ประกาศสงกรานต์ ๖๑ เถลิงศก ปีเปิกเส็ด

ปางเมื่อพระสุริเยสเสด็จยัวรยาตรย้ายจากมีนประเทศเข้าสู่เมษราศี ปรากฏในวันเสาร์ ที่ ๑๔ เมษายน พระจุลสังกาศราชาได้ ๑๓๗๙ ตัว ไทภาษาว่ามื้อฮวายไจ้ ปีเมิงเฮ้า นพศก ตกมื้อแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ยามแถใกล้เที่ยง ได้ ๐๙ นาฬิกา ๑ นาที ๔๘ วินาที พระพุทธศักราชราชาล่วงมาได้ ๒๕๖๑ ปี สุกใสดีบ่เศร้า คนทั้งหลายก็เข้ามานิยมชมชื่นว่าเป็น “มื้อสังขานต์ล่อง”

พอเมื่อนักขัตฤกษ์ ถืกหน่วยที่หก ชื่อว่าอัทธะ คือดาวดั้ง วันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ไทภาษาว่า “มื้อเปิกยี่” ยามตุดซ้าย พร่ำว่าได้ ๑๒ นาฬิกา ๕๙ นาที ๒๔ วินาที ยามนั้น พระสุริยาอาทิตย์เจ้าก็เสด็จเข้าสถิตสู่ วิมานชัย สุกใสดีบ่เศร้า พระจุลสังกาศราชา เจ้าจึงแถมตื่มขึ้นได้ ๑๓๘๐ ตัว สัมฤทธิศก จอ ฉนำ กัมโพชพิสัย ไทภาษาว่า “ปีเปิกเส็ด” ปรากฏเข้าว่าเป็น “พญาวัน” คนทั้งหลายก็ พากันเฮียกเอิ้นว่า “มื้อสังขานต์ขึ้นปีใหม่” กาลโยค ศุกร์ธงชัย ศุกร์อธิบดี พหัสบดีอุบาทว์ อาทิตย์โลกาวินาศน์ อธิกมาส ปกติวาร ปกติ สุรทิน

ผิว่าสังขานต์ไปปีเฮ้า พญานาคเจ้าลงมาให้ น้ำ ๓ ตัว ข้าวดอ ข้าวกลาง ในนาลุ่มดี ข้าวงันบ่ ดีฯ เดือน ๕ เดือน ๖ ฝนตกสะหน่อย จักมีศัตรูแก่คนทั้งหลายหนพายัพฯ เดือน ๗ เดือน ๘ ฝน

ตกมากฯ เดือน ๙ ออก ๕ ค่ำ ฝนจึงตกมากฯ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนเจียง เดือนยี่ เดือน ๓ เดือน ๔ นัตถิกิญจะแลฯ

เปิดนำบทความด้วยประกาศสงกรานต์ตามอริยะประเพณีอีสาน เพื่อต้อนรับวันสงกรานต์อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติชนของชาวอุษาคเนย์ หลังจากรับวัฒนธรรมจากชมพูทวีปโดยถือว่าวันขึ้นปีใหม่เริ่มต้นขึ้นในกลางเดือนเมษายน ซึ่งก่อนหน้านั้นคงได้นับวันขึ้นปีใหม่ในเดือน “เจียง” ซึ่งเป็นเดือนแรกตามปฏิทินสุริยคติ และมีร่องรอยว่าชาวจ้วงใช้วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันปีใหม่ เปิดผ้าม่านกั้งฉบับนี้ จึงนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันเดือนปีโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดสั่งสมมาช้านาน และกำลังเลือนหายไปพร้อมกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ถูกกร่อนกลืนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้คนปัจจุบันได้รู้จักเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิทินสากล”


จักรราศีและดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่ม ตำแหน่งอ้างอิงการกำหนดวันเดือนปีของคนอีศาน

ปักขทึนอีสาน

“ปักขทึน (ปัก-ขะ-ทึน)” เป็นคำเก่าที่ ปรากฏในวรรณกรรมอีสานโบราณ ตรงกับคำ ภาษาบาลี ว่า ปักขทิน ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ปฺรติทิน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Calendar ปัจจุบันใช้ว่า ปฏิทิน แปลว่า แบบสำหรับดูวัน เดือนปี

คำว่า  ปักขทึน ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ

ปักขะ แปลว่า กึ่งของเดือนจันทรคติ

ทินนะ แปลว่า วัน ดังนั้น ตามรากศัพท์ของคำว่า ปักขทึน จึงแสดงนัยยะว่าหมายถึง “การกำหนดนับวัน เดือนปีตามจันทรคติและสุริยคติ”

การนับวันและปีของอีสานโบราณนั้น เป็นการนับรอบรวมปริวรรต ๖๐ ปี ซึ่งระบบนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากระบบกานจือ หรือ ระบบ ลำต้นฟ้า-กิ่งก้านดินของจีน โดยแบ่งออกเป็น

ลำต้นฟ้า อีสานเรียกว่า แม่มื้อ หรือ แม่ปี มี ๑๐ ลำดับ คือ กาบ ดับ ฮวาย เมิง เปิก กัด กด ฮวง เต่า กา

กิ่งก้านดิน อีสานเรียกว่า ลูกมื้อ หรือ ลูก ปี มี ๑๒ ลำดับ คือ ไจ้ เป้า ยี่ เหม้า สี ไส้ ซะง้า มด สัน เฮ้า เส็ด ไค้

 

ศุภมาสมหาจักร ปริวรรตแห่งปีกับวิถีดาว

ในยุคโบราณ การกำหนดวันเดือนปีและ ฤดูกาลย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ เตรียมพร้อมในการรับมือกับสภาพธรรมชาติ การเตรียมการเพาะปลูก และการดำรงชีวิต อารยธรรมโบราณทั้งหลายบนโลกต่างแสดงให้ เห็นถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ปรากฏการณ์บนท้องฟ้ากับฤดูกาล และสภาพ ทางธรรมชาติบนโลก เพื่อจัดทำเป็นระบบปฏิทิน ของแต่ละเผ่าพันธุ์ จนสามารถกำหนดขึ้นเป็น ระบบปริวรรตแห่งปีที่แน่นอน โดยอ้างอิงความ สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้า และฤดูกาล การกำหนดจุดครบรอบปริวรรตแห่ง ปีโดยอิงกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้ามีใน หลายอารยธรรมโบราณ เช่น ชาวไอยคุปต์ได้ กำหนดให้วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าพร้อม กับดาวซิริอุส (Siris) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

 

ศาสตร์ในการติดตามสังเกตปรากฏการณ์ บนท้องฟ้าและการคำนวณวันเวลาเพื่อจัดทำ ปฏิทินตำแหน่งดาวในวันเวลาต่างๆ จนกระทั่งนำไปสู่การตีความปรากฏการณ์เพื่ออธิบายถึงสิ่ง ดีร้ายที่จะเกิดขึ้น จนเป็นศาสตร์แขนงสำคัญของ โลก เรียกว่า “โหราศาสตร์” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์เป็นฐาน สำคัญ โดยโบราณได้สมมติให้โลกเป็นศูนย์กลาง ของจักรวาล คตินี้กำหนดให้เทหวัตถุทั้งหลายบน ท้องฟ้าโคจรรอบโลก โดยมีดวงอาทิตย์และดาว เคราะห์โคจรผ่านจักรราศี ๑๒ กลุ่ม ตามแนวเส้น “สุริยวิถี” หรือเส้น “รวิมรรค” รวมถึงการ เคลื่อนผ่านหมู่ดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่ม และเมื่อดวง อาทิตย์โคจรตามแนวเส้นรวิมรรคครบ ๑ รอบ กำหนดให้เป็นเวลา ๑ ปี

เส้นรวิมรรคถูกแบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน ส่วน ละ ๓๐ องศา รวมเป็น ๓๖๐ องศา กำหนดให้ เริ่มต้น ๐ องศาที่ราศีเมษ แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ ๐ องศาในราศีเมษไม่มีดาวฤกษ์ดวงใดปรากฏให้ เห็นเป็นที่สังเกต แต่ในจุดเริ่มต้นของราศีตุลย์มี ดาวฤกษ์ที่ใช้อ้างอิงและเห็นได้ชัดตามตำรา อินเดียเรียกว่ากลุ่มดาว “จิตตะ” หรือดาวรวง ข้าว ตำราอีสานเรียกว่า ดาวงวงช้าง อยู่ห่างจาก ราศีเมษไป ๖ ราศี หรือ ๑๘๐ องศา

ดังนั้น หากคำนวณได้ว่าในเวลาที่ดวง อาทิตย์โคจรห่างจากกลุ่มดาวงวงช้าง ๑๘๐ องศา เวลานั้นจะเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้า สู่ราศีเมษ เป็นวันสังขานต์ล่อง หรือวันมหา สงกรานต์ โดยสามารถสังเกตท้องฟ้าวันมหา สงกรานต์ในเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก ดาวงวงช้างจะ ขึ้นสู่ขอบฟ้าด้านตะวันออกพอดี

ในอุษาคเนย์แต่เดิมไม่ได้นับศุภมาศ (วัน คืนเดือนปี) เพิ่มขึ้นตามศักราชดังเช่นปัจจุบัน แต่ นับเป็นรอบปริวรรตปี วนเป็นรอบ ๆ เรียกว่า “กาลจักร” มี ๒ แบบ คือ รอบน้อย ๑๒ ปี เรียก ว่า “จุลจักร” หรือ “ทวาทศจักร” และรอบใหญ่๖๐ ปี เรียกว่า มหาจักร”

ระบบดาราศาสตร์จีนและอินเดีย มีการ อ้างอิงตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีซึ่งปกติจะโคจร ปีละประมาณ ๑ ราศี การโคจรครบรอบจักรราศี จึงใช้เวลา ๑๒ ปี ถือเป็น ๑ รอบอายุ เมื่อครบ ๕ รอบ ถือว่าครบ ๕ ธาตุ เป็นการครบรอบปริวรรต ๖๐ ปี เรียกว่า ศุภมาสมหาจักร”

นอกจากการสังเกตวงโคจรของดาว พฤหัสบดีโดยตรงแล้ว ยังสามารถสังเกตความ สัมพันธ์ของการโคจรรอบจักรราศีของดาว พฤหัสบดีที่ใช้เวลา ๑๒ ปี โดยมีอัตราสัมพันธ์กับ การโคจรรอบจักรราศีของดาวเสาร์ที่ใช้เวลา ๓๐ ปี ซึ่งดาวทั้งสองจะโคจรมาร่วมตำแหน่งกันใน ทุก ๒๐ ปี และเปลี่ยนตำแหน่งไป ๑๒๐ องศา หรือหนึ่งในสามของท้องฟ้าใน ๒๐ ปีถัดไป เมื่อ ครบ ๓ รอบ หรือ ๖๐ ปี จึงจะกลับมาร่วม ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง เป็นการครบรอบปริวรรต ๖๐ ปี

การนับปริวรรต ๖๐ ที่ใช้ในระบบปฏิทิน จีนโบราณ เรียกว่า “เทียนกานตี้จือ (天干地 支)” แปลว่า “ลำต้นฟ้าและกิ่งก้านดิน” โดย คำว่า เทียนกาน (天干) หมายถึง “ลำต้นฟ้า” และ ตี้จือ (地支) หมายถึง “กิ่งก้านดิน” เรียก ย่อว่า “กานจือ (干支)” ปฏิทินแบบนี้ใช้ ๑๐ ลำต้นฟ้า ผสมกับ ๑๒ กิ่งก้านดิน เป็นปริวรรต ๖๐ เรียกว่า ๖๐ ฮวาเจี๊ยะจื่อ (花甲子)

โก๊ะม้อะย้อะ นักวิชาการชาวจีน อธิบายว่า เดิม ๑๐ ลำต้นฟ้าเป็นชื่อกำกับลำดับเลข ๑ ถึง ๑๐ ต่อมาใช้เป็นชื่อบอกลำดับวัน กำหนดให้ ๑๐ วันเป็น ๑ รอบ หรือ ๑ ปริวรรต ส่วน ๑๒ กิ่ง ก้านดินนั้น เดิมเป็นลำดับ ๑๒ นักษัตร แต่ เนื่องจากการนับรอบ ๑๐ วันค่อนข้างสั้น มักจะ เกิดการสับสนได้ง่าย จึงผสม ๑๐ ลำต้นฟ้ากับ๑๒ กิ่งก้านดิน ประกอบกันเป็น กานจือ หรือ ๖๐ ฮวาเจี๊ยะจื่อ

ระบบกานจือพบหลักฐานในการใช้นับวัน ในจีน ตั้งแต่ก่อนพุทธศักราช ๘๐๐ – ๕๐๐ ปี จากจารึกอักษรกระดองเต่าซึ่งใช้เป็นของ เสี่ยงทายสมัยราชวงศ์ยินซาง พบว่ามีการนำ กระดองเต่าหรือกระดูกวัวมาลนไฟแล้วทำนาย จากรอยร้าว โดยจะสลักคำทำนายด้วยอักษรจีน โบราณพร้อมสลักชื่อลำดับวันในระบบกานจือลง ไปเกือบทุกแผ่น แสดงให้เห็นว่าคนจีนมีการใช้ กานจือนับวันมาแล้วกว่า ๓,๐๐๐ ปี ต่อมาจึงมี การนำมาใช้นับปีในสมัยพระเจ้าซุ่นเต้ (พ.ศ.๖๖๙ – ๖๘๗) แห่งราชวงศ์ฮั่น

ในอินเดียมีการนับปีคล้ายกับระบบกานจือ เรียกว่า “พฤหัสบดีจักร” หรือ “มหาสัฏฐีจักร” มีนามปีไม่ซ้ำกันทั้ง ๖๐ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงอธิบายว่าในประเทศอินเดียเพิ่งเอาวิธีพฤหัสบดีจักรมาใช้ ในชั้นหลัง ๆ ราว พ.ศ.๑๕๐๘

การนับปีแบบวนเป็นรอบใหญ่ ๖๐ ปี หรือ “ศุภมาสมหาจักร” ที่พบในเอกสารและจารึก โบราณในอุษาคเนย์ พบว่า ใช้บอกทั้งชื่อปีและ ชื่อวัน ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ปรากฏข้อมูลว่าในอุษาคเนย์รับเอาระบบศุภมาสมหาจักรจากจีนมาใช้ ตั้งแต่เมื่อใด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการ เริ่มใช้กานจือเพื่อเรียกชื่อปีในจีนแล้ว ย่อมเป็น หลักฐานได้ว่าในอุษาคเนย์น่าจะมีการใช้ศุภมาส มหาจักรไม่เก่าไปกว่ารัชกาลพระเจ้าซุ่นเต้ หรือ หลังจาก ๑,๘๐๐ ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า หลักฐาน จารึกและเอกสารโบราณในดินแดนอีสาน-ล้าน ช้าง แต่เดิมนิยมใช้ระบบปฏิทินแบบเดียวคือ แบบศุภมาสมหาจักร หรือปีหนไท ต่อมาภาย หลังเมื่อต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงเทพ จึงใช้ีนักษัตรแบบขอมเพิ่มเข้ามาในระบบปฏิทินของ อีสาน-ล้านช้าง

ฮีตเดือน ๕ บุญสงกรานต์ของชาวอีสาน (ภาพวาด : ธรรมรงค์ แก้วโบราณ)

วันขึ้นปีใหม่ จ.ศ.๑๓๘๐ ปีเปิกเส็ด

หลายท่านยังคงเชื่อว่า จะเปลี่ยน พ.ศ. ใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม และเริ่มต้นปีใหม่ไทยในวัน สงกรานต์ ที่ ๑๓ เมษายน แต่ในความเป็นจริง แล้วการนับวันขึ้นปีใหม่มีหลายคติ และมีการ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยเรื่อยมา เช่น การเปลี่ยน ปีพุทธศักราชควรจะเริ่มนับปีใหม่ในวันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือในวัน เพ็ญเดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา หรือในสมัยหนึ่ง ประเทศไทยได้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปี ใหม่ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกันทั้งการเปลี่ยนปี พุทธศักราชและคริสตศักราช ตามปฏิทินสากล

การเปลี่ยนปีใหม่จึงเป็นไปตามคตินิยมที่ แตกต่างกัน ที่สำคัญคำว่า “วันปีใหม่ไทย” ใน ปัจจุบันยิ่งผิดพลาดสับสน ดังที่ปรากฏใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ให้ความ หมายคำว่า “มหาสงกรานต์” ว่าหมายถึง “วันขึ้นปีใหม่อย่างเก่า เริ่มแต่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์” ซึ่งนิยาม นี้สับสนและผิดจากวันขึ้นปีใหม่ตามคติโบราณ เพราะวันที่พระอาทิตย์เริ่มย่างขึ้นสู่ราศีเมษเรียก ว่า “วันสังขารล่อง” เรียกอย่างไทยว่า “วันมหาสงกรานต์” ส่วนวันปีใหม่จะเริ่มนับตั้งแต่ดวง อาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษเต็มทั้งดวง เรียกว่า “วัน เถลิงศก” หรือ “วันพญาวัน” ซึ่งอยู่ถัดจากวัน มหาสงกรานต์ไปอีกประมาณ ๒ – ๓ วัน ดังนั้น นิยามของ “วันมหาสงกรานต์” จึงควรจะเป็น “วันที่พระอาทิตย์เริ่มต้นโคจรเข้าสู่ราศีเมษ”

ส่วนวันขึ้นปีใหม่หรือวันเถลิงศก โบราณ เรียกว่า “พญาวัน” เป็นวันที่เริ่มต้นเปลี่ยนปี จุลศักราชตามระบบปฏิทินโบราณ เช่น อยากรู้ ว่าในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ จะเปลี่ยนจาก จุลศักราช ๑๓๗๙ เป็นจุลศักราช ๑๓๘๐ ในวัน ใด ต้องมีการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ คำนวณได้ดังนี้

เถลิงศกปี จ.ศ.๑๓๘๐ ปี “เปิกเส็ด” วันพญาวัน ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑ เป็น “มื้อเปิกยี่”

 

ประกาศสงกรานต์ ปีพระพุทธศักราช ๒๕๖๑ วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นวัน สังขานต์ล่อง หรือวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ เวลา ๐๙ นาฬิกา ๑ นาที ๔๘ วินาที ปีนี้เป็นปีอธิกมาส ปกติวาร ปกติสุรทิน มีวันสังขานต์เนาว์ ๒ วัน คือ วันที่ ๑๔ และ ๑๕ เมษายน

วันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๙ นาที ๒๔ วินาที โบราณเรียก “มื้อเปิกยี่” เป็นวันสังขานต์ขึ้น หรือพญาวัน หรือวันเถลิงศก จุลศักราชเปลี่ยนเป็น ๑๓๘๐ ปี โบราณเรียก “ปีเปิกเส็ด”

นางสงกรานต์ชื่อ มโหธรเทวี ทรงพาหุรัตน์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) แก้วนิลรัตน์เป็น อาภรณ์ มีเนื้อทรายเป็นภักษาหาร พระหัตถ์ขวา ทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล (หลาว ๓ ง่าม) เสด็จยืนมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

ทายว่า แผ่นดินจะแล้ง คนทั้งหลายจะไข้ จะตาย วัวควายช้างม้าข้าไทจะตาย น้ำจะมิ ปราณี จระเข้จะเกิดขบคนทุกแห่ง จะเกิดอันตราย กลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย ผู้คนทั่วไป จะเป็นไข้เจ็บหนักเป็นที่สุด พริกจะแพง แร้งกา จะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย แต่แม่หม้าย จะได้ลาภ หมู่ทะแกล้วทหารทั้งปวงจะประกอบ ด้วยความสุขและวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำ ยุทธด้วยข้าศึกทิศใด ๆ จะมีชัยชนะทุกประการ

ปีนักษัตร

อีกเรื่องหนึ่งที่มักสับสนกันคือ การเปลี่ยน ปีนักษัตรใน พ.ศ.๒๕๖๑ นี้จะเริ่มปีนักษัตรใหม่ คือ “ปีจอ” เมื่อใดนั้น ตามหลักโหราศาสตร์ กำหนดให้การเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ไว้ ๒ แบบ คือ

๑. การเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ ให้เริ่มตั้งแต่วันใหม่ของเดือนจิตตมาส เป็นต้นไป กล่าวคือ เริ่มในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ในปีปกติมาส หรือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ในปี อธิกมาส ซึ่งจะเป็นช่วงที่จันทร์เพ็ญตรงดาวจิต ตะ หรือดาวงวงช้างนักษัตรที่ ๑๔

๒. การเปลี่ยนปีนักษัตรตามปฏิทินหลวง จะเปลี่ยนในเดือนอ้าย ขึ้น ๑ ค่ำ โดยถือตามคติ ว่าเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโดยทั่วไปใช้ปี นักษัตรเพื่อการคำนวณทางโหราศาสตร์ จึงนิยม ใช้แบบที่ ๑ ดังนั้นในปี ๒๕๖๑ ปีวอกนักษัตรจะ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

สิทธิการิยะท่านว่า ทำนาในปีจอ (ระหว่าง ๑๕ เมษายน ๒๕๖๑ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑) ให้แรกนาในวัน “จันทร์” เกณฑ์ชาวนาได้เศษ ๑ ฝนกลางปีดี ปลายปีฝนตกหนัก ปูมักชุม ข้าว เกลือ หมาก จะแพง คนจะป่วยไข้

เปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้ ได้นำเรื่องราวของ ระบบศุภมาสมหาจักร ซึ่งเป็นปักขทึนของคน อีสานโบราณมาเป็นบรรณาการวันสงกรานต์ ผ่าน “ทางอีศาน” เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ร่วมจุด ไฟแห่งการเรียนรู้ เผื่อว่าวันหน้าจะได้ร่วมกัน รื้อฟื้น “ปักขทึนอีสาน” สำหรับแจกจ่ายไว้ ใช้สอยคู่กับปฏิทินสากลของฝรั่ง ก่อนที่ ภูมิปัญญาหลายพันปีนี้จะสูญหายไป ดังที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์ พงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“…ตำราดั้งเดิมของไทยนั้น นับเป็นอันสาบสูญเสียแล้วจากโหรในกรุงสยามทั้งชั้นเก่า

และชั้นใหม่ ด้วยชั้นใหม่ก็ใช้ปฏิทินฝรั่งซึ่งคำนวณทางสุริยคติเหมือนกัน สอบง่ายกว่า

ทางพฤหัสบดี ก็เป็นธรรมดาโลกวิสัย สิ่งใดมั่นคงกว่า ง่ายและสะดวกกว่า สิ่งนั้นก็ย่อม

ชนะ และเป็นที่นิยมของคนฉลาดที่เฟื่องศึกษาอยู่นั่นเอง…


นางสงกรานต์ ภาพแทนบุคลาธิษฐานของพระอาทิตย์ที่เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ

Related Posts

ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (ตอนจบ)
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
สงกรานต์ ( ສົງການ, សង្រ្កា)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com