ปิดเล่ม
สิ่งสำคัญของมนุษย์ อาจจะบอกว่าสำคัญที่สุดก็ว่าได้ คือมนุษย์รู้จักใช้ “ภาษา”
ภาษาทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไป ต่อมา “ภาษา” ก็ช่วยให้มนุษย์พัฒนา เจริญก้าวหน้าขึ้นทุก ๆ ด้าน
ยิ่งเริ่มมีตัวอักษรใช้ เกิดภาษาเขียน – มนุษย์ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มนุษย์กลุ่มใดหรือเผ่าใดไม่มีภาษาตัวอักษรสำหรับใช้ในภาษาของตนเองก็ด้อยความเจริญ ล้าหลังพวกมีภาษาอักษรของตนเองลงเรื่อย ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม สองพันปีมานี้ มนุษย์ที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ก็มีที่เสื่อมสลายไปไม่น้อยเหมือนกัน
และแม้มนุษย์บางกลุ่ม เดิมทีจะไม่มีตัวอักษรของพวกตนเองใช้ แต่รู้จักดัดแปลงตัวอักษรบางประเภท (เช่นตัวโรมัน) มาใช้เขียนภาษาของตน ก็สามารถเจริญก้าวหน้าได้ เช่น เวียดนาม เป็นต้น
พูดถึง “ภาษา” กันแล้ว ต้องไม่ลืมว่ามันเหมือนทุกสิ่งของมนุษย์คือมี “มายาคติ” หรือ ด้านที่เป็นปัญหาบกพร่อง
ภาษาของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ผ่านการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ปฏิรูป – ปฏิวัติ กันมามากมาย เราใช้ภาษาปัจจุบันจึงต้องไม่ลืมว่าภาษาปัจจุบันมีความแตกต่างจากภาษาในสมัยก่อน
อย่างภาษาไทย ผ่านการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปใหญ่ ๆ มาหลายครั้ง อาจจะเริ่มนับตั้งแต่ภาษา “กลุ่มกะได” เป็นต้นมา เกิดเป็นคำเรียกพวกตนเองว่า “ไต – ไท” ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) เมื่อเคลื่อนลงใต้ลงมาผสมผสานกับชาวออสโตรเอเชียติก (มอญเขมร) แลกเปลี่ยนผสมผสานภาษากัน ภาษาไต – ไท ดั้งเดิมก็สูญหายไปส่วนหนึ่ง เมื่อรับอารยธรรมอินเดียแล้วปฏิรูปภาษาตามอินเดีย ภาษาไทดั้งเดิมก็สูญหาย เปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย มาล่าสุดที่เรารับภาษาอังกฤษมาใช้ ภาษาไทยก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีก
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงแรก ๆ ยังมีความพยายามเลือกใช้ “ภาษาไทย” ในยุคนั้น (ขณะกำลังรับคำศัพท์ต่างชาติ) มาใช้ เราจึงมีคำศัพท์ที่บัญญัติเป็นภาษาไทยได้ไพเราะ เช่น โทรทัศน์ ไฟฟ้า ฯลฯ
แต่ทุกวันนี้ เรามักจะบัญญัติศัพท์ใหม่ไม่ได้เสียแล้ว ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย…เข้าใจง่ายกว่า
เพราะการบัญญัติใช้นั้น ก็มีข้อติติง ที่ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้เสมอ เช่น คำว่า Culture ตอนที่บัญญัติศัพท์กัน มีผู้เสนอให้ใช้ “พฤติธรรม” กับ “วัฒนธรรม” แล้วท่านผู้เลือก เลือกใช้ว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งก็เลยสร้างความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนมาจนถึงวันนี้
อีกคำสำคัญเช่น “ทุนนิยม” Capitalism
ก่อนที่จะนิยมใช้ว่า “ทุนนิยม” กันนั้น ท่าน “น.ม.ส.” ท่านใช้ว่า “ธนาธิปัตย์” (ประชาธิปไตย ใช้ว่า “ประชาธิปัตย์” “นายทุน” ใช้ว่า ธนบดี) ท่านเขียนคอลัมน์ “ผสมผสาน” ในหนังสือพิมพ์ประมายวัน (ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. ๒๔๗๕ ประมาณสิบปี) ทุกวัน และบทความของท่านมีอิทธิพลมาก ท่านเขียนถึงคำว่า “ธนาธิปัตย์” ดังนี้
“วันนี้เตะเริ่มด้วยการอธิบายศัพท์ที่เราตั้งขึ้นใหม่ ศัพท์นั้นคือ “ธนาธิปัตย์” ซึ่งใช้แปลศัพท์อังกฤษว่า แคปิตอลิสม์ capitalism คือวิธีการซึ่งอำนาจทรัพย์ของเศรษฐีแผ่คลุมไปในกิจการต่าง ๆ อเมริกาเป็นตัวอย่างประเทศธนาธิปัตย์ คือการจัดให้เกิดทรัพย์ ย่อมอาศัย ธนบดี คือเศรษฐีบุคคล หรือบริษัทเศรษฐี”
เมื่อเกิดแนวความคิด Capitalism ต่อมาก็เกิดแนวคิดตรงกันข้ามคือ Socialism กระทั่งโลกเกิดแบ่งฝักฝ่ายทำสงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยม (หรือเรียกว่าเสรีนิยม) กับค่ายสังคมนิยม แล้วก็เกิดคำศัพท์ (ซึ่งให้ความหมายเพี้ยนไปจาก ดั้งเดิม) ว่า “ฝ่ายซ้าย” “ฝ่ายขวา” ซึ่งก็เป็นตัวอย่าง “มายา” ของคำศัพท์ตัวอย่างหนึ่ง
ท่าน S.G. Well กล่าวในงานเลี้ยงอำลาตำแหน่งนายกสโมสร P.E.N. Club ของท่าน ว่า
“คนเรานี้ มีน้อยนักที่จะไม่ถูกเรียกว่า ซ้าย หรือ ขวา เขาอยากห้ามใช้คำสองคำนั้นเสียให้ขาด เพราะว่าในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั้น ไม่มีซ้ายหรือขวาเลย เป็นต้นว่า ในวิทยาศาสตร์จะมีวิทยาศาสตร์ซ้ายก็หาไม่ วิทยาศาสตร์เดินก้าวไปข้างหน้าร่ำไป แต่ไม่เลี้ยวไปข้างขวาหรือข้างซ้าย ไปตรง ๆ เสมอ ๆ ”
ขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก : สาระดี Thai PBS