ปราชญ์แห่งอินแปงบอกว่า “เมืองไทยเป็นเมืองมั่งคั่งที่สุดในโลก”
“เล็ก กุดวงค์แก้ว” ปราชญ์แห่งอินแปงบอกว่า
“เมืองไทยเป็นเมืองมั่งคั่งที่สุดในโลก”
ทางอีศานฉบับที่ ๗ ปีที่๑ ประจำพศจิกายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: คนบนที่ราบสูง
column: People of the Plateau
ผู้เขียน: แดง ชบาบาน
ขอบคุณภาพจาก ดร.ชฎาพร เสนาคุณ
ในบรรดาปราชญ์ของภาคอีสาน ชื่อของ พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ชาวกุดบาก จังหวัดสกลนคร ดูจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเป็นคนที่ริเริ่มการทำไวน์หมากเม่า ออกสู่ตลาด จนกระทั่งนำไปสู่การนำเอาผลไม้พื้นบ้านของไทยมาผลิตเป็นเครื่องดื่มตามมาอีกนานาชนิด
พร้อม ๆ กับการก่อตั้ง “ศูนย์เกษตรอินแปง” ขึ้นที่ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร และศูนย์จำหน่ายผลผลิตด้านการเกษตรในพื้นที่เทือกเขาภูพาน จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
พ่อเล็กเป็นอีกคนหนึ่งที่บอกไว้ว่า “เขาปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก” พร้อมกับนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชนานาชนิดในป่าภูพาน มาเพาะ และนำไปปลูก สร้างป่าธรรมชาติ ต่อยอดพื้นที่ป่าภูพานที่มีอยู่เดิมแล้วให้เพิ่มประชากรต้นไม้มากขึ้นอีก
ในปัจจุบันพ่อเล็กวัยใกล้เลข ๗ แล้ว แต่ยังแข็งแรง และกระฉับกระเฉง ไม่ค่อยเจ็บ ไม่ค่อยป่วย ไม่ค่อยไปโรงพยาบาล เพราะกินอาหารปลอดสารพิษ อยากกินอะไรก็ปลูก ปลูกอะไรก็เก็บไปกิน ในวันนี้พ่อเล็กได้มาแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยด้วย
“เพราะเมืองไทยมี ๓ ฤดูกาล มีฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน หากประเทศไหนมี ๓ ฤดูถือว่ามั่งคั่งมาก เพราะฤดูกาลที่มีอยู่ทำให้มีพืชมีสัตว์หลากหลาย และที่สำคัญคือมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างหลากหลายเช่นกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เราไม่เห็นค่าตรงนี้ ซึ่งทรัพยากรและความรู้ของเรามีมากมายมหาศาล เราไม่เห็นค่าของมัน คิดแต่ว่าตนเองทุกข์ จน บ่มีจะกิน โง่ แต่จริง ๆ เราฉลาดและมีภูมิปัญญามากมีมานานแล้ว แต่มีคนภายนอกมาบอกว่าเราด้อยพัฒนา ด้อยการศึกษาเราเลยคล้อยตามเขา แต่จริง ๆ มันไม่ใช่”
“คำพูด คำด่าของเขา มันเป็นการหากินของเขา ไปถ่ายภาพก็ไปถ่ายเอาตรงที่แห้ง ไปถ่ายตรงที่มีคนยากจน แต่จริง ๆ แล้วอีสานคือเมืองสวรรค์ของประเทศไทย ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป น้ำไม่ท่วมเกินไป ซึ่งพอดี พองาม ภาคใต้น้ำท่วมเหนือก็หนาวมาก อีสานเราพอดี มีปัญหาแต่น้อยมาก แต่กลับถูกคนมาบอก อีสานแล้ง เราก็เลยเชื่อเขา แต่จริง ๆ ไม่ได้แล้ง มันแล้งตรงไหน”
“อีสานมีแอ่งใหญ่ ๆ อยู่ ๒ แอ่ง คือ แอ่งโคราช กับแอ่งสกลนคร ทั้งสองแอ่งนี้มันอุดมสมบูรณ์มาก แอ่งโคราชมีลำตะคอง เขาใหญ่ มีภูมิปัญญาเรื่องต่าง ๆ ของเขา แต่แอ่งสกลนครมีภูพาน มีหนองหาน มีลำน้ำหลายสายไหลลงมาจากภูพาน และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มีค่ามาก แต่เราไม่มีหลักสูตรให้เราเรียน ลูกหลานไม่ได้เรียน เรื่องท้องถิ่นของตนเอง ไปเรียนเรื่องอื่นกันหมด ยุคปัจจุบันคือยุค นกไม่เห็นฟ้า ปลาบ่เห็นน้ำ ขี้ไส้เดือน (ไส้เดือน) กินดินทุกวันแต่ไม่เห็นดิน เหมือนลูกหลานเรา เกิดกับดินกับทรายแต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับบ้านเกิดตนเอง”
“พอหลักสูตรการเรียนเป็นอย่างนั้น พ่อเลยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้เรื่องของท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับเรื่องของท้องถิ่น-ชาวบ้าน เพื่อให้รู้จัก รู้จริง และรู้แจ้ง ความสามารถที่มีมาพัฒนาใหม่ ถ้ารู้แล้วเราจะเอาวิทยาการเรื่องใหม่ ๆ มาต่อใส่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น มากขึ้น เพื่อให้เข้มแข็งและรู้เท่าทันคนอื่น หากไม่รู้ก็อันตรายอีก เพื่อจะได้รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ สังคมภาพรวมเขาจะไปไหน ต้องรู้เราและรู้เขาด้วย”
“นอกจากนั้นจะต้องรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ถ้าไม่รู้มันจะอันตราย เราดึงไว้ไม่อยู่ แต่เราหนีจากโลกใบนี้ไม่ได้ เราต้องรู้ และเราจะอยู่ตรงไหนจึงจะมีความสุข เราจะปฏิเสธไม่ได้เปลี่ยนไปแค่ไหนก็จะต้องอยู่ แต่ต้องดูว่าอยู่ตรงไหนถึงจะมีความสุข”
“เราต้องเรียนรู้เรื่องรากเหง้าของตนเองให้มาก แต่คนในสังคมไทยไม่มีรากแก้ว คล้าย ๆ กับไม้กิ่งตอน แต่ไม่ใช่ไม่ดี แต่เวลาพายุมาแล้วโค่นเร็วไม่มั่นคง หากมีรากแก้ว พายุมาก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะมีรากแก้วหยั่งลึก เราจะไปกับเขาก็ได้แต่ต้องไปอย่างมีสติ เราไม่ได้ปฏิเสธสิ่งใหม่ แต่เราจะต้องรู้ว่าสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ทำอย่างไรจะสามารถเชื่อมโยงหากันได้ สิ่งเก่าสิ่งใหม่มีค่าแต่ต้องผสมกลมกลืนกันได้”
“อย่างอินแปงเขาก็คิดแบบนี้แหละ เราต้องเรียนรู้เรื่องตนเอง สมัยก่อนเขาบอก ทรัพย์อยู่ในดิน สินอยู่ในบ้าน แต่ทุกวันนี้ทุนกลับอยู่ในธนาคาร แต่ในบริบทของสังคมบ้านเราไม่ใช่ เราต้องหาทุนในป่า ในบ้านเรา มีต้นทุนอะไร มีเมล็ดพันธุ์พืชชนิดใด เราก็เอามาทำ มีพืชผักมากมาย ที่อยู่เยอะแยะมากมาย นั่นคือต้นทุนชีวิต และเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูก ใครมาเป็นสมาชิกอินแปงก็จะต้องเก็บเอาไว้ ต้องมีกิน และมั่นคงด้านอาหารมาสร้างป่าครอบครัวละ ๒ ไร่ ปลูกหลาย ๆ อย่างเพราะเอาดอกเบี้ยจากป่ามา เป็นต้นขึ้นมามีอยู่มีกิน ทำให้เราสามารถอุดรูรั่วได้”
“เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องปลูกมัน ปลูกอ้อย หากปลูกได้เงินหลายแล้วก็จะต้องไปซื้อกินเหมือนเดิมและทำให้เป็นหนี้เท่าเดิม เพราะหลักศาสนาสอนว่า การมีหนี้เป็นทุกข์ในโลก แต่คนทุกวันนี้ คนกลับไม่กลัวหนี้ ใครเอาอะไรมาให้กู้ กู้หมด ไม่คิดว่ามากหรือน้อย โดยบอกว่าเป็นทุนหมุนเวียน เอาหนี้มาหลาย แถมเสียดิน เสียหญ้าไปด้วย”
“พ่อเป็นคนเข็ดหลาบ เพราะตอนปี ๒๗ – ๒๘ เคยปลูกปอ ปลูกมัน และหยุดทำ ทำให้เป็นหนี้ ๔ หมื่น เลยออกไปนอนอยู่นา ตัดไม้ไผ่มาทำกระปุกออมสินให้ลูก ๆ เก็บเงินอยู่นา ๔ ปี หมดหนี้ ๔ หมื่น ทุกวันนี้พ่อไม่กู้กองทุนใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะกองทุนคือกองทุกข์ และลูกก็ไม่ให้ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ให้มาอยู่บ้าน มีลูก ๘ คน ไม่ได้ให้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่ให้เรียนรู้อยู่บ้าน ใครอยากเรียนต่อก็ให้เรียนทางไปรษณีย์เอาเพราะคิดว่าระบบการศึกษาไทยมันเป็นระบบที่อันตราย ไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ แต่ไม่มีหลักสูตรเรื่องบ้านตัวเอง เมืองตัวเอง ส่วนใหญ่ลูกพ่อจะจบ ม. ๓ ม. ๖ โรงเรียนขยายโอกาสในหมู่บ้าน และตั้งโรงเรียนให้ลูกเองด้วยการแบ่งที่ดินให้เป็นกระดานดิน ให้ทุกคน คนละ ๔ – ๗ ไร่ แต่ไม่ได้เท่ากันเพราะซื้อดินหลายรอบ”
“นอกจากนั้นยังสอนลูกให้รู้จักการออม โดยส่วนหนึ่งเราเก็บไว้ในยามจำเป็น บางปีบางเดือนได้มาก บางปีบางเดือนได้น้อย หากเราไม่แบ่งให้ชัดเจนจะมีปัญหาในการดำรงชีวิต ที่ดินคือกระดานดิน ปากกาคือจอบเสียม น้ำหมึกคือน้ำฝนน้ำบ่อ พืชพรรณธัญญาหารคือตัวหนังสือที่เราเขียนลงไป แต่อย่าขยันมากนัก เพราะมันจะเหนื่อย (หัวเราะ) ทำแค่พออยู่พอกิน เหลือกินก็เก็บแค่นั้น ชีวิตก็มีความสุขแล้ว”
“ลูก ๆ เขาคิดได้ว่า คนทั่วประเทศมาเรียนกับพ่อเขา ทำไมเราไม่เรียนกับพ่อเรา เลยกลายเป็นเรื่องเลย
ลูกผมไปเรียนกับควาย นก ปลาดุก ปลาซิว นี่คือการศึกษา ไม่ต้องไปเสียค่าหน่วยกิตหลายหมื่นบาท
นกไม่มีมือทำไมปลูกต้นไม้ได้ พึ่งพาตนเองได้แต่เรามีจอบเสียม ทำไมเราพึ่งพาตนเองไม่ได้ เราต้องทำได้ เราต้องเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง นั่นคือเป้าหมาย”
“ในส่วนของชาวบ้านด้วยกันเอง เขาก็เชื่อยาก แต่ก็มีคนทำตามเยอะ แต่มีปัญหาตรงที่เราเปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้ จึงได้มีส่วนผสมให้เขาเปลี่ยนตรงที่ว่า ให้อยู่อย่างพอเหมาะพอควร จะได้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเกินความจำเป็นทำให้จนอยู่เหมือนเดิม คนไม่รู้จักพอคือจนตลอดไป จนเหมือนเดิม”
“มีเพื่อนบ้านมาถามพ่อ ตั้งข้อสงสัยกับพ่อว่าพ่อไปช่วยเหลือสังคมน่าจะรวยแล้ว แต่ทำไมไม่มีรถขี่… มันก็ถูกของเขา แต่เราไม่ได้ไปหาเงิน เราไปช่วยสังคมในเรื่องกระบวนการทางความคิด เราไม่ได้รวย แต่เอาไปใช้ในสิ่งจำเป็น ครอบครัวเราจำเป็นต้องใช้รถไหม เราไม่ได้จำเป็น ไปนาก็เดินไปได้ ไปป่า ไปสวน หาอยู่หากินก็ไปได้ แต่เรามีจักรยานคันหนึ่ง จักรยานของเราด้วย ป้ายแดงอีกต่างหาก (หัวเราะ)”
“ในส่วนของศูนย์อินแปงตอนนี้ ก็มีเด็กรุ่นใหม่เขาสืบต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่าสมัยก่อน เราเรียนรู้เรื่องทุนในป่าภูพาน เราเลยส่งคนรุ่นใหม่ไปเรียนรู้เรื่องใหม่กับสถาบันวิจัยราชมงคลพังโคนสกลนคร หาเงินมาลงขันกันมาสร้างโรงงานแปรรูปน้ำผลไม้จากหมากเม่า หมากค้อ หมากแงวและส่งลูกไปเรียนแพทย์แผนไทย กับพ่อทองอ่อนสิทธิไกรพงษ์ ที่อำเภอบ้านฝาง ขอนแก่น และได้เกียรติบัตรแพทย์แผนไทยมา กลับมาเรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรในป่าภูพาน โดยเอาภูมิปัญญาโบราณมาผสมกับภูมิปัญญาแผนปัจุบัน เพื่อได้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด”
“เคยไปเสนอหลักสูตรภูมิปัญญาแอ่งสกลนครเพื่อให้ได้เรียนรู้เรื่องของบ้านตนเอง และสร้างงานในบ้านตนเองได้ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเพราะการศึกษาสอนให้เราต้องสร้างงาน ไม่ใช่หางาน เพราะหากสร้างงานจะเป็นเจ้านาย แต่หางานจะเป็นลูกจ้างเท่านั้น ลูก ๆ พ่อไม่ได้ตกงาน แม้จะไม่ได้เรียนจบระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่เคยตกงาน มีงานทำตลอด เพาะกล้าไม้ขายก็ได้เงินเป็นล้านแล้ว (หัวเราะ) แถมไม่มีหนี้สินอีกต่างหาก”
“พ่อเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ๒ ครั้งแล้วท่านก็ฝากบอกให้ช่วยสอนลูกสอนหลาน ให้พออยู่พอกิน เราก็ซาบซึ้งมาก และทำให้พ่อกลายเป็นคนทำงานถวายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินด้วย ตอนนี้สร้างกลุ่มเยาวชนอยู่ ๗๐ คน แม้ไม่มีงบประมาณก็จัดทำ โดยคุยกับภรรยาและลูก เวลาได้เงินมาก็จะแบ่งส่วนหนึ่งเพื่อทำงานเพื่อสังคมและเยาวชน ให้เขาเรียนรู้เรื่องเขานั่นเอง ทั้งการอนุรักษ์ การสานต่อ และการแปรรูปสมุนไพรด้วย ทั้งเอามากิน มาใช้ได้ด้วย เหลือก็เอาไปขาย”
“ส่วนหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีคนถามพ่อว่าสามารถแก้จนได้ไหม พ่อก็ตอบว่า นี่แหละคือสิ่งสำคัญ เพราะนี่คือคำสอนของพระพุทธศาสนาคือสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ที่เอามาใช้ได้อย่างชัดเจน เรามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า เขา ทะเล แต่เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วยความเคารพ แต่เราจะต้องทำอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแค่นี้ หรือถ้าเรามีความอดทนและเพียรไปเรื่อย ๆ เราพัฒนาที่ดินเราให้เกิดประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดเป็นคนได้มากกว่าเดิมได้เหมือนกัน ฝรั่ง ยุโรป อเมริกา เขาไม่ได้มีมากเท่าเรา ทำไมเขารวยแต่ทำไมเราจน ขนาดเขาไม่มี ทำไมเขาทำได้ เราต้องจัดการ คนไทยเราขาดการจัดการแค่นั้นเองเราจัดการไม่เป็น แถมยังทำลายอีกต่างหาก”
“ส่วนการที่เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีก ๓ ปีข้างหน้านั้น เราจะทำอย่างไร พ่อเคยไปพูดเรื่องนี้บ่อยแล้ว หลายคนบอกต้องเรียนภาษา แต่พ่อบอกไม่จำเป็น สิ่งจำเป็นคือการเรียนรู้เรื่องวิถีวิถีเขา วิถีเราเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เพราะเรามีข้าว แต่ทุกวันนี้เราแพ้เวียดนาม เราจะไปเรียนรู้เรื่องภาษา มันไม่จำเป็นเพราะเรียนรู้เรื่องภาษาก็แค่จะไปหลอกเขา ไปหลอกเอาของเขาใช่ไหม สิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมคือการรู้วิถีต่างหาก เขามีศักยภาพเรื่องไหน เรามีเรื่องอะไร ก็ต้องเรียนรู้หากัน เราต้องเรียนรู้สิ่งที่เราสามารถทำได้ก่อน เรื่องวิถีเป็นเรื่องสำคัญภาษาจิ๊บจ้อยมาก อาชีพ วิถี วัฒนธรรม ชัดเจนมากกว่า หากเราเข้มแข็ง เขาเข้มแข็ง ต่างคนต่างเข้มแข็ง นี่ต่างหากละคือหลักของการพัฒนาที่แท้จริง และเราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างเข้มแข็งด้วยกัน”
นี่คือ ข้อคิด และวิธีคิดของปราชญ์แผ่นดินอีสานที่ชื่อ “เล็ก กุดวงค์แก้ว” แม้จะชื่อเล็ก และตัวเล็ก แต่ความคิด และวิธีปฏิบัติไม่ได้เล็กเลย
และหากคนที่อ่าน คนที่นำไปปฏิบัติ ได้เรียนรู้แนวคิดนี้ รับรองว่าจะอยู่อย่างมั่นคงได้ อยู่อย่างมีรากแก้ว และอยู่อย่างไม่กลัวภัยใด ๆ ทั้งสิ้น
นี่คือหนึ่งในคนบนที่ราบสูงที่อยากจะแนะนำให้รู้จัก.