ผญา – ยอดวรรณกรรมอีสาน

ผญา เป็นภาษาอีสาน ตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า ปัญญา หรือ ปรัชญา, ปัญญา มาจากภาษาบาลี หรือ ภาษามคธ ปรัชญา มาจากภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษว่า Wisdom

ผญา เป็นสำนวนคำพูดที่ไพเราะ คมคาย ลึกซึ้ง สละสลวย คนอีสานนั้นเป็นคนมีโวหาร เจ้าบทเจ้ากลอน พูดจาเป็นคำคม มีสัมผัสคล้องจองไพเราะ น่าฟัง ไม่ว่าจะเป็นโอวาท คำสั่งสอน คำตักเตือน ห้ามปราม หรือคำเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวอีสานในอดีต สมัยโบราณนั้นคนอีสานมักพูดเป็นสำนวนภาษาแบบผญาเป็นส่วนมาก

คนอีสานถือว่า คนมีผญามากเป็นคนมีความรู้ มีเชาวน์ปัญญา ไหวพริบดี เป็นคนฉลาดหลักแหลม จะได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทั่วไป คำพูดจาเป็นลักษณะผญานี้เขาถือว่า เป็นการพูดแบบมีศิลป์ แบบมี ญาน คือพูดมีสำนวนดีนั่นเอง

ผญา พูดเป็นสำนวนได้หลายแบบ พูดเป็นสำนวน ๒ คำ เช่น ฮักแพง เมือบ้าน ม่วนชื่น พูดเป็นสำนวน, ๓ คำ เช่น เว้าถืกข้อ โสความเพิ่น ญาติพี่น้อง, พูดเป็นสำนวน ๔ คำ เช่น ฮักแพงกันไว้ เว้านัวหัวม่วน ของเน่าอย่ากิน, พูดเป็นสำนวน ๕ คำ เช่น บ่นอนกะให้กล่อม ขี้คร้านอยากกินดี มีน้องให้หมั่นออย, พูดเป็นสำนวน ๖ คำ เช่น หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อยากได้ข้าวให้เฮ็ดนา ลูกดีถามหาพ่อแม่, ผญาพูดเป็น ๗ คำ เช่น บ่กินผักบ่มีเหยื่อท้อง หากทนทานเวียกงานจังแล้ว ฟังความเมียมันเสียพี่น้อง, นำก้นผู้เฒ่าแมว เป้าบ่กิน (ผญา ๘ คำ), เฮาอาศัยพี่น้องพงศ์เชื้อให้เพิ่งกัน (ผญา ๙ คำ) มดบ่มีหม่องซ่นปลาน้อยกะเมื่อยหัว ผญา ๑๐ คำ เป็นต้น

ผญา จัดเป็นคำประพันธ์วรรณกรรมของคนท้องถิ่นอีสาน มีหลายแบบ หลายสำนวน ทั้งแบบมีบังคับสัมผัส และแบบไม่มีบังคับสัมผัส ในฉบับนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับ ผญาญาบเว้า ผญาโตงโตย และผญาตัวจริง ดังนี้

๑. ผญาญาบเว้า

เป็นผญาคำประพันธ์อีสานที่มีสำนวนโวหาร มีสัมผัสบ้าง ไม่มีสัมผัสบ้าง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ญาบเว้ามีลักษณะคำพูดที่ไพเราะ เปรียบเทียบ เปรียบเปรย คมคายน่าฟัง มีถ้อยคำสำนวนดี ตัวอย่างผญาญาบเว้า เช่น สุกเอาเผากิน นกเค้าท้วงตาแม่ ปล่อยเอี่ยนลงตม หนีบ่ม้มก้มบ่หวิด อาบเหงื่อต่างน้ำ กำขี้ดีกว่ากำตด ผัว ท่อเมียพาย กินมำมำบ่คลำเบิ่งท้อง เป็นต้น

ญาบเว้าเป็นสำนวนภาษาอีสาน บ่งบอกถึงลักษณะหลายอย่าง เช่น บ่งบอกถึงความทุกข์ยากลำบาก บ่งบอกถึงความสุขสบาย บ่งบอกถึงสิ่งดีไม่ดี บ่งบอกถึงสิ่งที่ควรนับถือหรือไม่ควรนับถือ คนอีสานมักพูดเป็นภาษาผญาลักษณะนี้เนื่อง ๆ

๑.๑ ผญาสำนวนญาบเว้าบ่งบอกถึงความทุกข์ยากลำบาก

ผญาลักษณะนี้ เช่นสำนวนที่ว่า เฮ็ดไฮ่บ่มีขวาน นี้กะยาก, บ่มีข้าวกิน บ่มีลูก บ่มีหลานอยู่นำ นี้กะยาก, ไปวัดนิมนต์พระบ่มีพระอยู่ นี้กะยาก, บ่มีเงินมีสตางค์ บ่มีบ้านอยู่ นี้กะยาก, ฮักมักกันบ่เห็นหน้า นี่กะยาก ฯลฯ

๑.๒ ผญาสำนวนญาบเว้าบ่งบอกถึงสิ่งดีหรือไม่ดี

ผญาลักษณะที่ ๒ นี้ เช่นสำนวนที่ว่า มีเฮือนบ่มีฝาแอ้ม บ่ดี, มีถงบ่มีหม่องฮ้อย บ่ดี, มีวัดบ่มีพระอยู่ บ่ดี, มีโรงเรียนบ่มีครู บ่ดี, มีฟ้าบ่มีฝน บ่ดี ฯลฯ

๑.๓ ผญาสำนวนญาบเว้าบ่งบอกถึงความสุขสบาย

ผญาลักษณะข้อ ๓ นี้ เช่นสำนวนที่ว่า สุขหนึ่ง คือ มีข้าวกิน, สุขสอง คือ มีดินอยู่, สุขสาม คือ มีคู่นอนนำ, สุขสี่ คือ มีเงินคำสิ่งของเต็มบ้าน, สุขห้า คือ มีลูกหลานอยู่เฝ้ายามเฒ่าแก่ชรา ฯลฯ

๑.๔ ผญาญาบเว้าสำนวนภาษาที่บ่งบอกถึงความทุกข์ยากลำบาก

ผญาลักษณะตามข้อ ๔ นี้ เช่นสำนวนที่ว่าทุกข์หนึ่ง ลูกตายเสีย, ทุกข์สอง เมียตายจาก, ทุกข์สาม พลัดพรากพี่น้องไปแดนไกล, ทุกข์สี่ ลงไปไทยค้างัวต่าง, ทุกข์ห้า ผัวเมียฮ้างหย่ากัน ฯลฯ

๑.๕ ผญาญาบเว้าสำนวนที่บ่งบอกถึงความนับถือหรือไม่นับถือ

ผญาลักษณะตามข้อ ๕ นี้ เช่นสำนวนที่ว่าคนหัวล้านขายยาผมหลาย คนขาลายอวดดี อวดเก่ง บ่นับ, คนผอมเหลืองเป็นหมอยา คนถือพาอวดท้องน้อย บ่นับ, คนใจฮ้ายยามอยากกินข้าวอย่าหลงเชื่อคนเว้ายามเมาสุรา, เสือเฒ่าบอกว่าจำศีล กาบินบอกว่าอยากฟังเทศน์, โง่อวดว่าเจ้าของเก่ง, เป็นนักเลง อวดว่า เจ้าของดี ฯลฯ

๒. ผญาญาบโตงโตย

เป็นผญาคำประพันธ์อีสาน มีลักษณะเป็นสำนวน โวหาร คำคม บางทีเรียกว่า ผญาย่อย มีวรรคต้น วรรคส่ง วรรครับ ไพเราะ น่าฟัง เช่นชั่วเป็นขี้ ดีเป็นทองคำ, โตบ่มีอย่าสิอวด บ่ได้บวชอย่าแถหัว, ได้ของใหม่อย่าสิลืมของเก่า ไปได้เต่าอย่าสิได้ลืมหมา, อย่าสิถือคนบ้า อย่าหัวซาคนเมา, ปากนั้นหวานจ้อยจ้อย แต่ใจส้มดั่งหมากนาว ฯลฯ

๓. ญาบผญาจริง

เป็นญาบผญาภูมิปัญญา ผญาลักษณะนี้คนพูดต้องมีความรู้แตกฉาน มีปฏิภาณไหวพริบเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ ญาบผญา แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น ญาบผญาสุภาษิต, ญาบผญาเกี้ยว, ญาบผญาคำสอน, ญาบผญาปรัชญา, ญาบผญาปริศนา และญาบผญาเบ็ดเตล็ด ฯลฯ

๓.๑ ญาบผญาสุภาษิต

เป็นผญาวรรณกรรมอีสาน มีคติเตือนใจเป็นสุภาษิตให้คิด พูด ทำแต่ในสิ่งที่ดีงาม ไม่ขัดต่อกฎหมาย, ศีลธรรมประเพณี เช่น ไม้บ่ทันแทกด้าม อย่าฟ้าวด่วนหวนตัด, คนเกิดใหม่ใหญ่ลุน ให้เชื่อฟุ้งคนเค้า (เดิม), ชาติสิแนวนามบ้งเปือยโตกาสิตอด สังบ่เฮ็ดจังม้อน เอาใยห้มห่อโต, ร้อยพันอยู่ฟากฟ้า อย่าได้อ่าวคะนิงหา เหรียญสลึงมีมา ให้ฟ้าวกำเอาไว้, ถึงสิมีความฮู้ เต็มพุงเพียงปาก สอนโตเองบ่ได้ ไผสิญ่องว่าดี, สี่ตีนยังฮู้พลาด เป็นครูนักปราชญ์ยังฮู้หลง เป็นหงส์งามคือทองคำยังถืกบ้วง เป็นควายเฒ่ากะตื่นไถ ฯลฯ

๓.๒ ญาบผญาเกี้ยว

เป็นสำนวนผญาเกี้ยวพาราสี ของคนหนุ่มสาวชาวอีสานในสมัยโบราณ พูดจาโต้ตอบกันได้คมคาย ไพเราะ ลึกซึ้ง เปรียบเปรยได้ดีมาก เช่น อ้ายอย่ามาตี๋แถลงเว้า เอาเลามาจักตอก จักบ่ถืกข้อปล้อง มันสิเสี่ยวใส่มืออ้ายเด๊อ, อ้ายบ่ได้เว้าปลิ้น เสมอดั่งฝ่ามือ อ้ายนี้ถือคำสัตย์ บ่พัดเพพังม้าง, อ้ายอย่ามาตี๋แถลงเว้า เอาเครือเลามาปลูกบ่แม่นเชื้อชาติหวาย บ่แมนชายชาติอ้อย กินแล้วกะบ่หวาน อ้ายเอ๊ย, อ้ายนี้เปรียบฮังมดแดงฮ้างตามประสาบ่มีแม่ มีแต่เกี้ยห่อหุ้ม โตสิตุ้ม แม่นบ่มี, อ้ายปากว่าจั่งได๋ หัวใจกะจั่งชั่น, ปากว่าแล้วมายม้าง แม่นบ่เป็น ฯลฯ

๓.๓ ญาบผญาคำสอน

เป็นสำนวนภาษา ผญาวรรณกรรมอีสาน ลักษณะโอวาท คำสั่งสอนให้ทำแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง ไม่ให้ทำความชั่ว เช่น เฮามาพากันสร้าง ทางอีสานให้เฮืองฮุ่ง ฝูงพ่อลุงแม่ป้าเพิ่นคอยท่าแต่หมู่เฮา, อย่าได้หลงลืมถิ่ม พงศ์พันธุ์พี่น้องเก่าอย่าสิลืมเผ่าเชื้อ หนีไปญ้องผู้อื่นดี, เลี้ยงช้างเฒ่า ได้ขายงามีค่า เลี้ยงช้างน้อย ตายจ้อยขาดทุน, ผัวเมียนี้กูมึงอย่าสิว่า มีแต่ขาข่อยเจ้า จนเฒ่าชั่วชีวัง, คำสอนพ่อแม่นี้ หนักเกิ่งธรณี ควรนับถือย่ำเกรง สิฮุ่งเฮืองไปหน้า ฯลฯ

๓.๔ ญาบผญาปรัชญา

เป็นผญาวรรณกรรมอีสานของคนอีสานที่มีปัญญาแตกฉาน ฉลาดเฉลียว มีความหลักแหลม รอบรู้ เช่น ของบ่เป็นตาจ้ำ อย่าฟ่าวยื่นมือลง ของบ่เป็นตากัด อย่าสิกินสิพวนท้อง, จันทร์ใสแจ้ง ดวงเดียวกะบ่คล่อง บ่มีดาวห่อหุ้มจันทร์เจ้ากะบ่เฮือง, มีดงบ่มีไม้ เอาอิหยังมาเป็นป่า มีหนองบ่มีหญ้าป้อง ปลาสิซ่นอยู่บ่อนได๋, เชื้อชาติแฮ้งบ่บินเวิ่นนำแหลว แนวนามหงส์ บ่หลงบินตามฮุ้ง, แม่นสิโซผอมแห้ง ตนโตซ้ำจ่อยกะบ่ขบคาบฮ้าย กินเนื้อโตพี ดอกนา ฯลฯ

๓.๕ ญาบผญาปริศนา

เป็นผญาวรรณกรรมอีสาน มีลักษณะเป็นคำถามให้ขบคิด ชวนสงสัย ใฝ่หาคำตอบ เช่นอัศจรรย์ใจม้อน กินแต่มอนกะฮู้เยี่ยว บาดว่าไก่บักโจ้น กินน้ำเยี่ยวบ่เป็น, กรรมสังโอ้โอทองสังมาแตก บาดกะโป๋หมากพร้าว สังมามั่นกว่าโอ, อัศจรรย์ใจกุ้ง สิกุมกินปลาบึกใหญ่ ปลาซิวไล่สวบแข้ หนีไปลี้อยู่หลืบหิน, กวางกินหมากขามป้อม ผัดไปคาคอมั่ง มั่งบ่ขี่สามมื้อ กระต่ายตาย, อัศจรรย์ใจเด่ ควายเขาเลกินนมไก่ หมากินนมสิงโตฮ้าย สังมาได้ฮ่วมกิน กันน้อ ฯลฯ

๓.๖ ญาบผญาเบ็ดเตล็ด

เป็นวรรณกรรมอีสาน ผญาภาษาส่วนตัวยากที่จะจัดเข้าเป็นผญาหมวดใดได้ เช่น ฝนตกห่งไหลลงแต่หม่องต่ำ นาอ้ายสูงเสียดฟ้า ฝนมาแล้งแล่นกลาย, บุญบ่ให้เฮ็ดหยังกะบ่ฮ่ง บุญบ่ให้ถึงสิใกล้กะห่อนไกล, สิบปีล้ำซาวปีล้ำ บ่เห็นนางมายามพี่ ข้าวขึ้นเล้า จั่งเห็นเจ้าเทื่อเดียว, เว้าไปหลายแห่งยืด ปากมักเว้าไปหน้าแฮ่งหลาย, ไก่สามเดือนพอฆ่า ม้าสามเดือนพอขี่ ควายสามปีไถนากะได้ คนญองว่าดี ฯลฯ

ที่กล่าวมาแล้วเป็นผญาวรรณกรรมอีสาน เป็นภาษาวัฒนธรรมล้ำเลิศของคนอีสาน เราผู้เป็นอนุชนลูกหลานรุ่นหลัง ควรศึกษาและอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายไป ผญาจะได้มั่นคง ยั่งยืน คู่กับประเทศชาติไทยตลอดไป ด้วยแรงบันดาลใจ ผมจึงได้รังสรรค์รจนาบทกวี ผญาวรรณกรรมอีสานส่งท้ายดังนี้ ครับ

๏ ผญาคือ  วรรณกรรม  ของอีสาน
เก่าก่อนกาล  แต่โบราณ  นานนักหนา
คำพูดดี  คมคาย  เสวนา
ท่านพูดจา  อ่อนหวาน  เชี่ยวชาญคม

๏ พูดคล้องจอง  คล่องแคล่ว  มีแววกล้า
รู้สรรหา  เปรียบเปรย  เอ่ยคำสม
เด่นโวหาร  วาทะ  น่าชื่นชม
เป็นภาษา  เพาะบ่ม  ภิรมย์ใจ

๏ รู้จักพูด  คำคมคาย  ไพเราะยิ่ง
มากมายสิ่ง  หมดจด  คำสดใส
ภาษาดี  อ่อนหวาน ซ่านฤทัย
พลิกแพลงได้  หลายประเด็น  เป็นร้อยกรอง

๏ ทั้งภาษิต  คำสั่งสอน  กลอนโวหาร
เราลูกหลาน  รู้ดีชั่ว  ไม่มัวหมอง
ภาษาเสนาะ  เจาะใจ  ใสลำยอง
พูดจาคล่อง  ส่องชี้  ให้ปรีดา

๏ ผญาจึง  ค่าควร  อนุรักษ์
ให้คงไว้  ได้ประจักษ์  หลักศึกษา
ไม่ให้สูญ  สลายลด  หมดราคา
มีผญา  สืบต่อฝัน  นิรันดร...
 

Related Posts

เข้าพรรษาที่เชียงคาน
บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)
มาเป็นนักดื่มฝันกับฉันไหม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com