ภูผาม่าน เป็นอำเภอหนึ่ง ของจังหวัดขอนแก่น อยู่ติดเขตกับจังหวัดเลยและจังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้มีเสน่ห์มากมาย ไม่ใช่แค่เพียงถ้ำค้างคาว ภูเขาที่มีลักษณะสูงชันสลับซับซ้อนจนดูเหมือนม่าน ที่นี่ยังมีอะไรดี ๆ ที่แฝงเอาไว้มากมาย เรียกว่า ไปแค่วันเดียวเที่ยวไม่หมดแน่นอน
สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ได้ทำ โครงการแกนนำเยาวชนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามบริบทอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กลุ่มจังหวัด และดึงเอาโรงเรียน ปราชญ์ชุมชน เด็กเยาวชน ครู และผู้รู้มาร่วมสืบค้น ประวัติความเป็นมาของชุมชน เสาะหาของดีชุมชน และสถานที่สำคัญในชุมชน เพื่อเผยแพร่ นำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยเฉพาะหลายสิ่งหลายอย่างมีที่นี่เพียงหนึ่งเดียวในโลก
ข้อดีของอำเภอแห่งนี้อันดับแรกคือ มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำ ก่อเกิดลำธาร น้ำตก น้ำผุด ถ้ำ หินงอกหินย้อย สมุนไพร ป่าไม้ พืชนานาพันธุ์ สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนภูมิปัญญาแห่งวิถีชุมชนที่มีความโดดเด่น
โดยเฉพาะภาษาถิ่นซึ่งบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทภูผาม่าน เครื่องจักสานที่มีความละเอียดประณีตงดงามด้วยเส้นตอก อีกทั้งฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองที่มีลวดลายเฉพาะของตนเอง ความอุดมสมบูรณ์และความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาที่กล่าวมาทำให้เกิดจารีตวิถีประเพณีท้องถิ่นที่มีงดงามตามครรลอง อีกทั้งบรรพบุรุษมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน สามารถสืบค้นได้ตามร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ อย่างชัดเจน
และหากใครเคยไปอำเภอแห่งนี้ พอฟังสำเนียงการพูดแล้วอาจจะประหลาดใจ ว่าสำเนียงฟังแปลก ๆ พูดไม่เหมือนคนขอนแก่น ไม่เหมือนคนชุมแพ ซึ่งหากสืบประวัติของคนภูผาม่านแล้วพบว่า จากลำดับชนเผ่า ชาติพันธุ์ เชื่อว่าชาวภูผาม่านมีเชื้อสายของลาวหลวงพระบาง โดยมีลำดับเส้นทางการอพยพตั้งถิ่นฐาน จากบรรพบุรุษชาวลาวหลวงพระบาง มายัง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และเข้ามายังอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
จากการสืบค้นข้อมูล มีเอกสาร หลักฐานอ้างอิง ทั้งลายลักษณ์อักษร และคติชนวิทยา มุขปาฐะโดยได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอคอนสารและอำเภอภูผาม่าน ทั้งนี้อำเภอภูผาม่าน มีหลักฐานเชื่อมโยงจากเจดีย์ 700 ปี ของอำเภอคอนสาร ซึ่งใน พ.ศ.2337 สมัยรัชกาลที่ 1 ได้แต่งตั้ง หลวงพิชิตสงคราม มาปกครองเมืองคอนสาร ต่อมาในปี 2380 สมัยรัชกาลที่ 3 หลวงพิชิตสงครามได้ให้หลานชายคือ นายพุ่ม มาดูแลผึ้งหลวงที่ต้นเฉลียงทองที่ภูผาม่าน เพื่อส่งเป็นเครื่องบรรณาการ ซึ่งขณะนั้นได้รับตำแหน่ง “นายกองส่วยสีผึ้งบ้านเซิน” เมื่อท่านทำความดีความชอบ รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานตำแหน่งให้เป็น หลวงพิพิธภูมเรศ ท่านก็คือเจ้าเมืองภูผาม่านนั่นเอง
อำเภอภูผาม่านจึงมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นที่มีหลักฐานอ้างอิง ทั้งหลักฐานชั้นปฐมภูมิและชั้นทุติยภูมิ อีกทั้ง “ต้นเฉลียงทอง” คือต้นไม้มหามงคลที่เป็นเอกลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวภูผาม่าน มีประวัติความเป็นมาที่ได้รับการเล่าขานตำนานจากรุ่นสู่รุ่นว่ามีอายุกว่า 300 ปี ชาวภูผาม่านเชื่อกันว่าถ้าได้มาสักการะอธิษฐานจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป
เนื่องจากต้นเฉลียงทองมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน จึงได้รับโล่รางวัล “รุกขแห่งแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นต้นไม้ 1 ใน 63 ต้นไม้ เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 63 พรรษา สร้างความปลื้มปิติยินดีและเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจให้กับชาวอำเภอภูผาม่านเป็นอย่างยิ่ง แม้ทุกวันนี้ต้นเฉลียงทองที่ว่าจะขยายพันธุ์ได้อย่างยากลำบากแต่ก็ยังถือว่าพอมีให้ได้เห็น ได้เรียนรู้และหากใครอยากเห็นก็ไปดูได้ที่วัดเฉลียงทอง ทางเข้าตัวอำเภอภูผาม่านนั่นเอง แถมที่วัดแห่งนี้ยังเก็บสะสมของเก่าโบราณเอาไว้มากมาย ทั้งดาบ ทั้งข้าวของเครื่องใช้แบบโบราณที่ทำจากสำริดและทองแดง ที่จัดแสดงเอาไว้ในศาลาการเปรียญหลังใหญ่
และเสน่ห์ของภาษาถิ่นภูผาม่านนี่เอง ที่มีการออกเสียง สูง ๆ ต่ำ ๆ ลากเสียงยาวบ้างสั้นบ้าง ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในจังหวัดขอนแก่นที่เป็นสำเนียงเฉพาะถิ่น
จากความหลากหลายแห่งมิติทางกายภาพ ก่อเกิดวิถีชีวิต จารีตประเพณี แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม จนถูกกำหนดให้เป็นคำขวัญประจำอำเภอภูผาม่านว่า
“ภูผาม่านอุทยานขุนเขา ฝูงค้างคาวนับล้าน แลละลานถั่วเหลือง ลือเลื่องเครื่องดื่มสมุนไพร ตรุษไทเทศกาล”
ในเขตตำบลห้วยม่วง ชุมชนที่อพยพมาอยู่ใหม่ มีพื้นที่ทำกินเพียงเล็กน้อย ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงได้คิดค้นนำเอาต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่มาประยุกต์ โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจของความพอเพียง ก่อเกิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมกับเกษตรอำเภอภูผาม่านได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 จวบวันนี้เป็นเวลา 21 ปีแล้ว
ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า เครื่องดื่มพร้อมชง แปรรูปจากสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ชาใบหม่อน ดอกคำฝอย ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมว กระเจี๊ยบ มะตูม ขิง ข่า ตะไคร้ ดอกอัญชัน ฯลฯ ทุกวันนี้เป็น OTOP ชุมชน อยู่ในระดับ 5 ดาว เป็นสินค้าวิสาหกิจชุมชนของตำบลห้วยม่วง หมู่บ้านที่ผลิตอย่างจริงจังก็คือ บ้านทรัพย์สมบูรณ์ บ้านห้วยซ้อ บ้านห้วยเตย
ชาวภูผาม่านแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองทอมือ ประกอบด้วย ผ้านุ่ง และเสื้อสีดอกหมาก สำหรับ ผ้านุ่ง เรียกว่า “ผ้าควบ” ผ้าควบเกิดจากการนำเอาด้ายสองเส้นมาฝั่นเข้าด้วยกันก่อนนำไปทอ จึงทำให้เกิดลวดลายผ้า ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลายหางกระรอก” โดยชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมจะนำเอาสีของลูกหมากมาย้อมไหม ย้อมฝ้าย ดังนั้น ผ้าควบที่เป็นสีเอกลักษณ์ของชาวภูผาม่าน จึงเป็นผ้าสีหมากสุก ส่วน เสื้อสีดอกหมาก มีลักษณะเป็นสีขาวนวล ๆ ทั้งนี้ เกิดจากการทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ที่เป็นสีธรรมชาติ จะไม่นิยมย้อมสี ทั้งนี้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายกันเองทั้งสิ้น ความงดงามโดดเด่นของเสื้อสีดอกหมากอยู่ที่ลายขิดที่นำมาขลิบปกเสื้อ แขนเสื้อ ชายเสื้อ ให้มีความโดดเด่น โดยจะต้องมีสีน้ำหมากเป็นองค์ประกอบในการตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งชาวบ้านก็จะออกแบบลายขิดต่าง ๆ ตามความสามารถและความชอบของตนเอง ดังนั้นเกือบทุกครัวเรือนของชาวภูผาม่านดั้งเดิมจะมีผ้าควบซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่เก็บสะสมไว้ ถ้าหากมีฐานะก็จะทำผ้าควบไหม แต่โดยทั่วไปก็จะนิยมทำผ้าควบฝ้าย บ้านทุกหลังจะเก็บผ้าควบไว้ให้บุตรหลานสวมใส่ในงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ งานบวชนาค งานแต่งงาน งานบุญต่าง ๆ ตลอดจนงานประเพณีตรุษไท
ทั้งนี้ ชาวภูผาม่านเชื่อว่า การร่วมทำกิจกรรมในงานบุญประเพณี ตรุษไท ตลอดจนการได้สวมใส่เสื้อผ้าทอมือจากผ้าควบ เสื้อสีดอกหมากตกแต่งด้วยลายขิดทอมือของตนเอง ถือว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามครรลองจารีตประเพณีวิถีท้องถิ่น ซึ่งก็จะมีความเชื่อว่า จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองครอบครัวและมีความสุขสืบไป
และเมื่อพูดถึงผ้าทอของภูผาม่านแล้วละก็ สิ่งดีงามอีกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้คือ เด็กหนุ่มนักเรียนชั้นม.6 ของโรงเรียนภูผาม่าน ที่ได้สืบทอดเทคนิคการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าจากบรรพบุรุษ โดยเจ้าตัวทอผ้าขายหาเลี้ยงชีพและส่งตัวเองเรียนเนื่องจากอาศัยอยู่กับยายวัย 74 ปี เพราะพ่อแม่แยกทางกัน และมีฝีมือการทอผ้าโดยเฉพาะผ้าลายหางกระรอกของเขานั้นหาตัวจับยากมากเลยทีเดียว หนุ่มน้อยที่ว่านี้คือนายคงกระพัน ชาญประเสริฐ หรือ น้องแฟ้ม
โดยน้องแฟ้มบอกว่า ช่วยยายปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่เด็ก และพอโตขึ้นก็มีความเชี่ยวชาญ เคยคิดจะหยุดเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นม.3 อยากจะออกไปช่วยยายทอผ้าขาย เพราะมองว่าสามารถเลี้ยงชีพได้และไม่อยากให้ยายลำบาก แต่ครูได้ไปขอร้องให้มาเรียนต่อ ทุกวันนี้มีคนมาจองซื้อผ้าไหมตั้งแต่อยู่ในกี่จนเจ้าตัวทอไม่ทันแล้ว
“แม้เป็นผู้ชาย แต่สนใจทอผ้าเพราะตายายที่บ้านทำ เราเลยอยากทำเพราะทำแล้วสนุกดี แต่พอเพื่อนมาเห็นก็ล้อ ว่าเป็นตุ๊ด เป็นกะเทย แต่เราไม่สนใจ เพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ละเดือนเราหาเงินได้เดือนละ 3 พัน 4 พันบาท ในขณะที่เพื่อนเรายังแบมือขอเงินแม่อยู่ ผมเลยไม่สนใจกับคำพูดใคร ทุกวันนี้ก็ทอผ้า ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไม่ไปเที่ยว ไม่ไปเล่นเกมเหมือนเพื่อน เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์” น้องแฟ้มเล่าให้ฟัง
ส่วนความคิดที่จะเลิกเรียนมาทอผ้า เจ้าตัวบอกว่าตอนนี้เลิกแล้ว เพราะหลังจากเรียนมาถึงม.6 เห็นแล้วว่าตัวเองชอบทำอะไร แม้จะทำอาชีพอื่นก็ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมได้ จึงได้ไปยื่นสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และอยากเรียนสายสังคม เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของคนในสังคม ส่วนอาชีพก็อยากเป็นครูสอนวิชาสังคมและคิดว่าหากเป็นครูก็ยังจะทอผ้าเพราะเป็นสิ่งที่รักและภูมิใจ
แฟ้ม – คงกระพัน ชาญประเสริฐ
นอกจากของดีที่มีความโดดเด่นแล้ว เรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว อำเภอแห่งนี้ก็ไม่เป็นสองรองใคร เพราะมีทั้งภูเขา ถ้ำ และน้ำตก ตามคำขวัญที่บอกว่า “ภูผาม่านอุทยานขุนเขา” หมายถึง สวนแห่งภูเขาที่มีความรื่นรมย์ เนื่องจากอำเภอภูผาม่านประกอบไปด้วยภูเขาประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ โดยเฉพาะภูเขาที่ชื่อว่า “ภูผาม่าน” ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีลักษณะหน้าผาสูงชันเหมือน “ม่าน” จึงเรียกว่า “ภูผาม่าน” และนำมาเป็นชื่ออำเภอ ซึ่งฟังดูแล้วไพเราะมาก จึงขอยกย่องผู้ที่ตั้งชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความละเอียดอ่อนและสุนทรีเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อมีภูเขาก็ย่อมจะมีถ้ำ ลำน้ำ น้ำตก น้ำผุด หินงอก หินย้อย ถ้ำที่งดงามตามธรรมชาติหลายแห่ง ได้แก่ ถ้ำเสือ ถ้ำพระ ถ้ำค้างคาว ถ้ำภูตาหลอ ถ้ำพระยานาคราช ถ้ำลายแทง ถ้ำพระอรหันต์หรือเขาสามยอด ถ้ำผาน้ำทิพย์ และภูถ้ำแกลบ แต่ละถ้ำต้องอาศัยความอึด และความอดทนในการปีนป่ายขึ้นไป เพราะไม่สามารถไปทางอื่นได้นอกจากเดิน
นอกจากนั้นยังมีในส่วนที่เป็นลำน้ำที่ประกอบในความอุดมสมบูรณ์ในอุทยานขุนเขา ตามคำขวัญที่กล่าวถึงก็คือ “ลำน้ำเซิน” ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และจากอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ไหลมาบรรจบกันที่บริเวณใกล้วัดถ้ำกายสิทธิ์ บ้านวังมน ของอำเภอภูผาม่าน บริเวณนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ซุ” ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามมาก ลำน้ำเซินเป็นลำน้ำที่กั้นเขตแดนระหว่างอำเภอภูผาม่านกับอำเภอคอนสาร ปัจจุบันเป็นสายน้ำที่ได้รับน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทัศนียภาพที่งดงามตลอดสายธารน้ำ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เปรียบเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวอำเภอภูผาม่าน
น้ำตกและน้ำผุดในเขตอำเภอภูผาม่านที่มีความสวยงาม น่าเที่ยวชมเพื่อพักผ่อนและศึกษาธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตกตาดทิดมี น้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกห้วยสังฆญวนหรือน้ำตกห้วยข่าซิ่น น้ำตกหินหม้อแตก และน้ำผุดตาดเต่า
นอกจากนั้นยังมี “ฝูงค้างคาวนับล้าน” เมื่อเอ่ยถึงภูผาม่านแล้ว ทุกท่านจะคิดถึงสัตว์ตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง นกมีหูหนูมีปีก นั่นก็คือค้างคาว ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ จึงเรียกถ้ำว่า “ถ้ำค้างคาว” ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนนับล้าน ๆ ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ที่มีขนาดลำตัวเล็ก เมื่อบินอยู่บนท้องฟ้ากระทบกับแสงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า จะเห็นลำตัวค้างคาวเป็นสีแดงระยิบระยับ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ค้างคาวแดง” หรือ “อีเกียแดง” สำหรับชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด ช่วงเวลาที่ค้างคาวบินออกจากถ้ำประมาณ 18.00 น. หรือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า จะบินออกมาเป็นสายคล้ายงูใหญ่เลื้อยอยู่บนท้องฟ้า สวยงามมาก ใช้เวลานานประมาณ 30 – 40 นาทีจึงจะหมดฝูง
ลักษณะการบินต่างกันแล้วแต่สภาวะอากาศ เช่น ถ้าสภาวะอากาศร้อน ฝูงค้างคาวจะบินขึ้นสูง ถ้าสภาวะอากาศเย็นหรือมีฝนตก ฝูงค้างคาวจะบินต่ำมาก ระดับต่ำกว่ายอดไม้ก็เคยมีให้เห็น และถ้าวันใดฝูงค้างคาวบินกระจายกันเต็มท้องฟ้าไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นแถว ชาวบ้านเชื่อกันว่าอีกไม่ช้าจะมีพายุฝนตกหนัก ดังนั้นลักษณะการบินของฝูงค้างค้าวจึงสามารถจะพยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศได้ ส่วนเวลากลับไม่แน่นอน จากการสังเกตของชาวบ้านเล่าว่า ฝูงใดหากินอิ่มก่อนก็จะทยอยบินกลับ ทั้งนี้จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณเวลา 02.00 น. – 05.00 น. โดยประมาณ เพื่อนอนพักผ่อนในเวลากลางวัน
แต่จะว่าไปแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลนี้หากไม่จบลงด้วยของกิน ก็คงถือว่ามาไม่ถึงภูผาม่านแน่นอน เพราะอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของที่นี่นั่นคือตำเมี่ยง ที่กินกับลูกเดื่อ นับเป็นของแสลงที่เลื่องชื่อ นอกจากนั้นยังมี “ตำเมี่ยงสะคร่าน” นำเอาเครือต้นสะคร่าน เถาวัลย์ในป่ามาตำแบบตำเมี่ยง ซึ่งจะมีรสชาติเฉพาะตัว ฝาดนิด ๆ เปรี้ยวหน่อย ๆ อร่อยนักแล กินแนมกับลูกเดื่อ ใบชะพลู หรือแม้แต่ใบขนุนแล้วมันแซบอีหลี
ยังมี “คั่วปลา” “คั่วเนื้อ” อาหารขึ้นชื่อ ต้นตำรับจากพื้นถิ่นนี้ โดยคั่วเนื้อ คั่วปลาที่ว่า ไม่ใช่การเอาปลาหรือเนื้อไปคั่วแบบธรรมดา แต่เป็นการเอาปลาและเนื้อไปย่างแล้วมาตำ ก่อนจะเอาไปคั่วใส่เครื่องปรุง ใส่ขมิ้น ใส่กะทิ รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร แถมกินกับผักพื้นถิ่นแล้วละก็แทบจะจกข้าวเหนียวหมดกระติบเลยทีเดียว โดยสูตรอาหารนี้ อาจารย์บุญจันทร์ บัวพา ครูโรงเรียนภูผาม่านนำเสนอให้แขกที่มาเยือนได้ชิมลิ้มลอง
คั่วเนื้อ และคั่วปลานี้ เป็นอาหารประจำอำเภอภูผาม่านและอำเภอคอนสาร ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่นิยมทำใส่บุญตรุษไทของชาวภูผาม่านเอง
อาจารย์บุญจันทร์ บัวพา