ประวัติและที่มา : ทำไมจึงมีการเล่านิทาน
กาลอันล่วงเลยมาจนไม่สามารถกำหนดช่วงเวลา กำหนดวัน กำหนดเดือน กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้ และไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอยู่สมัยหนึ่งพระอินทร์ (พญาแถน) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกภิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย สมัยนั้นแลสรรพสิ่งทั้งหลายมีมนุษย์และสัตว์ได้สื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน จักรวาลนี้มีโลกเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งหลาย มีสัตว์มากมายได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์อีกทั้งสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ในบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งของโลก
มนุษย์และสรรพสิ่งพร้อมทั้งสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยอยู่ด้วยกัน ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาชั่วกาลนาน อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขตามสังคมจักรวาลในยุคต้นๆ นั้น การถือกำเนิดของโลกและสรรพสิ่งในครั้งแรกเริ่มนั้น มนุษย์ได้อาศัยสติปัญญาความฉลาดและความสามารถจึงได้อยู่เหนือกว่า และได้สร้างสรรค์พัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองมาตามลำดับ
ในกาลครั้งนั้นแล มีนครเมืองอยู่เมืองหนึ่งมีพระราชาผู้ทรงพระปรีชา และทรงคุณธรรมอย่างสูงยิ่ง ความดีงามหาใครมาเปรียบได้ พระองค์ได้ปกครองแว่นแคว้นนี้มานานแสนนาน พระองค์เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ จนทำให้ประชาราษฎร์อยู่ดีกินดีมีสุขกันถ้วนหน้า จึงมีเศรษฐีเกิดขึ้นมากมายทั้งเศรษฐีใหม่และเศรษฐีเก่า เพราะได้ผู้นำที่ดีจึงอำนวยการทางการค้าพาณิชในทางที่ดี จึงมีเศรษฐีรำรวยขึ้นเป็นจำนวนมาก จนถูกมองว่าผิดปกติ (ไม่รวยกระจุกจนกระจ่าย) ในครานั้นเองมีเศรษฐีท่านหนึ่งนับว่าเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของนครเมืองนี้ มีชื่อว่า จีน มีภรรยาที่เป็นเศรษฐีนีชื่อว่า ครัว ครอบครัวของท่านเศรษฐีเป็นตระกูลที่มีความสุขและอบอุ่นมาก อีกทั้งท่านทั้งสองสามีภรรยาก็เป็นบัณฑิต มีนิสัยสนใจใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ชาวเมืองจึงได้ให้ฉายาท่านว่า เศรษฐีปราชญ์ ทั้งสองมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอยู่เพียงคนเดียว ท่านทั้งสองก็รักดังดวงตาดวงใจมีชื่อว่า ปรัชญา เป็นคนชอบการศึกษาใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีความกระกระหายยากในความรู้อยู่เสมอ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่อย่างไม่ทิ้งแถว
เจ้าปรัชญาตั้งแต่ยังเด็กน้อยชอบฟังชอบถาม มีนิสัยใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เห็นอะไรที่ผ่านหูผ่านตาไปไม่ได้ จะต้องสอบถามให้รู้จงได้ และมักจะขอให้คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง เล่านิทานหรือเล่าเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ให้ฟังเป็นประจำมิได้ขาด ถ้าวันไหนไม่ได้ฟังวันนั้นจะนอนไม่หลับ หรือไม่ก็จะรบกวนท่านเศรษฐีอยู่อย่างนั้น จนกว่าผู้เป็นพ่อจะเล่าให้ฟัง หรือไม่ก็หาใครก็ได้มาเล่าอะไรให้ฟัง วันนั้นจึงจะนอนหลับได้เป็นอย่างนี้ประจำมิได้ขาด
ด้วยเหตุนี้ ตอนหลังเมื่อท่านทั้งสองได้เล่าเรื่องราวต่างๆ และนิทานจนหมดภูมิความรู้ของตนแล้ว จึงได้จ้างวานผู้ที่มีความรู้สามารถมาเล่านิทานให้ฟังแทนเป็นประจำไม่เว้นแต่ละวัน จนหมดท่านผู้ทรงความรู้ทั้งหลาย และทุกครั้งที่เจ้าปรัชญาฟังนิทาน มักจะมีดินสอปากกาและสมุดโน้ตเขียนบันทึกเอาไว้ แล้วเก็บบันทึกนั้นใส่ไว้ในถุงเล็กๆ ทำอย่างนี้เป็นประจำมิได้ขาด เมื่อนานวันเข้าถุงใบนั้นจึงมีนิทานอยู่เต็มไปหมด ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เจ้าปรัชญาจึงเป็นคนที่มีความรักในความรู้เป็นชีวิตจิตใจ และก็เกิดความห่วงแหนในความรู้ด้วย กลัวว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สักวันหนึ่งนิทานที่ตนเองบันทึกไว้ด้วยความวิริยะพยายามของตน อาจจะหนีจากเราไปหรือไม่ก็อาจจะสูญหายไป ด้วยสัตว์หรือฝีมือมนุษย์ก็อาจเป็นได้ จึงได้ทำการมัดปากถุงเอาไว้ให้แน่น
เมื่อวันเวลาผ่านไปหลายปี เจ้าปรัชญาก็เติบใหญ่เป็นหนุ่ม มีบุคลิกภาพรูปร่างหน้าดี พร้อมทั้งมารยาทก็ดีด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพ่อแม่รวยด้วย เข้าทำนองที่ว่า “รูปหล่อพ่อรวย” และที่สำคัญองค์ความรู้ที่เป็นนิทานก็เพิ่มขึ้นตามวัยที่เจริญขึ้นทุกวันด้วย จนห้องที่เก็บโน้ตนิทานเต็มไปด้วยถุงความรู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฝ่ายผู้เป็นพ่อแม่เห็นว่าลูกชายคนโปรด เจริญวัยสมควรมีคู่ครองตามประเพณีนิยมแล้ว จึงได้ให้บุคคลใกล้ชิดเที่ยวเสาะแสวงหา หญิงสาวดีๆ ผู้คู่ควรเหมาะสม ตามบ้านใหญ่เมืองน้อยมาให้เป็นภรรยา ไม่นานก็ได้หญิงสาวผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามที่ปราชญ์กำหนดและตนต้องการคนหนึ่งแล้ว จึงได้จัดงานแต่งให้ตามฐานะ ในระหว่างจัดเตรียมงานแต่งอยู่นั้น ได้มีชายชราคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรับใช้ใกล้ตัวของตระกูลท่านเศรษฐีดังกล่าวนี้ ได้เข้าไปทำความสะอาดห้องเก็บถุงนิทาน เผอิญได้ยินเสียงเล็ดลอดมาจากถุงนิทานใบหนึ่ง ทั้งที่แขวนอยู่ข้างฝาและที่วางอยู่ในห้องเก็บนิทาน บนบ้านที่จัดงานแต่งงานนั้น
จากการสังเกตดูพบเสียงพูดของตัวเอกในนิทาน ได้ยินเสียงสนทนาออกมาจากแต่ถุง ประมาณว่ารู้สึกไม่พอใจกับการที่ตนเองต้องมาถูกขังไว้เช่นนี้ ตนเองน่าจะออกไปทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก กล่าวคือ มีเสียงพูดคนที่หนึ่งกล่าวขึ้นว่า “ข้าอึดอัดชะมัดเลย เราหายใจไม่ออกเลยนี่ เราจะทำอย่างไรดี…!”
เสียงคนที่สองพูดเสริมขึ้นอีกว่า “พรุ่งนี้แล้วน่ะ จะเป็นวันแต่งงานของเจ้าหนุ่มนั้น ข้าว่าจะแปลงกายเป็นผลมะม่วงพิษ ให้มีสีแดงสุกเงางามน่ากินวางอยู่บนจาน ถ้าเจ้าหนุ่มได้กินข้าเข้าไปจะต้องตายแน่ๆ เลย…!”
เสียงพูดคนที่สามกล่าวขึ้นมาว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันถ้าเจ้าหนุ่มนั้นยังไม่ตาย ข้าเองก็จะแปลงกายเป็นสายน้ำใสให้แจ๋วมีสีสวยน่าดื่ม หลอกล่อให้เขาเข้ามาดื่มก็ได้ เจ้าหนุ่มหน้าโง่นั้น ไม่มีทางรู้หรอกว่า น้ำใสๆ นั้นคือน้ำยาพิษ คราวนี้คงจะไม่มีทางรอดแน่…!”
หลังจากที่ได้ฟังเพื่อนๆ สนทนาอยู่นาน เสียงพูดคนที่สี่ก็กล่าวขึ้นว่า “ถ้าเขายังไม่ตายอีกละก็ ข้าพเจ้าก็จะปลอมแปลงตัวเป็นคีมเหล็กถูกเผาไฟจนแดงร้อนกล้า แล้วเข้าไปซ่อนตัวในถุงแกลบที่วางอยู่ข้างๆ ม้าที่เขาขี่อยู่เป็นประจำ ถ้าเขาลงจากรถม้าเมื่อไหร่ก็จะเหยียบโดนข้าแน่ แล้วเท้าของเขาก็จะไหม้จนเดินไปไหนมาไหนไม่ได้อีก ไม่นานเขาก็คงตาย…!”
เสียงพูดคนที่ห้ากล่าวต่อไปว่า “แต่ถ้าหากว่าเพื่อนๆ ยังทำการไม่สำเร็จอีก ข้าจะแปลงกายเป็นงูพิษที่ดุร้ายที่สุด แล้วจะเลื่อยเข้าไปซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงของบ่าวสาวคู่นี้ ถ้าเขาเผลอหลับแล้วเมื่อไหร่จะเป็นเวลาของข้า ก็จะเลื่อยขึ้นไปกัดเขาให้ตายคาที่ทันใด รับรองว่าไม่มีทางรอดแน่เพื่อนเอย…!”
เมื่อชายชราได้ยินดังนั้นก็ตกใจเป็นอย่างมาก พอรุ่งเช้าวันงานชายชราก็ได้ขันอาสาขอเป็นคนรับใช้ใกล้ตัว และได้อาสาจูงม้าไปรับเจ้าสาวที่บ้าน ในระหว่างการเดินทางนั้นเจ้าบ่าวเห็นลูกมะม่วงแล้วน่าอร่อยอย่างว่า ก็นึกอยากจะกิน แต่ชายชรากลับไม่ยอมหยุดรถทำเป็นไม่ได้ยิน พยายามเปลี่ยนเรื่องคุยไปเป็นอย่างอื่น
ต่อมาเมื่อเดินทางผ่านลำธารแห่งหนึ่ง พบว่ามีน้ำเย็นใสไหลน่ากินอย่างว่าอีก เป็นธรรมชาติที่น่ารื่นรมย์ เป็นแหล่งน้ำที่น่าพักผ่อนอย่างยิ่ง หากใครผ่านไปมาก็อยากลงมาสัมผัสบรรยากาศอันน่าวิเศษนี้ ปรัชญาเจ้าบ่าวมือใหม่เมื่อเดินทางมาแต่ไกล ก็นึกอยากดื่มน้ำให้หายอยาก แต่ชายชราทำเป็นไม่รู้เบี่ยงเบนความสนใจไปอย่างอื่น แล้วก็ไม่ยอมหยุดพักตามใจเจ้านายอีกครั้ง ยิ่งใกล้บริเวณแหล่งน้ำก็ยิ่งรีบเร่งความเร็ว
เมื่อเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว ในขณะที่เจ้าบ่าวจะก้าวเท้าลงจากรถม้านั้น ชายชราก็แกล้งเดินโซเซอย่างคนหมดสติ มีเจตนาให้เข้าไปชนเจ้าบ่าว จนล้มลงไปนั่งบนเสือที่ปูไว้หน้าบ้าน เจ้าบ่าวมือใหม่เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจ แสดงความโมโหนิดๆ ให้เห็นกับพฤติกรรมที่แย่ๆ ของลูกน้องตน จนทำให้เป็นที่อับอายขายขี้หน้า พร้อมทั้งไม่ยอมทำตามใจตนเอง ในระหว่างทางที่ผ่านมาก็หลายครั้ง แต่ด้วยความเป็นนักฟังที่ดีมาแต่เด็ก อีกทั้งแววแห่งความบัณฑิตก็มี จึงสามารถระงับอารมณ์ได้ไม่ได้ว่ากล่าวชายชราว่าอะไร
หลังจากพิธีการงานแต่งลุล่วงไปแล้วด้วยดี พอถึงเวลาเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวได้เข้าห้องหอแล้ว ตกดึกคืนนั้น ในขณะที่บ่าวสาวกำลังหลับไปอย่างสนิท ด้วยความเหนื่อยหล้าจากงานที่น่าใจหายเมื่อตอนกลางวัน และร่างกายที่ได้พักผ่อนน้อยที่เตรียมงานมาหลายวัน ชายชราที่ซ่อนตัวอยู่ที่ระเบียงข้างห้องก็กระโดดเข้าไปในห้อง พร้อมกับบอกให้บ่าวสาวลงมาจากเตียงนอนทันที แล้วชายชราก็ได้ดึงผ้าคลุมเตียงออกมา ก็พบงูพิษนับร้อยตัวเลื่อยอยู่เต็มไปหมด ชายชราจึงรีบคว้าดาบขึ้นมาฟันงูเหล่านั้นจนตายหมด
หลังจากนั้นก็ได้เล่าเรื่องราวที่ได้ยินมาให้เจ้าบ่าวฟังโดยตลอด ชายหนุ่มก็ได้นึกถึงถุงนิทานเหล่านั้นขึ้นมาได้ เสียงร้ายดังกล่าวก็น่าจะมาจากที่นั้นแน่ พร้อมกับเข้าใจว่าเราคงกักขังพวกเขาเอาไว้นาน เขาคงอยากออกไปพบปะผู้คนอื่นๆ ให้ได้รับรู้นิทานต่างๆ บ้าง เพื่อเป็นตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์สอนใจ จึงรีบเดินทางออกนอกห้องไป แล้วเข้าไปในห้องเก็บถุงนิทานพร้อมกับเปิดปากถุงนิทาน แล้วรีบปล่อยให้นิทานเหล่านั้นออกไปสู่ผู้คนวัยต่างๆ ทั่วไป
กาลต่อมานิทานจึงถูกเล่าต่อไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่กาลครั้งนั้นเป็นต้นมา ด้วยว่าปกติแล้วนิทานจะไม่อยู่กับที่หรืออยู่กับใครได้ตลอดไป ถ้าใครมีนิทานจะเก็บไว้คนเดียวไม่ได้ จะต้องเล่าให้คนรุ่นต่อๆ ไป จนทำให้นิทานเกิดการแพร่หลายไปทุกประเทศทั่วโลก เป็นอย่างนี้ตลอดมาจนถึงกาลปัจจุบันนี้แล (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “เล่านิทาน”)
ปรัชญาจากตำนานชาวอุษาคเนย์ปรัมปรา
นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิดเรื่องนิทาน นิทานถือได้ว่า เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันมีความจริงบ้างและไม่เป็นความจริงบ้าง อันเป็นขบวนการสืบทอดเรื่องราวต่างๆ ไว้นานที่สุดของมวลมนุษยชาติ และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป คนสมัยก่อนฉลาดมากได้เก็บเรื่องราวต่างๆ ไว้ในนิทาน หรือฝากให้นิทานเป็นผู้เก็บเหตุการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลายเอาไว้ แล้วต่อมานิทานนี้ก็จะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่อดีตนั้นให้ฟังในคราวหลัง เพื่อเป็นคติสอนใจทั้งในด้านบวกและด้านลบ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มักจะมีเรื่องเล่าหรือนิทานเป็นจำนวนมาก ดังเช่นพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีและผู้เล่านิทานมากที่สุดในโลก จะเห็นได้จากนิทานชาดกมีมากกว่า ๕๐๐ เรื่อง ซึ่งเป็นนิทานที่ได้ถูกเล่าด้วยพระองค์เอง.