ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้

ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้

ตะวันรอน ๆ ที่ทุ่งกุลา

ลูกอีสานรักงานศิลปะ เรียนศิลปะ สอนศิลปะ และสร้างสรรค์งานศิลปะ ตามแบบฉบับของหัวใจ ใช้ชีวิตอยู่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เสาะหาวิถีชีวิตจิตวิญญาณของทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วสร้างสีสันให้ปรากฏบนผืนผ้าใบ เป็นไปได้อย่างไรที่ทุ่งกุลาร้องไห้จะมีสีสัน

ทุ่งกุลาร้องไห้

ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่กว่าสองล้านไร่ ผ่าน 13 อำเภอ 5 จังหวัด ของ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร ยามแล้งในอดีตปานประดุจทะเลทราย ชวนหัวใจให้นึกถึงบทกวีของ “นายผี” – อัศนี พลจันทร ที่ว่า

ในฟ้าบ่มีน้ำ

ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย

ก็รีบซาบบ่รอซึม

แดดเปรี้ยงปานหัวแตก

แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม

แผ่นอกที่ครางครึม

ขยับแยกอยู่ตาปี…

ชาวกุลาชนเผ่าหนึ่งที่อยู่เมืองเมาะตะมะในพม่า ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความอดทนสูง ผ่านฝนผ่านร้อนผ่านหนาวสู้ได้ ได้เดินทางค้าขายหาบของหนัก เมื่อชาวกุลาเดินผ่านทุ่งกุลา เดินเกือบทั้งวันน้ำก็หมดเสบียงก็เกลี้ยงหมดสิ้น แต่ยังไม่พ้นวังวนทุ่งกุลา จนชาวบ้านได้พบและช่วยเหลือให้เดินทะลุออกพ้นจากทุ่งกุลาได้ ชาวกุลาที่ว่าแน่แน่นั้น แทบจะเอาชีวิตไปทิ้งกลางทุ่งกุลา ทั้งกระหายหิวโหยอดอยากได้แต่นั่งนอนร้องไห้ในครั้งกระโน้น จึงเป็นที่มาของการเรียกขานท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลอันเป็นตำนานสืบทอดมาว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

ฟังดูทุ่งกุลาร้องไห้เหมือนจะแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวาไร้สีสันและความงดงาม มีแต่ความร้อนความแห้งแล้งและอดอยาก ในอดีตนั้นคงใช่ แต่เมื่อหลังจากได้มีการพัฒนาที่ดิน มีคลองส่งน้ำ ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ จนกระทั่งได้ทดลองนำข้าวขาวดอกมะลิ พันธุ์ดีจากบางคล้า ฉะเชิงเทรา มาปลูกและได้ผลดี กลายเป็นข้าวหอมมะลิที่รู้จักกันดีทั่วทั้งโลกในปัจจุบันข้าวหอมมะลิปลูกได้ดีที่ผืนแผ่นดินถิ่นอีสานย่านทุ่งกุลาร้องไห้

หัวใจศิลปินบุรีรัมย์

บุรีรัมย์ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากทุ่งกุลา บุรีรัมย์ไม่ได้มีแต่เพียงสนามฟุตบอล สนามรถแข่งระดับโลก ที่คนรักกีฬาฟุตบอลเป็นทีมและความเร็วการแข่งรถชื่นชอบเท่านั้น แต่เมืองบุรีรัมย์ยังมีสิ่งสุนทรีย์กับชีวิตให้ซึมซับอีกมากมายด้วย เชื่อหรือไม่บุรีรัมย์ก็มีหอศิลป์หรือแกลอรี่ มีอาร์ตติสท์ ฟอร์เรสท์ บุรีรัมย์ Artist forest Buriram ป่าศิลปะแห่งบุรีรัมย์ จริงหรือ ใครล่ะอาร์ตติสท์ ฟอร์เรสท์ บุรีรัมย์

ไสว แกล้วกล้า จากเมืองบุรีรัมย์ มาเรียนรู้ศิลปะจากตักศิลาเพาะช่างแล้วไปศึกษาศิลปศึกษาที่ชานคลองแสนแสบประสานมิตรศิษย์ครูอารี สุทธิพันธุ์ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์สอนศิลปศึกษาที่วิทยาลัยครูอุดรธานี แล้วย้ายมาบ้านเกิดบุรีรัมย์ สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทั้งสอนและทำงานศิลปะเรื่อยมา เป็นศิลปินแห่งอีสานแห่งเมืองบุรีรัมย์ เคยได้แสดงผลงานร่วมกับศิลปินอีสาน ณ กรุงเวียงจันทน์มาแล้ว

หลังเกษียณอายุราชการ ชีวิตศิลปินหลังเกษียณกลับไม่ว่างเปล่า แต่เปล่า มีคนที่เข้าใจหัวใจศิลปิน ภรรยาและลูกรู้ดีว่าหัวใจพ่อไสวระริกสั่นไหวอยู่กับเกรียงและพู่กัน จึงลงทุนซื้อสีให้เขียนรูป ด้วยความเกรงใจนายทุนผู้ลงทุนจึงลงมือเขียนรูปอย่างจริงจังแต่บัดนั้น จนมาถึงวันนี้ ที่มูลริเวอร์ รีสอร์ท ตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ริมฝั่งลำน้ำมูล ที่นี่เป็นที่สถิตสถานสร้างสรรค์ผลงานของอาร์ตติสท์ ฟอร์เรสท์บุรีรัมย์

ทำเสน่ห์ทุ่งกุลาให้ประจักษ์

ชาวเกษตรกรพบเสน่ห์แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ปลูกข้าวหอมมะลิจนขึ้นชื่อลือชาไปทั้งโลก แล้วศิลปินจะเห็นเสน่ห์แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ถอดหัวใจมาสร้างสีสันให้โลกรู้จัก รักทุ่งกุลาร้องไห้อีกมิติหนึ่งบ้างไม่ได้หรือไร

ไสว แกล้วกล้า บอกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มีสีสันยามแดดระยิบหรือพยับแดด เพียงแค่นี้ศิลปินจะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาให้ถึงได้อย่างไร สีสันทุ่งกุลาร้องไห้ ในทุกฤดูกาลล้วนมีความแตกต่างกัน ต้นจาน ยามหน้าแล้งออกดอกแดงสุกสะพรั่งต้น ยามหน้าฝนเขียวขจี ยามหน้าหนาวเก็บอุ่นไอไว้รอผลิบาน เหมือนกันเสียที่ไหน เพียงความรู้สึกที่สัมผัสธรรมชาติก็งดงามศิวิไลซ์หัวใจแล้ว และเมื่อมาถ่ายทอดด้วยความรู้สึกที่ประทับใจ ใส่สีสันด้วยรูปแบบที่เขาชื่นชอบเป็นงานสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ จะเป็นเช่นไร

เขาคว้าเฟรมไปนั่งยังทุ่งกุลาร้องไห้ถ่ายทอดสิ่งที่พบ สะท้อนจากส่วนลึกของความรู้สึกที่ดวงตาหัวใจได้สัมผัส ใช้เกรียงสะบัดปาดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นกุลาร้องไห้ในมิติของสีสัน ลูกอีสาน ครูศิลปะอีกคนหนึ่งของเมืองบุรีรัมย์ ที่ลงมือทำทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่ประจักษ์ในโลกของงานจิตรกรรม

ตะวันรอน ๆ ที่ทุ่งกุลาต้นจานผลิบานกลางท้องทุ่งกุลาร้องไห้ลีลาต้นไม้กลางท้องนาท้องทุ่งทุ่งท้องนาหลังการเก็บเกี่ยวด้วยรถไถ

แด่กุลาด้วยรักและสีสัน

กุลา…กุลา ฟ้าสีแห้ง ดินสีโหย

เย็นน้ำเหงือด เดือดภัยโพย

ดิ่งแดโดย โดยแรงใด

แรงดินใด ในกุลา

โดยแรงใด ในกุลา

กุลา…กุลา ฟ้าฝนฝาก หากฝนหาย

ร้อนเหลือแดด แผดละลาย

จากจุดหมาย ไกลจุดมา

เขียวขมขื่น คนอีสาน

อึดอดอยาก มานมนาน

จากถิ่นฐาน ไปทางใด ไปทางใด

(เพลงกุลา ของ หงา คาราวาน)

งานท้องทุ่งกุลาร้องไห้ จากศิลปินลุ่มน้ำมูลแห่งมูลริเวอร์ รีสอร์ท หรือ อาร์ตติสท์ ฟอร์เรสท์ บุรีรัมย์ ไสว แกล้วกล้า ยังคงแสวงหาร่องรอยของทุ่งกุลาร้องไห้ และชีวิตแห่งอีสานออกมาให้ได้ชื่นชมอีกยาวไกล ในร่องรอยกาลเวลาที่ยังเหลืออยู่อย่างมีความสุข

*****

อ่านเรื่อง ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้  ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้าง นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๙๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒

ซื้ออ่านได้ทาง อี – แม็กกาซีน ซึ่งเป็นสี่สีทั้งเล่มผ่าน https://www.mebmarket.com/index.php
คลิก>> https://www.mebmarket.com/index.php…

สมัครสมาชิก/สั่งซื้อ/สอบถาม
🛒 inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
🛒 line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
โทร. 086-378-2516

Related Posts

ยุทธศักดิ์ ลุมไธสงค์ “ศิลปินลูกอีสานผู้เรียบง่าย และรักธรรมชาติ”
พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินเกียรติยศ โหวดเสียงทองเทวดา
พระอุปคุตปราบมาร
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com