ปีวอก


อิทธิพลแห่งฤกษ์เกิดของมนุษย์แต่ละคนนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีพมาก มีนักโหราศาสตร์หลายคนที่เชี่ยวชาญในการทำนายดวงชะตาของผู้คนได้แม่นเหมือนตาเห็น การทำนายดวงชะตาจึงเป็นอาชีพของคนบางกลุ่ม ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ “ทางอีศาน” จำนวนมาก มีความเชื่อในการดูดวงชะตาราศี รวมถึงพ่อเฒ่าขำด้วยพ่อเฒ่าขำแกเป็นคนเชื่อเรื่องโชคลาง มักจะไปดูดวงชะตากับหมอดู ที่เขาลือว่าดูแม่นเสมอ ๆ แม้ระยะทางจะห่างไกลไปหน่อย พ่อเฒ่าขำก็จะไปดูดวงให้ได้ โดยอาศัยขอแรงให้บักสีผู้ลูกเขยขับรถพาไปดูดวงอยู่บ่อย ๆ บักสีมันก็ต้องทนปฏิบัติตามใจผู้เป็นพ่อเฒ่าของมัน

“สีเอ้ย!” พ่อเฒ่าขำเรียก

“แหม่นหยังพ่อ?” บักสีขานรับ

“วันเสาร์นี้โต๋ว่างบ่?”

“ว่างอยู่ พ่ออยากเฮ็ดหยังล่ะ?”

“พ่ออยากวานให้โต๋ พาพ่อไปดูหมอที่บ้านแฮด อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร”

“ป๊าดโธ่…คือไปเบิ่งไกลแท้! หมอดูแถวนครพนมเฮาก่ะมีอยู่น้า!” บักสีมันออกความเห็น เนื่องจากมันขี้คร้านขับรถไปทางไกล

“หมอดูบ้านเฮา เบิ่งบ่แม่น เขาว่าอยู่บ้านแฮดพังโคน แม่นป๋านต๋าเห็น”

บักสีก็จำเป็นต้องพาพ่อเฒ่าขำไป ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากไปเท่าใดนัก! บักสีขับรถไป คิดหาจังหวะเหน็บแนมพ่อเฒ่าไปด้วยถ้ามีโอกาส

“การเบิ่งหมอดูมันก่ะดี๋เด้อ เฮาสิได้รู้คำบอกคำเตือนเผื่อสิได้ระวัง ในปีที่ดวงบ่ดี๋เฮาก่ะสิปลอดภัย” พ่อเฒ่าขำว่า

“แม่เฒ่าก่ะสิบ่ฮ้ายบ่ด่าล่ะตี้!” บักสีว่า

“บ่ป๋านนั้นดอกสี!” พ่อเฒ่าขำออกความเห็นแย้งบ้าง

“เรื่องผัวเมียผิดตี๋กันมันเป็นเรื่องธรรมดา บ่เกี่ยวกับดวงชะตาดอก เรื่องดวงชะตาต้องเกี่ยวกับการทำมาหากินค้าขาย หรือเกี่ยวกับชีวิตของคนเฮา ให้อยู่ดีมีแฮงปลอดภัย พู้นน่ะ” พ่อเฒ่าขำให้เหตุผล บักสีก็ทำทีเป็นยอมรับ ขณะขับรถไปเรื่อย ๆ

“ดวงชะตาคนเฮานี่ มันเกี่ยวกับฤกษ์เกิด วัน เดือน ปี ของตนเอง บางคนเกิดปีมะโรง งูใหญ่ บางคนเกิดปีมะเส็ง งูน้อย ก่ะเบิ่งตามปีเกิดโต๋เอง แบบพ่อนี่เกิดปีวอก ก่ะเบิ่งดวงคนเกิดปีวอก!” พ่อเฒ่าขำอธิบาย

พอบักสีได้ยินว่าพ่อเฒ่าขำเกิดปีวอกมันก่ะเลยพูดสอดขึ้นทันทีว่า

“พ่อเฒ่าเกิดปีวอกเรอะ?”

“เออ…พ่อเกิดปีวอก มีหยังล่ะสี?” พ่อเฒ่าขำถาม

“ข้อยก่ะเกิดปีวอกคือกั๋น! เฮามาเป็นเสี่ยวกันซะเป็นหยังพ่อเฒ่า!” บักสียิงหมัดตรง พ่อเฒ่าขำอึ้งไปเล็กน้อย แล้วตอบบักสีผู้ลูกเขยไปว่า

คนเกิดปีวอก…มันกะมีวอกใหญ่ วอกน้อยเด้อ…บักสี!”

Related Posts

ผักดอง…ทําไมจึงดอง
มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com