ปริศนา “ตัวมอม” (๒) บูชาหมา
ทองแถม นาถจำนง
3 พ.ค. 2559
รูปประกอบ : หมาหิน อำเภอเหลยโจว มณฑลกวางตุ้ง (เดิมเป็นถิ่นคนพื้นเมือง – ไป่เยวี่ย)
เว็บไซด์ “สุวรรณภูมิสโมสร” มีเรื่อง “หมาในตำนาน นิทาน ความเชื่อ” ดังต่อไปนี้
‘หมา’ ในตำนาน นิทาน ความเชื่อ
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับหมาไว้ในบทความและหนังสือมากมาย ว่าได้รับการยกย่องเป็นสัตว์บูชายัญและนับถือกันตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว
เรื่องดังกล่าวเป็นเพราะมีภาพเขียนสียุคโบราณบนผนังหรือเพิงผาแถบอีสานของประเทศไทยไปจนถึงมณฑลกวางสีในจีน ที่สงสัยกันว่ารูปหมาที่เขียนแสดงปะปนอยู่กับภาพมนุษย์นั้นสะท้อนทัศนะความเชื่อของกลุ่มชนเจ้าของภาพนั้นว่าอย่างไร
ในหนังสือ “คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์” ของ คุณสุจิตต์ กล่าวว่า มีหลายชนชาติในสมัยโบราณที่บูชาหมา ทั้งการฝังศพหมาพร้อมกับคนที่พบในสมัยราชวงศ์ซางทางภาคกลางของจีน การเซ่นสังเวยหมา และการเคารพยกย่องหมาของชาวเยวี่ยโบราณ รวมทั้งการกินเนื้อหมาเพราะยกย่องและเพิ่มพลัง
ชาว “จ้วง” ทางตอนใต้ของจีน แถบยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี ที่ในเอกสารจีนเรียกว่า “ไป่เยวี่ย หมายถึง เยวี่ยร้อยจำพวก พี่น้องเครือญาติคนไทในสุวรรณภูมิ ที่สืบเสาะเอาได้จากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง “หมา” ที่ว่านี้ด้วย
เรื่องความเชื่อถือเกี่ยวกับหมาของกลุ่มชนชาวจ้วง เป็นต้นว่า
ในการเผาหินปูนเพื่อเอามาเป็นปุ๋ยของชาวจ้วง ก่อนจะเริ่มงานต้องฆ่าหมาไหว้เจ้าภูเขา เพื่อขอให้งานสำเร็จ อย่าให้มีอุปสรรค พอเสร็จพิธีไหว้ก็จะจัดงานกินอาหารร่วมกันที่ข้างเตาเผาเป็นประเพณี
ชาวปู้ไย่ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของจ้วง ในมณฑลยูนนาน ก็พลีกรรมแก่ผี ด้วยเครื่องเซ่นตามที่ผีต้องการ อาจเป็นไก่ หมู รวมทั้ง “หมา” ด้วยเช่นกัน
ชาวจ้วงแถบหลงโจว ในมณฑลกวางสี ไทใต้คง ปู้ยี (ในจีน) ชาวเขาเผ่ามูเซอ (ที่จังหวัดตาก) ชาวเขาเผ่าลีซอ มีนิทานที่เล่าถึงหมาเป็นผู้นำข้าวมาให้มนุษย์ ซึ่งมีโครงเรื่องหลักคล้ายคลึงกันว่า บนโลกมนุษย์เดิมไม่มีข้าว มีหมา 9 หางตัวหนึ่งไปขโมยพันธุ์ข้าวบนฟ้า โดยเอาหางไปจุ่มเมล็ดข้าว มนุษย์ได้พันธุ์ข้าวที่ติดมากับหาง หรือขนหมา มาปลูกกิน หมาจึงมีบุญคุณแก่มนุษย์
เรื่องดังกล่าวนี้คงเป็นที่เชื่อถือกันในชาวจ้วงหลายกลุ่ม เพราะในพิธีกินข้าวใหม่ทุกปีของชาวลีซอ หลังจากไหว้ผีแล้ว จะเอาข้าวใหม่ และเนื้อที่ปรุงในพิธี ส่งให้หมากินก่อน เช่นเดียวกับชาวไทใต้คง ในยูนนานก็ให้หมากินข้าวใหม่ ในวันสุนัข เดือนอ้าย ส่วนชาวปู้ไต่ ในจังหวัดเหวินซาน มณฑลยูนนาน พอถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ จะมีประเพณีหุงข้าวให้หมากินเพราะเชื่อกันว่าหมาเป็นผู้นำพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์
ชาวจ้วงแถบอำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี ยังมีผู้คนกราบไหว้สุนัขมาจนทุกวันนี้ ตามถนนเข้าหมู่บ้านหรือปากทางเข้าหมู่บ้านมักตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ ในช่วงเทศกาลผู้คนก็จะไปปักธูปวางกระดาษเงินทองที่หมาหินนี้ เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งเลวร้าย และดูแลความร่มเย็นของหมู่บ้าน
บทบาทของ’หมา’ ในยุคโบราณจึงไม่ใช่แค่เพื่อนเล่นแก้เหงาอย่างในปัจจุบัน แต่มีความสำคัญต่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งในฐานะเป็นผู้นำข้าวมาให้รู้จักปลูกกิน และมีพลังหรือความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะยกย่องเป็นเครื่องสังเวยบูชา ที่สะท้อนออกมาในงานศิลปกรรมและพิธีกรรมในทัศนะความเชื่อร่วมกันของกลุ่มชนที่เป็นเครือญาติเดียวกันนั่นเอง”
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๑) หมานำพันธุ์ข้าวมาให้คน
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๓) การบูชาหมาในยุคดึกดำบรรพ์
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๔) จาก “หมา” เปลี่ยนเป็นสัตว์ผสม
อ่าน : ปริศนาตัวมอม (๕) จบ