ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ : อาณาจักรศรีโคตรบูร
โดย: d-friend
ตามประวัติน่าจะแบ่งเป็นสอง ยุค คือ ยุคแรก ถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดเพราะ มีประวัติเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 8 ซึ่งก็ยังไม่ถึง พุทธศตวรรษ ที่ 1 ด้วยซ้ำ ( 100 ปี = 1 ศตวรรษ)
ในตำนานพระธาตุพนมเล่าว่า”ในราว พ.ศ.๘ ศรีโคตรบูรตั้งเมืองหลวงอยู่ใต้ปากเซบ้องไฟ อยู่เหนือสุวรรณเขตประเทศลาว ครั้นต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่เหนือธาตุพนม ในดงไม้รวกจึงมีนามว่า” มรุกขนคร “มีกษัตริย์ครองเมือง ๕ องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระยานิรุฏฐราช บ้านเมืองเลยเกิดวิบัติล่มร้างเป็นบึงและป่า
จากหลักฐานในส่วนนี้ ทำให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่ง เชื่อว่า แท้ที่จริงแล้วศูนย์กลางสุวรรณภมิ น่าจะอยู่ที่นครพนม ไม่ใช่นครปฐม แต่หลักฐานนี้ โดนโต้แย้ง ว่า การที่อาณาจักรศรีโคตรบูรตั้งเมืองหลวงในพ.ศ.๘ นั้นน่าจะผิดพลาดเนื่องจากเวลาห่างจากปีที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณฑูตออกไปประกาศพระศาสนาในปี พ.ศ.๒๓๖ ถึง ๒๒๘ ปี (หากเป็นพุทธศตวรรษที่ ๘ คือ พ.ศ.๘๐๐ ก็น่าจะพอเชื่อถือได้บ้าง)
แต่มีข้อสนับสนุนตามตำนานว่า การสร้างพระธาตุพนมนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนาด้วยพระองค์เอง และในพ.ศ.๘ พระมหากัสสปะและท้าวพญาทั้งห้าพระองค์ได้สร้างพระธาตุโดยอัญเชิญพระอุรังคธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์สูง ประมาณ ๘ เมตร สำหรับ ท้าวพญา ๕ พระองค์ที่ร่วมสร้างพระธาตุพนมเมื่อพ.ศ.๘ นั้น คือ พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตรบูร พญาจุลณีพรหมทัต ครองแคว้นจุลณี พญาอินทปัตถ์ ครองอินทปัตนคร พญาคำแดง ครองเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหารหลวง ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ครองเมืองในอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์โบราณเมื่อครั้งที่ตั้งเมืองหลวงอยู่ใต้ปากเซบ้องไฟ ฝั่งสุวรรณเขตประเทศลาว
ยุคหลัง
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔–๑๕ ครั้งสมัยอาณาจักรทวารวดีมีอำนาจอยู่นั้น บริเวณสองฟากแม่น้ำโขงได้มีการตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่เรียกว่าอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ หรือ โคตรปุระ แปลว่า เมืองตะวันออก โดยมีพระยาโคตรบอง เป็นผู้ครองนคร ดินแดนแห่งนี้มีเมืองสำคัญคือ เวียงจันท์ หรือเวียงจันทน์ หนองหานหลวง(สกลนคร) มรุกขนคร(นครพนม) เมืองจันทบุรี ศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว(หลวงพระบาง) เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงรุ้ง เป็นต้น
พ.ศ.๑๘๙๖ สมัยอยุธยาตอนต้น พระเจ้าฟ้างุ้มทรงสถาปนานครเวียงจันท์ขึ้นเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรลาว
พ.ศ. ๑๙๙๑ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรล้านนา ภายหลังได้อภิเษกพระธิดาของกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักษ์ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งมิตรภาพ (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย)
อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์นี้ได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมา และภายหลังได้เป็นอาณาจักรล้านช้าง(ปัจจุบันคือพระราชอาณาจักรลาว) ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นอาณาจักรลานช้างได้ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นอาณาจักรสยามต้องเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสจึงทำให้อาณาจักรแห่งนี้ตกอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศสต่อมา
โบราณสถานสำคัญของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์นั้นคือ พระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นปูชนีย์สถานพุทธศาสนาสำคัญ โดยสร้างทับบนปราสาทขอมสมัยโบราณ มีตำนานพระธาตุพนมว่า พระธาตุนี้ได้สร้างขึ้นใน พ.ศ.๘ สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์โบราณฅโดยก่ออุโมงค์เป็นรูปเตามีประตูปิดเปิด๔ด้านสูง ๕เมตรสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุโดยมีผ้ากัมพลห่อไว้ภายในอุโมงค์
ต่อมา พ.ศ.๕๐๐ พระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์คือ พระสังขวิชาเถระ พระมหารัตนเถระ พระจุลรัตนเถระ พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ และพระจุลสุวรรณปราสาทเถระ พร้อมด้วยพระยาสุมิตธรรมวงศา แห่งเมืองมรุกขนคร ได้ร่วมกันบูรณะพระธาตุพนมสูงประมาณ ๒๔ เมตรและอัญเชิญพระอุรังคธาตุออกมาประดิษฐานบนพานทองคำ อมรฤาษีและโยธิกฤาษีไปเอาอุโมงศิลาบนยอดเขาภูเพ็กมาตั้งไว้ชั้นบนของพระธาตุชั้นที่ ๒ ซึ่งอยู่สูง ๑๔ เมตรแล้วพระสุมิตธรรมวงศาได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุฐาปนาไว้บนเจดีย์ศิลานั้น
ต่อมาพระโพธิศาล ซึ่งครองเมืองหลวงพระบางเมื่อ พ.ศ.๒๐๗๓-๒๑๐๓ นั้นได้ตำนานอุรังคธาตุ(ที่พระธาตุพนม) มาจากกัมพูชา จึงเกิดความศรัทธาและได้มาสร้างบริเวณภูกำพร้าขึ้นเป็นวัด อุทิศข้าทาสให้แก่พระธาตุ พระไชยเชษฐาธิราช โอรสของพระโพธิศาล ซึ่งสร้างเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ.๒๑๕๗
ต่อมา พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์ได้นำช่างมาจากเวียงจันทน์มาทำการบูรณะพระธาตุพนมต่อเติมจนสูง ๔๗ เมตรโดยพ่อออกพระขนานโคต(พระขนานโคษ) พร้อมด้วยบุตรภริยาได้ “นำเอาอูบพระชินธาตุเจ้าที่จันทรปุระ(เวียงจันทน์) มาฐาปนาที่ธาตุปะนม(พระธาตุพนม) “และบรรจุพระพุทธรุปเงิน-ทอง แก้วมรกต อัญมณีมีค่าไว้มากมาย และพ.ศ.๒๔๘๓-๘๔ กรมศิลปากรได้ทำบูรณะพระธาตุให้สูงขึ้นเป็น ๕๗ เมตร หลังจากนั้นก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๐ น. เศษ องค์พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ยอดพระธาตุฟาดมาทางทิศตะวันออก กรมศิลปากรได้บูรณะตามแบบเดิมเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๒๒