ประวัติและที่มา ทำไมจึงได้ชื่อว่า มุกดาหาร (จ.มุกดาหาร)

ประวัติและที่มา  ทำไมจึงได้ชื่อว่า มุกดาหาร (จ.มุกดาหาร)

กาลอันล่วงเลยมาสามารถกำหนดช่วงเวลา  กำหนดวัน  กำหนดเดือน  กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้  และสามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้  โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีอยู่สมัยหนึ่งพระอินทร์ (พญาแถน) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกพิภพ  อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก  มนุษย์โลก  และสัตว์โลกทั้งหลาย

กาลครั้งนั้นนานมาแล้ว  ประมาณปีพุทธศตวรรษที่ ๖ บนแผ่นดินล้านช้างเมืองแห่งประวัติศาสตร์และแอ่งอารยธรรม  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำโขงและเมืองมุกดาหารเดิม  เคยเป็นดินแดนของอาณาจักรต่าง ๆ มาก่อน กล่าวคือ อาณาจักรฟูนันประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๑  อาณาจักรเจนละประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ อาณาจักรขอมประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ และอาณาจักรล้านช้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒  เดิมผู้คนในดินแดนแถบนี้นับถือเทวดาอารักษ์  ผีฟ้าแถน  นับย้อนหลังไปประมาณปีพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา  ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์ล้านช้างขึ้นครองราชย์ระหว่างปี ๑๘๙๖-๑๙๑๕  อาณาจักรล้านช้างมีอำนาจมากได้รวบรวมแผ่นดินขึ้นเป็นปึกแผ่น  รับเอาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์  และได้อัญเชิญพระไตรปิฎกมาจากกรุงอินทปัตถนคร (ขอม) ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบมา

อยู่ต่อมาประมาณปี ๒๒๓๑ เมื่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สวรรคตพระยาเมืองแสนได้ก่อการกบฏชิงเอาราชสมบัติสถาปนาตนขึ้นครองนครเวียงจันทน์ พระมเหสของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์องค์เดิม  ได้พาพระโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าองค์หล่อและเจ้าองค์หน่อ เจ้าหน่อกุมารได้อพยพหลบหนีตามลำน้ำโขงมาอาศัยอยู่กับพระครูโพนเสม็ด เมื่อเจ้าองค์หล่อเจริญวัยขึ้นจึงพาบ่าวไพรไปอยู่เมืองญวนซ่องสุมผู้คนเพื่อคอยหาโอกาสจะชิงเอาราชสมบัติคืน ฝ่ายพระยาเมืองแสนเห็นว่า “พระครูโพนเสม็ดมีผู้คนเคารพนับถือมาก หากปล่อยไว้อาจจะกลับมาชิงเอาราชบัลลังก์จึงคิดจะกำจัด” ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดรู้ตัวว่า “พระยาเมืองแสนจะคิดทำร้าย” จึงรวบรวมผู้คนได้ประมาณ ๓พันเศษ แล้วพาเจ้าหน่อกุมารพร้อมด้วยมารดาอพยพลงมาตามลำน้ำโขง พยายามหลีกหนีไปให้ไกลเท่าที่จะไปได้  เมื่อเห็นว่าที่ใดทำเลดีมีความอุดมสมบูรณ์ก็มีรับสั่งให้ผู้คนที่ติดตามมาด้วย  ได้แยกย้ายกันตั้งบ้านแปงเมืองขึ้นตามความสมัครใจ  นับตั้งแต่กาลครั้งนั้นมาในแถบริมสองฝั่งแม่น้ำโขง  จึงเกิดเป็นบ้านเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย  แพร่ขยายต่อมาออกไปทั่วภาคอีสานในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า  เมื่ออพยพลงมาถึงชุมชนที่ใดก็มีคนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ  ที่ได้ยินเกียรติคุณความดีทั้งในส่วนศรัทธาที่มีต่อพระครูโพนเสม็ด  และในส่วนความจงรักภักดีต่อเจ้าหน่อกุมาร  พร้อมด้วยมารดาอดีตพระมเหสีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์องค์เดิม

เมื่อปี ๒๒๓๓ พระครูโพนเสม็ดได้อพยพมาใกล้อาณาพระธาตุพนม  จึงได้พาญาติธรรมพุทธบริษัทบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และได้จัดแบ่งผู้คนจำนวนหนึ่งให้อยู่ดูแลรักษา แล้วได้อพยพต่อไปจนถึงนครจำบากนาคบุรีศรี แล้วพัฒนาบ้านเมืองพร้อมกันนั้นได้ยกเจ้าหน่อกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรู  เปลี่ยนนามนครจำบากนาคบุรีศรี สถาปนาเป็นนครจำปาศักดิ์ เมื่อปี ๒๒๕๖  ในขณะเดียวกันเมืองมุกดาหารได้ก่อกำเนิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ในยุคนี้ โดยกลุ่มคนที่ได้อพยพลงมาตั้งบ้านแปงเมืองอยู่ ณ บ้านหลวงโพนสิม (บริเวณธาตุอิงฮัง แขวงสุวรรณเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรู จึงได้ตั้งเจ้าเมืองขึ้นคือ เจ้าจันทร์สุริยวงษ์ เป็นเจ้าเมืองหลวงโพนสิม เมื่อเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ถึงแก่กรรมแล้ว เจ้าจันทกินรีได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาจนถึงปี ๒๓๑๐ จึงได้อพยพข้ามโขงมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก

สาเหตุที่เลือกปากห้วยบังมุกเป็นที่ตั้งเมืองแห่งใหม่นี้  ก็เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดบนแผ่นดินดังกล่าวนี้  กล่าวคือ คราวหนึ่งมีนายพรานชาวเมืองหลวงโพนสิน  ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของเจ้ากินรีนั่นเอง  ได้ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาล่าสัตว์เข้ามายังฝั่งไทยในปัจจุบัน  เมื่อเดินทางมาถึงปากห้วยบังมุกบริเวณแห่งนี้ชุกชุมไปด้วยสัตว์ต่าง ๆ มากมาย  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธธัญญาหารนานาชนิด  ในที่ไม่ไกลนั้นได้มีต้นตาลต้นหนึ่งออกยอดมี ๗ ยอด  และได้พบกับกองอิฐปรักหักพังอยู่ใต้ต้นตาลนั้น  สันนิษฐานได้ว่า “น่าจะเป็นที่ตั้งบ้านเมืองเก่ามาก่อนแน่เลย  มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นร่องรอยของนวัตกรรมของมนุษย์มาแต่โบราณกาล”

เมื่อนายพรานเห็นความมหัศจรรย์ของต้นตาล ๗ ยอด และซากเมืองเก่าพร้อมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของอาณาเขตดังกล่าว จึงนำความไปแจ้งแก่พระเจ้ากินรีให้ทรงทราบ เมื่อเจ้าจันทกินรีได้รับทราบเรื่องดังกล่าวนั้น  จึงได้ออกเดินทางมาตรวจดูด้วยพระองค์เอง  พร้อมกับข้าทาสบริวารจำนวนหนึ่ง เมื่อพระองค์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้เห็นกับตาเช่นนั้นแล้ว จึงมีความเห็นว่า “เป็นทำเลที่เหมาะแก่การตั้งบ้านแปงเมือง หากสร้างบ้านเมืองบริเวณนี้จะมีแต่เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในวันข้างหน้า” เมื่อเดินทางกลับไปถึงเมืองหลวงโพนสินแล้ว ได้เรียกประชุมเรื่องการย้ายเมืองใหม่ในทำเลที่ดีกว่า ต่างก็พากันเห็นด้วยในการที่จะไปสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ จึงอพยพผู้คนทั้งหลายข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งเมืองใหม่ตรงอาณาบริเวณปากห้วยบังมุกดังกล่าวนั้น

ครั้งที่กำลังสร้างบ้านแปงเมืองใหม่อยู่นั้น ประชาราษฎร์ได้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งมีสีสดใสเปล่งแสงเป็นประกายลอยออกจากต้นตาล ๗ ยอด ณ ริมฝั่งโขงล่องลอยไปตามลำน้ำโขง  จะลอยออกตอนหัวค่ำพอถึงเวลาเช้ามืดใกล้สว่างแล้วได้ลอยกลับมาที่ต้นตาลตามเดิม  เป็นประจำอย่างนี้แทบทุกคืน  นำความอัศจรรย์มายังประชาราษฎร์แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก  จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ต่อจากนั้นมาเจ้าจันทกินรีจึงได้ให้ขนานนามแก้วศุภมิตรดวงนั้นว่า แก้วมุกดาหารเพราะอยู่ใกล้ห้วยบังมุก (บัง แปลว่า ลำห้วย) นับตั้งแต่นั้นมาชาวประชาราษฎร์ก็พากันเรียกตาม  กาลต่อมาจึงได้พากันถือเอาตามนิมิตหมายอันเป็นมงคลนี้  จึงให้นามเมืองใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลนามด้วย มีชื่อเมืองว่า เมืองมุกดาหาร (มุกดาหาร หมายถึง แก้วไข่มุก) นับแต่นั้นเป็นต้นมา (มีเจ้าปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับรวม ๘ คน) ตามนิมิตนามแห่งแก้วมุกดาอันมหัศจรรย์นั้น  แต่ก่อนเมืองมุกดาหารมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล  ครอบคลุมไปทั่วทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน (ประเทศเวียดนาม) ต่อมาได้สูญเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไปถึงสามส่วน  เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ คงเหลือแต่ดินแดนเพียงหนึ่งส่วนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง  คือ ท้องที่จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือน ๔ ปีกุน พ.ศ.๒๓๑๓ เป็นต้นมา ชื่อนี้จึงถูกเรียกมาจนถึงกาลปัจจุบันนี้แล

ในปีเดียวกันนี้ได้พบพระพุทธรูปสององค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ตรงบริเวณริมฝั่งน้ำโขง จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่บนบริเวณวัดร้างของเดิมริมฝั่งโขง  ขนานนามวัดที่สร้างใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ (ศรีมงคล) และได้นำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่พบไปประดิษฐานในวิหารของวัด  ชาวเมืองจึงเรียกว่า พระเจ้าองค์หลวง  เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ  และได้กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาจนถึงปัจจุบัน  ต่อมาทางวัดได้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น วัดศรีมงคลใต้

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองกับแผ่นดินไทย  กาลล่วงมาถึงปี ๒๓๑๐ เมืองเวียงจันทน์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำภู หรือหนองบัวลุ่มภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน  เดิมชื่อว่า เมืองกมุทธาสัยบุรีรมย์ ก่อตั้งแปงเมืองมาไม่ต่ำกว่า๙๐๐ กว่าปี  แต่เดิมเป็นดินแดนที่ขึ้นอยู่กับกรุงศรีสัตนาคนหุต (ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลำภู) พระเจ้าสิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้ข่าวว่า พระวอ พระตา  แยกตัวมาตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ  และไม่ยอมขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์  จึงได้ส่งกองทัพมาปราบปรามเกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำ  สู้รบกันอยู่นานถึงสามปีแต่ยังไม่แพ้ชนะกัน  ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วย  จนสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้  พระวอ (พระตาตายในสนามรบ) จึงได้อพยพผู้คนหนีไปภูเวียง ลงไปทางใต้ตามลำน้ำชีและไปขอพึ่งเจ้าเมืองจำปาศักดิ์อยู่ระยะหนึ่ง  ต่อมาได้แยกตัวออกมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ดอนมดแดง (ปัจจุบันคือจังหวัดอุบลราชธานี) แล้วขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ฝ่ายเจ้าสิริบุญสาร ได้ยกกองทัพติดตามกลุ่มพระวอ (พระวรราชปิตา) จนล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย  และปราบพระวอได้ในปี ๒๓๒๑สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญสารออกไปจากเขตแดนไทย  เจ้าพระยาจักกรียกทัพเรือตามลำน้ำโขงปราบปรามเมืองจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์  โดยได้ตีเอาเมืองน้อยใหญ่ตามลำน้ำโขงทั้งเมืองมุกดาหาร แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ครั้งนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกต  ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐานำมาจากเมืองเชียงใหม่กลับคืนสู่ราชอาณาจักรไทยตามเดิมเมืองเวียงจันทน์ตกเป็นของไทยในฐานะเมืองประเทศราช  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าจันทกินรีเป็นพระยาจันทร์ศรีสุราชอุปราชามัณฑาตุราชเจ้าเมืองมุกดาหารมีเจ้าเมืองสืบต่อกันมาจนถึงปี ๒๔๓๔  และเมืองมุกดาหารก็ได้มาขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทยนับแต่นั้นมา เป็นเมืองชายแดนปลายพระราชอาณาเขต เคยถวายต้นไม้ทองต้นไม้เงินเป็นเครื่องราชบรรณาการ  นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔เป็นต้นมา  ถือเสมือนหนึ่งเป็นเมืองประเทศราช จากหลักฐานพบว่าเคยมีสองเมืองเท่านั้นในภาคอีสาน ก็คือ เมืองนครพนมและเมืองมุกดาหารหลังจากปราบกบฏฮ่อแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงได้ให้จัดปกครองแบบมณฑลลาวพวน  มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย  โดยมีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงประจำมณฑล

ต่อมามณฑลลาวพวนได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลฝ่ายเหนือในปี ๒๔๔๒ เมืองมุกดาหารได้แยกมารวมกับบริเวณธาตุพนม ปี ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือมาเป็นมณฑลอุดรแล้วยกเลิกการปกครอง “แบบบริเวณ” โดยให้เมืองมุกดาหารขึ้นกับมณฑลอุดร  ต่อมาในปี ๒๔๔๔ พระอนุชาติวุฒาธิคุณ (แพ ณ หนองคาย) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองมุกดาหาร แทนขุนพิทักษ์ธุรกิจ ในปีนี้ฝรั่งเศสได้เมืองลาวเป็นเมืองขึ้น ได้มาตั้งเมืองที่บ้านท่าแหตั้งนามเมืองว่า “เมืองสุวรรณเขต” ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองสุวรรณเขตคนแรกที่ฝรั่งเศสแต่งตั้งขึ้นคือ “ท้าวฮ่อม” (ญาหลวงฮ่อม) ซึ่งเป็นบุตรหลานสืบสกุลไปจากเจ้าเมืองมุกดาหาร

ต่อมาในปี ๒๔๕๐ เมืองมุกดาหารได้ถูกยุบลงเป็นอำเภอมุกดาหารขึ้นกับจังหวัดนครพนม  เปิดที่ทำการอำเภอมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๕๐ ผู้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอมุกดาหารคนแรก คือ หลวงทรงสราวุธ (เจิมวิเศษรัตน์)  ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕ อำเภอมุกดาหารได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร  แยกออกมาจากจังหวัดนครพนม  ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  และเป็นส่วนหนึ่งการปกครองของรัฐไทยกาลปัจจุบัน  ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “มุกดาหาร”) เมืองมุกดาหารเป็นเมือง

นับเป็นจังหวัดที่ ๗๓ ของประเทศไทย เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของอีสาน  มีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำโขง  หอแก้วมุกดาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย ด้านตะวันออกเป็นที่ราบสลับป่าไม้  ด้านตะวันตกเป็นผืนป่าบนทิวเขาภูพาน ด้านตะวันออกมีแม่น้ำโขงทอดยาวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับลาวมีคำขวัญว่า “หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน  กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญาตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน”

ปรัชญาจากตำนานชาวอุษาคเนย์ปรัมปรา

นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้  ได้เสนอแนวคิดเรื่องแก้วมุกดาหาร  ต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อเมืองหนึ่งบนแผ่นดินล้านช้างและพัฒนามาเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบัน  ความมหัศจรรย์ของแก้วดวงนี้ก่อให้เกิดคุณค่ามหาศาลในสังคมไทยในกาลปัจจุบัน  คนสมัยโบราณได้ยึดเอาสิ่งที่เป็นมงคลและมีคุณค่านี้  มาเป็นนิมิตนามเพื่อความเป็นมงคลและทรงคุณค่า  ดังนั้นจึงทำให้ผู้คนที่มีถิ่นกำเนิดหรือมาอยู่อาศัยในเมืองนี้  ก็มีมูลค่าในตัวไปด้วย  เพราะได้อยู่กับสิ่งที่มีคุณค่า  แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณค่าจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ตัวเราเอง  เป็นผู้สร้างคุณค่าเอง ไม่มีใครตนไหนมาสร้างให้เราได้

(ขอบคุณภาพจากหนังสือ “ย้อนอดีต ๒๑๒ ปี ก่อนเป็นจังหวัดมุกดาหาร” โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหารฯ)

Related Posts

พระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาราม
เกร็ดในความกาก – (๑) กะหล่ำปลีสีทันดร
ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com