ปราสาทรวงข้าว พระธาตุรวงทอง พลังศรัทธากึกก้องของชาวอีสาน
ภาพโดย อนุพล วงศ์ทิพนาถ
เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อผมได้เห็นพิธีกรรม “สู่ขวัญข้าว” อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกที่อำเภอพนมทวน กาญจนบุรี เมื่อปลายปี ๒๕๖๑ ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งชื่อจริงของลูกสาวว่า “ขวัญข้าว” มานานจนปีนี้เธอสวมชุดนิสิต มศว แล้ว ต้องกราบขอบพระคุณ ผศ.ฟ้อน เปรมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.กาญจนบุรี กัลยาณมิตรที่ผมเคารพนับถือ กรุณาประสานเครือข่ายวัฒนธรรมสายพนมทวน จนทำให้ผมตะลึงกับพิธีกรรมที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมานาน
ปราสาทรวงข้าวอันอลังการของชาวบ้านคุ้มวัดเศวตวันวนาราม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ฝีมือการถ่ายภาพของคุณอดุล ตัณฑโกศัย ช่างภาพอนุสาร อ.ส.ท.
ทว่า ผมเพิ่งได้เห็น เพื่อได้เข้าใจในคติความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ – เทวะนารีผู้สถิตอยู่ในนาข้าว เพื่อปกปักรักษาท้องทุ่งนา ประทานความบริบูรณ์พูนผลในการทำนาแต่ละปี ดังนั้น เมื่อถึงฤดูข้าวออกรวง หรือข้าวตั้งท้อง ราวเดือนตุลาคม ชาวนาภาคกลางจึงมีพิธีสักการบูชาพระแม่โพสพ นัยว่าข้าวตั้งท้อง จึงหมายถึงพระแม่
โพสพกำลังตั้งท้อง
เป็นหน้าที่ของชาวนาจะต้องเอาอกเอาใจให้พระแม่สบายใจ ไม่หงุดหงิด ด้วยการปรนเปรอสิ่งที่แม่ชอบ ตั้งแต่ดอกไม้หลากสี หมากพลู ขนมหวาน โดยเฉพาะผลไม้ทั้งหวานและเปรี้ยว จัดมาเสร็จสรรพเผื่อพระแม่แพ้ท้อง เช่นเดียวกับเสื้อผ้าสีสันสดใส และเครื่องประทินผิวที่ทำให้ผมอึ้ง เมื่อเห็นชาวบ้านพนมทวน ใช้ผ้าขาวรวบกอข้าวมาหนึ่งกอ สมมุติว่าเป็นพระแม่โพสพ แล้วจัดแจงเทน้ำราดรดกอข้าว เป็นการอาบน้ำให้ท่าน แถมประแป้งแต่งหน้า โดยทำท่าหวีผมให้แม่ เอากระจกให้แม่ส่อง ก่อนทำในสิ่งที่ผมต้องยอมแพ้ใจดวงที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาของชาวนาที่มีต่อพระแม่โพสพ ด้วยการถอดสายสร้อยคอทองคำคล้องให้กอข้าวที่สมมุติว่าพระแม่โพสพ แม้จะคล้องเป็นพิธี พอเสร็จสิ้นพิธีก็หยิบคืนก็ตาม
ชาวนาภาคกลางเรียกพิธีกรรมนี้ในหลายชื่อ อาทิ เอาขวัญข้าว แปรท้องข้าว รับท้องข้าวฯลฯ ทว่า เราจะไม่พบพิธีกรรมนี้ในท้องถิ่นอีสาน ทั้ง ๆ ที่ชาวอีสานก็เชื่อถือศรัทธาในพระแม่โพสพไม่ด้อยไปกว่าชาวนาภาคกลาง แต่ชาวอีสานจะบูชาพระแม่โพสพหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ราวเดือนมกราคม ก่อนฟาดข้าวให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง จะทำพิธี “ปลงขวัญข้าว” อัญเชิญพระแม่โพสพจากท้องทุ่งมาสู่ลานฟาดข้าว เพื่อทำพิธีกรรมตามประเพณี “บุญคุณลาน” โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้มั่งมีมั่งมูน ค้ำคูณพูนผล ตามชื่อ “บุญคูณลาน” หรือบุญเดือนยี่ ตาม “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” (จารีตประเพณี ๑๒ เดือน และทำนองคลองธรรมอันดีงาม ๑๔ ประการ) ของชาวอีสาน
จากรวงข้าวมารังสรรค์เป็นงานศิลป์แห่งศรัทธา
พระธาตุรวงทองของชาวคุ้มวัดบ้านหนองเม็ก อำเภอเมืองสรวง ร้อยเอ็ด สร้างด้วยพุทธศิลป์ล้านช้าง คล้ายพระธาตุศรีสองฮัก พระธาตุแห่งความรักสามัคคี ระหว่างไทย-ลาว ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ทำพิธีเอิ้นขวัญข้าว อัญเชิญแม่โพสพ จากนาหนองเม็ก สู่เจดีย์รวงข้าวที่วัด
นิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้มั่งมีมั่งมูน ค้ำคูณพูนผล ตามชื่อ “บุญคูณลาน”
ทั้งนี้ บุญคูณลาน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” ด้วยก่อนจะนำผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้ไปเก็บเข้าเล้า หรือยุ้งฉาง ชาวอีสานจะนำข้าวเปลือกมากองรวมกันให้เป็น “กุ้ม” หรือกองข้าวขนาดใหญ่ เป็นการทำบุญถวายข้าว เก็บเกี่ยวใหม่เพื่อค้ำจุนพระพุทธศาสนา พร้อมกับทำพิธีขอขมาพระแม่โพสพ ที่ในระหว่างการ
ทำนากว่าจะได้ผลผลิตพวกเขาต้องทำให้แม่เจ็บปวด นับแต่ขั้นตอนถอนต้นกล้า เอามาฟาดกับเท้าให้ดินหลุดร่วง กระทั่งขั้นตอนสุดท้ายคือการฟาดข้าว
ซึ่งในงานบุญกุ้มข้าวใหญ่นี้เอง ที่ชาวอีสานทำในสิ่งที่ผมต้องอึ้งอีกครั้ง คือการทำ “ปราสาทรวงข้าว” เปรียบดั่งวิมานของพระแม่โพสพ ซึ่งต้องใช้ฝีมือและแรงศรัทธารังสรรค์ขึ้นมา ผมเคยเห็นพิธีนี้ครั้งแรกที่จังหวัดสระแก้ว แต่ต้องตะลึงเมื่อได้เห็นภาพปราสาทรวงข้าวของชาวบ้านคุ้ม วัดเศวตวันวนาราม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ฝีมือ
คุณอดุล ตัณฑโกศัย ช่างภาพอนุสาร อ.ส.ท.ที่ผมเชื่อว่าเป็นผู้บันทึกภาพวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอีสานอย่างสวยงามตระการไว้มากที่สุดในประเทศนี้
ส่วนที่ร้อยเอ็ดก็ใช่ย่อย แม้จะไม่สร้างปราสาทรวงข้าวอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยพระอาจารย์ปิยะพงษ์ สิริจันโธ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองเม็ก อำเภอเมืองสรวง ร้อยเอ็ด สร้างสรรค์เจดีย์หรือ “พระธาตุรวงข้าว” ที่โดด
เด่นและน่าสนใจ ตรงรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรงบัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) และโดยเฉพาะในสายตาผมมองว่าคล้าย พระธาตุศรีสองฮัก พระธาตุแห่งความรักสามัคคีระหว่างไทย-ลาว ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มากที่สุด งดงาม แปลกตา เข้าบรรยากาศแห่งความ
สมานฉันท์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียน และสะท้อนภาพความเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” ได้อย่างดีที่สุด เพราะพระแม่โพสพเป็นคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับพิธีพุทธอย่าง
กลมกลืนในสังคมไทยมาเนิ่นนาน
ต้องขอขอบคุณ คุณอนุพล วงศ์ทิพนาถ กัลยาณมิตรชาวคุ้มวัดบ้านหนองเม็ก อำเภอเมืองสรวง ร้อยเอ็ด ที่ส่งภาพชุดนี้มาให้ผมเห็นเป็นบุญตา และเป็นเสมือนการทวงสัญญาที่ผมให้ไว้กับคุณอนุพล ว่าผมปรารถนาจะไปเที่ยวชมวัดวาอารามและประเพณี พิธีกรรมของชาวร้อยเอ็ด ซึ่งมีความแปลกแตกต่างจากอีสานย่านอื่น แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่มีบุญวาสนาได้ไป กระนั้นก็ยังยืนยันว่า ร้อยเอ็ดเป็นจุดหมายปลายทางที่ในส่วนลึกของหัวใจ ร่ำร้องว่าผมต้องไปเยือน (อย่างเจาะลึก) สักครั้งหนึ่งในชีวิต
แรงศรัทธายังมั่นคงของชาวอีสาน
*****
*แก้ไขข้อมูล และขออภัยในความผิดพลาด*
คุณอนุพล วงศ์ทิพนาถ กรุณามอบภาพประกอบเรื่อง “ปราสาทรวงข้าว พระธาตุรวงทอง พลังศรัทธากึกก้องของชาวอีสาน” ในคอลัมน์ “ห้องศิลป์อีศาน” เขียนโดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล ในนิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 85 เดือนพฤษภาคม 2562
.
แต่ในเล่มนั้นระบุที่มาภาพโดยคุณรวินท์นิภา อุทรัง ..
จึงขอแก้ไขข้อมูล ภาพถ่ายในคอลัมน์
ผู้ถ่าย – คุณอนุพล วงศ์ทิพนาถ
.
ต้องขออภัยคุณอนุพล คุณรวินท์นภา และนักอ่านทุกท่าน เป็นอย่างสูงอีกครั้ง
กองบ.ก. นิตยสารทางอีศานขอน้อบรับความผิดพลาดทั้งหมด