ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก
โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์
สู่นิวนอร์มอลไทย
โคโรนาไวรัสไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาเตือนก่อนหน้านี้แล้ว คือ SARS (2004) และ MERS (2012) แต่ที่ใหม่และคาดไม่ถึงคือ ความร้ายแรงของการระบาดที่ไปทั่วโลกทุกประเทศ ทุกเขตพื้นที่มีที่มนุษย์อยู่ เร็วและแรงจนมนุษย์ที่เก่งกาจแค่ไหน มีวิชาความรู้และเทคโนโลยีดีเพียงใดก็เอาไม่อยู่
ปีเดียวเป็นสาเหตุให้คนตายทั่วโลกไปเกือบ 2 ล้านคน ติดเชื้อไปกว่า 80 ล้าน แต่ WHO คาดการณ์ว่าน่าจะติดไปกว่า 1,000 ล้านคนแล้ว เพียงแต่ไม่มีอาการ หรือตรวจไม่พบ หรือไม่ได้รับการตรวจ
เป็นไวรัสที่เปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง เพราะทำให้เศรษฐกิจพังทลาย คนตกงาน ขาดรายได้ อดอยาก ไร้ที่อยู่อาศัย ต้องพึ่งความใจบุญของญาติพี่น้องและของเพื่อนมนุษย์เพื่อให้อยู่รอด เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถเยียวยาปัญหาไม่ว่าสุขภาพ หรือเศรษฐกิจของพลเมืองที่เจ็บป่วยและได้รับผลกระทบได้ทั้งหมด
คิดดูว่า คนมีงานทำดี ๆ มีศักดิ์ศรีและเงินเดือนสูงอย่างนักบิน พนักงานการบินทั้งบนเครื่องหรือบนพื้นดินต่างก็ตกงานเพราะเครื่อบินบินไม่ได้ การเดินทางหยุด การท่องเที่ยวยกเลิกไปโดยปริยาย งานดี ๆ ที่เป็นแหล่งรายได้ให้ประเทศ ให้ท้องถิ่นอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ ธุรกิจการท่องเที่ยวต่าง ๆ ปิดกิจการ ล้มละลาย นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์
ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ การสาธารณสุขอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป เอเชีย กลายเป็นประเทศที่มีการระบาดสูงสุด คนตายเป็นใบไม้ร่วง จนระยะแรก ๆ นั้นในบางประเทศอย่างอิตาลี และบางรัฐอย่างนิวยอร์คของอเมริกา โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยไม่พอ
ไม่พอทั้งห้องไอซียูหรือทั่วไป ต้องเลือกว่าจะรักษาใครก่อน แม้จะอยู่ในขั้นสาหัสเหมือนกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตหลายอย่างที่มีไม่พอ ผลิตไม่ทัน
ที่สำคัญ ไม่มียา ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งก็ไล่ทันบ้างไม่ทันบ้าง เพราะแม้เป็นโคโรนาไวรัสและใกล้เคียงกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่มีความแตกต่างและร้ายแรงที่ซับซ้อนจนยากที่การแพทย์จะเข้าใจได้ทั้งหมดและรักษาได้ ตอนแรกนึกว่ามีผลต่อปอด ทางเดินหายใจเท่านั้น ไป ๆ มา ๆ ส่งผลกระทบไปทั่วแม้แต่สมองและระบบประสาท
ความหวังมากที่สุดคือ วัคซีน ซึ่งเร่งพัฒนากันทั่วโลกกว่าร้อยโครงการ ด้วยวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า ทำให้การผลิตวัคซีนเร็วกว่าที่ผ่านมามาก เพียง 10 เดือนก็ประกาศผล รับรองว่าปลอดภัยและเริ่มใช้แล้วในหลายประเทศ เพียงแต่กว่าจะหยุดไวรัสนี้ได้คงใช้เวลาอีกเป็นปี
นอกนั้นยังมีคำถามอีกมาก ปริมาณการผลิตจะเพียงพอหรือไม่ กระจายไปทั่วโลกได้เมื่อไร วัคซีนจะป้องกันได้นานเท่าไร ต้องฉีดทุกปีหรือไม่ และถ้าไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ วัคซีนยังจะป้องกันได้หรือไม่ จนถึงวันนี้ดูจะมีคำตอบทุกเรื่อง แต่ที่สุดก็ต้องรอต่อไปว่า จะได้จริงอย่างที่ “เชื่อ” กันนั้นหรือไม่
#สุขภาพกับเศรษฐกิจ
#เสรีภาพส่วนตัวกับเสรีภาพส่วนรวม
“สังคมโควิด เศรษฐกิจโคม่า” รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ มีวิธีรับมือกับโควิด-19 แตกต่างกัน ในระยะแรกที่เริ่มระบาดหนัก ส่วนใหญ่ล็อคดาวน์เข้มตั้งแต่พื้นที่แคบ ๆ กว้างออกไปจนถึงทั้งประเทศ แรก ๆ ก็ไม่เท่าไร พอเข้าใจ นานเข้าผู้คนก็รับไม่ไหวออกมาต่อต้านมาตรการของรัฐ
สาเหตุสำคัญเพราะการล็อคดาวน์มีผลอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ เมื่อธุรกิจปิดหมด คนตกงาน ไม่มีรายได้ บางประเทศมีระบบสวัสดิการที่ดีพอสมควรอย่างเยอรมนี ที่ชดเชยคนทำงานที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างดี แต่อะไร ๆ ก็ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าที่ไหน
แต่ไม่มีที่ไหนที่พอจะเป็นโมเดลหรือตัวอย่างของความสมดุลระหว่าง “สุขภาพกับเศรษฐกิจ” คือ ควบคุมการระบาดได้และไม่ทำร้ายเศรษฐกิจจนเกินไป จะมีแต่เลือกว่าจะเอาสุขภาพมาก่อน หรือเอาเศรษฐกิจ
ผู้นำอย่างนายทรัมป์ของสหรัฐฯ นายโบลโซนาโรของบราซิล นายจอห์นสันของสหราชอาณาจักรในระยะแรก และอีกหลายคนไม่ให้ความสำคัญกับโควิด-19 เท่ากับเศรษฐกิจ เป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศเหล่านั้นพุ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ มาก และก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจรอดได้จริง
มีการเดินขบวนประท้วงมาตรการของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมากเกินไป ขัดรัฐธรรมนูญ ลงถนนกันมากมายในหน้าร้อนที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลทั้งหลายไม่ได้อ่อนข้อ เพราะคาดการณ์ว่า หน้าหนาวนี้มีการระบาดรอบใหม่แน่ และก็เป็นไปตามคาด
# โลกาภิวัตน์กระเทือน
โลกยุคใหม่เชื่อมต่อกันในแทบทุกด้านอย่างไม่เคยมีมาก่อน การเดินทางสะดวกสบาย ใคร ๆ ก็บินได้ อินเทอร์เน็ตที่มีพลังสูง ทำให้สะดวกในการสื่อสารคมนาคม การซื้อขายในประเทศระหว่างประเทศ
เศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน มีการลงทุนข้ามชาติ ที่ใดเงื่อนไขดีกว่า ถูกกว่า แรงงาน โครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ พร้อมก็ไปตั้งฐานหรือย้ายฐานไปที่นั่น เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจากอเมริกา ยุโรป แห่ไปลงทุนในประเทศจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา
มีการจัดตั้งความร่วมมือแบบหุ้นส่วนภาคีระดับภูมิภาคมากมาย หนักแน่นอย่างประชาคมยุโรป มาถึงอาเซี่ยน APEC, RCEP, CPTTP และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเอื้อความสัมพันธ์ความร่วมมือ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ
โควิด-19 มาทำให้โลกาภิวัตน์และกลไกภาคีภูมิภาคต่าง ๆ “วงแตก” เริ่มตั้งแต่แรกเริ่มที่ “แย่ง” อุปกรณ์การแพทย์ การสาธารณสุขกัน อย่างเครื่องช่วยหายใจในห้องฉุกเฉินไอซียูบริษัทอเมริกันไปลงทุนที่จีน นายทรัมป์ก็สั่งให้ส่งให้อเมริกาก่อน แม้อียูสั่งจากจีน ส่งผ่านมาแวะที่กรุงเทพฯ นายทรัมป์ยังสั่งให้ “โจรสลัด” แย่งเอาไปอเมริกาหน้าตาเฉย
อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงยารักษาตามอาการผลิตกันมากที่อินเดีย ก็ถูกประเทศของบริษัทที่ไปลงทุนอ้างสิทธิที่จะได้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก่อนคนอื่น ซึ่งไม่ว่าที่ไหนก็มีปัญหาการผลิต เพราะการล็อคดาวน์ทำให้การขนส่งวัตถุดิบจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศมีปัญหาล่าช้า ขาดแคลน จนทำให้ผลิตไม่ได้ ผลิตไม่ทัน จึงต้องแย่งกันวุ่นวาย
นั่นเป็นเรื่องโควิด แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ โรคระบาดครั้งนี้ทำให้การนำเข้าส่งออกกระทบอย่างหนัก อาจมีบางภาคส่วนอย่างอาหาร ปัจจัยสี่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ อาจจะได้ผลเป็นบวกด้วยซ้ำ แต่โดยทั่วไปแล้วทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกมากจะได้รับผลกระทบมากที่สุด การส่งออกติดลบสูงสุดในรอบหลายปี
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะถ้าเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ที่สั่งสินค้าเข้ามีปัญหา คนไม่มีกำลังซื้อ ขายของไม่ได้ เขาก็ไม่สั่งของเข้าประเทศ และหันไปผลิตเอง กินเอง ใช้เอง อย่างที่จีนและอีกปลายประเทศประกาศให้หันมา “พึ่งตนเอง” และสนับสนุนให้ประชาชน “พึ่งตนเอง” ให้มาก อะไรทำเองได้ก็ให้ทำ ไม่ใช่รอแต่ไปซื้อที่ตลาด
แม้ว่าเมื่อโควิดผ่านไป เศรษฐกิจระหว่างประเทศค การลงทุนใหญ่ ๆ ก็คงไม่เปลี่ยนหรือย้ายฐานกับประเทศของตนหมด แต่คงมีการคิดคำนวณปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเดิม และคงจะเลือกธุรธิจที่มั่นใจในประเทศที่มั่นคงทางการเมือง ทางสังคม มากที่สุด
ดูกรณีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม หรือจากจีนไปเวียดนามก็น่าจะเป็นเพราะเหตุผลนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในอนาคตใครจะไปรู้ว่าจะมีอะไรแบบโควิดหรือร้ายแรงกว่าตามมาอีก
การแย่งยาแย่งอุปกรณ์การแพทย์นั่นเกิดขึ้นก่อนนี้ วันนี้มีการแย่งวัคซีนกัน ประเทศรวยคงได้วัคซีนก่อนประเทศจน เพราะมีเงินซื้อ มัดจำและจองไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งประเทศยากจนทำไม่ได้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะตั้งกองทุนเพื่อซื้อวัคซีนให้ประเทศจนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่จะได้เท่าไร ได้เมื่อไร และส่งไปทั่วถึงเพียงใดก็น่าสงสัย อาจจะรอให้ประเทศรวย “เอาจนพอ” ไปก่อนกระมัง
# สู่นิวนอร์มอลไทย
๑. วิถีชีวิตปกติแบบเดิม ๆ จะเปลี่ยนไป ชีวิตประจำวันส่วนตัว ต้อง “พึ่งตนเอง” ดูแลตัวเอง ครอบครัวให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่ดี และป้องกันโรคระบาดที่ทางการแนะนำมาตลอด คือ ล้างมือ ถือระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่จัดการพบปะสังสรรค์ ไปในที่คนหมู่มาก การทำงานที่เปลี่ยนไป ทำงานที่บ้านมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสื่อสารมากขึ้น
นิวนอร์มอลคนน่าจะสุขภาพดีขึ้น เพราะมีเวลาคิด มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง ทำอาหารกินเอง ปลูกผักกินเอง ออกกำลังกาย คิดหางานทำใหม่ ๆ ไม่ต้องอายใคร ตราบใดที่ยังมีแรงมีกำลังและสติปัญญา ย่อมมีหนทางเสมอ
แม้มีการผูกขาด เมืองไทยยังให้โอกาสคนอีกไม่น้อย แม้มีเหลือแต่ช่องน้อย ๆ ที่น่าจะลอดได้ ตราบใดที่โครงสร้างใหญ่ไม่เปลี่ยนไม่เปิดช่องใหญ่ก็ลอดช่องน้อยกันไปก่อน
๒. จัดระบบเศรษฐกิจใหม่ พึ่งพาการส่งออกน้อยลง เน้นการพึ่งตนเองของครอบครัวและชุมชน ซึ่งมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีโมเดลเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนา ธนาคารน้ำใต้ดิน และอื่น ๆ ที่เป็นนว้ตกรรมของชุมชนคนรากหญ้า ที่ยามลำบากคิดได้และพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง
ประเด็นสำคัญน่าจะไม่ใช่การเกษตร ซึ่งดูจะตื่นตัวและปักหลักได้ดีพอสมควรแล้ว แต่อยู่ที่ภาคแรงงานอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งกลายเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ มากกว่าแรงงานในภาคเกษตร คนเหล่านี้จะอยู่รอดในนิวนอร์มอลได้อย่างไร ปัญหาหนี้สินครัวเรือน การขาดทักษะในงานใหม่ ๆ เพื่อธุรกิจการประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่
ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องปรับรูปแบบการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศมากกว่าเดิม เพื่อส่งเสริมงาน อาชีพ รายได้ให้คนภาคแรงงานและภาคเกษตรมากที่สุด พร้อมกับการพัฒนาภาคบริการที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้อยู่รอดได้
๓. ปีที่โควิดมาเปลี่ยนโลก มาพร้อมกับปัญหาการเมืองใหม่ การชุมนุมประท้วงที่คล้ายกับ “การขบถ” อาจนำไปสู่ “การปฏวัติประชาชน” ได้ถ้าหากไม่มีการ “ประนีประนอม” ระหว่างคนรุ่นใหม่กับอำนาจรัฐ ที่ผูกขาดอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ บิดเบือนและใช้อำนาจตามอำเภอใจ (arbitrarily) ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างให้สามารถสืบทอดอำนาจได้
(ไม่ต่างจากหลายประเทศ “ด้อยพัฒนา” หรือ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” ที่ผู้นำแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนเองเป็นประธานาธิบดีได้หลายสมัยหรือตลอดชีพ)
การมาด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีธรรมาภิบาลในการทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มทนไม่ได้ และต้องการการเปลี่ยนแปลง เมื่อมี “คนรุ่นใหม่” เด็กนักเรียนนักศึกษารวมตัวกันเป็นขบวนการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นต่าง ๆ ถูกดึงออกมาสู่สาธารณะ เมื่อพรมถูกเปิด ขยะก็ปรากฏ
ปี 2564 จึงเป็นปีเปลี่ยนผ่าน หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองไทย ที่วันนี้สนามรบไม่ใช่ถนนหรือสี่แยกที่ชุมนุมประท้วง หากเป็นมือถือ อินเทอร์เน็ตมากกว่า ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การต่อสู้ทางสัญลักษณ์ที่เป็นพลังทางสังคมที่ส่งต่อกันภายในเสี้ยววินาทีไปเป็นหมื่นเป็นแสนคน ต่อเนื่องแบบไร้ขีดจำกัด เป็นขบวนการใหม่และพลังอย่างใหม่ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ
รัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน คิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าข้างตนเอง ฟังแต่คนรอบข้างและเสียงเชียร์ ก็จะไม่ยอมฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่ “เด็ก ๆ” หรือคนที่ไปชุมนุม แต่คนอีกจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเสียงเพรียกแห่งกาลเวลาที่ดังขึ้น ๆ หรือเป็น “ลูกบอลหิมะ” (snow ball) ที่กลิ้งจากภูเขาสูง กลายเป็นหิมะก้อนใหญ่ลงมาทำลายบ้านเรือน
ถ้ารัฐบาลยังคิดว่าตนเองมีอำนาจ หวงอำนาจ ไม่ยอม “คืนอำนาจให้ประชาชน” แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตของตนเอง เงินภาษีของตนเอง ทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ศักดิ์ศรีและชะตากรรมของตนเอง ก็จะเป็นรัฐบาลเผด็จการที่จะประสบชะตากรรมเดียวกับเผด็จการอื่น ๆ ในอดีต
การเมืองไทย “ลงถนน” เพราะการเมืองในรัฐสภาพึ่งพาไม่ได้ ได้ประชาธิปไตยปลอม ๆ มีแต่นักการเมืองที่ไม่อยู่ข้างประชาชน แต่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตน พวกพ้อง นายทุน ที่ต่างตอบแทนในระบบธนาธิปไตยแบบนี้ จะไม่ให้คนที่ต้องการประชาธิปไตยจริง ๆ ที่เคารพในสิทธิเสรีภาพ และมีธรรมาภิบาลรับ