดถึงอาจารย์ป๋วย
- ลงจากหอคอยงาช้าง ลงให้ติดดิน
- ทำอะไรต้องทำจริง อย่าทำเล่น ทำซ้ำจนรู้จริง กัดไม่ปล่อย
- ทำอะไรต้องมีอุดมคติในใจ
จากนั้นบำรุงยังมีโอกาสทำงานร่วมและได้รับความกรุณาจากอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เช่น อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ และ อาจารย์เสน่ห์ จามริก
อีกท่านหนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อบำรุงอย่างสูงคือ ดร.วาย ซี เจมส์ เยน ที่สถาบันพัฒนาชนบทนานาชาติที่ฟิลิปปินส์ ดร.เยน เป็นปัญญาชนจีนรุ่นเดียวกับ เหมา เจ๋อ ตง เป็นผู้เสนอทฤษฎี การพึ่งตนเอง (Self-Reliance) เป็นหลักที่สอดคล้องกับหลัก ปัญชญาติ ของ มหาตมะ คานธี ที่เป็นหลักสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และแนวคิดต่างเกี่ยวกับชุมชนในระยะต่อมาในวงการพัฒนาและวงวิชาการ
เหล่านี้คือเบ้าหลอมของปัญญาชนที่ไปจากเด็กชายบ้านนอก ตัวเล็ก ชื่อ บำรุง บุญปัญญา เขาเป็นลูกอีสานคนพิเศษที่ได้มีโอกาสไต่เต้าขึ้นไปพบสัมผัสกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกกว้าง แต่การเรียนรู้ไม่เคยลืมต้นทุนชีวิตของตัวเองที่มาจากบ้านนอกบ้านนา ความขมขื่นของคนชุมชนท้องถิ่นที่ถูกดขี่ทางวัฒนธรรมที่เก็บกดอยู่ภายใน
จึงเมื่ออายุย่างเข้า ๔๐ ปี เขาจึงหันเหเส้นทางชีวิตย้อนคืนมามาตุภูมิ ใช้ต้นทุนทางความคิดและพลังทุกชนิดที่ตกผลึกอยู่ในตัวทุ่มเทลงเพื่อบ้านเกิด เขาพบเขาชี้เขาพูดถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านคนธรรมดาที่มีอยู่มากมาย มันกำลังถูกบ่อนเซาะให้อ่อนแรงลงไปด้วยกระแสทุนนิยมที่กำลังแผ่ร่มเงาลงมาครอบคลุมทุกหย่อมย่าน เขาปลุกมันขึ้นมาพร้อมการออกแบบ ผลักดันกระบวนการพัฒนาที่ใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในนิเวศและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นอีสาน ซึ่งดูคล้ายกระแส “ท้องถิ่นนิยม” แต่ด้วยสายตาของเขาที่ผ่านเวทีสากลมามากต่อมาก เขาเห็นว่ามันเป็นกระแสโลก ที่ชุมชนท้องถิ่นทุกหัวระแหงในโลกก็กำลังลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนาจากฐานคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและชุมชน เขาไม่ลังเลที่จะออกมาริเริ่มบุกเบิกในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็นและยังไม่กล้า
การมาถึงของโครงการ คจก.ระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖ เขาออกมานำทัพคนจนที่ถูกแย่งชิงที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินไปจัดสรรให้นายทุน ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร – รสช.เคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยการชุมนุมเดินขบวน ปิดถนน เจรจากับตัวแทนรัฐบาลด้วยองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรดั้งเดิมของคนอีสาน จนรัฐบาลต้องล้มโครงการ คจก.ไปในที่สุด เขาเขียนในสมุดของเขาในช่วงนั้นว่า “ผมนึกถึงสายรกของตนเองยึดแน่นกับแผ่นดิน มาตุภูมิของผม…แล้วความหวาดกลัวทั้งหมดก็มลายหายไป” เขากล่าวกับคนใกล้ชิดว่า เขาลงมือได้อย่างนั้นเพราะ “คำสั่งของผีปู่ผีย่า”
ลูกอีสานและเด็กชายเด็กหญิงจากชุมชนท้องถิ่นที่มีโอกาสไต่เต้าทางการศึกษา มากคนที่เปลี่ยนฐานะทางสังคมไปเป็นคนมียศถาบรรดาศักดิ์ ร่ำรวยและมีชีวิตที่หรูหราสุขสบาย แต่คนชื่อ บำรุง บุญปัญญา ที่มีโอกาสนั้นกลับละทิ้งมันไปอย่างไม่แยแส ตรงข้าม เขากลับสมัครใจที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบ “สามัญชน” ไม่มีอะไรสะสม เพียงแต่ เขาบอกว่า “อีโก้” มันเยอะ ซึ่งเขาก็ต่อสู้กับมันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช และก็ลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นนอกจากผู้เขียนคนหนึ่งแล้ว คิดว่ามีคนชุมชนท้องถิ่นลูกชาวบ้านอีกมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสามัญชนลูกอีสานผู้อหังการคนนี้ – “บำรุง บุญปัญญา”