ประสาทมนุษย์…สุดยอด
มนุษย์เรานี้พระเจ้าสร้างขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด สร้างขึ้นมาแล้วไม่ให้หยุดแม้วินาทีเดียว ถ้าหยุดก็คือตาย ยิ่งไม่หยุดยิ่งแข็งแกร่ง เหมือนร่างกายยิ่งออกกำลังก็ยิ่งแข็งแรง ออกกำลังกายไปจนแก่ชราก็ยังแข็งแรงอยู่ สมองคนเราก็เหมือนกันยิ่งใช้ยิ่งชำนาญยิ่งคล่องแคล่ว เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าถ้าใช้งานตลอดก็จะใช้ได้ทนนาน ถ้าไม่ใช้ก็จะพาลเสียเอาดื้อ ๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพราะตัวผู้เขียนเองมานั่งทบทวนตัวเอง
จำได้ว่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ช่วงอายุครบ ๖๓ ปี ผู้เขียนกับภรรยาตกลงกันว่าจะปลดเกษียณจากการเป็นนักจัดรายการวิทยุที่จัดกันมาร่วม ๓๐ ปี โลกยุคใหม่ไอที สังคมก็เปลี่ยนแปลง สื่อต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป มีสถานีชุมชนเกิดขึ้นเป็นพันสถานี มีเคเบิ้ลทีวี มีโทรทัศน์ดาวเทียมมากมายให้คนได้เลือกดูเลือกฟังได้สะดวก ประกอบกับเริ่มอิ่มตัว จึงตัดสินใจเลิกจัดรายการวิทยุคลื่นเอเอ็มทั้งหมด ๓ – ๔ รายการ
แต่ผู้เขียนก็มีกลุ่มลูกศิษย์มาขอให้ไปช่วยก่อตั้งและจัดรายการสถานีวิทยุแห่งใหม่ในระบบเอ็ฟเอ็ม คือ คลื่น “เอฟเอ็ม ๙๕ ลูกทุ่งมหานคร อสมท” ก็ใจอ่อนยอมไปจัดเฉพาะวันอาทิตย์ ๒ ชั่วโมง เลยต้องจัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ๑๐ กว่าปีแล้วยังไม่หยุด
ตั้งแต่ลาออกจากราชการ เลิกจัดรายการวิทยุเอเอ็ม แต่งานอื่นทั้งงานอาสา งานจ้างก็ยังมีเข้ามาไม่หยุดหย่อน ลูกศิษย์มาชวนไปจัดรายการโทรทัศน์ดาวเทียมก็จัดอยู่หลายปี ชีวิตนี้รักงานก็มีงานเข้ามาไม่หยุดจนอายุย่าง ๗๐ ปี จึงพยายามลดงานสังคมต่าง ๆ ลงบ้าง มีเวลาว่างพักร่างกาย แต่สมองยังไม่ยอมพัก สมองว่างจากงานอื่น การแต่งเพลงก็ลดน้อยลงเพราะช่วงจังหวะขาลงเพลงลูกทุ่งด้วย แต่กลับไปแต่งกลอนแทน เห็นอะไรคิดเป็นกลอนไปหมด สมองมันไหลลื่นไม่ยอมหยุด นั่งว่างดูข่าวสารบ้านเมืองมีอะไรสะกิดใจก็แต่งเป็นกลอนได้ทันที จนมีกลอนเป็นพันบทพิมพ์ได้เป็นเล่มหนา สมองไม่ได้ฟุ้งซ่านแต่น่าจะเฟื่องฟุ้งมากกว่า บางครั้งได้ไอเดียดี ๆ ก็แต่งเป็นเพลงเสร็จภายในไม่ถึงชั่วโมง หรือบางครั้งนั่งดูโทรทัศน์อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสารการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ก็ไปคิดวิเคราะห์ต่อยอดให้เขาไปหมด บางครั้งก็คิดโปรเจคโครงการต่าง ๆ ในทางสร้างสรรค์ เช่น เคยคิดอยากจะเดินสายไปบรรยายตามสถาบันต่าง ๆ เรื่องราวของวงการบันเทิงศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสานที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เป็นรายได้จนยึดเป็นอาชีพได้
เห็นวัฒนธรรมรำวงกำลังกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเรียกว่า “รำวงย้อนยุค” ในฐานะเคยเป็นทีมคณะรำวงเคยเป็นหัวหน้าคณะรำวงมาก่อน ก็เอาใจช่วยตามไปดูไปสังเกตการณ์มาแล้ว ดูน่าจะไม่ใช่รำวงย้อนยุคจริงมันไม่สมบูรณ์ ขาดเสน่ห์ มันแค่กองเชียร์ การใช้กลอง เครื่องดนตรี มันผิดไปหมด แม้แต่จังหวะ สเต็ปการรำก็ขาดหายไป มีแค่จังหวะรำวงกับสามช่า รำกันทั้งคืนอยู่ท่าเดียวอีกหน่อยก็เบื่อ
รำวงสมัยก่อนมีหลายจังหวะที่รำสนุกและสวยงาม เช่น จังหวะบีกิน ออฟบิท คองก้า แซมบ้า คาลิฟโซ่ ฯลฯ แม้แต่จังหวะไทย ๆ ตะลุง ม้าย่อง ยังแทบไม่มีเลย ดูท่ารำวงคงไปได้อีกไม่นานก็จางหายไปอีก
สมองก็คิดอยากนำความรู้ประสบการณ์รำวงย้อนยุคของจริงไปเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังตามมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทางภาคอีสาน ไปบรรยาย ไปสาธิตจังหวะรำวง การร้องเพลงเชียร์รำวง การตีกลอง สเต็ปการเต้นการรำแต่ละจังหวะเขารำกันอย่างไร เคยได้ติดต่อผ่านอดีต ผอ.วิทยาลัยนาฏศิลป์ฯแห่งหนึ่ง โครงการก็เลิกไป จนสุดท้ายสถานีโทรทัศน์ช่อง “ไทยพีบีเอส” ก็นำไปจัดอีเวนท์และถ่ายทอดออกอากาศจนเป็นผลสำเร็จ ได้โล่งสมองไป ๑ เรื่อง
อายุมากขึ้น วัยเกือบ ๘๐ ปี ลดงานที่ต้องใช้แรงลงไปมาก แต่งานสมองยังไม่ยอมหยุดเหมือนคนประสาทกลับประสาทฟื้น ดูข่าวทางโทรทัศน์แทบทุกช่องจะออกข่าวซ้ำข่าวเดียวกัน เกิดเหตุที่ไหน ใครเป็นข่าว เสนอภาพเดียวกันให้รู้แค่เกิดเรื่องอะไรที่ไหนก็จบ คนดูข่าวเหมือนยังค้างคาใจไม่จบ ใครผิดใครถูก ฯลฯ ผู้เขียนคิดว่าถ้าได้ทำข่าวแบบนี้จะทำให้น่าสนใจกว่านี้จะส่งนักข่าวไปตามถึงแหล่งข่าว คนเป็นข่าวหรือคนใกล้ชิด สัมภาษณ์ให้รู้เรื่องว่าสรุปอย่างไรใครผิดใครถูก ใครถูกดำเนินการตามกฎหมายข้อไหนให้กระจ่างไปเลย และต่อมาก็มีโทรทัศน์ช่องหนึ่งทำข่าวแบบที่ผู้เขียนคิด กลายเป็นช่องข่าวที่คอข่าวติดตามชมมากมาย
ช่วงหลัง ๆ ลดงานมีเวลาว่างได้ดูโทรทัศน์แทบทุกช่องจะต้องมีรายการเชิงสารคดีท่องเที่ยวไปสัมผัสคลุกคลีกับวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนต่าง ๆ ทั่วทุกภาค ดูผลิตภัณฑ์ ดูการฝีมือ สรุปลงท้ายด้วยการทำอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบในท้องถิ่น แทบทุกช่องเริ่มซ้ำ ๆ กัน ผู้เขียนยังไปคิดต่อให้เขาว่าถ้าเราทำจะให้แปลกไปกว่านี้โดยให้นักข่าวเข้าไปลุยในตลาดสดตลาดเช้าของท้องถิ่น เพราะตลาดสดคือศูนย์รวมอาหารการกินและวัฒนธรรมแท้ ๆ ของคนพื้นถิ่น ดูพืชผักผลไม้พื้นบ้านแปลก ๆ แมลง สัตว์ ปู ปลา นานาชนิดหาสิ่งแปลก ๆ สอบถามแม่ค้าว่าคืออะไร เรียกชื่อภาษาถิ่นว่าอะไร เอาไปทำอะไรกิน รวบรวมความรู้แล้วนำไปให้ชาวบ้านเขาทำอาหารชนิดนั้น ให้เห็นถึงกรรมวิธีการปรุง และรสนิยมการกินของคนท้องถิ่นด้วย จะได้รู้ถึงวัฒนธรรมการกินของเขาด้วย
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยคิดอยากต่อยอดสร้างงานให้ชุมชนหมู่บ้านที่มีของดีแต่อาจมองข้าม หรือไม่รู้คุณค่า โดยอยากให้ “มูลนิธิทางอีศาน” เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับศูนย์การค้าใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ เพราะที่นี่เขามีทั้งโรงแรมที่พัก และห้องประชุม โดยให้เจ้าของศูนย์การค้าเป็นเจ้าภาพ เราจะมีคณะกรรมการผู้รู้ด้านส่งเสริมอาชีพ ศิลปวัฒนธรรมและการประชาสัมพันธ์ ช่วยอบรมให้
ออกไปสำรวจชุมชนหมู่บ้านมีจุดเด่นอะไร แหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมเด่น ๆ อะไร มีผลิตผลหรือสินค้าโอท็อปอะไรที่ควรรื้อฟื้นพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าให้ชุมชน เพื่อนำชาวบ้านในชุมชนมาเสวนา อบรม อบรมฟรี ค่าเดินทางฟรี แต่ช่วยค่าอาหารที่พักราคาต้นทุนให้ทางศูนย์การค้า
กรรมการนักวิชาการ ผู้รู้จะเป็นผู้ให้ความรู้ข้อมูลในการพัฒนาของดีที่มีในหมู่บ้านให้ทันสมัย มีการเอ็นเตอร์เทน และประชาสัมพันธ์ และแหล่งจำหน่ายให้ด้วย ชาวบ้านได้สร้างมูลค่าในทรัพยากรที่เขามี ศูนย์การค้าก็ได้เครดิต และลูกค้า เพราะศูนย์การค้าแห่งนี้เจ้าของนายทุนเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ซึ่งตอนนี้มีศูนย์การค้าของนายทุนระดับประเทศมาตั้งแข่งขัน แถมมีงานอีเวนท์บ่อย ๆ เล่นเอาศูนย์การค้าเจ้าถิ่นเหงาไปเยอะเลย