ประวัติและที่มาทำไมต้องหาฤกษ์ก่อนทำกิจและพิธีกรรม

ประวัติและที่มาทำไมต้องหาฤกษ์ก่อนทำกิจและพิธีกรรม

กาลอันล่วงเลยมาจนไม่สามารถกำหนดช่วงเวลา กำหนดวัน กำหนดเดือน กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้ และไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกพิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย ทุกชีวิตที่ลงมาเกิดในโลกทั้ง ๓ นี้ จะต้องผ่านการอนุญาตจากพระองค์ท่านก่อนจึงจะมาเกิดได้

ลูกพ่อแม่เดียวกันแต่หน้าตาต่างกัน

ในอดีตกาลที่นานมาแล้ว มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งตั้งอยู่ไกลจากตัวเมือง ในหมู่บ้านแห่งนี้มีหญิงหม้ายคนหนึ่งชื่อว่า แม่ฤกษ์งามยามดี นางเป็นคนสวยรวยเสน่ห์ หนุ่มน้อยใหญ่ต่างให้ความสนใจ เป็นที่หมายปองกันทั่วทุกมุมเมือง นางไม่ใช่แม่หม้ายธรรมดาแต่เป็นแม่หม้ายทรงเครื่องก่อนสามีของนางจะตายได้ให้บุตรชายถึงสี่คนเอาไว้ดูต่างหน้า จะได้หายเหงาคลายเศร้าเวลาคิดถึง คนที่หนึ่งชื่อว่า พิดาน เป็นพี่ชายคนโตมีบุคลิกภาพภูมิฐานสมชายชาตรี เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายร่ำลือขจรไกล คนที่สองชื่อว่า ราหู คนรองลงมามีอุปนิสัยที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ราหูคนนี้มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวมาก เหมือนยักษ์เหมือนมาร ถ้าใครเห็นเข้าก็วิ่งหนีทันที ส่วนคนที่สามชื่อว่า ผีหลวง คนนี้มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวมาก ไม่ต่างอะไรกับพี่ราหูเลย และคนที่สี่ชื่อว่า หลาวเหล็กน้องคนเล็กสุดเป็นคนหน้าตาดี มีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคนเราธรรมดาสามัญทั่วไป พี่น้องทั้งสี่คนนี้ได้เกิดวันเดือนปีเดียวกัน คือนางฤกษ์งามยามดีคลอดลูกแฝดทีเดียวสี่คนเป็นชายทั้งหมด

หลายปีต่อมาเด็กชายทั้งสี่คนก็เจริญวัยขึ้นเมื่ออายุได้ยี่สิบห้าปีเข้าวัยเบญจเพส อยู่มาวันหนึ่งพี่พิดานคนโตคิดอยากทำการค้ายังต่างเมืองจึงได้ปรึกษากับแม่และพูดกับน้องทั้งสามคน จนทุกคนเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการไปค้าต่างแดนในครั้งนี้ ต่อมาพี่พิดานได้ลงเรือสำเภาออกเดินทางไปค้าขาย ได้สั่งน้องทั้งสามไว้ว่าให้เลี้ยงดูเฝ้าปรนนิบัติแม่ให้ดี ฝ่ายน้อง ๆ ทั้งสามคนที่อยู่บ้านก็ตกปากรับคำ และขอให้พี่ไว้ใจไม่ต้องเป็นห่วง

หลายวันผ่านไปจนกลายเป็นเดือนและเป็นปี พิดานทำการค้ารุ่งเรืองขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า เมื่อสินค้าหมดได้หันหัวเรือกลับบ้าน ช่วงเวลาแล่นเรือผ่านมาตามแม่น้ำได้พบกับสาว ๆ ลงอาบน้ำที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้แล่นเรือเข้าไปหาเพื่อจะได้เข้าไปจีบสาว ๆ ที่กำลังอาบน้ำอยู่เมื่อเรือเข้าเทียบฝั่งแล้วได้มีหญิงสาวคนหนึ่งส่งยิ้มให้ พร้อมกับพูดเชิญชวนว่า “พี่ชายคงจะเดินทางมาแต่ไกล พักที่ท่าน้ำนี้ก่อนไหมคะค่ำคืนนี้ รุ่งสางวันใหม่แล้วจึงค่อยออกเดินเรือต่อก็ได้ ตอนนี้มาอาบน้ำด้วยกันก่อนไหมคะพี่ชาย…?”

เมื่อพิดานได้เห็นและได้สัมผัสหญิงสาวคนนี้แล้ว ก็รู้สึกประทับใจในรอยยิ้ม คำพูดจาอันชาญฉลาดของนาง ทำให้ตัดใจตกปากรับคำตามคำเชิญของสาวอย่างง่ายดาย ด้วยมนต์เสน่ห์หญิงสาวผู้น่ารัก ที่ชวนไปบ้านได้พักผ่อน ให้พ่อแม่ได้พบหน้าคร่าตา เพราะนางก็ไม่เคยเห็นผู้ชายรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาอย่างนี้มาก่อนกามเทพได้แผงศรรักปักกลางใจทั้งสองคนอย่างจัง หญิงสาวผู้น่ารักคนนี้ที่จริงหล่อนเป็นลูกของเศรษฐีในเมือง เมื่อหนุ่มสาวมีความรักต่อกันแล้วพ่อแม่ก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด

หลายวันต่อมาฝ่ายหญิงจึงบอกให้พี่พิดานกลับบ้าน ไปบอกให้แม่มาสู่ขอตามประเพณีฝ่ายพิดานจึงได้เดินทางกลับบ้านตามหญิงสาวแนะนำ กว่าจะถึงบ้านต้องใช้เวลาอยู่หลายวันเมื่อจากน้องนางมาหลายวันพิดานก็คิดถึงหญิงสาวที่ไปพบอยู่ที่ท่าน้ำอยู่ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันกินอันนอนเพราะหัวใจได้ตกหลุมรักแน่แล้วจึงได้เล่าเรื่องราวให้แม่และน้อง ๆ ฟังอย่างละเอียด ส่วนน้องชายก็ดีใจที่พี่ชายจะได้แต่งงาน อยากจะเห็นพี่สะใภ้ว่าจะสวยเลิศสักแค่ไหนส่วนแม่ก็ดีใจแต่ไม่แสดงออกให้ลูกเห็น แต่คิดอยู่ในใจว่า “หากว่าน้องสองคนผู้มีหน้าตาไม่ดีไปร่วมงานแต่ง ชาวบ้านทั้งหลายก็จะกลัวพวกลูก ๆ เรา แล้วราหูและผีหลวงจะเอาไว้ไหน ถ้าไม่ให้น้องไปก็จะเสียใจ” เมื่อคิดได้เช่นนี้นางจึงนิ่งไปชั่วครู่หนึ่ง น้องเล็กหลาวเหล็กจึงมองดูแม่แล้วถามว่า “แม่เป็นอะไรไปหรือ แม่ไม่ดีใจหรือที่จะได้ลูกสะใภ้…?” เมื่อนางได้สติจึงพูดออกไปว่า “ดีใจสิลูก แม่ไม่เป็นอะไร แม่ดีใจกับพี่คนโตน่ะลูก” แล้วนางจึงถามลูกชายคนโตว่า “วันไหนล่ะลูก ท่านเศรษฐีจะให้แม่ไปตบไปแต่งตอนไหนกัน…?”

พิดานจึงบอกแม่ไปว่า “ไปวันไหนก็ได้ตามใจแม่ แล้วแต่สะดวก” นางจึงบอกลูกชายไปว่า “แม่ขอปรึกษาพี่น้องญาติมิตรของเราก่อนว่าจะไปวันไหนดี” ญาติมิตรมีความเห็นตรงกันว่าถ้าพี่ราหูและพี่ผีหลวงไปด้วย คนจะแตกตื่นวิ่งหนีกัน แล้วพวกเราจะทำอย่างไรดี แม่จึงมาปรึกษากันกับหลาวเหล็กน้องคนเล็ก แล้วน้องเล็กสุดจึงบอกแม่ว่า “แม่สบายใจได้เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เดี๋ยวผมจัดการเอง”

ต้นกำเนิดของหมวกอีโม้ง

ต่อมาวันหนึ่งหลาวเหล็กจึงพูดกับพี่ราหูและพี่ผีหลวงว่า “พี่ ในวันแต่งงานเราจะใส่ชุดอะไรถึงจะหล่อ ไม่อายคน น้องไม่อยากให้ใครเห็นหน้าเราเลยน้องอาย” พี่ราหูและพี่ผีหลวงจึงพูดขึ้นว่า “พวกพี่ก็คิดอยู่เหมือนกัน น้องน่ะหน้าตาดีจะอายทำไม พี่สิรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนใคร” หลาวเหล็กได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ เลยบอกพี่ชายไปว่า “น้องจะออกแบบเสื้อผ้าให้เอาไหม รับรองว่าพี่ทั้งสองจะไม่มีวันอายใครเลย” และวันนั้นหลาวเหล็กก็ออกแบบเสื้อผ้าชุดหมวกอีโม้งครอบศีรษะ เสื้อ กางเกง หมวกอีโม้งให้พี่ชายทั้งสองใส่ (แบบหมวกอีโม้งครอบหัว จึงมีมาถึงทุกวันนี้) เมื่อพี่ชายใส่หมวกนี้แล้วก็พอใจและดีใจ ที่จะได้ไปเห็นหน้าพี่สะใภ้ในวันแต่งงานน้องชายได้บอกว่า “เมื่อสวมใส่เสื้อผ้าชุดนี้แล้วห้ามไม่ให้เอาออกจนกว่าจะกลับถึงบ้าน” พี่ชายก็รับคำ เป็นอันว่าปัญหานี้หมดไป

เมื่อถึงวันแต่งงานก็มีผู้เฒ่าผู้แก่ญาติมิตรพี่น้องหลายคน ลงเรือสำเภามาอย่างสนุกสนานเมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวก็มีการต้อนรับกันเป็นอย่างดี มีการถามข่าวคราวกันตามธรรมเนียมคนบ้านไกล มีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งเหมือนงานมงคลทั่ว ๆ ไป บางคนเมาจนไม่รู้สึกตัวก็มี เมื่อเมาได้ที่แล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในระหว่างนั้นพิธีกรรมในงานแต่งกำลังจะเสร็จสิ้นอยู่แล้ว ฝ่ายญาติข้างเจ้าสาวเมาจัดอยากเห็นหน้าคนทั้งสองว่า เป็นพี่น้องแฝดกันจะดูดีสักปานใด ทำไมเอาผ้าคลุมหัวเอาไว้ไม่ให้เห็นเช่นนี้ จึงอยากดูหน้าดูตาหน่อยมางานมงคลพี่ชายเช่นนี้ ทำไมเอาหมวกมาคลุมหน้าให้เห็นแต่ตาเท่านั้น หลาย ๆ คนจึงร้องขอให้เอาหมวกที่คลุมศีรษะออกเสีย

หลาวเหล็กได้ยินญาติฝ่ายเจ้าสาวพูดเช่นนั้นจึงเข้าไปห้าม ขอร้องไม่ให้เอาออกแต่ก็ไม่เป็นผล จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายขึ้น ฝ่ายอยากเห็นหน้าก็กระโดดเอามือกระชากหมวกทั้งสองคนออก ผู้คนทั้งหลายได้เห็นหน้าของราหูและผีหลวงอย่างถนัด เมื่อทุกคนเห็นหน้าแล้วก็ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผี ๆ ไปแล้วโว้ยไม่อยู่แล้ว…ข้ากลัวแล้วไปก่อน” ผู้คนที่มาร่วมงานต่างก็พากันแตกตื่นสับสนอลหม่าน

เมื่อพ่อแม่เจ้าสาวเห็นหน้าของทั้งสองก็ตกใจกลัว ด้วยความรังเกียจจึงมีความคิดว่า “หากหลานเกิดมาในตระกูลนี้มันคงน่าเกลียดน่ากลัวมาก นี่คงเป็นตระกูลผีแน่เลย” เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงประกาศหยุดยกเลิกงานแต่งครั้งนี้ห้ามไม่ให้ลูกสาวแต่งงานโดยเด็ดขาด ก็เป็นอันว่าพิธีแต่งงานของพิดานถูกยกเลิกไป เป็นเหตุทำให้พิดานเสียใจมาก นับแต่นั้นมาทั้งสี่พี่น้องจึงผูกอาฆาตคิดจะแก้แค้นล้างอาย ด้วยความละอายของนางฤกษ์งามยามดี จึงพาลูกทั้งสี่คนเดินทางกลับบ้านผ่านเข้าป่าไปพบฤาษีท่านหนึ่ง จึงได้เข้าไปกราบนมัสการขอพร แล้วฤาษีถามว่า “เพราะอะไรจึงได้เดินทางมาหาอาตมาในป่านี้” นางได้เล่าความเป็นมาให้ท่านฤาษีฟังทั้งหมด

ท่านฤาษีก็เข้าใจแล้วจึงบอกแม่ลูกว่า  “พวกเจ้าจงพักอยู่ที่นี้ก่อน จะได้รักษาศีลภาวนาแล้วชีวิตจะดีขึ้น” ชายทั้งสี่ได้ถือโอกาสขอเรียนวิชาเพื่อไปล้างความแค้น ที่ได้ผูกเวรทุกภพทุกชาติไป ขอเป็นศัตรูตลอดไป แม้ท่านฤาษีจะแนะนำอย่างไรหาได้เปลี่ยนแปลงความอาฆาตไม่ ท่านฤาษีรู้ว่าไม่มีสิ่งใดจะทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ ความวุ่นวายเดือดร้อนจะเกิดในวันข้างหน้าท่านฤาษีถามว่า “พวกเจ้าจะไม่ยุติความแค้นจริง ๆ หรือ…?” ชายทั้งสี่คนจึงตอบว่า “ไม่ว่าจะมีงานแต่งที่ใด ผมทั้งสี่จะตามไปทำให้พวกเขามีอันเป็นไป เหมือนกับพวกผมที่ได้รับนี้”

 

 

การถือกำเนิดของดาวพิดาน

ท่านฤาษีได้ฟังเช่นนี้แล้ว ต่อไปข้างหน้าผู้ที่จะแต่งงานจะเดือดร้อนแน่ จึงหาวิธีการแก้ไขเพื่อจะให้งานแต่งไม่พบกับปัญหา ท่านฤาษีจึงคิดแผนการแก้ไขแล้วพูดว่า “ถ้าท่านทั้งสี่ไม่ลดความตั้งใจ ข้าจะแนะนำให้พวกท่าน หากจะเป็นศัตรูกับพวกที่จะแต่งงานจริง ๆ” ชายทั้งสี่คนจึงให้ยกมือขึ้นท่วมหัวแล้วกล่าวคำว่า “สาธุ…พวกข้าจะทำตามคำสั่งของท่านทุกประการ” แล้วท่านฤาษีก็กล่าวว่า “พิดานเมื่อเจ้าตายไปแล้ว เจ้าจะไปเกิดเป็นดาวพิดานสี่ดวงนะ เมื่อถึงเดือนอ้ายเดือนยี่เดือนสาม”

ได้กล่าวเป็นกลอนเอาไว้ว่า “เจียงยี่สามดาวพิดานอยู่ตะวันตก เดือนสี่ห้าหกตกไปอุดรเดือนเจ็ดแปดเก้ายับเข้าบูรพา เดือนสิบเอ็ดสิบสอง ดาวพิดานเมืองอยู่ทางใต้” (คำว่า “ดาวพิดาน” มีอยู่ ๔ ดวง มีลักษณะตรงกันเป็น ๔ เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่มุมละดวงจึงมีกำหนดไว้เป็นเดือน ๆ ไป)

ฤาษีได้บอกกับพิดานไว้ว่า “ถ้าพวกเขาหันหน้าไปสู่เจ้าแล้ว เขาจะมีอันเป็นไปเองโดยที่เจ้าไม่ต้องทำอะไรเขานะ…!” พิดานจึงรับว่า “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามคำสั่งท่านทุกประการ”

ฤาษีจึงกล่าวต่อว่า “ส่วนเจ้าราหูข้าจะให้อยู่รักษาทางพื้นดิน ถ้าใครหันหน้าไปหาเจ้า เขาจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ ตลอดงานแต่งนั้น ไปค้าขาย ย้ายบ้าน งานทำพิธีมงคลต่าง ๆ เขาจะมีอันเป็นไปเอง เจ้าไม่ต้องไปทำอะไรเขานะ…!ให้เจ้าอยู่ตามทิศที่ข้าสั่งตามวันดังนี้ คือ

๑. วันอาทิตย์ให้ราหูอยู่ทิศพายัพ

๒. วันจันทร์ให้ราหูอยู่ทิศบูรพา

๓. วันอังคารให้ราหูอยู่ทิศหรดี

๔. วันพุธให้ราหูอยู่ทิศทักษิณ

๕. วันพฤหัสบดีให้ราหูอยู่ทิศอุดร

๖. วันศุกร์ให้ราหูอยู่ทิศปัจฉิม และ

๗. วันเสาร์ให้ราหูอยู่ทิศอาคเนย์”

นับตั้งแต่นั้นมา ทิศตามวันดังกล่าวนี้จึงเกิดมี ได้เรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อทำการมงคลอย่าผินหน้าไปจะมีอันเป็นไปไม่ช้าก็เร็ว โดยเฉพาะงานแต่งดอง จะไปค้าขาย การเดินทางไกล เป็นสิ่งที่ควรงดเว้นไม่ดีเลย

เมื่อท่านฤาษีแต่งตั้งราหูแล้ว จึงได้แต่งตั้งผีหลวงต่อไปโดยให้ไปอยู่ตามทิศเช่นกัน ตามทิศที่ให้ราหูไปรักษาทางภาคพื้นดินและตามวันต่าง ๆ ดังนี้

 

๑. วันอาทิตย์ให้ผีหลวงอยู่ทางทิศพายัพ

๒. วันจันทร์ให้ผีหลวงอยู่ทางทิศบูรพา

๓. วันอังคารให้ผีหลวงอยู่ทางทิศอีสาน

๔. วันพุธให้ผีหลวงอยู่ทางทิศอุดร

๕. วันพฤหัสบดีให้ผีหลวงอยู่ทางทิศทักษิณ

๖. วันศุกร์ให้ผีหลวงอยู่ทางทิศอาคเนย์ และ

๗. วันเสาร์ให้ผีหลวงอยู่ทางทิศหรดี ไม่ว่าจะทำพิธีอะไรก็ตามเกี่ยวกับการเป็นมงคล ไปค้าขาย เดินทางไกล ไปหาโชคลาภ อย่าหันหน้าไปสู่ทิศผีหลวงเหล่านี้จะทำให้เสื่อมลาภยศไม่ดีเลย

เมื่อท่านฤาษีแต่งตั้งผีหลวงเสร็จแล้ว จึงได้แต่งตั้งหลาวเหล็กต่อให้รักษาภาคพื้นดินเช่นกันโดยให้ไปรักษาตามทิศเหมือนกับพี่ชาย ใครทำอะไรถ้าหันหน้าไปให้แทงเลย ถ้าไม่หันหน้าไปหาอย่าทำเขา หลาวเหล็กก็เข้าใจและรับปฏิบัติตามท่านฤาษีบอก แล้วให้ไปอยู่ทิศต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ

๑. วันอาทิตย์ให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศตะวันตก

๒. วันจันทร์ให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศตะวันออก

๓. วันอังคารให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศเหนือ

๔. วันพุธให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศเหนือ

๕. วันพฤหัสบดีให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศใต้

๖. วันศุกร์ให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศตะวันตก และ

๗. เสาร์ให้หลาวเหล็กอยู่ทางทิศตะวันออก

ถ้าทำการมงคลห้ามหันหน้าไปสู่ทิศหลาวเหล็ก ไม่ดีเลยตลอดการไปค้าขาย ย้ายบ้านไปหาลาภผล พิธีแต่งงานห้ามเด็ดขาด

ที่มาของการหาฤกษ์ยามก่อนจัดงานมงคล

เมื่อท่านฤาษีแต่งตั้งลูกของนางครบหมดทั้งสี่คนแล้ว นางฤกษ์งามยามดีจึงพูดกับท่านฤาษีว่า “ข้าล่ะ…! ท่านจะให้ไปอยู่ไหน…?” ท่านฤาษีจึงบอกนางไปว่า “เจ้าน่ะ…! ข้าจะให้พรอันประเสริฐแก่เจ้า ใครก็ตามถ้าเขาจะทำอะไรให้เขาไปหาแม่ฤกษ์งามยามดีก่อนว่าจะให้ทำวันไหน ถ้าวันใดได้ฤกษ์งามยามดีนางจึงบอกเขาทำ

ถ้าไม่ไปหาแม่ฤกษ์งามยามดีก่อน ก็จะทำให้งานนั้นไม่มีความเจริญมงคล หรือเขารู้ยังทำลงไปว่าวันนี้ไม่ดีเขายังฝ่าฝืนทำ เขาจะแพ้ภัยตัวเองเท่านี้ก็พอแล้วนะ…!” นางก็ยอมรับคำดังกล่าวนั้นนับตั้งแต่นั้นมาใครที่จะทำพิธีการอะไรก็ต้องไปหาฤกษ์งามยามดีก่อน จึงจะเป็นมงคลค้ำคูณรุ่งเรืองตลอดไป (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “ฤกษ์ดี”)

 

ปรัชญาจากตำนานชาวอุษาคเนย์ปรัมปรา

นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิดเรื่องฤกษ์ทิศและวันมงคลไม่เป็นมงคล ก่อนที่จะประกอบพิธีกรรมอะไรจะนิยมไปหาฤกษ์งามยามดีเสมอ มักไปหาผู้รู้ทางด้านโหราศาสตร์ก่อนจะทำพิธีกรรม จึงถือว่าความเป็นมงคล ถึงจะไม่มีอันตรายปลอดภัย ความเชื่อของคนสมัยก่อนในการแต่งงาน หากคู่บ่าวสาวหันหน้าไปถูกดาวพิดาน ตามทิศและวันนั้น ๆ คู่สมรสจะไม่ดีเลย จะตายจากกันหรือก็หย่าร้างกันไป หรือย้ายบ้านเรือนไปค้าขาย การเดินทางไปทำธุรกิจใหญ่ ๆ จะมีอุปสรรคมาขัดขวางไม่ราบรื่น คนโบราณท่านจะเชื่อถือในสิ่งเหล่านี้มากแต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ได้เจือจางไปบ้างตามกาลอันเหมาะสม กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยด้านเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง ผู้คนจึงเปลี่ยนแปลงไปตามยึดเอาความสะดวกว่า นับต่อแต่นี้ไปนับวันที่จะลดความน่าเชื่อลงมาตามลำดับ

ขอบคุณภาพประกอบ

ประเพณีการแต่งงาน https://www.silpathai.net

ราหู ภาพจาก หนังสือการวาดภาพเทวดาและเทพนพเคราะห์ อ.เจริญ มาบุตร

Related Posts

ประวัติและที่มา ทำไมเจ้าของแผ่นดินจึงได้ชื่อว่า เจ้าแม่นางธรณี และนกกะแดดเด้า
ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้
ยุทธศักดิ์ ลุมไธสงค์ “ศิลปินลูกอีสานผู้เรียบง่าย และรักธรรมชาติ”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com